ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (21)

ย้อนอ่าน ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (20)  (19)  (18)

นอกจากสิทธิขั้นพื้นฐาน 4 เรื่องซึ่งไม่อาจยกเลิกเพิกถอนได้ อันได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และการต่อต้านการกดขี่แล้ว

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังได้ประกาศยืนยันถึงความเสมอภาคเอาไว้ด้วย

ผู้ก่อการปฏิวัติปกป้องหลักความเสมอภาคในฐานะเป็นหลักการที่แตกหักกับวิธีคิดของระบบเก่า ชาติกำเนิดและสถานะทางสังคมไม่ได้นำมาซึ่งอภิสิทธิ์ ความแตกต่างทางชาติกำเนิด สถานะทางสังคม ไม่อาจทำให้บุคคลไม่เท่าเทียมกันได้

ในสายตาของผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ความไม่เสมอภาคระหว่างบุคคลและการเลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากชาติกำเนิดและสถานะนั้นเป็นอันตรายต่อเสรีภาพ เพราะมันจะเบียดบังลิดรอนเอาเสรีภาพของคนเล็กคนน้อยไป

ในนัยนี้ หมายความว่า เสรีภาพจะบังเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีความเสมอภาคเสียก่อน ดังนั้น ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง จึงเริ่มต้นมาตราแรกว่า

“มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาแห่งชาติเห็นว่า ความเสมอภาคไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและติดตัวมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้เท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด อย่างน้อยที่สุด ในทางกายภาพ มนุษย์ก็ไม่ได้มีรูปร่าง หน้าตา เพศ สีผิว เหมือนกันทั้งหมด และในทางสติปัญญา ก็ไม่มีทางที่มนุษย์จะมีความรู้ มีทักษะการใช้เหตุผล มีทัศนคติ ในแบบเดียวกันได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาชิกสภาแห่งชาติจึงมิได้ยืนยันให้ความเสมอภาคเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่ติดตัวกับความเป็นมนุษย์

แต่พิจารณาความเสมอภาคในฐานะเป็นอุดมคติทางปรัชญาและการเมืองที่สังคมการเมืองพยายามก้าวไปให้ถึง เป็นเงื่อนไขของการมีเสรีภาพ และเป็นเงื่อนไขของการคุ้มครองสิทธิอื่นๆ

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เน้นไปที่ “ความเสมอภาคตามกฎหมาย” มากกว่า “ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ” หรือ “ความเสมอภาคทางโอกาส” ความเสมอภาคตามกฎหมาย เรียกร้องให้ปัจเจกบุคคลเสมอภาคกันในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ดังปรากฏให้เห็นในมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า

“…กฎหมายจักต้องมีผลบังคับเสมอกันแก่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่บทกฎหมายอาจกำหนดให้ความคุ้มครองแก่สิทธิของบุคคล หรือกรณีที่บทกฎหมายอาจกำหนดให้ลงโทษแก่บุคคล…”

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ปัจเจกบุคคล ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมเช่นไร ต่างก็มีความเสมอภาคกันในการเข้าสู่ตำแหน่งข้าราชการ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 เช่นกันว่า

“…พลเมืองทุกคนซึ่งเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายนั้นย่อมเข้าสู่ตำแหน่งและงานอาชีพทางสาธารณะได้ ทั้งนี้ตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยไม่จำต้องพิจารณาความแตกต่างอื่นใด เว้นเสียแต่ความแตกต่างอันเนื่องมาจากคุณธรรมและความแตกต่างในด้านทักษะความสามารถพิเศษของบุคคลแต่ละคน”

ประการสุดท้าย ความเสมอภาคตามกฎหมายเรียกร้องต่อไปถึงความเสมอภาคทางภาษีด้วย ดังที่ในมาตรา 13 บัญญัติว่า

“เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจสาธารณะและค่าใช้จ่ายทางการปกครอง เป็นการจำเป็นที่จะต้องเรียกให้สังคมเข้ามารับภาระในเรื่องนี้ร่วมกัน การมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายสาธารณะจะต้องกำหนดสัดส่วนในระหว่างพลเมืองโดยเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความสามารถของพลเมืองแต่ละคน”

หากพิจารณาจากบทบัญญัติในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 แล้ว เราอาจสังเกตได้ถึงทัศนคติของสมาชิกสภาแห่งชาติในปี 1789 ที่ไม่ได้สนใจหรือสนับสนุนเรื่องการสร้างความเสมอภาคทางโอกาสเท่าไรนัก

แน่นอนว่าหลักความเสมอภาคตามความคิดของพวกเขานั้นเรียกร้องห้ามมิให้รัฐกระทำการอันไม่เสมอภาคอย่างไม่เป็นธรรม แต่มันก็ไม่ได้ไปไกลถึงขนาดที่จะลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่เกิดมาตามธรรมชาติ

