ในประเทศ/กรธ. ทำคลอดกฎหมายลูก นับถอยหลังอีกครึ่งทาง วัดใจ “ไบโพลาร์” หรือไม่??

ในประเทศ

กรธ. ทำคลอดกฎหมายลูก

นับถอยหลังอีกครึ่งทาง

วัดใจ “ไบโพลาร์” หรือไม่??

จะเรียกว่า “เส้นทางสุดหฤโหด” ก็คงจะไม่เกินเลยจนเกินไป เพราะแม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือ “กฎหมายลูก” ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว 5 จาก 10 ฉบับตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 276 บอกไว้

แต่จนถึงบัดนี้ วันที่เวลาล่วงเลยกินเวลามากกว่า 120 วัน หรือเกินครึ่งทางตาม “เงื่อนไข” ของรัฐธรรมนูญที่บังคับไว้ว่า จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 240 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ กลับยังไม่มีกฎหมายลูกฉบับใดบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้เลยแม้แต่ฉบับเดียว

แม้ 3 ใน 5 ฉบับจะถูกส่งถึงมือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนสุดท้าย หรือการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วก็ตาม

แต่ต้องยอมรับว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายลูกในชั้น สนช. กว่าจะจบแต่ละฉบับได้เลือดตาแทบกระเด็น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับแรก

นั่นคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

เนื่องจากร่างกฎหมายที่ถูกปรับแก้ และผ่านมติจาก สนช. ในวาระสาม ถูก “โต้แย้ง” เนื้อหาว่ามีประเด็นที่อาจสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย” จำนวน 11 คน ขึ้นมาพิจารณาต่อ

มิหนำซ้ำ บางฉบับ อย่าง พ.ร.ป.กกต. ยังถูกยื้อระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไป เพราะหลังจบในชั้น กมธ. ร่วม 3 ฝ่าย กกต. ยังติดใจ จึงใช้สิทธิ์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

เรียกได้ว่า กว่าจะจบก็ทุลักทุเลพอสมควร

และล่าสุด ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน กำลังจะถึงมือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความเนื้อหาอีก 1 ฉบับ

เพราะมีสมาชิก สนช. จำนวน 34 คน ได้เข้าชื่อไปถึง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. เพื่อให้เสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยมาตรา 148 (1) เพื่อวินิจฉัยว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 56 ของร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่

เนื่องจากที่ประชุมใหญ่ สนช. ได้แก้ไขในวาระ 2 และ 3 ให้ประธานและผู้ตรวจการแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันที่ พ.ร.ป. ฉบับนี้ใช้บังคับ อยู่จนครบวาระตาม พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ซึ่งทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คน ได้อยู่จนครบวาระ

34 สนช. เห็นว่า การ “ดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใด” ตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ บอกให้เป็นไปตามร่าง พ.ร.ป. โดยไม่ได้ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งไว้ จึงไม่น่าจะหมายถึงการปล่อยให้ 2 ผู้ตรวจอยู่ต่อจนครบวาระ

จึงมีผลทำให้ต้องชะลอขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ออกไป

ส่วนอีก 1 ฉบับที่เหลืออยู่ในชั้น สนช. คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ สนช. คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช. เพื่อพิจารณาในวาระสองสามได้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม กรธ. ได้วางคิวเบื้องต้น โดยในเดือนสิงหาคม จะเสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ สนช. เป็นฉบับที่ 6 ก่อนที่จะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 7 ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้

ส่วนอีก 3 ฉบับที่เหลือ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อวางหลักการสำคัญๆ โดยล่าสุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้ยกคณะ กรธ. ไปเก็บตัวนอกสถานที่ ณ ริมหาดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นเวลา 4 วันเพื่อเคาะข้อสรุปสำคัญๆ ของร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับที่เหลือ

แน่นอนว่า “ปมร้อนสำคัญ” ที่เป็นไฮไลต์สำคัญระหว่างการพิจารณานอกสถานที่คงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลืออีก 2 ฉบับ

นั่นคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

สำหรับกฎหมายว่าด้วยที่มา ส.ว. เบื้องต้นมีจำนวน 100 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล กำหนดให้ ส.ว. มีจำนวน 200 คนมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยแบ่งสายแบบฟุตบอลโลกเพื่อเลือกตั้งไขว้ 3 ชั้น ไล่เรียงตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ

แต่เฉพาะครั้งแรก 200 คนสุดท้ายจากในระดับชาติ ต้องเสนอชื่อให้ คสช. เพื่อเฟ้นให้เหลือ 50 คน ก่อนนำไปรวมกับล็อตใหญ่ 194 คนที่ คสช. เลือกมา และอีก 6 ตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทสส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร.

