คำ ผกา | เผด็จการ 101

คำ ผกา

กรณีที่สุภาพสตรีท่านหนึ่งที่จังหวัดอุดรธานีไปต้อนรับนายกฯ แล้วเอ่ยดังๆ ให้นายกฯ ได้ยินว่า “มาเพื่อพัฒนา ถ้าพัฒนาไม่ได้ก็ควรเกษียณตนเองออกไปแล้วให้คนอื่นมาทำแทน”

คลิปนี้เป็นที่ฮือฮา แชร์กันมากในโลกออนไลน์ จนในที่สุดมีตำรวจไปที่บ้านสุภาพสตรีท่านนี้

สุภาพสตรีท่านนั้นบอกว่า : ซึ่งเราก็งงว่าตำรวจไปหาที่บ้านทำไม? จะไปแจ้งข้อหาอะไร? สิ่งที่ทำผิดกฎหมายข้อไหน? และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นการคุกคาม ข่มขู่ประชาชนหรือไม่? ทำไมประชาชนเจ้าของประเทศ เจ้าของอำนาจ และในฐานะผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินไปเป็นเงินเดือนของนายกฯ และข้าราชการทุกคนจะไม่สามารถ “ตำหนิ” นายกฯ ได้?

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีนักข่าวไปสัมภาษณ์สุภาพสตรีท่านนี้ และหลายๆ คนที่ปกป้องเธอก็บอกว่า “ทำไมสังคมไทยไม่มีพื้นที่สำหรับคนคิดต่าง?”

จากตรงนี้เองที่ฉันติดว่าคำว่า “คิดต่าง” ถูกใช้อย่างค่อนข้างมีปัญหาในสังคมไทย

ก่อนที่จะไปคุยกับเรื่องคำว่า “คิดต่าง” ฉันคิดว่ามีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจ

คือคำว่า “นักโทษทางความคิด”

สถานการณ์ของประเทศไทยในแง่ของเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดและจุดยืนทางการเมืองในปัจจุบันนี้คำที่ควรถูกนำมาใช้แทนคำว่า “คนเห็นต่าง” น่าจะเป็นคำว่า “นักโทษทางความคิด” มากกว่า

ฉันคิดว่าคนที่ผลักดันจนทำให้เกิดการรัฐประหารปี 2549 ประเมินปฏิกิริยาโต้กลับจากประชาชนต่ำเกินไป

เข้าใจไปเองว่า รัฐประหารเสร็จ เอาทักษิณ ชินวัตร ออก เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้ง หลังจากนั้น ทุกอย่างจะสงบราบคาบ ได้เซ็ตซีโร่ จัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจ ให้ประเทศไทยกลับไปอยู่ในสภาพก่อน 2540

รื้อฟื้นระบบรัฐราชการ อำนาจรัฐที่รวมศูนย์ กองทัพมีบทบาทในการดูแลความมั่นคง “ภายใน” แบ่งอำนาจและผลประโยชน์กันระหว่างรัฐราชการ นายทุน กองทัพ เทคโนแครต

เศษๆ เหลือๆ บาทสองบาทก็โยนให้ประชาชน

จากนั้นก็หล่อเลี้ยงความพิกลพิการยากจนของประชาชนไว้ด้วย โฆษณาชวนเชื่อเรื่องคนดี คนขยัน คนมีศีลธรรม เมืองไทยเรานี้แสนดีหนักหนา มีเศรษฐกิจพออยู่พอกินอะไรก็ว่าไป

แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น ว่ากันว่ารัฐธรรมนูญ 2540 บวกกับการขึ้นมาเปลี่ยนแปลงประเทศในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจหลายอย่างของทักษิณเหมือนปลุกยักษ์หรือประชาชนให้ตื่น เมื่อตื่นแล้วก็ตื่นเลย ไม่กลับไปหลับอีก

รัฐประหาร 2549 กลับนำมาซึ่งขบวนการเรียกร้อง ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ “ประชาชน” ที่กว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ โดยไม่ต้องอิงอยู่กับขบวนการนักศึกษาหรือขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายใดๆ เลย

(มากไปกว่านั้นมันยังเป็นขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนที่ค่อนข้างขวาจัดด้วยซ้ำไป)

ณ จุดนั้นเอง ที่การเมืองระหว่าง “มวลชน” ของไทยเป็นการเมืองที่ devisive อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นสิ่งที่ฉันเรียกมันว่า point of no return เราไม่ต้องพูดถึงการฆ่าคนเสื้อแดงกลางเมืองหลวง ในปี 2553 การจับคนเสื้อแดงเข้าคุกเป็นว่าเล่นในยุคนั้น ลำพังประชาชนสองกลุ่มที่

