เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก ว่าด้วยเทคนิควิธีสอน (จบ)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (18) บทที่ 7 : เทคนิควิธีสอน (จบ)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว คลิก

3.ใช้ถ้อยคำเหมาะสม การสอนที่จะประสบความสำเร็จ ผู้สอนจะต้องรู้จักใช้คำแรง

แต่ก็ต้องให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ผู้พูดพูดด้วยเมตตาจิต มิใช่พูดด้วยความมุ่งร้าย

อ่านประวัตินักประพันธ์เอกนาม “ยาขอบ” ทราบว่า สมัยยาขอบ (ชื่อจริง มานะ แพร่พันธ์) เป็นเด็กนักเรียนชั้นประถม ครูถามว่า ธรรมะคืออะไร เด็กชายมานะ ตอบว่า “ธรรมะคือคุณากร ครับ” ครูด่าด้วยความโมโหสุดขีดว่า “ไอ้อัปรีย์”

เด็กชายมานะ ไม่กลับไปเรียนหนังสืออีกตั้งแต่บัดนั้น โชคดีที่เด็กชายมานะ มานะสมชื่อ ได้ฝึกฝนตนเองในเวลาต่อมา จนกลายเป็นนักประพันธ์เอกแห่งเมืองไทย

นี่ยกตัวอย่างของผู้สอนที่ไม่รู้จักใช้คำพูด ในเรื่องการที่ใช้คำที่ไม่เหมาะสมนี้ ควรเอาพระพุทธองค์เป็นแบบอย่าง ขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้

1) ใช้คำพูดเดิม คำพูดเก่าที่ใช้กันอยู่ก่อน แต่เปลี่ยนความหมายใหม่บางทีไม่จำเป็นต้องบัญญัติศัพท์แสงใหม่ คำศัพท์เดิมที่ใช้อยู่ก่อนแล้วนั่นแหละ เพียงนำมาอธิบายในความหมายใหม่ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น และทำให้เกิดความรู้เปรียบเทียบไปในตัวด้วย

ขอยกตัวอย่างเรื่องเดียว พราหมณ์คนหนึ่งชื่อ ภารัทวาชะ ไปชวนพระพุทธเจ้าให้อาบน้ำในท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน พระองค์ตรัสถามว่า อาบทำไม

พราหมณ์บอกว่า อาบแล้วบาปที่ทำไว้จะหายไป กลายเป็นผู้บริสุทธิ์

แนวความคิดของคนสมัยนั้นคิดว่า การอาบน้ำ (อาบจริงๆ) ทำให้เป็นผู้บริสุทธิ์

พระพุทธองค์ก็ตรัสรับรองเหมือนกันว่า “การอาบน้ำทำให้บริสุทธิ์ แต่มิใช่อาบน้ำแบบที่คนเขาทำกัน หากแต่เป็นการ “อาบใจ” ด้วยน้ำคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าอาบอย่างนี้ละก็เป็นผู้บริสุทธิ์แน่ บริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับ ด้วยลดละนิวรณ์จนกระทั่งหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ในที่สุด”

นี่คือการยอมรับคำศัพท์เดิม แต่นำมาใส่ความหมายใหม่ที่ดีกว่า ทำให้ผู้ฟังคล้อยตามและตัดสินได้ว่า ความหมายไหนดีกว่าความหมายไหน

จะเห็นได้ว่า คำอื่นๆ เช่น พรหม พราหมณ์ อริยะ ยัญ ตบะ ไฟ ภิกษุ ฯลฯ ซึ่งใช้กันอยู่ก่อนในความหมายอื่น พระองค์ก็ทรงนำมาอธิบายใหม่ที่เหมาะสมกว่า

2) ใช้ตรรกะ หรือเหตุผลง่ายๆ เพื่อให้สะดุดใจคิด บางเรื่องไม่ควรเสียเวลาอธิบายเหตุยาวยืด (เพราะสถานการณ์ไม่ให้ หรือเพราะอธิบายไป ยิ่งทำให้สับสน) พระองค์ก็ทรงใช้เหตุผลง่ายๆ ทำให้ผู้ฟังสะดุดคิด ขอยกตัวอย่างสัก 2 เรื่อง

