คำ ผกา : อีกนานกว่าจะได้พบกัน

คำ ผกา

ไม่น่าเชื่อว่าในปี 2542 ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศ “เสรี” จากการจัดอันดับของ Freedom House

เสรีในที่นี้หมายถึง เสรีภาพของประชาชน และเสรีภาพสื่อเป็นสิทธิที่ได้รับการปกป้อง ไม่มีการคุกคามสื่อ ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างเสรี

อย่าว่าแต่ในปี 2542 เลย นับตั้งแต่เรามีประชาธิปไตยเต็มใบ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

คนรุ่นของฉัน (ซึ่งไม่ผ่านยุคเผด็จการเหมือนคนรุ่นเดือน “ตุลาฯ”) เราแทบไม่มี และไม่ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการคุกคามสื่อ

และแทบนึกไม่ออกว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองนั้นเป็นอย่างไร

เพราะเรามั่นใจมากว่า จะดีจะชั่ว สังคมไทยก็ก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมากในแง่ของพัฒนาการเมือง และเสรีภาพของพลเมือง

เราฟังเรื่องนักข่าวไปพม่าแล้วโดนยึดกล้อง หรือต้องไปทำข่าวโดยมีทหารคอยติดตามและห้ามปรามมิให้ถ่ายในสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่าย

เราอ่านข่าวเกี่ยวกับการจับกุมคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรืออ่านข่าวนักหนังสือพิมพ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกจับเป็นนักโทษการเมือง ด้วยความฉงนสนเท่ห์ ว่าความล้าหลังเช่นนั้นยังดำรงอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21

และเราก็โล่งใจที่ประเทศไทยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

นักโทษการเมืองที่เราพอจะนึกออกก็ไม่ไกลไปกว่าคนรุ่นศรีบูรพา หรือคนรุ่นตุลา – ผ่านยุค 6 ตุลาฯ ที่นักศึกษาและนักกิจกรรมที่เคยเข้าป่า ได้ออกจากป่า ได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้กลายเป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ เป็นปัญญาชน เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ที่ทรงอิทธิพลในสังคม

แล้วเราก็นั่งฟังคนเหล่านั้นเล่าถึงความหลังที่ออกมาต่อสู้ ต้องติดคุก ทำหนังสือพิมพ์ ก็อาจจะถูกสั่งปิดได้ทุกเมื่อ

เรานั่งฟังเรื่องราวเหล่านั้นเหมือนฟังนิทาน และขอบคุณโชคชะตาที่เราไม่ได้เกิดเป็นคนรุ่นนั้นที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพื่อเสรีภาพ จนต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงกับการติดคุกหรือแม้กระทั่งเสียชีวิต

เรานั่งฟังคนรุ่นก่อนหน้า พูดถึงการเผาหนังสือต้องห้าม เพราะกลัวถูกค้นบ้านและถูกจับได้ว่ามีหนังสือเหล่านี้อยู่

ฟังไปก็ตื่นเต้นไปและไม่อยากเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง เพราะในรุ่นของฉัน หนังสือต้องห้ามเหล่านั้น กลายมาเป็นหนังสืออ่านนอกเวลา หรือเป็นหนังสือคลาสสิคขึ้นหิ้งที่คนไทยทุกคนควรอ่านเสียด้วยซ้ำ

พฤษภา 2535 ชวนให้เราเข้าใจว่า “วงจรอุบาทว์ในการเมืองไทย” จะจบสิ้นลงแล้ว ด้วยว่าชนชั้นกลางไทยเข้มแข็ง เติบโต ตื่นรู้ ตระหนักในสิทธิเสรีภาพของตนเองในฐานะพลเมือง และจะไม่ยอมให้ประเทศชาติกลับไปภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอีก

ชื่อ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส – เป็นสามชื่อที่ถูกจารึกไว้ในความทรงจำของสังคมว่า เป็นผู้นำใน “ยุคมืด” ของประวัติศาสตร์ไทย และมันจะไม่มีวันย้อนกลับมาอีก

อดีตนักโทษการเมืองที่เคยโดนข้อหา “ภัยความมั่นคง” รวมทั้งข้อหา “คอมมิวนิสต์” ได้กลายมาเป็น “ไอดอล” ทางปัญญา

คุณจิระนันท์ ได้รางวัลซีไรต์ และนักคิด นักเขียนอีกมากที่เคยลี้ภัยบ้าง ติดคุกบ้าง ในยุคหลัง 2535 เป็นต้นมา คนเหล่านี้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของสังคม เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ทางปัญญา ทางวัฒนธรรม

