หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ กับร่างกายใต้บงการในพื้นที่โรงเรียน (2)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หนังสือ โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ

กับร่างกายใต้บงการในพื้นที่โรงเรียน (2)

 

เคยสังเกตไหมครับ การออกแบบพื้นที่โรงเรียนที่แตกต่างกันทั้งในด้านขนาด รูปแบบ และสถานที่ตั้ง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศนั้น กลับมีองค์ประกอบร่วมที่สำคัญอันขาดไม่ได้อย่างน้อยอยู่ 4 อย่าง คือ สนาม เสาธง หอพระ และพระบรมฉายาลักษณ์

ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนยากไร้แค่ไหนก็ตาม องค์ประกอบเหล่านี้ต้องมีให้ครบ เพียงแต่จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็อีกเรื่องหนึ่ง

บทบาทหน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านี้ หากจะวิเคราะห์กันอย่างแท้จริงแล้ว แทบไม่เกี่ยวข้องอะไรมากนักกับการกระตุ้นการเรียนรู้และการศึกษาของนักเรียน

สนามโรงเรียน หลายคนอาจมองว่า เป็นพื้นที่สำหรับให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย เล่น และเรียนในวิชาพลศึกษา ซึ่งเป็นความจริงแน่ๆ ไม่ปฏิเสธ

แต่หน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่ง (ที่อาจจะสำคัญที่สุด) ของสนามโรงเรียนก็คือ พื้นที่ในการควบคุมระเบียบวินัย สอดส่องพฤติกรรม บงการร่างกาย และบังคับปลูกฝังอุดมการณ์แห่งรัฐลงสู่นักเรียน

สนามโรงเรียน คือ พื้นที่ในการรวมนักเรียนในตอนเช้าเพื่อให้เหล่าครูบาอาจารย์เดินสอดส่องมองหาความผิดปกติจากร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นความยาวของเส้นผม ความยาวเล็บมือ การแต่งหน้า สีผม สีโบที่ติดผม ความยาวกระโปรงและกางเกง ไปจนถึงสีของมันว่าผิดแปลกไปจากที่กำหนดไว้หรือไม่

หากมีความผิดแปลกไปจากที่โรงเรียนกำหนด ปฏิบัติการเชิงอำนาจก็จะเกิดตามมา ทั้งการกล้อนผมกรณีนักเรียนชาย ตัดผมกรณีนักเรียนหญิง ยึดของ ทำโทษ ฯลฯ

 

ในหนังสือ “โรงเรียนประถมศึกษาภาคปฏิบัติ” ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนเลยว่า กิจกรรมนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ครูต้องปฏิบัติ

“…การตรวจร่างกายเด็กตอนเช้า หลังจากการร้องเพลงชาติหรือก่อนตั้งต้นเรียนวิชาต่างๆ ตามตารางสอน ดูเล็บ ผม ผิวหนัง เครื่องแต่งกาย โรงเรียนที่ดีควรมีที่ตัดเล็บ ตัดผม ยารักษาโรคผิวหนังบางชนิด และพร้อมที่จะใช้การได้ทันที ในเมื่อพบเด็กเล็บยาว ผมเผ้ารุงรังหรือมีเหา เป็นหิด…”

เหตุผลที่ให้ไว้ในหนังสือ เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขอนามัยในร่างกายของนักเรียน ซึ่ง ณ จุดเริ่มต้นอาจมีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อสุขอนามัยเจริญก้าวหน้า เหา และหิดไม่ได้พบมากนักอีกต่อไป แต่การกล้อนผมนักเรียนหน้าเสาธงก็ยังเกิดขึ้นจนทุกวันนี้

ปฏิบัติการนี้ในโลกสมัยใหม่ ไม่สามารถแอบอยู่ข้างหลังการอ้างเรื่องสุขอนามัยได้อีกต่อไป

ปฏิบัติการนี้ในปัจจุบัน คือ การเปลือยเปล่าการใช้อำนาจที่เกินขอบเขต เพื่อสร้างความคุ้นชินให้นักเรียนรู้สึกสยบยอมต่ออำนาจ แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลรองรับเลยก็ตาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพลเมืองที่เชื่องต่ออำนาจรัฐผ่านพื้นที่โรงเรียน

 

ส่วน เสาธง หอพระ และพระบรมฉายาลักษณ์ คือ สัญญะ ของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นอุดมการณ์หลักที่รัฐไทยต้องการปลูกฝังให้เกิดขึ้นในหมู่เยาวชน

