ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส ว่าด้วย “สิทธิมนุษยชน”

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (19)

ย้อนอ่านตอนที่  18   17   16

ความคิดเรื่องการประกาศถึงสิทธิให้รับรู้ทั่วกันปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 18 โดยมีจุดกำเนิดในทางปรัชญาซึ่งเริ่มต้นจากสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และขยายต่อไปถึงสิทธิทางการเมือง

ในส่วนของสิทธิตามธรรมชาติ เราอธิบายได้ว่า ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิบางประการซึ่งรัฐมิอาจพรากเอาไปได้ ด้วยลักษณะธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์เป็นผู้ทรงสิทธิเหล่านี้ สิทธิที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิดจึงไม่อาจถูกจำกัดหรือตีกรอบได้โดยกฎหมาย สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้มาก่อนกฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐ เพราะมันมาตามธรรมชาติ เมื่อเป็นมนุษย์ ก็มีสิทธิเหล่านี้ขึ้นทันที ในขณะที่กฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐนั้นเป็นเรื่องของอำนาจในการตรากฎหมายของผู้ปกครอง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเพื่อก่อตั้งสังคมการเมือง

สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ได้แก่ สิทธิในชีวิตและร่างกาย ซึ่งเรียกร้องว่าไม่มีบุคคลใดจะพรากเอาชีวิตและร่างกายไปจากมนุษย์ได้, เสรีภาพ ยืนยันถึงอำนาจของมนุษย์ในการกระทำการใดก็ได้ตราบเท่าที่ไม่กระทบเสรีภาพของผู้อื่น, กรรมสิทธิ์ ซึ่งยอมรับให้มนุษย์มีสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

ทั้งสิทธิในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์ เกิดขึ้นก่อนตั้งแต่มนุษย์จะรวมตัวกันก่อตั้งสังคมการเมืองหรือรัฐ มันจึงเป็นสิทธิที่เกิดก่อนการเมือง เรายอมรับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์เหล่านี้ ก็ด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ เพียงประการเดียว นั่นคือ “ความเป็นมนุษย์”

เมื่อเป็นมนุษย์ก็มีสิทธิเหล่านี้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีใครมากำหนดให้มี

John Locke อธิบายไว้ว่า สิทธิตามธรรมชาติเหล่านี้ไม่อาจถูกพรากเอาไปและไม่อาจถูกละเมิดได้ สิทธิตามธรรมชาติจึงกลายเป็นข้อจำกัดในการใช้อำนาจของผู้ปกครองและรัฐบาล เจตจำนงของผู้ปกครองที่แสดงออกในรูปของการตรากฎหมาย ไม่อาจทำลายสิทธิเหล่านี้

วันใดที่ผู้ปกครองล่วงละเมิดสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ปกครองจะสูญสิ้นซึ่งความชอบธรรมในการปกครอง ประชาชนย่อมมีสิทธิในการต่อต้านผู้ปกครอง

มีสิทธิในการล้มล้างผู้ปกครองด้วยกำลัง เพราะการกระทำของผู้ปกครอง คือ อาชญากรรมอันเป็นนิรันดร์

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เกิดความคิดนำสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ไปบัญญัติไว้ในเอกสารคำประกาศ ฝ่ายที่สนับสนุนความคิดดังกล่าวต้องการแปลงสิทธิตามธรรมชาติให้อยู่ในรูปของกฎหมายที่ใช้บังคับในรัฐ เพื่อให้คุณค่าของสิทธิตามธรรมชาติถูกยอมรับและรับรู้โดยทั่วกัน

ผู้ปกครองจะอ้างว่าไม่รับรู้รับทราบถึงการมีอยู่ของสิทธิเหล่านี้ไม่ได้

หากพิจารณาในทางประวัติศาสตร์ของการจัดทำเอกสารคำประกาศเรื่องสิทธิ เราอาจต้องย้อนกลับไปถึง Magna Carta ซึ่งตราขึ้นในปี 1215 ต่อด้วย Petition of Rights ซึ่งตราขึ้นในปี 1629 Habeas Corpus ซึ่งตราขึ้นในปี 1679 และ Bill of Rights ซึ่งตราขึ้นในปี 1688

คำประกาศสิทธิชุดนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษภายใต้บริบทของความขัดแย้งระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการยืนยันอำนาจของรัฐสภาในการจัดเก็บภาษี หลักประกันสิทธิของบุคคล และอำนาจสูงสุดของรัฐสภา อาจกล่าวได้ว่า คำประกาศสิทธิของอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญในการก่อรูประบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญและระบบรัฐสภาได้สำเร็จ

ในส่วนของสหรัฐอเมริกา คำประกาศอิสรภาพ 4 กรกฎาคม 1776 ซึ่งร่างโดย Thomas Jefferson ได้ยืนยันอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา โดยอ้างอิงถึงเสรีภาพ สิทธิในชีวิต ความผาสุก และความเสมอภาค หลังจากนั้น มีการยกร่างคำประกาศสิทธิเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

โดยยืนยันถึงเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย การนับถือศาสนา การชุมนุม การพิมพ์ เป็นต้น

คําประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ของฝรั่งเศส ก็เกิดขึ้นภายใต้บริบทเดียวกันนี้ ท่ามกลางกระแสการยืนยันถึงสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ตามแนวทางของสำนักกฎหมายธรรมชาติ ผสมกับกระแสการนำสิทธิตามธรรมชาติเหล่านี้มายกร่างเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของคำประกาศสิทธิ

สมาชิกสภาแห่งชาติจึงกำหนดให้การจัดทำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองเป็นภารกิจสำคัญแรก