วีรกรรมและวิบากกรรมจากอำนาจรัฐที่พวกเขาเผชิญ กลายเป็นวรรณกรรม exotic สำหรับคนรุ่นฉัน

และเราค่อนข้างมั่นใจว่า ยุคแห่งการใช้อำนาจมืดเข่นฆ่า ราวีประชาชนมันจบสิ้นลงแล้ว

คนที่เคยถูกอำนาจรัฐเบียดขับ กดขี่ ตอนนี้กุมอำนาจนำทางปัญญา ทั้งสายสื่อมวลชน สายวิชาการ สายภาคประชาสังคม หรือเอ็นจีโอ สายนักสิทธิมนุษยชน ไปจนสายการเมือง

คนเดือนตุลาฯ จำนวนไม่น้อยหันไปเล่นการเมือง ทำงานให้กับพรรคการเมือง

มากันไกลขนาดนี้ คนรุ่นหลังอย่างฉันชะล่าใจหนักมากว่า อดีตผู้ประสบภัยทางการเมืองจากเผด็จการอย่างคนเหล่านี้ ไม่มีวันอนุญาตให้สังคมไทยเดินถอยห่างออกจากประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาด

แต่ปรากฏว่า ฉันคิดผิดถนัด

หากนับตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 คนไทยเอ็นจอยประชาธิปไตยและการเมืองระบบการเลือกตั้งอยู่เพียง 9 ปีเท่านั้น และเป็น 9 ปีที่ไม่ยาวนานพอที่จะทำให้รากของระบอบประชาธิปไตยหยั่งรากลึกลงในสังคมไทย

สาหัสกว่านั้น นักกิจกรรมทางการเมือง ปัญญาชนผู้เคยประสบภัยจากเผด็จการในยุค “ตุลาฯ” กลับมาเป็นหัวหอกในการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้วาทกรรม “ทรราชเสียงข้างมาก” (คนที่เชื่อก็ไม่ฉุกคิดบ้างเลยว่า ระหว่างทรราชเสียงข้างมาก กับทรราชเสียงข้างน้อย แบบไหนอาการหนักกว่ากัน)

9 ปีภายใต้การเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยขึ้นมา 2 ชุดในสังคมไทย

ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาถูกต้อนเข้าไปในกับดักของประชาธิปไตยแบบโรแมนติก และหลงใหลคำว่า ธรรมาภิบาล (คำว่า good governance ถูกแปล และแปรมาข้องเกี่ยวกับคำว่า “ธรรม” ซึ่งมีนัยทางศาสนาพุทธได้อย่างไร ก็ชวนให้ฉงน) และถูกหล่อหลอมให้เกลียดการคอร์รัปชั่น

โดยเข้าใจคำว่าคอร์รัปชั่นอย่างแคบๆ นั่นคือ “โกง” จากนั้นก็เอาไปโยงกับคำว่า นักการเมืองโกง (คู่ตรงข้ามคือ คนที่ไม่ใช่นักการเมือง เข้ามาทำงานการเมืองเพราะเสียสละจึงไม่โกง)

แต่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถเชื่อมโยงปัญหาการคอร์รัปชั่น กับระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ภายใต้กลไกประชาธิปไตย

แต่กลับเชื่อมั่นในความเที่ยงธรรมขององค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

และมันชวนให้อัศจรรย์ใจมากว่า ภายในเวลาไม่ถึง 20 ปี นับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ชนชั้นกลางเรียกร้องยืนยันว่า – นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

หลังปี 2549 อุดมการณ์ของพวกเขากลับกลายเป็น – จะปกครองด้วยระบอบอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี

และขอล้างบางตระกูลนักการเมืองชั่วออกไปให้สิ้นซาก

น่าแปลกใจมาก ทั้งๆ ที่ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายและผลงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่น้อย และอาจจะมากกว่าคนต่างจังหวัดเสียด้วยซ้ำไปในแง่ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ

คนชั้นกลางได้เอ็นจอยเสรีภาพในการพูด เขียน เสรีภาพของสื่อ

คนชั้นกลางได้พบกับสายการบินโลว์คอสต์ อันสามารถพาพวกเขาได้เหาะเหินเดินอากาศไปต่างประเทศได้บ้างอย่างที่ฝัน

คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เอ็นจอยบีทีเอส เอ็มอาร์ที ไม่นับการเปิดเสรีการค้าที่ทำให้คนชั้นกลางที่เข้าถึงการบริโภคสินค้า บริการได้อย่างหลากหลายชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย

สมัย “ก่อน” อยากช้อปปิ้งสินค้าเก๋ๆ แบรนด์เก๋ๆ ก็ต้องไปฮ่องกง เดี๋ยวนี้ ถ้าใครไปฮ่องกงก็คงมีคนเลิกคิ้วถาม -ไปทำไม?

