‘หม้อสามขา’ หลายพันปี เครื่องเซ่นผีมีต้นแบบจากจีน / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘หม้อสามขา’ หลายพันปี

เครื่องเซ่นผี มีต้นแบบจากจีน

 

“หม้อสามขา” แสดงความสัมพันธ์ไทย-จีนสมัยดั้งเดิมเริ่มแรกหลายพันปีมาแล้ว เพราะมีต้นแบบจากจีน คือภาชนะดินเผามี 3 ขา เป็นเครื่องเซ่นผีเพื่อแสดงฐานะทางสังคมของคนตายที่ฝังในหลุมดินซึ่งเกี่ยวข้องความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี พบทั่วไปตั้งแต่ลุ่มน้ำฮวงโหในจีนจนถึงในไทย และคาบสมุทรมลายู

1. หม้อสามขาจากจีน

หม้อสามขา (อายุหลายพันปีมาแล้ว) พบครั้งแรกในจีน ถูกนักโบราณคดีจีนขุดพบในหลุมฝังศพ (จากหนังสือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 42-47)

ส่วนในประเทศไทยพบครั้งแรกที่บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จากการขุดค้นในหลุมศพโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก (เมื่อ พ.ศ.2503-2505) หลังจากนั้นพบทั่วไปทาง จ.สุพรรณบุรี และอื่นๆ กระจายกว้างขวางในชุมชนดั้งเดิมบริเวณที่ราบเชิงเขาทางตะวันตกตั้งแต่ภาคเหนือของไทย แล้วแผ่ทอดยาวผ่านภาคกลางลงไปภาคใต้ตลอดคาบสมุทรมลายู

ลักษณะของหม้อสามขาเหล่านี้ตรงกับภาชนะดินเผามีสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้วในวัฒนธรรมลุงชานของจีนบริเวณลุ่มน้ำฮวงโห (จีนเรียกวัฒนธรรมหลงซาน-Longshan culture) เป็นหลักฐานยืนยันว่ากลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในไทยกับในจีนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีการติดต่อสังสรรค์สัมพันธ์กันตามเส้นทางการค้าตั้งแต่ลุ่มน้ำฮวงโห ผ่านลุ่มน้ำแยงซีบริเวณ “โซเมีย” (ซึ่งเป็นที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีน) ลงไปลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อเนื่องถึงคาบสมุทรมลายู

หม้อสามขาเป็นเครื่องเซ่นผีเพื่อแสดงฐานะทางสังคมของคนตายผู้เป็นชนชั้นนำระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ฝังในหลุมดิน ดังนั้น เมื่อหัวหน้าเผ่าพันธุ์ตายก็เอาหม้อสามขาฝังรวมในหลุมฝังศพ เพื่อใช้งานในโลกต่างมิติตามความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี พบความเป็นมาดังนี้

(1.) หม้อสามขาทำขึ้นใช้เป็นเครื่องเซ่นในพิธีกรรมฝังศพโดยเฉพาะ เพื่อแสดงฐานะทางสังคมของคนตายว่าเป็นชนชั้นนำระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์

(2.) เครื่องเซ่นด้วยภาชนะดินเผาฝังรวมกับศพ พบเป็นประเพณีพิธีกรรมทางศาสนาผีในที่อื่นๆ ทั่วไปเพื่อให้ผีขวัญใช้สอยในโลกต่างมิติ

(3.) ไม่ใช้เป็นหม้อใส่กระดูกคน เพราะไม่เคยพบกระดูกคนตายในหม้อสามขา

(4.) ไม่ใช้เป็นภาชนะหุงต้มอาหาร เพราะใช้การจริงไม่ได้

(5.) สามขาที่ติดมากับภาชนะมีต้นแบบจาก “ก้อนเส้า” คือหิน 3 ก้อน จัดวาง 3 มุม ใช้ตั้งภาชนะเพื่อหุงต้มโดยสุมไฟไว้ตรงกลางระหว่างก้อนเส้า แต่ในที่นี้ไม่ใช้หุงต้ม คงมี 3 ขาไว้ใช้ตั้งภาชนะที่มีก้นมนกลม ถ้าไม่มีขาก็ตั้งไม่สะดวก

(6.) หม้อสามขาเป็น “เครื่องเซ่นทางศาสนาผี” ก่อนอินเดียมีกำเนิดศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้คำในพุทธศาสนา ดังนั้น หม้อสามขาไม่เป็น “ของอุทิศ” หรือ “เครื่องอุทิศ” ตามคติพุทธ