เรื่องแรก ภิกษุสาวกพระพุทธองค์ ถูกพวกพราหมณ์ด่าว่า เป็นคนต่ำต้อยเพราะเกิดจากเท้าพระพรหม พวกเขาเกิดจากปากพระพรหม โต้เถียงสู้พวกเขาไม่ได้ จึงไปกราบทูลพระพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสว่า “ทำไมพวกเธอไม่ย้อนพราหมณ์พวกนั้นไปว่า พวกเขาพูดเท็จ” เมื่อภิกษุพวกนั้นกราบทูลว่า เท็จอย่างไร พระองค์ตรัสว่า

“ก็พวกเขาพูดว่า เกิดจากปากพระพรหม มิใช่หรือ”

“ใช่พระเจ้าข้า” ภิกษุทั้งหลายรับ

“นั่นแหละ พวกเขาพูดเท็จ เมื่อนางพราหมณีตั้งครรภ์ อุ้มครรภ์นานถึงแปด-เก้าเดือน ใครๆ ก็รู้ ก็เห็น ก็คลอดจาก “โยนี” ของนางพราหมณี เห็นกันอยู่แท้ๆ อย่างนี้ยังมาพูดว่าคลอดจากปากพระพรหมอีกหรือ”

แจ้งจางปางไหมครับ ตรรกะง่ายๆ อย่างนี้ไม่เป็นที่สงสัยเลย ทันทีที่ฟังก็เห็นด้วยหรือคนโต้เถียงก็เงียบเสียงทันที เพราะความเป็นจริงก็เห็นๆ กันอยู่

เรื่องที่สอง เรื่องนี้ก็รู้กันมาก นายขมังธนู ถูกว่าจ้างโดยพระเทวทัตให้ไปยิงพระพุทธเจ้า

พระเทวทัตได้วางแผนการไว้แนบเนียน โดยวางคนไว้ 16 จุด ให้ฆ่าคนที่เดินผ่านมาเป็นทอดๆ โดยนัยนี้ ถ้าแผนการสำเร็จจะจับมือใครดมไม่ได้ ไม่มีทางสาวหาต้นตอพบ

บังเอิญแผนการไม่สำเร็จ

ขณะนายขมังธนูจะปล่อยศร พระองค์ตรัสสนทนาด้วยการใช้ตรรกะง่ายๆ ว่าทำอะไร เขาตอบว่า ยิงละซิ

ตรัสถามว่ายิงทำไม เขาตอบว่ายิงให้ตาย

พระองค์ตรัสถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “ถ้าไม่ยิง เราไม่ตายหรืออย่างไร” เขานิ่งคิดพักหนึ่งแล้วรับว่า ถึงเขาไม่ยิง พระองค์ก็จะต้องตายเมื่อถึงเวลานั้น แล้วพระองค์ตรัสถามว่า แล้วจะยิงทำไม

ยิงแล้ว เขาก็ได้ทำบาปเพราะฆ่าพระพุทธเจ้า และอาจติดคุกหรือถูกฆ่าหรือจองจำ ทุกข์สองเท่าว่างั้นเถอะ

4.เลือกสอนเป็นรายบุคคล ผู้สอนต้องรู้ว่าคนฟังนั้นต่างภูมิหลัง ต่างความสนใจ ต่างระดับสติปัญญาการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการเลือกสอนเป็นรายบุคคล จะช่วยให้การสอนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ถ้าทำได้ก็ควรใช้วิธีนี้ แม้จะสอนเป็นกลุ่มก็ต้องเอาใจใส่นักเรียนที่มีปัญญา เป็นรายบุคคลให้ได้

