เหล้าตอง : ล้านนาคำเมือง

เหล้าตอง อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เหล้าตอง”

เหล้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักข้าวผสมกับหัวเชื้อแป้งเหล้า ซึ่งมีมาช้านานในสังคมล้านนา เช่น ในบันทึก “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ตอนอภิเษกขุนเจืองขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองแกงก็มีการเลี้ยงฉลองกันด้วยเหล้าและอาหารประเภทเนื้อสัตว์

เหล้าของล้านนาที่ดื่มกินอย่างแพร่หลายนั้นเป็นเหล้าปรุงเองทั้งสิ้น

สมัยโบราณ “เหล้าเถื่อน” เหล่านี้เป็นที่นิยมมากกว่าเหล้าโรงที่คนล้านนาเรียกว่า “เหล้าภาษี”

สมัยนั้นเหล้าถูกกฎหมายขายไม่ค่อยออก เพราะคนล้านนาเป็นคนมีฝีมือ “ถึง” มีเชื้อแป้งที่ดีเยี่ยม เหล้าพื้นบ้านจึงมีรสชาติดีกว่า

เหล้าในล้านนาทำจากแป้งข้าวเหนียว โดยใช้ข้าวเก่า ใส่สูตรลับที่ไม่บอกใคร เช่น ข่าแคง ขิงแคง หญ้าควยงูหลวง เจตมูลเพลิงแดง เปลือกกล้วยเชียงรายแห้ง ดีปลี ฯลฯ ทั้งนี้แล้วแต่สูตรของใครของมัน

คนล้านนาทำเหล้าออกมา 3 ประเภทคือ เหล้าน้ำขาว เป็นเหล้าหมักในไห ไม่มีการต้มกลั่นเช่นเดียวกับสาโท ทิ้งไว้ 10 วันก็ใช้ได้ เหล้าเดือน เป็นเหล้าที่หมักนานประมาณ 1 เดือนหรือมากกว่านั้น

และเหล้าเหื่อ ซึ่งเป็นเหล้ากลั่น ที่คนล้านนาทำได้ถึง 70 ดีกรี

ส่วนคำว่า “ตอง” คนล้านนาใช้เรียก ทอง ทองเหลือง ทองแดง สำริด ซึ่งเป็นโลหะผสม

ภาชนะตวงเหล้าของสมัยโบราณ ทำจากทองเหลือง มีปริมาตรประมาณ 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีหูจับ 1 ข้าง คนล้านนาเรียกภาชนะนี้ว่า “ตองสวนเหล้า”

1 ตอง คือ 1 ก๊ง เป็นที่มาของคำว่า “เหล้าตอง”

คนล้านนานิยมดื่มเหล้า ดังมีคำกล่าวโบราณว่า “เข้าเป็นเจ้า เหล้าเป็นที่สอง” แปลว่า ถึงข้าวจะเป็นอาหารหลัก แต่เหล้ามีความสำคัญรองลงมาจากข้าว

หลังเลิกงาน 5-6 โมงเย็น กิจกรรมของคนส่วนหนึ่งก่อนกลับบ้าน คือ จะแวะร้านขายกับข้าว

และที่ขาดไม่ได้คือ แวะร้านเหล้าตอง กินเหล้าตองคู่กับไส้ปิ้ง หนังควายย่าง มะขามเปียก

อาหารคู่กับข้าว เหล้าคู่กับคนกิน เป็นวิถีชีวิตของคนชอบดื่ม และไม่มีใครปฏิเสธว่า เหล้าทำให้มึนเมาจนอาจขาดสติ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

จึงมีคำกล่าวของคนล้านนาโบราณว่า “กินที่ปาก เมาที่ขา”

แต่เนื่องจากหมอยาใช้เหล้าดองยาสมุนไพรด้วย เอาแอลกอฮอล์สกัดตัวยาออกมาใช้เป็นยาอายุวัฒนะ และยารักษาโรค

บางคนจึงอ้างเอาว่า เขากิน “ยาดอง” เป็นประจำ เพื่อให้ฟังดูดีขึ้น

นอกจากคนล้านนานิยมดื่มเหล้าแล้ว

เหล้ายังถูกใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ แบบล้านนา เช่น สุราใส่ขันตั้งไหว้ครูบาอาจารย์ ใส่ขันปลูกบ้านสร้างเรือน เลี้ยงผีบรรพบุรุษ ผีปู่ย่า ผีเสื้อบ้าน ผีฟ้อน ผีมด ผีเมง เวลาเตรียมงานพิธี ปู่จารย์มักจะบอกให้ไปเตรียม “เหล้าไห ไก่คู่” มาเซ่นตามพิธีกรรมที่เคยทำมา

จะว่าไป เหล้าก็คือวัฒนธรรมหนึ่งของคนล้านนา เฉกเช่นเดียวกับวิถีของคนไทยทั่วไป