หม้อสามขา ภาชนะดินเผาแสดงฐานะทางสังคมระดับชนชั้นนำของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้วฝังไว้ — (ในภาพ) หม้อสามขาอายุราว 3,000 ปีมาแล้ว พบที่บ้านเก่า ต.จรเข้เผือก อ. เมือง จ.กาญจนบุรี จากการขุดค้นโดยคณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์ก พ.ศ.2503-2505 จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี (ภาพจากพิพิธภัณฑ์ฯ โดยนางสาวณุดา ปิ่นตัน)

2. ขวัญได้จากคำในภาษาจีน

หม้อสามขาถูกฝังในหลุมศพรวมกับร่างของหัวหน้าเผ่าพันธุ์ที่ตายแล้ว ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อเรื่องขวัญที่มีวิถีต่างมิติเหมือนเมื่อยังไม่ตาย ทั้งนี้ เพื่อใช้งานในโลกต่างมิติแสดงฐานะชนชั้นนำ

ขวัญเป็นคำออกเสียงตามรับรู้ในภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งใกล้ชิดเป็นคำเดียวและความหมายเดียวกับภาษาฮั่น ว่า หวั๋น (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) น่าเชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อร่วมกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่ไทยได้คำว่า “ขวัญ” ซึ่งกลายจากคำจีน มีคำอธิบายอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ได้แก่

(1.) หนังสือ ไทย-จีน ของพระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479 พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93),

(2.) บทความเรื่อง “พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน” ในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดยเจีย แยนจอง (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)

ขวัญ หมายถึงระบบความเชื่อทางศาสนาผีที่มีพลังกว้างขวาง และเกี่ยวข้องความคิดสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมรวมถึงสิ่งอื่นๆ

ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น ต่อมาคนตาย เพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่งคือร่างกายอวัยวะของคน หรือกล่าวอีกอย่างว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่หายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนปกติ [มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? ของสุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก (พิมพ์ครั้งแรก 2560) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2462]

ขวัญไม่ใช่วิญญาณ ต่างกันมาก และแทนกันไม่ได้ แต่ถูกทำให้ปนกันได้จนแยกไม่ออก

คนพื้นเมืองอุษาคเนย์นับถือศาสนาผี และทุกชาติพันธุ์มีความเชื่อคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับขวัญตั้งแต่หลายพันปีมาแล้วสืบจนทุกวันนี้ โดยเชื่อว่าคนตายเพราะขวัญหายจากร่างของคน แล้วหาทางกลับร่างไม่ถูก ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนเป็นปกติ จึงมีพิธีเรียกขวัญต่อเนื่องหลายวันหลายคืนเพื่อขอให้ขวัญกลับเข้าร่าง (แต่ไม่เคยสำเร็จ)

หลังรับศาสนาพุทธจากอินเดียและลังกา มีความเชื่อเปลี่ยนไปเป็นเรื่องวิญญาณ แต่พิธีศพแบบพุทธก็ถูกปรับเป็นแบบศาสนาผี มีพิธีกรรมใช้เวลานานมาก อาจนานที่สุดในโลกก็ได้

ความเชื่อตามศาสนาพุทธมีวิญญาณ หมายถึงสิ่งที่เชื่อกันว่ามีอยู่ในร่างกายของทุกคน เมื่อคนตายวิญญาณจะล่องลอยออกไปหาที่เกิดใหม่ เรียกเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งวิญญาณในภาษาไทยใช้ลักษณนามว่าดวง (หมายถึงดวงวิญญาณ) คล้ายจะบอกว่ามีสัณฐานกลมและมีแสงสว่าง แต่ยังไม่เคยพบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีว่ามีรูปดั้งเดิมแท้จริงอย่างไร?

ขวัญหาย กลายเป็นวิญญาณ เมื่อวิญญาณในศาสนาพุทธ กับพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ นำเข้าจากอินเดีย มีบทบาทแทนที่ความเชื่อดั้งเดิมเรื่องขวัญในศาสนาผีของภูมิภาคอุษาคเนย์ ส่งผลให้ความทรงจำพร่าเลือนเกี่ยวกับขวัญ แล้วอธิบายต่างจากเดิม ดังพบในคำนำหนังสือประชุมเชิญขวัญ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ [ประชุมเชิญขวัญ คือคำกลอนสำหรับเวลาทำขวัญในงานต่างๆ ที่เป็นประเพณีไทย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมะเมีย พ.ศ.2461]