ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (20)

ย้อนอ่าน ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส  19  18  17

คําประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีลักษณะที่แตกต่างไปจากคำประกาศสิทธิอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นคำประกาศสิทธิหลายฉบับของอังกฤษ หรือคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา

อาจกล่าวได้ว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีเอกลักษณ์อยู่หลายประการ

ดังนี้

ประการแรก ลักษณะความเป็นสากล คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ไม่มุ่งหมายเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศสและคนฝรั่งเศส แต่ผู้ร่างต้องการให้ครอบคลุมถึงมนุษย์ทุกคน เพราะสิทธิทั้งหลายที่ได้ประกาศไว้นั้นสัมพันธ์กับความเป็นมนุษย์ โดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติและพรมแดน

ประการที่สอง คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองสร้างนวัตกรรมใหม่ด้วยการนำเอาสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์เชื่อมต่อกับสิทธิของพลเมืองในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

สภาแห่งชาติจงใจใช้ชื่อว่า “คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอกสารนี้ได้ประกาศถึง “สิทธิมนุษยชน” (Droits de l”homme) พร้อมๆ กับ “สิทธิพลเมือง” (Droits du citoyen) โดยเนื้อหาในแต่ละมาตราก็ได้ยืนยันถึงสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองไว้

นับตั้งแต่นี้ การจัดองค์กรทางการเมืองและการใช้อำนาจของผู้ปกครองทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัด นั่นคือ สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง

ประการที่สาม คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังเป็นตัวบทแรกที่ยืนยันถึง เสรีภาพ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจดั้งเดิมอันสืบเนื่องมาจากปรัชญาแสงสว่าง ไปพร้อมๆ กับ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นความคิดใหม่ในช่วงเวลานั้น การยืนยันถึงเสรีภาพก็เพื่อป้องกันปัจเจกบุคคลให้พ้นไปจากการกดขี่ในทุกรูปแบบ ในขณะที่ความเสมอภาคนั้นถูกอ้างถึงในฐานะเป็นปัจจัยอันสำคัญในการยกเลิกอภิสิทธิ์และยกระดับฐานันดรที่ 3 ให้ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองแทนที่พวกพระและขุนนาง

ประการสุดท้าย คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีรูปแบบการเขียนไม่สลับซับซ้อน สั้น กระชับ ชัดเจน ประกอบไปด้วยคำปรารภและบทบัญญัติเพียง 17 มาตราเท่านั้น

ผู้ร่างประสงค์ให้ประชาชนทั้งหลายสามารถเข้าถึงและเข้าใจคำประกาศฉบับนี้ได้โดยง่าย

คงไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เป็นคำประกาศทางการเมืองที่แสดงออกอย่างชัดเจน เชื่อมโยงเป็นระบบ และเข้าใจง่าย

ในด้านเนื้อหา คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 เริ่มต้นจากการยืนยันถึงความเสมอภาคไว้ในมาตรา 1 ว่า “มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาและทรงไว้ซึ่งเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสิทธิประการต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะเช่นไรก็ตาม จะมีขึ้นได้ก็แต่เพื่อประโยชน์สาธารณะร่วมกันเท่านั้น”

ผู้ก่อการปฏิวัติ 1789 ต้องการสถาปนาหลักความเสมอภาคขึ้นในฐานะเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบใหม่ แสดงให้เห็นถึงการแตกหักกับระบอบเก่า ยุติการแบ่งคนออกเป็นฐานันดร ยกเลิกอภิสิทธิ์ของพวกพระและขุนนาง ชาติกำเนิดและสถานะทางสังคมไม่อาจเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งอภิสิทธิ์อีกต่อไป

ในมาตรา 2 บัญญัติว่า “วัตถุประสงค์แห่งสังคมการเมือง ได้แก่ การธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิทั้งหลายตามธรรมชาติอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ของมนุษย์ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้ ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และสิทธิในการต่อต้านการกดขี่”

บทบัญญัตินี้หมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐาน 4 เรื่อง อันได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย และการต่อต้านการกดขี่ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์

เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ก็ย่อมมีเสรีภาพ เป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์ได้ มีสิทธิในการได้รับความปลอดภัย และเมื่อมนุษย์ถูกกดขี่ ก็ย่อมมีสิทธิต่อต้าน

และสิทธิทั้ง 4 เรื่องนี้ติดตัวมากับความเป็นมนุษย์ จึงไม่อาจถูกเพิกถอนไปได้

ในส่วนของ เสรีภาพ นั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ได้แจกแจงรายละเอียดของเสรีภาพในแต่ละเรื่องไล่เรียงไปทีละมาตรา

เริ่มตั้งแต่ ในมาตรา 4 ยืนยันถึงเสรีภาพส่วนบุคคลว่า เสรีภาพ คือ ความสามารถของมนุษย์ในการกระทำการใดก็ได้ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อบุคคลอื่น ข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลมีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ เสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น การใช้สิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ย่อมถูกจำกัดลงได้แต่เพียงเพื่อการประกันให้บุคคลอื่นซึ่งเป็นสมาชิกในสังคมสามารถใช้สิทธิอย่างเดียวกันนั้นได้ด้วย ข้อจำกัดทั้งหลายในการใช้สิทธิเหล่านี้จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยบทกฎหมายเท่านั้น

