อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (1)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (1)

 

บทนำ

ภูเขา ทะเล แม่น้ำ

คุณเคยเป็นแบบนี้ไหม…พบข้อความบางอย่างที่คนนิยมว่าคมคาย ความหมายดีนักหนา แต่คุณอ่านหรือฟังแล้วลืมทันที

แต่กับข้อความบางอย่างที่พบโดยบังเอิญ ไม่มีใครสนใจ คุณกลับจดจำฝังลึกนึกทีไรก็ชัดเจนแม่นยำไม่คาดคิด

…ฉันเป็น

“คนชอบอยู่บนภูเขาเป็นนักต่อสู้ ชอบอยู่ริมทะเลเป็นคนรักสงบ ชอบอยู่ริมแม่น้ำเป็นคนเรื่อยเปื่อย ชอบทอดหุ่ย”

นั่นคือสิ่งที่ฉันจำได้หมายรู้ ไม่ลืมเลือน นึกทีไรก็แจ่มแจ้งยิ่งกว่าเส้นลายมือตัวเองมากนัก แต่ก็แย่มาก ที่ฉันจำไม่ได้เลยว่าฉันได้มาจากไหน อาจอ่านจากอะไรสักอย่างหรือฟังใครเล่าอย่างใดอย่างหนึ่งนานมาแล้ว

แล้วความหมายในข้อความนั้น คุณว่ามันจริงไหม ฉันก็ไม่รู้

แต่เมื่อมาอยู่ที่นี่บนไหล่เขาเล็กๆ ไม่ใช่ภูเขาสูงสลับสล้างใหญ่โตน่าตื่นเต้นน่าเกรงขามอย่างที่หลายคนอาจคาดคิด แต่มันก็เป็นภูเขา เป็นและมีธรรมชาติธรรมดาทุกอย่างเท่าที่เหลือของภูเขาทั่วไปที่เราไม่คุ้นเคย ฉันก็เลยนึกถึงมันขึ้นมาบ่อยๆ

นึกว่ามันจริงไหม ข้อความนั้นน่ะ

คนเราอาจไม่รู้จักตัวเองมากเท่ามองคนคุ้นเคยอื่นๆ ก็ได้ ดังนั้น ถ้าฉันว่าจริงหรือไม่จริงมันอาจจริงและไม่จริงคนละอย่างกับคนอื่นคิดก็ได้

 

อยู่ภูเขาชอบต่อสู้…

ตามธรรมดา ถ้าให้เลือกในสามอย่างนั้น ภูเขา ทะเล แม่น้ำ ฉันจะเลือกทันทีไม่ต้องคิดเลยว่า…แม่น้ำ มันสดชื่นเย็นสบาย ดูน้ำใสไหลรินไม่ขาดสาย นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ริมแม่น้ำ…สวรรค์

ส่วนทะเลนั้น ไม่ว่ายามสงบหรือคลื่นซัดสาดโครมคราม ฉันก็อยู่ได้เพลินๆ ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เคยนึกอยากอยู่นาน ไอน้ำก็เหนียวตัว

แต่ถ้าพูดถึงภูเขา ไม่เคยคิดเลย ไม่เคยนึก ไม่เคยรู้สึกว่าจะชอบหรือไม่ชอบจะอยากอยู่หรือไม่อยากอยู่ด้วย ยิ่งถ้านึกว่าอยู่ภูเขาเป็นนักสู้…ยิ่งรู้สึกไม่ใช่เลย รู้สึกตลอดมาทั้งชีวิตว่าไม่ชอบการต่อสู้ ยิ่งต่อสู้เพื่อแข่งขันยิ่งจบเลย หลบได้ก็หลบ เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ถ้าจำเป็นก็หนีเลย ไม่ว่าสู้กับอะไร เพื่ออะไรก็ตาม

แล้วฉันขึ้นมาอยู่บนนี้ทำไม?

คงต้องถามโชคชะตาหรือปล่อยให้ฟ้าลิขิตไปเสียดีกว่า

วาดโดยอาจินต์ ปัญจพรรค์

วันเวลาเคลื่อนที่ไปสิบปีแล้ว นับจากการสร้างบ้านเมื่อ 2554 จนถึงขณะนี้ 2564 สิบปีพอดี จะว่าผ่านไปไวเหมือนโกหกก็ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องจริง เห็นด้วยตา สัมผัสด้วยอายตนะทั้งหมด เจ็ดปีที่อยู่ร่วมกับอาจินต์ที่นี่ อีกสามปีที่อาจินต์ไม่อยู่แล้ว มันไม่ใช่น้อยเลยสำหรับฉัน