พระพุทธเจ้านั้น เป็นที่รู้จักกันว่า พระองค์ทรงคงใช้เทคนิคนี้บ่อยดังในพุทธกิจ 5 ประการ ก็จะระบุไว้เลยว่า ก่อนจะเสด็จไปโปรดใคร ด้วยเนื้อหาอะไร พระองค์จะตรวจดูด้วย “ข่าย คือพระญาณ” ก่อน ว่าคนไหนควรจะไปโปรดก่อน แม้ว่าจะเลือกคนที่จะโปรดแล้วก็ต้องดูด้วยว่า ต้องสอนเรื่องอะไร สอนอย่างไรด้วย หาไม่ ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ

ขอยกสักเรื่องมาเป็นอุทาหรณ์ พระสารีบุตรมีลัทธิวิหาริก (ศิษย์ที่ท่านบวชให้เอง) รูปหนึ่ง ท่านพยายามฝึกสอนให้ปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลานาน ศิษย์ก็ไม่ประสบความก้าวหน้าในการปฏิบัติ ท่านจึงพาศิษย์มาเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์จะฝึกศิษย์ของพระสารีบุตรเอง แล้วก็ทรงพาเธอไปริมฝั่งน้ำ ทรงนำดอกบัวที่มีผู้ถอนทิ้งไว้มาดอกหนึ่ง ให้เธอปักไว้ที่กองทราย แล้วให้พิจารณาถึงความสวยงามของดอกบัวนั้น ณ ตรงนั้นเป็นเวลานานๆ

ภิกษุหนุ่มนั่งเพ่งดอกบัวนั้นตามรับสั่ง เวลาล่วงเลยไปตามลำดับ ดอกบัวนั้นค่อยๆ เหี่ยวเฉาลงตามลำดับ เธอได้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เข้าสู่ทางวิปัสสนาไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหันต์

พระพุทธองค์ทรงรู้ว่า พระสารีบุตรไม่รู้ภูมิหลังของภิกษุหนุ่มผู้เป็นศิษย์ดี ให้เธอฝึกอสุภกรรมฐาน (เพ่งมองร่างกายว่าเน่าเปื่อย น่าขยะแขยง) แต่ยิ่งเพ่งก็ยิ่งเห็นร่างกายมันงาม ไม่สามารถมองเห็นดังที่อาจารย์สอน เพราะในชาติก่อนหลายร้อยชาติ ภิกษุหนุ่มเคยเกิดเป็นบุตรนายช่างทอง วันๆ เอาแต่หลอมทองอันสุกปรั่ง จิตใจคุ้นเคยกับความสวยงามแห่งทองคำ

มาชาตินี้นิสัยนั้นยังติดอยู่ส่วนลึกแห่งดวงใจ พอถูกสอนให้มองในทางตรงข้าม จึงเกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น

พระพุทธองค์ทรงรู้ภูมิหลังของเธอดีจึงทรงสอนให้เพ่งมองความงามของดอกบัว เทคนิควิธีนี้เรียกว่า “เอาหนามบ่งหนาม” กระมังครับ

ผมได้รับคำยืนยันจากนายแพทย์คนหนึ่งว่า เรื่องนี้เป็นความจริง ตัวท่านเป็นศัลยแพทย์ ตามปกติก็มองเห็นตับไตไส้พุงคนงดงาม และมหัศจรรย์อยู่แล้ว เมื่อไปปฏิบัติกรรมฐาน อาจารย์สอนให้เพ่งสิ่งเหล่านี้ว่ามันสวยงาม ยิ่งเพ่งก็ยิ่งเห็นว่ามันสวยงาม ธรรมชาติช่างสร้างตับไตไส้พุงมาเป็นระบบระเบียบดีเหลือเกิน มองยังไงๆ ก็ไม่เห็นว่ามันน่าเกลียด

ผลที่สุดก็ปฏิบัติไม่ก้าวหน้า

5.รู้จักจังหวะและโอกาส คนที่สอนเขาเห็นจะต้องรู้จักคอยจังหวะอันเหมาะสมด้วย เรียกว่า ดูความพร้อมของผู้เรียน