และรัฐไม่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น กรณีคนที่มาจากครอบครัวยากจนและด้อยโอกาสทางสังคมย่อมเสียเปรียบคนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยและมีโอกาสทางสังคมมากกว่า ทั้งสองคนนี้เริ่มต้นชีวิตด้วยความไม่เท่าเทียมกัน คนที่มาจากครอบครัวร่ำรวยย่อมมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากร และแหล่งทุนได้มากกว่าคนที่มาจากครอบครัวยากจน ในท้ายที่สุด คนรวยก็ได้เปรียบคนจนเสมอ

กรณีเช่นนี้ รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างความเสมอภาคทางโอกาส ตรงกันข้าม หากรัฐมีมาตรการช่วยเหลือคนจนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เท่ากับคนรวย โดยให้ประโยชน์แก่คนจนมากกว่าคนรวย และเก็บภาษีคนรวยมากกว่าคนจน เช่นนี้ก็จะกลายเป็นว่าละเมิดเสรีภาพของคนรวย ละเมิดกรรมสิทธิ์ของคนรวย เบียดบังทรัพยากรจากคนรวยไปให้คนจน จนกลายเป็นความไม่เสมอภาคขึ้นมาอีก

ด้วยวิธีคิดแบบนี้เอง จึงไม่เกินเลยไปนักที่จะยืนยันว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 เป็นการปฏิวัติของพวกกระฎุมพีที่ต้องการยกระดับชนชั้นตนเองให้มีบทบาททางการเมืองและทางเศรษฐกิจ และรับรองกรรมสิทธิ์ของพวกตนเอง ความเสมอภาคที่คณะผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ปรารถนา เป็นความเสมอภาคที่ทำให้พวกกระฎุมพีได้เท่าเทียมกับพวกพระและขุนนาง

การปฏิวัติ 1789 ไม่ใช่การปฏิวัติที่มุ่งหมายสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างพวกกระฎุมพีกับพวกชนชั้นล่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อการปฏิวัติอุบัติขึ้น ชนชั้นกระฎุมพีซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดการปฏิวัติ ก็ไม่ได้เป็น “เจ้าของ” การปฏิวัติเสียแล้ว เหตุปัจจัยและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกสภาได้ทำให้กระฎุมพีที่ครอบงำสภาแห่งชาติไม่อาจ “ควบคุม” และ “บังคับ” ทิศทางของการปฏิวัติให้เป็นไปในทางเสรีนิยมได้ทั้งหมด

วิกฤตเศรษฐกิจ ความยากจน และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของพวก sans-culotte ตามท้องถนน เป็นแรงกดดันให้สภาแห่งชาติต้องคำนึงถึงความเสมอภาคทางเศรษฐกิจมากขึ้น

จนกระทั่งในปี 1792 ที่นักปฏิวัติปีก Jacobin ได้ขึ้นสู่อำนาจเป็นเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติ การปฏิวัติก็ก้าวรุดหน้าไปในทางสังคมนิยมมากขึ้น

คงเป็นดังที่ Maximilien Robespierre ได้กล่าวสุนทรพจน์ “ว่าด้วยสงคราม” ไว้เมื่อวันที่ 2 มกราคม 1792 ต่อสมาคมเพื่อนรัฐธรรมนูญว่า

“ลองไตร่ตรองถึงการเดินทางของการปฏิวัติ ในสภาพการณ์ที่ก่อตั้งขึ้นแล้วเสร็จ เกือบทุกประเทศในยุโรป มีสามพลังอำนาจ คือ กษัตริย์ อภิชน และประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วประชาชนจะไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าหากการปฏิวัติได้เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ มันก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป การปฏิวัติเริ่มขึ้นโดยขุนนาง นักบวช คนรวย และประชาชนก็สนับสนุนพวกเขาเหล่านี้หากว่าประโยชน์สอดคล้องต้องกัน ด้วยการต่อต้านอำนาจที่ครอบงำอยู่ นั่นคือ อำนาจของกษัตริย์ เช่นเดียวกันกับรอบๆ ตัวพวกท่านนี่แหละ คือ รัฐสภา ขุนนาง นักบวช คนรวย ที่ได้เริ่มขับเคลื่อนการปฏิวัติ จากนั้นประชาชนก็ปรากฏขึ้น บรรดาสมาชิกสภา ขุนนาง นักบวช คนรวย อาจรู้สึกสำนึกผิดเสียใจ หรืออยากยุติการปฏิวัติ เมื่อพวกเขาได้เห็นว่าประชาชนจะขึ้นมากอบกู้เอาอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของตัว แต่ก็พวกเขาเองนั่นแหละที่ได้เริ่มต้นการปฏิวัติ…”