ในหนังสือ กำหนดสิ่งเหล่านี้เอาไว้ในสถานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโรงเรียนที่ขาดไม่ได้ ดังที่ระบุเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ลำพังแต่ของสามอย่าง คือ ธงชาติ พระพุทธรูป และพระบรมฉายาลักษณ์นั้นย่อมมีความสำคัญในตัวเอง จำเป็นจะต้องอบรมสั่งสอนให้เด็กได้รู้จักสำนึกถึงความสำคัญโดยถ่องแท้…ธงชาติจะต้องเน้นในเรื่องชาติไทย ประเทศไทย และคนไทย พระพุทธรูปจะต้องเน้นในเรื่องพุทธคุณ พระธรรมคุณ ศีลธรรมและความสงบสุข พระบรมฉายาลักษณ์จะต้องเน้นในเรื่องจุดรวมอันสูงสุดทางจิตใจของคนไทย และพระมหากรุณาธิคุณ…”

ไม่เพียงแค่นั้น หนังสือยังย้ำต่อว่า

“…ครูพึงระลึกไว้ว่า เสาธงและธงชาติ โต๊ะหมู่บูชา และพระพุทธรูปกับพระบรมฉายาลักษณ์นั้นไม่ใช่ของประดับโรงเรียน แต่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีประโยชน์ในการอบรมจิตใจของเด็ก ฉะนั้น จำเป็นจะต้องจัดแนวทางปฏิบัติของนักเรียนเพื่อส่งเสริมความศักดิ์สิทธิ์ และให้มีคุณค่าในการศึกษาด้วย…”

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่แปลกใจอีกต่อไปว่า ทำไม สนามโรงเรียน เสาธง หอพระ และพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเป็นองค์ประกอบร่วมที่สำคัญอันขาดไม่ได้ของโรงเรียนทุกแห่งของประเทศไทยจวบจนปัจจุบัน

 

ผลสืบเนื่องที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ พื้นที่โรงเรียนได้กลายสภาพเป็นพื้นที่ที่คาบเกี่ยวกับการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าพื้นที่ของการเรียนรู้

ยืนยันชัดเจนจากที่หนังสือเล่มนี้กล่าวว่า

“…โรงเรียนที่ดีจึงควรสร้างบรรยากาศให้เด็กมีความภาคภูมิใจ มีความรู้สึกเคารพยำเกรงในสถานที่ แม้จะไม่ถึงศาสนสถานที่ศาสนิกชนถือว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่ใช่สถานที่สาธารณะชนิดที่จะเข้าไปทำอะไรตามใจชอบ…”

การสำรวมกิริยาเมื่อเดินในบางพื้นที่ของโรงเรียน บางพื้นที่ต้องถอดรองเท้าทั้งที่ไม่จำเป็น การต้องยกมือไหว้รูปปั้นหรือภาพวาดบุคคลสำคัญของโรงเรียน เป็นการควบคุมร่างกายของนักเรียนที่เราทุกคนคงคุ้นชินเมื่อยามที่นึกย้อนกลับไปในชีวิตวัยเด็กของเรา

การจะเปลี่ยนพื้นที่กายภาพที่ไร้ชีวิตดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเชิงอำนาจและอุดมการณ์ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการสร้างให้เกิดขึ้น

ไม่เพียงแค่การตรวจแถวทุกเช้าหน้าเสาธงเพื่อสอดส่องหาความแปลกแยกจากกฎระเบียบเท่านั้นที่ครูต้องทำ หนังสือเล่มนี้ได้อธิบายหน้าที่ของครูในฐานะที่อ่านแล้วแทบไม่ต่างจากตำรวจความคิดและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เอาไว้อีกมากมายหลายอย่าง

ในหลายบทพูดถึงการพัฒนานิสัยและจริยธรรมของนักเรียนในระดับรายละเอียดซึ่งครูจะต้องคอยกำกับอย่างเคร่งครัดและตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ การพูดจา ความสุภาพ และการรับใช้อาจารย์ ฯลฯ

เมื่อนักเรียนคนใดขัดขืนต่อกฎเหล่านี้ ครูจะต้องเข้ามาทำหน้าที่ในการลงโทษอย่างเด็ดขาด ตามที่หนังสือเขียนไว้ว่า