จากบทบัญญัติในมาตรา 4 นี้เอง ทำให้ George Jellinek นักนิติศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้สร้างคำอธิบายเรื่องประเภทของสิทธิ เห็นว่า คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 พูดถึงแต่สิทธิในทางปฏิเสธ (status negativus) หรือสิทธิในการปฏิเสธไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ไม่ได้พูดถึงสิทธิในการเรียกร้องจากรัฐ (status positivus) และสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง (status activus)

เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของพวกกระฎุมพีที่เน้นเรื่องปัจเจกบุคคลเป็นสำคัญ

พวกเขาไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับแดนตัดสินใจของพวกเขามากกว่าที่จะเรียกร้องให้รัฐให้อะไรแก่พวกเขา

ในสายตาของพวกกระฎุมพี รัฐไม่จำเป็นต้องมอบอะไร ขอแค่รัฐอย่ามายุ่งกับเขาก็เพียงพอแล้ว

ด้วยเหตุนี้เอง หากพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายซ้าย คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 มีเนื้อหาที่เอียงไปในทางเสรีนิยม (liberalist) มากกว่าสังคมนิยม (socialist)

สนับสนุนให้รัฐมีอำนาจน้อย รัฐแทรกแซงน้อย เพื่อให้บุคคลมีเสรีภาพ และไม่สนับสนุนให้รัฐมีอำนาจมาก รัฐแทรกแซงมาก เพื่อสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยังได้ยืนยันถึงหลักประกันในการไม่ถูกจับกุมคุมขังโดยอำเภอใจ (มาตรา 7)

หลักการกำหนดโทษต้องได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด และหลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นผลร้าย (มาตรา 8)

หลักการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (มาตรา 9)

เสรีภาพในความคิดและการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิด (มาตรา 10)

เสรีภาพในการแลกเปลี่ยนสื่อสารซึ่งความคิดและความเห็น เสรีภาพในการพิมพ์ พูด เขียน (มาตรา 11)

ในส่วนของ กรรมสิทธิ์ นั้น คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ยืนยันไว้ในมาตรา 17 ว่า

“กรรมสิทธิ์เป็นสิทธิอันมิอาจล่วงละเมิดได้และเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ บุคคลจะถูกพรากไปซึ่งกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเห็นประจักษ์ชัดตามที่กฎหมายบัญญัติ และโดยมีเงื่อนไขในการชดเชยที่เป็นธรรมและกำหนดไว้เป็นการล่วงหน้าแล้ว”

กรรมสิทธิ์เป็นเงื่อนไขของเสรีภาพ มนุษย์มีเสรีภาพและใช้เสรีภาพได้ จำเป็นต้องถือครองทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์จึงเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์และละเมิดมิได้ ข้อจำกัดของกรรมสิทธิ์มีเพียงประโยชน์สาธารณะเท่านั้น

รัฐอาจละเมิดกรรมสิทธิ์ของปัจเจกบุคคลได้ก็เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ

มนุษย์ย่อมมี สิทธิในความปลอดภัย (มาตรา 4) ความปลอดภัยเป็นหลักประกันของการมีและใช้เสรีภาพ มนุษย์ต้องมั่นใจได้ว่าการใช้เสรีภาพของตนจะไม่ถูกรบกวนหรือกระทบต่อชีวิตและร่างกาย สิทธิในความปลอดภัยยังยึดโยงถึงภารกิจของรัฐ และเหตุผลของการมีอยู่ของรัฐด้วย

เมื่อมนุษย์มารวมตัวกันเป็นสังคมการเมืองและยินยอมยกให้รัฐมีอำนาจเหนือพวกตนได้ ก็เพราะต้องการให้รัฐปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากภัยอันตรายต่างๆ

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องประกันได้ว่าปัจเจกบุคคลจะใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงปลอดภัย

สิทธิขั้นพื้นฐานอันมิอาจยกเลิกเพิกถอนได้ในเรื่องสุดท้าย คือ สิทธิในการต่อต้านการกดขี่

เมื่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองได้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบ กดขี่ข่มเหงประชาชน พรากเอาสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลายของประชาชนไป จนไม่หลงเหลือสิทธิใดอีก

แต่ประชาชนก็ยังคงมีสิทธิประการสุดท้ายหลงเหลืออยู่ นั่นคือ สิทธิในการต่อต้านการกดขี่ของผู้ปกครอง ล้มล้างผู้ปกครองนั้น เพื่อก่อตั้งระบบการเมืองและรัฐบาลขึ้นใหม่

ในนัยนี้เอง สิทธิในการต่อต้านการกดขี่จึงเป็น “อาวุธ” สุดท้ายของมนุษย์ในการต่อสู้กับการใช้อำนาจที่ทำลายสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์