หนึ่ง สนับสนุนรัฐประหาร

สอง ต่อต้านการรัฐประหาร

แค่จุดแตกหักกันระหว่างสองกลุ่มนี้ก็ถือว่าเรามาอยู่ในจุดแห่งการ “แตกหัก” ของคนไทยด้วยกันอย่างยากที่กลบเกลื่อนว่า มันมีอะไรกลางๆ ที่พอจะอยู่ร่วมกันได้

นับตั้งแต่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐประหารและปฏิสังขรณ์ระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันนี้ คั่นด้วยการรัฐประหารปี 2557 เป็นเวลา 12 ปีเต็ม ที่เราต้องตระหนักว่าเป็น 12 ปีแห่งการ re-educate หรือการเขียน, อ่าน, เล่า, รื้อ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยของไทยออกทั้งหมดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ประวัติศาสตร์ 2475 ได้กลับมาทวง “ที่ทาง” ของมันอีกครั้งหลังจากถูกจัดให้เป็นคน “ชิงสุกก่อนห่าม”

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วัดพระศรีมหาธาตุ มีชื่อเดิมว่าวัดประชาธิปไตย บทบาทของจอมพล ป. ที่ถูกทำให้กลายเป็นผู้ร้าย ผู้นำฟาสซิสต์ ถูกนำมาชำระ อ่านใหม่ ทำความเข้าใจใหม่

หรือแม้แต่ที่มาที่ไปของที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถูกทำมาสะสางเปิดเผย

สถาปัตยกรรมคณะราษฎร ที่ครั้งหนึ่งถูกละเลย หรือถูกดูหมิ่นว่าอัปลักษณ์ น่าเกลียด ก็ถูกนำมาศึกษา อธิบายใหม่ไปพร้อมๆ กับที่คนสมัยนี้ก็อินกับสถาปัตยกรรมมินิมอล โมเดิร์น – สุนทรียศาสตร์คณะราษฎร กลับถูกนำมาเชิดชูอีกครั้ง

และทั้งหมดเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549

 

12 ปีที่คนที่ต้านรัฐประหาร สนับสนุนประชาธิปไตย ต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยก็ยังคงมีจุดยืนเดิม แม้จะไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวเหมือนในยุค นปช.

แต่ในเวลาเดียวกันคนที่เพิ่งเติบโตในห้วง 12 ปีนี้ พวกเขาได้รับ education ทางการเมือง และประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นที่ต่างไปจากยุคก่อน 2549 โดยสิ้นเชิง มันจึงกลายเป็นปรากฏการณ์ของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “สลิ่ม” อีกต่อไปแล้ว

ยกเว้นกรณีดารา นักร้อง กลุ่มที่ยังแอบอิงกับระบบอุปภัมภ์ที่เป็นสลิ่มยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือเจน x หรือกรณี “ลูกหนัง” ที่ถูกหล่อหลอม สั่งสอน ฝังหัวมาจากพ่อ-แม่ของเขา เกี่ยวกับการเมืองแบบผิดๆ จึงหลงเหลือเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิด “สลิ่ม” ซึ่งมีอยู่ไม่มาก

ขณะที่ประชาชนมีความรู้เข้าใจเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ โฆษณาชวนเชื่อของรัฐใช้การไม่ได้ ไม่มีใครซื้อมีแต่คนเอาไปทำมีมขำขัน

คำว่า “สลิ่ม” กลายเป็น dirty word ไม่มีใครอยากถูกเรียกว่าสลิ่ม มันฟังดู “โง่”

แต่อำนาจทางการเมืองกลับยังอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยได้ผุดได้เกิดในประเทศนี้

พวกเขาทำรัฐประหารปี 2557 เขียนรัฐธรรมนูญออกแบบกติกาให้พวกเขาได้อยู่ในอำนาจต่อ และอยู่ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ แถมยังอ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง และพวกเขาก็ฉลาดพอที่จะแชร์ผลประโยชน์กับนักการเมืองที่เข้ามาเป็นพรรคพันธมิตร

ผลก็คือการนำพาประเทศชาติไปสู่ความตกต่ำทั้งในมิติของประชาธิปไตย เสรีภาพของประชาชน ภัยเศรษฐกิจ พิษโรคระบาด การหน่วงเหนี่ยวประเทศให้ตกอยู่ในวังวนของบทสนทนางี่เง่า ไร้สาระ และประชาชนเองก็ติดกับดักในบทสนทนาอันโง่เง่าเหล่านั้น