ถ้าผู้เรียนไม่พร้อม สอนไปก็เหนื่อยเปล่า เราได้ยินเรื่องพระวักกลิบ่อยๆ ว่าเธอบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า เพราะติดในรูปสมบัติของพระองค์ แต่พระองค์ไม่ว่าอะไร คงปล่อยให้เธอนั่งจ้องพระองค์อย่างนั้น

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่า วักกลิยังไม่พร้อมจะรับคำสอน เมื่อทรงเห็นว่าเธอพร้อมแล้วจึงได้สอน

อีกเรื่องหนึ่ง นางรูปนันนทาเถรี พระกนิษฐาของพระองค์ ก็ติดในความสวยความงามของตน ไม่ยอมไปฟังธรรมจากพระองค์ เหมือนภิกษุณีอื่น เพราะเกรงพระพุทธองค์จะตำหนิความสวยงามของเธอ พระองค์ก็ยังคงปล่อยเธอไว้ก่อน จนกว่าเธอมีความพร้อมแล้วจึงทรงสอน อย่างนี้เป็นต้น

ดูว่าทั้งสองเรื่องเคยพูดถึงแล้ว ไม่จำเป็นต้องยกมาพูดอีก

6.ยืดหยุ่นในการใช้เทคนิควิธี นี่ก็เป็น “เคล็ดแห่งความสำเร็จ” ประการหนึ่งของการสอน โบราณเล่าว่า ชาวนาเห็นกระต่ายวิ่งชนตอไม้ตาย ก็นึกว่าจะมีกระต่ายตัวที่สอง ตัวที่สามมาชนตอไม้อีก จะได้กินกระต่ายอีกจึงนั่งคอยอยู่ตรงนั้น วันแล้ววันเล่าก็ไม่มีกระต่ายตัวที่สองตัวที่สามชนตอไม้อีกเลย

เทคนิควิธีบางอย่างใช้ได้ผลในวันนี้ ต่อไปวันข้างหน้าอาจใช้ไม่ได้ก็ได้ จึงควรยืดหยุ่นวิธีการ

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ พระพุทธเจ้าตรัสกับคนฝึกม้าชื่อเกสี ว่าพระองค์ก็ทรงฝึกสาวกดุจเดียวกับนายเกสีฝึกม้า คือใช้วิธีนุ่มนวลบ้าง วิธีเข้มงวดบ้าง มีทั้งสองวิธีผสมกันบ้างตามโอกาสอันสมควร

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com

7.การเสริมแรง มีคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า ทรงชมคนที่ควรชม ตำหนิคนที่ควรตำหนิ การชมเป็นการยอมรับความสามารถของสาวก หรือให้กำลังใจให้ทำอย่างนั้นยิ่งๆ ขึ้นไป การตำหนิเป็นการตักเตือนมิให้ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น ทรงชมเชยพระสาวกผู้มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ ว่าเป็น “เอตทัคคะ” ด้านนั้นด้านนี้ ก็เป็นการให้กำลังใจ หรือการไม่ทรงอนุญาตภิกษุจากชนบทผู้ส่งเสียงอื้ออึงเข้าเฝ้า ก็เพื่อตักเตือนว่า ผู้ประพฤติเช่นนั้นมิใช่สาวกของพระพุทธองค์

หรือรับสั่งให้เหล่าภิกษุที่สำคัญว่าตนบรรลุมรรคผลไปดูซากศพในป่าช้าผีดิบก่อนเข้าเฝ้า ก็เพื่อเตือนให้พวกเธอสำนึกว่า ที่พวกเธอนึกว่าได้บรรลุจริง

ยังคงมีอีกหลายวิธีหลายตัวอย่าง แต่ขณะเขียนนี้นึกไม่ออก และก็รู้สึกว่าชักจะเมื่อยล้าเต็มที จึงขอยุติข้อเขียนว่าด้วยเทคนิควิธีการสอนของพระพุทธเจ้าไว้เพียงแค่นี้