ณ ที่นี่ วันนี้ ฉันจึงมีเรื่องเล่า

เล่าอย่างง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องมีสาระ

สลัดภาพงานเชิงสาระที่เคยทำมาแต่ก่อนออกไปให้ได้ ให้หมด แล้วตั้งต้นคุยกับเพื่อนๆ ร่วมวงนักอ่าน นักเขียน คนคุ้นเคยที่คอยติดตามข่าวคราวความเป็นไปของลุงอาจินต์ น้าอาจินต์ พี่อาจินต์ ตลอดมา มันอาจเป็นส่วนหนึ่งของการตอบคำถามว่ามาอยู่ที่นี่ทำไม อยู่อย่างไร จะอยู่ไปถึงไหน ฯลฯ

เรื่องที่จะเล่านี้ ไม่มีรูปแบบตายตัว มีทั้งบทกลอนง่ายๆ ความเรียง เล่าด้วยภาพ

มีกลอนง่ายๆ สัมผัสไม่ดีนักอยู่ชุดหนึ่งสามสิบกว่าชิ้นที่ฉันค่อยๆ เขียนมาเรื่อยๆ หลายปีแล้ว อาจินต์ชอบถามว่าทำไมไม่เอาไปพิมพ์เป็นเล่ม ฉันหัวเราะ กลอนสามสิบกว่าชิ้นก็แค่สามสิบกว่าหน้า มันยังไม่ได้เล่ม เอาไว้เขียนไปจนพอเป็นเล่มแล้วค่อยพิมพ์ (หรือไม่พิมพ์เลยก็ได้ – ในใจคิด)

กลอนที่เขียนหลังอาจินต์ไม่อยู่แล้วเป็นเรื่องของการรำลึกถึงอาจินต์ในชีวิตที่นี่ท่ามกลางความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับชีวิตส่วนหนึ่งในกรุงเทพฯ

กลอนสองส่วนนี้ ฉันอาจลงสลับกันไปตามสิ่งที่เขียนในแต่ละตอนหรือจะเรียงตามลำดับวันเวลาในบางช่วงบ้างก็ได้ งานนี้ไม่มีสาระ บอกแล้วไงว่าทำแบบสบายๆ เรื่อยๆ ตามความรู้สึกแต่ละขณะ แต่ละเรื่อง ไม่ใช่ตามความคิดอันเป็นระบบระเบียบอันใด แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็อาจยกออกไปก่อน

ยิ่งกว่านั้น ฉันมีรูปภาพมากมายก่ายกองที่เริ่มถ่ายตั้งแต่ตอนที่มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ และถ่ายไว้ตลอดมา จนถึงปัจจุบัน นับรวมทั้งหมดกว่าสามหมื่นรูป มีจำนวนมากที่มันสามารถบรรยายตัวเองได้ดีกว่าคำพูดหรือข้อเขียนใดๆ เสียอีก กว่าจะจัดลำดับรูปแล้วจัดเป็นหมวดหมู่ คัดแยกออกมา ตามเนื้อหาของรูปก็ใช้เวลาไปเป็นปีแล้ว ทำไปหยุดไป ทำทั้งเวลาที่อยู่ที่นี่และที่กรุงเทพฯ

ฉันทำด้วยความเพลิดเพลิน

ด้วยความสุข

อาจินต์กับแน่งน้อย ริมทางรถไฟสายมรณะ

แต่สามปีพึ่งผ่านพ้นไปนี้ฉันไม่สามารถเปิดดูรูปอาจินต์ที่มีมากมายในแฟ้มภาพได้ ฉันไม่สามารถเขียนถึงอย่างที่ใจคิดถึงได้

ยิ่งกว่านั้น ฉันไม่สามารถใช้คำว่า “ศพ” กับเขาได้ ถ้าต้องพูดถึง ฉันก็ใช้คำว่า “ร่างกาย” ของลุง ของพี่ ของเขา อะไรทำนองนั้น และแม้จนขณะนี้ ฉันก็ยังไม่ยอมเปิดดูรูปงานสวด งานเผา (ซึ่งฉันใช้คำว่างานส่งลุง) ทั้งหมด ซึ่งฉันให้แยกไปรวมไว้ที่เดียวกันต่างหากในแฟ้มภาพในโน้ตบุ๊ก

สำหรับที่ถ่ายมา 7 ปีก่อนนั้น ฉันสามารถเปิดดู คัดเลือกได้อย่างสบายใจแล้ว ทำได้อย่างมีความรู้สึกลึกซึ้ง อ่อนโยน มีความหมายมากกว่าตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยซ้ำ และกำลังจะค่อยๆ ทยอยนำมาฝากทุกคนที่ติดตามเรื่องราวของลุงอาจินต์ พี่อาจินต์ ตลอดมา

และคุณๆ อาจคิดว่า อ่านรูปทั้งหมดแล้วมันชื่นใจ สบายใจ ยินดียิ่งกว่าข้อเขียนของฉันชุดนี้เสียอีกก็ได้

หมายเหตุมติชนสุดสัปดาห์ : อาจินต์ ปัญจพรรค์ จากไปเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2561