อย่างไรก็ตาม เพื่อไปให้พ้นจากความคิดแบบเดิมที่ผูกพันกับพระเจ้าในฐานะเป็นแหล่งที่มาของความถูกต้องดีงามทั้งหลาย เช่นเดียวกัน ก็ต้องไม่กลับไปอ้างความชอบธรรมตามระบอบเก่าอย่างกษัตริย์ด้วย ดังนั้น สภาแห่งชาติจึงต้องค้นหาแหล่งอ้างอิงแบบใหม่เข้าทดแทน ซึ่งก็คือ “ธรรมชาติ” นั่นเอง

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้จากคำปรารภของคำประกาศ ได้ดังนี้

“โดยที่พิจารณาเห็นว่า ความเขลาเบาปัญญา ความหลงลืม หรือความละเลยเพิกเฉยต่อสิทธิประการต่างๆ ของมนุษย์นั้น เป็นสาเหตุแต่เพียงประการเดียวของความหายนะที่เกิดมีขึ้นแก่ส่วนรวม และของความฉ้อฉลที่เกิดมีขึ้นในรัฐบาลชุดต่างๆ บรรดาผู้แทนปวงชนชาวฝรั่งเศสซึ่งรวมตัวกันเป็นสภาแห่งชาติ จึงเห็นพ้องต้องกันในอันที่จะแสดงให้ปรากฏเห็นอย่างเป็นทางการลงไปในคำประกาศ ซึ่งสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจถ่ายโอนแก่กันได้ และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ เพื่อว่าเมื่อคำประกาศฉบับนี้ได้ปรากฏแก่สมาชิกทั้งมวลอันประกอบกันขึ้นเป็นสังคมแล้ว จะกระตุ้นให้สมาชิกเหล่านั้นได้ตระหนักอยู่เสมอถึงบรรดาสิทธิและหน้าที่ของพวกเขา เพื่อว่าเมื่อพิจารณาถึงการกระทำของอำนาจนิติบัญญัติและการกระทำของอำนาจปกครองบริหาร ไม่ว่าจะในคราใดก็ตาม ประกอบกันเข้ากับวัตถุประสงค์แห่งสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน จักพึงได้รับการเคารพยิ่งขึ้น เพื่อว่าข้อเรียกร้องทั้งปวงของพลเมือง – ซึ่งนับแต่บัดนี้ไป จักตั้งอยู่บนหลักการต่าง ๆ อันชัดเจนและเป็นหลักการที่มิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป – จักมุ่งไปสู่การธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและประโยชน์สุขร่วมกันของทุกคน

ด้วยเหตุผลที่ว่ามานี้ ต่อเบื้องหน้าและภายใต้การคุ้มครองแห่งองคภาวะสูงสุด สภาแห่งชาติจึงยอมรับและประกาศซึ่งสิทธิทั้งหลายแห่งมนุษยชนและพลเมืองไว้ ดังต่อไปนี้…”

(ดัดแปลงเล็กน้อยจากการแปลของ ดร.ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล และเน้นข้อความโดยผู้เขียน)

จะเห็นได้ว่า ในคำปรารภนี้ ไม่ได้อ้างถึงพระเจ้าหรือกษัตริย์เลย แต่เน้นถึงสภาวะตามธรรมชาติที่ดำรงอยู่แล้ว มีมาก่อนหน้าแล้ว และผูกพันกับความเป็นมนุษย์ เพียงแต่ว่าในอดีตที่ผ่านมา เราได้หลงลืมหรือเพิกเฉยมันไปเอง

ดังนั้น คำประกาศนี้จึงไม่ได้เป็นการ “กำหนด” หรือ “ก่อตั้ง” ให้สิทธิเหล่านี้มีขึ้น แต่มัน “ประกาศ” สิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้ปรากฏชัดเจน

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความศักดิ์สิทธิของคำประกาศ และสนับสนุนความชอบธรรมให้แก่สภาแห่งชาติในการจัดทำคำประกาศนี้ สภาแห่งชาติจำต้องไปหาองคภาวะอะไรบางอย่างมาประกอบ

เมื่อไม่ต้องการอ้างพระเจ้าและกษัตริย์ พวกเขาจึงต้องอ้างสิ่งซึ่งเป็นนามธรรม โดยให้ชื่อว่า “Etre supr?me” หรือ “องคภาวะสูงสุด”

คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังมีลักษณะแตกต่างจากคำประกาศสิทธิของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในเรื่องของ “ความเป็นสากล” ผู้ร่างมีเจตจำนงชัดเจนต้องการให้คำประกาศนี้มีลักษณะสากล ใช้กับมนุษย์ทั้งปวง โดยไม่ยึดติดกับพรมแดนและเชื้อชาติ ซึ่งความคิดเช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากความคิดสากลนิยมในศตวรรษที่ 18 นั่นเอง

เราสังเกตได้ว่า ไม่ปรากฏคำว่า “ฝรั่งเศส” หรือ “ประชาชนชาวฝรั่งเศส” ในคำประกาศนี้เลย ทั้งนี้ ก็เพราะว่า สภาแห่งชาติมุ่งหมายให้คำประกาศนี้ใช้กับมนุษย์ทั้งปวง ไม่ใช่เฉพาะกับคนฝรั่งเศส เมื่อสิทธิทั้งหลายที่ประกาศไว้ในคำประกาศนี้ เป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์

ดังนั้น มนุษย์ทั้งปวงจึงเป็นผู้ทรงสิทธิ และมันคือสิทธิของมนุษยชาติ