ทำไมเรามีนายกฯ ไม่เก่ง ทำไมเรามีนายกฯ ที่ไม่เข้าใจว่าความเหลื่อมล้ำคืออะไร ทำไมเรามีนายกฯ ที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ตอบไม่ตรงคำถาม เอะอะด่าประชาชน เอะอะบ่นเหนื่อย เอะอะทวงบุญคุณ เอะอะสั่งสอนเหมือนประชาชนเป็นเด็กสามขวบ

และเราก็ลืมไปว่า นี่แหละคือนายกฯ ในอุดมคติของระบอบนี้ ระบอบที่ไม่ต้องการให้ประเทศชาติเจริญหรือพัฒนา ระบอบที่ไม่ต้องการเห็นประชาชนเข้มแข็ง มีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจ มีเงิน มีความฝัน มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนั้น จึงพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ประยุทธ์คือนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดเท่าที่ระบอบนี้ฝันจะมีได้ ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ สมบูรณ์แบบไปกว่านี้อีกแล้ว

 

แต่สำหรับประชาชนที่ต้องการนับหนึ่งของชีวิตที่คำว่า “ประชาธิปไตย” พวกเขาย่อมสนใจในตัวประยุทธ์ น้อยกว่าความพยายามจะปฏิสังขรณ์ประชาธิปไตยขึ้นมาให้ได้ พวกเขาจึงออกมาพูด ออกมาด่า ออกมาประท้วง ออกมารณรงค์ ออกมาปราศรัย ออกมายื่นหนังสือ ออกมาล่ารายชื่อประชาชนเพื่อยื่นสู่สภา หรือแม้แต่ออกไปตะโกนใส่หูประยทธ์ ไม่ได้ต้องการการเมืองแบบนี้ ไม่ต้องการนายกฯ ที่มาจากการเมืองแบบนี้

มองจากสายตาชาวโลก ประเทศไทยนั้นแตกแยกอย่างชัดเจนแล้ว เป็นความแตกแยกระหว่างฝ่ายที่หนุนประชาธิปไตย กับฝ่ายที่หนุน “เผด็จการ”

มองมาจากดาวอังคารก็ต้องรู้ว่า ฝ่ายที่หนุนประชาธิปไตยคือฝ่ายที่มีความถูกต้อง ชอบธรรม

ส่วนฝ่ายเผด็จการนั้นมีอำนาจมาจากการรัฐประหารและใช้กฎหมายลงโทษ ปิดปากประชาชน ใช้กลไกอำนาจรัฐทำให้ประชาชนอ่อนแออย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น การกระทำหรือคำพูดของฝ่ายที่สนับสนุน ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ “ความเห็นต่าง”

มันจึงผิดมากๆ ที่เราจะพูดเวลาที่ฝ่ายนักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยถูกจับหรือถูกล่าแม่มด หากเราจะพูดว่า “สังคมต้องมียืนให้คนเห็นต่าง”

ไม่ใช่เลย คนเหล่านี้ไม่ใช่คนเห็นต่าง

คนเหล่านี้คือคนที่กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความถูกต้องและเป็นธรรม

ไอ้คนที่อยู่ในอำนาจแล้วเที่ยวไปใช้กฎหมายไล่จับคนที่ต่อต้านตนเข้าคุกคือ ผู้ฉ้อฉลปล้นอำนาจ

เป็นคนที่เราต้องขับไล่ออกไป ไม่ใช่เป็นคนที่เราเดินไปบอกว่า “เธอๆ เธอต้องฟังคนเห็นต่างสิ”

จำไว้ว่าในพจนานุกรมของระบอบเผด็จการนั้นไม่มีคำว่า “เห็นต่าง” – บ้าหรือเปล่า – มีแต่คำว่า “กำจัดศัตรูของรัฐให้สิ้นซาก”

เลิกดูถูกตนเองเป็นเพียงคนเห็นต่าง

และเลิกเพ้อฝันว่าเผด็จการสะกดคำว่าเห็นต่างเป็น

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราไปขอให้เขายอมรับความเห็นต่างแปลว่าเราเชื่อว่าเขาอยู่ในอำนาจนั้นด้วยความชอบธรรม!

เผด็จการมีไว้ไล่ ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เป็นที่พึ่ง – นี่เป็นสิ่งที่ฝั่งประชาธิปไตยต้องตระหนัก