ถือว่าเรียบร้อยโรงเรียน คสช. ครบ 250 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่เนื้อหาตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กรธ. เคาะหลักการเบื้องต้นมาจากริมหาดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ถือว่า สร้าง “จุดร่วม” ให้กับนักการเมืองทุกฟากทุกฝ่ายทุกสีในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ

หนึ่ง โทษของบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลสมควร จะถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 2 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ และหากผู้ใดดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันที เพราะควรจะเป็นตัวอย่างที่ดี และถ้ายังไม่ไปใช้สิทธิอีกก็ให้ตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปีต่อไปอีก

สอง แยกหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. เป็นรายเขต โดยให้ผู้สมัครแต่ละเขตมีการจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับของการสมัคร แม้ผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขตจะอยู่ในพรรคเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์ที่เหมือนกันก็ได้

โดย กรธ. ให้เหตุผลว่า เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นระบบเลือกตั้งแบบใหม่ จากเดิมที่เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว และเพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละเขตแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยหมายเลขพรรคในการพึ่งพาเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส.

“เพื่อป้องกันการซื้อเสียงที่หว่านกันทั้งประเทศ ไม่ให้เกิดคำพูดว่า เอาเสาโทรเลข เอาคนขับรถลงก็ได้อีกต่อไป ประชาชนก็ได้เรียนรู้ทำความรู้จักผู้สมัครในเขตของตน ส.ส. ก็จะได้ไม่ต้องเป็นบริวารให้พรรคการเมือง แล้วก็ทำตามคำสั่งอย่างเดียว” นายมีชัยยืนกรานอย่างเสียงแข็ง

เป็นเสียงแข็งๆ ที่มิใช่เพียงแค่นักการเมืองเท่านั้นที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะแม้แต่ กกต. ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ก็ยังมี “จุดร่วม” เดียวกันออกมาจวกเสียงดังๆ จน “มีชัย” ถึงขั้นปัดตอบเดินหนีเมื่อถูกถาม

โดยเฉพาะการกล่าวหา กรธ. ว่า “เป็นไบโพลาร์ทางการเมือง”

“บอกอยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลัวคนเลือกเบอร์พรรคการมือง เช่นเดียวกับบอกว่า ต้องการคนที่มีคุณสมบัติสูงมาเป็นองค์กรอิสระ แต่องค์กรหนึ่งเซ็ตซีโร่ อีกองค์กรหนึ่งให้อยู่ต่อครบวาระ”

เพราะ “สมชัย” มองว่า นอกจากสร้างความสับสนในประชาชนแล้ว ยังเป็นภาระในการธุรการของ กกต. ในแต่ละจังหวัดด้วยในการจับสลากเบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขต ขณะที่การรวมคะแนนทั้งประเทศนั้น โอกาสผิดพลาดมีสูงมาก และมีโอกาสที่จะถูกประชาชนร้องเพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็สูงขึ้นได้อีก

และหากถ้าประชาชนจะเลือกเสาไฟฟ้า “สมชัย” บอกเลยว่า ยังไงๆ เราก็ต้องยอมรับ

ถือเป็นเสียงท้วงติงที่ท้าทายประเด็นเรื่อง “แยกเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.รายเขต” ของ กรธ. ได้อย่างน่าจับตาว่า “มีชัย ฤชุพันธุ์” จะ “ยืนกราน” ต่อไป หรือจะ “เงี่ยหูฟัง” แล้วนำมาปรับแก้ก่อนเสนอให้ สนช. กันแน่!?!