เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ เหตุการณ์ระหว่างทางไปสอนปัญจวัคคีย์

เส้นทางระหว่างพุทธคยาไปยังสารนาถ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน) ประมาณ 220 กว่ากิโลเมตร ประมาณนั้น (แผนที่ทางอากาศ, แต่ถ้าภาคพื้นดินตามปกติ จากพุทธคยาไปพาราณสี 240 กิโลเมตร จากพาราณสีไปสารนาถอีก 11.4 กิโลเมตร รวมจากพุทธคยาไปสารนาถก็ 251.4 กิโลเมตร) พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยา มุ่งตรงไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์หนีมาอยู่

ระหว่างทางทรงพบอาชีวกนามว่า อุปกะ เดินสวนทางมา อาชีวกคนนี้เห็นพระบุคลิกลักษณะของพระองค์น่าเสื่อมใส รู้สึกประทับใจ จึงเข้าไปถาม คำโต้ตอบกันคัดจากพระไตรปิฎกมีดังนี้

อุปกะ “อาวุโส (ผู้มีอายุ, ท่าน หรือ คุณ) อินทรีย์ของท่านผ่องใส ฉวีวรรณผุดผ่อง ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร”

พุทธ “เราครอบได้หมด เป็นผู้รู้จบ ไม่ติดอยู่ในธรรมทั้งปวง ละธรรมได้หมด พ้นแล้ว เพราะหมดสิ้นตัณหา เรารู้แจ้งเองแล้ว จะอ้างใครว่าเป็นศาสดาเล่า”

“เราไม่มีอาจารย์ คนเช่นเราไม่มี เราหาผู้เปรียบปานมิได้ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก”

“เราเป็นอรหันต์ในโลก เป็นศาสดาไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นสัมมาสัมพุทธะคนเดียว เป็นสัมมาสัมพุทธะคนเดียว เป็นผู้ดับเย็นสนิทแล้ว”

“ในเมื่อโลกมืดมิดฉะนี้ เราจะไปแคว้นกาสี เพื่อหมุนกงล้อคือพระธรรม และเพื่อลั่นกลองอมตะ”

อุปกะ “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็ปฏิญญาว่าท่านเป็น “อนันตชินะ” (ผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด) ละสิ”

พุทธ “ชินะทั้งหลายที่บรรลุความสิ้นตัณหาเช่นเราไม่มี ธรรมชั่วช้า (บาปอกุศล) เราเอาชนะได้แล้ว เพราะฉะนั้น อุปกะ เราจึงเป็นชินะ”

อุปกะพูดว่า “อาวุโส สิ่งที่ท่านพูดนั้น พึงเป็นไปได้” แล้วสั่นศีรษะ หลีกทางไป (หุเวยฺยาวุโสติ วตฺวา สีสํ โอกมฺเปตฺวา อุมฺมคฺคํ คเหตฺวา ปกฺกามิ)

(วินย.มหา 4/11/11)

ข้อความในวงเล็บหมายถึง มาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรคพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 ข้อที่ 11 หน้า 11

ข้อความจากอรรถกถา (ธัมมปทัฉฐกถา) มีดังนี้

อุปกะ “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่องท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร”

พุทธ “เราครอบได้หมด เป็นผู้รู้จบ ไม่ติดในธรรมทั้งปวง ละธรรมทั้งหมด พ้นแล้วเพราะหมดตัณหา รู้เองแล้วจะต้องอ้างใครเป็นอาจารย์เล่า”

อุปกะ ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน แต่สั่นศีรษะ แลบลิ้น ยึดทางที่เดินไปคนเดียว ได้ไปยังที่อาศัยของนายพรานแห่งใดแห่งหนึ่งแล้ว

“(อุปโก อาชีวโก ตถาคตสฺส วจนํ นาภินนฺทิ นปฺปฏิกฺโกสิ สีสํ จา เลตฺวา เอกปทิกํ มคฺคํ คเหตฺวา อญฺญตรํ ลุทฺทกนิวาสฏฺฐานํ อคมาสิ)”

(ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค 8 ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 16 พ.ศ.2509 ภาษาบาลี หน้า 37)

คําถามที่มักถามกันก็คือ อุปกาชีวก เชื่อพระพุทธเจ้าหรือไม่

ลองพิจารณาจากหลักฐานชั้นต้น (พระไตรปิฎก) กับหลักฐานชั้นรอง (อรรถกถา) ดู จะเห็นว่าอุปกาชีวกน่าจะเชื่อพระพุทธเจ้านะครับ

ดังข้อสังเกตต่อไปนี้

1. คำพูดว่า หุเวยฺยาวุโส = ผู้มีอายุ ที่ท่านพูดนั้นพึงเป็นไปได้ คำว่า “พึงเป็นไปได้” มีเปอร์เซ็นต์แห่งความเชื่อเกิน 50 ถ้าจำไม่ผิด พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ (ฉบับสมาคมบาลีปกรณ์) แปลความตรงนี้ว่า “I see” แสดงว่าเชื่อพระพุทธองค์

ในอรรถกถา ไม่บอกว่า อุปกาชีวกพูดอะไรหลังจากพระพุทธองค์ตรัสจบ บอกแต่ว่าไม่ยินดี และไม่คัดค้าน แต่ก็บ่งบอกความเชื่อของอุปกาชีวกในระดับสูงเช่นเดียวกัน

2. การสั่นศีรษะ ตามวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีปแสดงถึงเชื่อ ในอรรถกถาเพิ่มแลบลิ้นด้วย ไม่ทราบว่าการแลบลิ้นเป็นการคัดค้านหรือยอมรับ แต่ถ้าถือตามวัฒนธรรมทิเบต มีผู้เล่าว่าเป็นการยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจอย่างยิ่งด้วย

ยิ่งถ้าดูเหตุการณ์หลังจากอุปกาชีวกแยกจากพระพุทธเจ้าไปแล้วบริบทหรือความแวดล้อมจะบ่งชัดว่า อุปกาชีวกเชื่อพระพุทธเจ้า

คัมภีร์อรรถกถาเล่าต่อไปว่า หลังจากหลีกทางจากพระพุทธองค์แล้ว อุปกาชีวกไปอาศัยที่หมู่บ้านนายพรานแห่งหนึ่ง ในความอุปถัมภ์ของครอบครัวนายพรานครอบครัวหนึ่ง

ต่อมาอุปกาชีวกหลงรักลูกสาวนายพรานชื่อ นางจาปา ได้สึกไปแต่งงานกับนาง ช่วยพ่อตาหาบเนื้อขาย (เพราะไม่มีความรู้ศิลปะวิชาอะไร เนื่องจากบวชมานาน) มีลูกชายหนึ่งคนนามว่า สุภัททะ ต่อมามีปัญหาครอบครัว เกิดความเบื่อหน่ายนึกถึงพระ “อนันตชินะ” (พระพุทธเจ้า) ขึ้นมา จึงได้ตามไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

แต่ถ้าดูพุทธประวัติที่แต่งในภายหลัง ทุกฉบับจะบอกว่า อุปกาชีวกไม่เชื่อพระพุทธเจ้าเหตุผลก็คือ อุปกาชีวกแก “สั่นศีรษะ”

ลงว่าได้สั่นศีรษะ แสดงว่าไม่เชื่ออยู่แล้ว ยิ่งแลบลิ้นด้วยแล้วจะเหลืออะไร ใช่ไหมครับ พระปฐมสมโพธิ ฉบับเสด็จพระสังฆราชสา วาดภาพฉากนี้ให้อุปกาชีวกกล่าวเย้ยหยันพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ถ้าถือตามวัฒนธรรมไทยก็น่าเชื่อว่าอุปกาชีวกแกไม่เชื่อพระพุทธองค์

แต่เหตุการณ์เกิดขึ้นที่เมืองอินเดีย สั่นศีรษะ ตามวัฒนธรรมอินเดีย หมายถึง Yes มิใช่ No ครับผม