ศูนย์การเรียนเก๋ๆ ฮิปๆ อย่าง ทีเคปาร์ก ก็เป็นผลงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

มิวเซียมเดิร์นๆ อย่างมิวเซียมสยามก็ใช่ รถแท็กซี่รุ่นเก่าบุโรทั่งหายไปจากถนนในเมืองฟ้าอมร เปลี่ยนเป็นแท็กซี่ใหม่ๆ นั่งสบาย ไม่เหม็น คือผลงานของ “นักการเมืองชั่ว”

แต่ดูเหมือนชนชั้นกลางไม่ค่อยเห็นคุณค่า หรือเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นของตาย คิดว่ามันเกิดขึ้นเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือนักการเมือง

(คล้ายๆ กับที่คนกรุงเทพฯ จำนวนมาก ยังไม่รู้เลยว่ากรุงเทพมหานครขับเคลื่อนและบริหารงานด้วยการเมืองและระบบราชการแบบไหน และอาจรู้แค่ว่า เขตมีหน้าที่ออกบัตรประชาชน)

ตรงกันข้ามกับคนต่างจังหวัดและ “คนจน” ที่เข้าใจประชาธิปไตยแบบ realistic พวกเขาไม่ได้คิดว่านักการเมืองต้องใจซื่อมือสะอาด เสียสละหรือเป็นคนดี

สำหรับ “ชาวบ้าน” นักการเมืองคือ “ตัวแทน” ของพวกเขาที่จะเข้าไปต่อรองเอาผลประโยชน์มา “ลง” ให้ “พวกเรา” และ “บ้านเรา”

ส่วนจะซื่อหรือไม่ซื่อ จะสะอาดหรือไม่สะอาด เป็นหน้าที่ของ “ส.ส.” ที่จะไปพิสูจน์ตัวเองในสภา ไม่เกี่ยวกับ “ชาวบ้าน” อย่างเรา

เกิด ส.ส. ของเราไปคดไปโกง โดนถอดถอนไป ทางพรรคเขาก็หาคนใหม่มาลงให้เราเลือก

ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอย่างเราจะกลัวอะไร ถึงเวลาเลือกตั้ง เราก็ช้อปปิ้ง “ตัวแทน” ของเราใหม่ พรรคนี้ไม่ดี ก็ไม่เลือก พรรคไหนดี มีข้อเสนอน่าสนใจให้เรา เราก็เลือกคนนั้น

การเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทำให้คนต่างจังหวัดมองประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในฐานะเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์ และยิ่งแจ่มชัดว่า การเลือกตั้งคือการยืนยันสิทธิและตัวตนของตนเองในฐานะ “เจ้าของอำนาจ”

มากกว่าผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ คนต่างจังหวัดและคนจน ซึ่งถูก “ระบบราชการภายใต้รัฐบาลเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบ” วางไว้ในฐานะพลเมืองชั้นสอง ถูกมองเป็น “ตาสีตาสา” ที่สกปรก โง่เง่า ได้ตระหนักว่า การเลือกตั้งนี่เอง ที่ทำให้พวกเขาได้เป็นคนเต็มคน ในฐานะพลเมืองของประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เราไม่ได้ยินเพลงหรือละครที่ล้อเลียนชาวบ้านแบบเพลงผู้ใหญ่ลี หรือมุขตลกแบบ ส.ส. ไปซื้อเสียงด้วยการให้รองเท้าฟองน้ำข้างหนึ่ง ถ้าได้เป็น ส.ส. จะเอาอีกข้างหนึ่งมาให้

เราไม่ได้ยินนิทานอย่างนั้นอีกแล้ว

และคนในชนบทจำนวนมาก ได้กลายเป็นผู้ประกอบการรายย่อย การเมืองระดับท้องถิ่น ที่เริ่มลงหลักปักฐานได้ ก็ยิ่งทำให้คนต่างจังหวัดกลายเป็น “พลเมือง” มีสำนึกทางการเมือง ว่าด้วยสิทธิในการบริหารจัดการตนเอง มากเสียยิ่งกว่าคนชั้นกลางมีการศึกษาในเมือง ที่ไม่เคยเข้าใจเรื่องการเมือง นอกจากท่องคำว่าคอร์รัปชั่น และคนดี ซ้ำไปซ้ำมาเหมือนคนเสียสติ แต่ไม่เคยคิดเรื่องสิทธิในการปกครองตนเอง

