ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | กาแฟดำ |
ผู้เขียน | สุทธิชัย หยุ่น |
เผยแพร่ |
กาแฟดำ
สุทธิชัย หยุ่น
ติช นัท ฮันห์
: ปฏิบัติธรรมไม่ใช่การทำบุญแต่ทำให้เห็นทุกข์
ผมเดินทางไป “หมู่บ้านพลัม” ที่ฝรั่งเศสเมื่อ 13 ปีก่อนเพื่อร่วมปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ “ติช นัท ฮันห์” และด้วยความหวังว่าจะได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่าน
ความเป็นนักข่าวของผมทำให้ผมหวังลึกๆ ว่าจะได้สัมภาษณ์ท่านเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของสารคดี “Zen 2010 : จากสวนโมกข์สู่หมู่บ้านพลัม”
เพื่อจะได้สานต่อคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุเชื่อมต่อกับของท่านติช นัท ฮันห์
เป็น 10 วันที่ผมได้เรียนรู้จากหมู่บ้านพลัมอย่างอิ่มเอิบด้วยความเข้าใจในความหมายของคำว่า “อยู่กับปัจจุบันขณะ” อย่างแท้จริง
ปรมาจารย์แห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสองเคยกล่าวไว้ตรงกันว่า
เพียงแค่เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
หายใจเข้า หายใจออก มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม
เราก็สามารถ “นิพพาน” ได้
ที่นี่และเดี๋ยวนี้
ผมมีคำถามว่ามันเป็นได้จริงหรือ
วันที่ผมได้สัมภาษณ์พิเศษหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ผมพยายามตั้งคำถามอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุมเกี่ยวกับชีวิต
เพื่อหาทางออกจากปัญหาการยึดติด
ในเรื่องบุญ บาป สวรรค์ นรก การเกิดและการตาย
ตอนหนึ่งผมถามท่านว่า
ในวัฒนธรรมบ้านเรา ไม่สามารถสอดแทรกเรื่องการเจริญสติไปสู่นิพพานในปัจจุบันขณะแทนความเข้าใจเรื่องทำบุญเพื่อไปสวรรค์ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ท่านติช นัท ฮันห์ ตอบว่า
“ถ้าเราปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง สวรรค์ก็จะอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้อยู่ต่อหน้าเราเวลานี้ ไม่ต้องรอให้ตายก่อนค่อยไปสวรรค์…
“โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งมหัศจรรย์ทั้งข้างนอกและข้างในตัวเอง แค่มีสติ สมาธิ เราก็จะปล่อยความกังวลและความทุกข์ออกไปได้แล้ว เราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้า อย่างที่มันเป็น… ‘สวรรค์จึงอยู่ตรงนี้ และเดี๋ยวนี้’ เป็นสิ่งที่เป็นจริงและอยู่ในวิสัยที่ทำได้
“ความหวังเรื่องสวรรค์ที่จะไปถึงอนาคตนั้น ไม่ใช่ของจริง
“สำหรับชาวตะวันตกแล้ว อาณาจักรของพระเจ้านั้นมีอยู่เดี๋ยวนี้ หรือไม่ก็ไม่มีเลย
“ถ้าคุณอยู่ที่นี่และอยู่กับปัจจุบันขณะจริงๆ ความอัศจรรย์แห่งชีวิตก็จะเผยตัวออกมา
“คุณจะรู้สึกว่ากำลังนั่ง กำลังเดินอยู่ในอาณาจักรของพระเจ้า อยู่ในสวรรค์ หรืออยู่ในดินแดนสุขาวดี
“นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ สวรรค์ ดินแดนของพระเจ้านั้น มีอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ถ้าเพียงแค่เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ถ้าเราไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะ อาณาจักรที่ว่าก็ไม่มีอยู่
“สวรรค์ก็เหมือนกัน และถ้าเราไม่รู้ตัวเวลาโกรธ อิจฉา หรือสิ้นหวัง นรกนั้นก็มีอยู่ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เช่นเดียวกัน
“หากเราปฏิบัติธรรม เจริญสติ สมาธิ ภาวนาเราก็จะได้ไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง คือฝั่งสวรรค์ ที่นี่และเดี๋ยวนี้…”
ผมชวนหลวงปู่คุยถึงท่านพุทธทาส
ผมบอกว่าอาจารย์พุทธทาสเคยสอนไว้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องอื่นใด นอกจากเรื่องทุกข์และเรื่องดับทุกข์เท่านั้น
สั้นๆ ง่ายๆ อย่างนั้น
ผมถามหลวงปู่ว่าท่านได้ศึกษาคำสอนของอาจารย์พุทธทาสด้วยใช่ไหม
หลวงปู่ตอบว่า “ใช่”
ผมถามต่อว่าหลวงปู่มีความเห็นเกี่ยวกับอาจารย์พุทธทาสอย่างไร
หลวงปู่ตอบสั้นๆ ว่า
“ท่านเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ เป็นเพชรแห่งวงการพุทธศาสนาเมืองไทย”
ผมถามถึงเรื่อง “เกิดและตาย”
ท่านพุทธทาสเคยบอกไว้ว่า
“ให้ตายเสียก่อนตาย ให้ความรู้สึกว่ามีตัวตน
ตัวกู ของกู ดับไปเสียก่อนที่ร่างกายจะตาย
ก่อนที่จะตายทางร่างกายนั้น
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ดับตัวตน
ความรู้สึกว่าตัวตน ว่าของตน
ซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ ให้ดับมันเสีย
ก่อนที่ร่างกายจะตายจริง
อย่างนี้เรียกว่า ตายเสียก่อนตาย”
หลวงปู่บอกว่า
“ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ทุกอย่างเป็นเพียงการสืบเนื่องเช่นเดียวกัน เมฆกลายเป็นฝน และฝนก็มาเป็นส่วนหนึ่งของน้ำชาถ้วยนี้…”
อีกช่วงหนึ่งของบทสนทนาธรรม
สุทธิชัย : คนไทยทั่วไปรู้สึกว่าศาสนาพุทธเป็นเรื่องที่ต้องเคร่ง ต้องเข้มงวด ต้องจริงจัง แต่ที่หมู่บ้านพลัม หลวงปู่ทำให้คนที่มารู้สึกผ่อนคลาย แนวทางใหม่เป็นอย่างนี้ใช่ไหม?