“…มีผู้เข้าใจผิดว่า ในยุคของการศึกษาแผนใหม่มีแต่การสนับสนุนส่งเสริมเสรีภาพของเด็ก เด็กจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ จะเรียนหรือไม่เรียน จะทำการบ้านหรือไม่ทำครูก็ไม่ทำอะไรเด็ก ปล่อยให้เด็กแสดงออกอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเข้าใจเลยเถิดไปว่า ครูสมัยใหม่ทำโทษเด็กไม่ได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการห้ามเฆี่ยนตีเด็กโดยเด็ดขาด ซึ่งตามความเป็นจริงนั้นกระทรวงศึกษาธิการไม่เคยห้ามครูทำโทษหรือเฆี่ยนตีเด็กในฐานะศิษย์กับครูเลย…การทำโทษให้เจ็บกายที่ถูกและเหมาะสมนั้น คือ การใช้ไม้เรียวเฆี่ยนเด็กและต้องเฆี่ยนที่ก้นเท่านั้น ไม่ใช่ที่อื่น ภาษิตที่ว่า รักวัวให้ผูก ไม่ใช่ผูกให้อดตาย แต่ผูกไว้ด้วยความปรานี มีน้ำมีหญ้าด้วย ฉะนั้น การรักลูกศิษย์ให้ดี ก็ต้องมีความกรุณาปรานีเช่นเดียวกัน…”

 

แม้การเฆี่ยนตี ปัจจุบันจะเป็นการกระทำที่ไม่ได้รับอนุญาตอีกต่อไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง การเฆี่ยนตีในทางปฏิบัติก็ยังปรากฏอยู่เสมอ และหลายครั้งก็หลุดออกมาเป็นข่าวให้เราได้ยินอยู่บ่อยๆ

ที่เป็นเช่นนั้นได้ ส่วนหนึ่งเพราะการเฆี่ยนตีถูกผูกโยงเข้ากับทัศนะ รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ตามที่หนังสือเล่มนี้บอกไว้นั่นแหละครับ ซึ่งเป็นสภาวะของการสร้างความรุนแรงในนามของความรัก เป็นวาทกรรมที่มองความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการสร้างคนให้เป็นคน

พลังของวาทกรรมนี้ ทำให้นักเรียนแทบทุกคนในอดีต และยังหลงเหลือไม่น้อยในทัศนะของนักเรียนปัจจุบัน สามารถยอมรับได้กับการถูกตี หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าเป็นความผิดของตนเองที่ถูกตีด้วย

แม้แต่พ่อแม่เป็นจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันก็ยังรู้สึกเห็นดีเห็นงาม หรืออย่างน้อยก็มองว่าไม่เสียหายอะไรนัก หากครูจะตีลูกของตนเองบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้น การลงโทษ ยังมักถูกกลบเกลื่อนด้วยคำโกหกในฐานะเครื่องมือในการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับเด็ก ทั้งที่การวิจัยมากมายยืนยันว่า เราไม่สามารถสร้างวินัยให้เกิดขึ้นได้บนการบังคับให้ทำในสิ่งที่ไร้เหตุผล

การบังคับให้ทำในสิ่งไร้เหตุผล โดยหากไม่ทำจะถูกลงโทษ คือ การปลูกฝังความกลัวและนิสัยสยบยอมต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรมต่างหาก

ทั้งหมดนี้คือความรุนแรงที่แฝงฝังหยั่งลึกอยู่ในการออกแบบพื้นที่โรงเรียนที่ได้สร้างความเจ็บปวดและบอบช้ำทางจิตใจให้เกิดขึ้นกับเยาวชนไทยเป็นจำนวนมาก

 

ลองจินตนาการดู โดยเฉลี่ยคนไทยจะใช้ชีวิต 5 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปี ในช่วงวัยที่สำคัญที่สุดต่อพัฒนาการทางความคิดและจิตวิญญาณ ในพื้นที่โรงเรียนแบบที่ผมอธิบายมาในบทความนี้

มากกว่า 3,000 วันเลย ที่เยาวชนของชาติจะถูกบังคับ สอดส่องร่างกาย ทำโทษ และปลูกฝังอุดมการณ์ชุดนี้ย้ำๆ ซ้ำๆ ไม่หยุด

บางที คำว่า โรงเรียนคือเผด็จการแห่งแรกในชีวิต อาจจะเบาเกินไปด้วยซ้ำ