ท่องคำว่าคอร์รัปชั่น แต่ไม่เข้าใจระบบตรวจสอบ ถ่วงดุล ทะลึ่งไปเชื่อว่าถ้าคนดีมาปกครอง เขาจะปราบคอร์รัปชั่น จากนั้นประเทศชาติจะสงบสุข

ดีมากขึ้นไปอีกคือ จะได้เห็นคนต่างจังหวัดเป็นคนจนๆ โง่ๆ ต่อไป ไม่มาชูคอเป็นชนชั้นกลางแข่งกับเรา

จะเห็นว่าปัญหาความเสื่อมทรามและล้มเหลวของประชาธิปไตยไทยเกิดจากการที่คนชั้นกลางมีการศึกษาในเมืองถูกล้างสมองให้เข้าใจว่าประชาธิปไตยที่ดีคือการเมืองที่ปลอดคอร์รัปชั่น และนักการเมืองที่ดีคือผู้เสียสละเข้ามาทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง

แต่แท้จริงแล้ว หัวใจของประชาธิปไตยคือ “อำนาจ” ในการบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นของประชาชนทุกคน และเราได้แสดงอำนาจนั้นผ่านการ “เลือกตั้ง” เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่มีการเลือกตั้ง และไม่มีกติกาการเลือกตั้งที่จริงใจต่ออำนาจของประชาชน แสดงว่า เมื่อนั้น “อำนาจ” ถูกริบไปจากประชาชนเสียแล้ว

เมื่อไม่มีอำนาจ ก็ทำอะไรไม่ได้ เขาให้กินข้าวก็ต้องกินข้าว

อีกวันเขาบอกว่า มนุษย์ควรกินอ้อยก็ต้องกินอ้อย

อีกวันเขาบอกว่า หญ้ามีวิตามินสูง กินแล้วตัวโตเหมือนวัวเหมือนควายก็ต้องกินหญ้าตามที่เขาบอก

จะเถียง จะถามอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะอำนาจไม่ได้เป็นของเรา

หนักสุด อำนาจก็ไม่อยู่กับเรา แต่เรายังมีหน้าที่ในการจ่ายภาษีทำนุบำรุงประเทศ ทว่า ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะใช้เงินภาษีไปกับอะไร – ภาษีนั้นจะไปซื้อข้าว ซื้ออ้อย สร้างโบสถ์ วิหาร โรงพยาบาลอะไรที่ไหน เราก็ไม่มีสิทธิถาม

เมื่อไม่มีประชาธิปไตย สิ่งที่เหลืออยู่กับประชาชนคือ “หน้าที่” ที่ปราศจาก “สิทธิ”

สิบปีแล้ว ที่เราค่อยๆ ถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตย ห่างและเลือนรางจนกระทั่งเด็กในเจเนอเรชั่นหนึ่งที่เกิดหลังปี 2549 คือเด็กในเจเนอเรชั่นที่ไม่เคยเห็นประชาธิปไตยในยุคเบ่งบานและเต็มใบ

แต่เกิดมาก็เห็นสังคมไทยภายใต้ “คนดี” และการเป็นพลเมืองที่ดี หมายถึงการใช้ชีวิตแบบ “อยู่เป็น”

อย่ายุ่งเรื่องการเมือง อย่าสงสัย อย่าถาม โอนเอนไปกับ “กระแส” และเอาหลังอิงอำนาจนำทางวัฒนธรรม

เลี้ยงตัวไว้อย่าให้แปลกแยก (เช่น การไปถ่ายรูปนิสิต แล้วลงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยแล้วบอกว่า ภาคถูมิใจ เป็นต้น)

ทำได้ดังนี้ จะ “รอด” และจะได้ดิบได้ดี แม้จะต้องแลกด้วยการเสียสมองไปสักร้อยละแปดสิบ และทำให้มีรอยยิ้มสดใส บริสุทธิ์คล้ายเยาวชนเกาหลีเหนือ

คงอีกนานมากกว่าเราจะได้พบกัน-ประชาธิปไตย