ติช นัท ฮันห์ : อาตมาแปลพระสูตรเป็นภาษาสมัยใหม่ เช่น เวียดนาม ฝรั่งเศส อิตาเลียน และเยอรมัน
การแปลพระสูตรด้วยภาษาสมัยใหม่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ทันที
เมื่อคนหนุ่มสาวมาที่นี่ พวกเขาสามารถร่วมสวดมนต์ได้เลย เมื่อฟังเทศน์ก็เข้าใจได้ง่าย เพราะคำเทศน์ไม่ได้เต็มไปด้วยคำศัพท์ยากๆ แต่เลือกใช้คำที่คนทั่วไปเข้าใจและเข้าถึง
“อาตมาใช้เวลานานหลายสิบปีในการหาคำพูดสมัยใหม่เพื่อใช้สื่อกับคนหนุ่มสาว
“การใช้ภาษาสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องจำเป็น
“การปฏิบัติจึงไม่ใช่แค่เรื่องทำบุญ แต่เป็นการเห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นทางพ้นทุกข์และการดับทุกข์
“คนที่มาแค่สามสี่วันก็สามารถออกจากทุกข์ได้
“นักบวชควรมีความสามารถที่จะฟังความทุกข์ของคนอื่นแล้วสามารถแนะนำวิธีปฏิบัติตัวที่สามารถดับทุกข์นั้นได้”
สุทธิชัย : พระและภิกษุณีที่นี่สามารถร้องเพลง ยิ้ม หัวเราะและเต้นรำได้ แต่พระที่ประเทศไทยถูกสอนให้ “สำรวม” หลวงปู่คิดว่าเรื่อง “สำรวม” มีความจำเป็นมากเพียงใด?
ติช นัท ฮันห์ : ทำไมจะไม่ให้พระหัวเราะกับชาวบ้านล่ะ พระควรเป็นตัวของตัวเอง แต่การยิ้มการหัวเราะนั้นต้องไม่ขัดกับหลักธรรม
ถ้าเราสามารถครองสติได้ในยามยิ้ม หรือหัวเราะ นี่ก็เป็นการเจริญสติอย่างหนึ่ง
เราต้องสื่อสารเป็น เพื่อจะถ่ายทอดความรู้และธรรมะที่มีอยู่ได้เต็มที่
ถ้าสื่อไม่เป็นจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะนำการยิ้มแย้ม และการใช้คำพูดที่ทำให้สื่อสารได้
ถ้าเรารักษาศีล ครองตนด้วยสติ คนอื่นก็จะยอมรับนับถือเราอย่างลึกซึ้ง แม้เราจะหัวเราะ เต้นรำหรือสวดมนต์
การสวดมนต์ก็เป็นการร้องเพลงอย่างหนึ่ง เราร้องแต่เพลงธรรมะ เพลงที่เอื้อต่อการปฏิบัติ เหมือนเพลง
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ฉันเป็นดอกไม้ เป็นหยาดน้ำค้างอันสดชื่น
เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่ประกาศธรรมะ
แล้วทำไมเราจะไม่ร้องล่ะ
เราจึงให้คนฝึกอานาปานสติด้วยการร้องเพลง
สุทธิชัย : พระพุทธเจ้าท่านเคยห้ามพระร้องเพลงไหม?
ติช นัท ฮันห์ : อาตมาคิดว่าไม่ เพราะในสมัยนั้น พระสวดมนต์กันตลอด และมีเสียงดนตรีในขณะสวดด้วย
สุทธิชัย : หลวงปู่ไม่กลัวว่าการร้องเพลงหรือเต้นรำ จะเป็นการลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธหรือ?
ติช นัท ฮันห์ : ถ้าเป็นการร้องหรือเต้นเพื่อประกาศธรรมะ ก็จะได้ผลตรงกันข้าม คือจะเป็นการสนับสนุนการฝึกสติและสมาธิต่างหาก
สนทนาธรรมกับปรมาจารย์ที่อธิบายคำสอนพระพุทธเจ้าได้อย่างชัดเจนด้วยภาษาง่ายๆ อย่างนี้คือการ “บรรลุธรรม” อีกแบบหนึ่ง
ผมบอกตัวเองว่าอย่างนั้น