เสฐียรพงษ์ วรรณปก : พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก ว่าด้วย เทคนิควิธีสอน (2)

พุทธวิธีสอนในพระไตรปิฎก (17) บทที่ 7 : เทคนิควิธีสอน (2)

ย้อนอ่านตอนที่แล้ว คลิก

ค.ใช้อุปกรณ์หรือสื่อการสอน เทคนิควิธีสอนด้วยการทำของยากให้ง่ายหรือทำให้เข้าใจนามธรรมนอกจากใช้อุปมาอุปไมยและเล่านิทานประกอบแล้วยังมีอีกวิธีหนึ่งอันเป็นวิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากพอๆ กับสองวิธีข้างต้นคือ การใช้อุปกรณ์หรือใช้สื่อการสอน

ในปัจุบันนี้ ถ้าครูคนใดสอนหนังสือโดยไม่ใช้สื่อเลย ก็ถูกตำหนิว่า “เชย” หรือไม่ทันสมัย

ที่จริงแล้วมิใช่เรื่องเชยหรือไม่เชย การสอนคนให้เข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น ถ้าสามารถให้เขามองเห็นจะจะกับตาเขาแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพูดมากให้เปลืองน้ำลาย สื่อการสอนนี่แหละเป็นเครื่องช่วยอย่างดี ถ้าใช้สื่อให้เหมาะสมและใช้ถูกใช้เป็น นอกจากจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย เข้าใจเร็วแล้ว ยังช่วยประหยัดน้ำลายและพลังงานของผู้สอนด้วย

พระพุทธเจ้าทรงเป็นตัวอย่างในการใช้สื่อการสอน

พระองค์ทรงใช้ทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัวมาเป็นสื่อการสอนได้หมด

อันนี้ก็เข้ากับทฤษฎีสมัยใหม่ว่า สื่อการสอนไม่จำเป็นต้องแพงหรูหรา อะไรก็ได้ที่ง่ายๆ และเหมาะกับกิจกรรมการเรียน การสอน ให้นำมาปรับใช้ได้

นักการศึกษาคนหนึ่งบอกผมอย่างนั้น ผมเองไม่ประสีประสาดอก เรื่องแบบนี้เพียงจำขี้ปากเขามาว่า

ลองดูพระพุทธองค์เป็นตัวอย่างดีกว่า

พระพุทธองค์ประทานจีวรของพระองค์เองแก่พระมหากัสสปะเถระ ภาพจาก http://www.sookjai.com

สมัยหนึ่งขณะเสด็จดำเนินไปในป่าแห่งหนึ่ง มีพระสงฆ์หมู่ใหญ่ตามเสด็จ พระองค์ทรงหยิบใบไม้ขึ้นมากำหนึ่ง ตรัสถามภิกษุทั้งหลาย เห็นใบไม้ในกำมือตถาคตไหม

“เห็น พระเจ้าข้า” พระสงฆ์ตอบพร้อมกัน

นี่คือบรรยากาศการเรียนการสอน แม้ปัจจุบันนี้เวลาครูยกวัสดุบางอย่างขึ้นมาแล้ว ถามว่านี่อะไรนักเรียน นักเรียนก็จะตอบพร้อมกัน แสดงว่าทั้งห้องกำลังเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

“พวกเธอเห็นใบไม้บนต้นไม้ในป่าไหม” ทรงชี้พระดรรชนีไปยังต้นไม้ต้นหนึ่ง

“เห็น พระเจ้าข้า” ตอบพร้อมกันอีก

“ใบไม้ไหนมากกว่ากัน ในมือตถาคตหรือบนต้นไม้” ตรัสถามอีก

“บนต้นไม้มากกว่า พระเจ้าข้า” แหงอยู่แล้ว เห็นๆ อยู่กับตาใบไม้ในพระหัตถ์ของพระองค์มีนิดเดียว พระองค์ก็ทรงทราบว่า พระสาวกทั้งหลายจะต้องตอบอย่างนั้น

ถามว่า ถ้าทราบอยู่แล้วถามทำไม อ้าว การสอนด้วยการใช้สื่อก็ต้องถามย้ำอย่างนี้แหละ เพื่อให้นักเรียนสนใจและติดตามทุกขั้นตอน

เสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสต่อว่า ใบไม้ในมือนี้ก็เหมือนสรรพวิทยาที่พึงเรียนรู้ วิทยาการมีมากมาย ดุจใบไม้บนต้นไม้ในป่า แต่วิชาการที่เป็นประโยชน์จริงๆ นั้นมีนิดเดียวดุจใบไม้ในกำมือ

ในการอธิบายสรุปหลังจากการใช้สื่อเหล่านี้นั้น พระพุทธองค์ทรงยกพระองค์เองเป็นตัวอย่างว่า พระองค์ตรัสรู้สิ่งทั้งปวงมากมาย ดุจใบไม้ในป่า

แต่สิ่งที่ทรงรู้แล้วนำเอาสั่งสอนประชานั้นมีนิดเดียวดุจใบไม้พระหัตถ์ของพระองค์ เสร็จแล้วก็ตรัสบอกว่า “นิดเดียว” ที่ทรงสอนนั้นคืออะไร

อีกสักเรื่องหนึ่ง ขณะพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในวิหาร ตรัสถามสามเณรราหุลว่า ราหุล กระจกมีไว้สำหรับอะไร

“มีไว้สำหรับส่องหน้า พระเจ้าข้า” สามเณรน้อยกราบทูล

“อันนี้ก็เหมือนกัน ราหุล ก่อนที่เราจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ต้องดูเสียก่อน สติสัมปชัญญะเป็นดุจกระจกส่องดูกาย วาจา ใจ ดุจเดียวกับไว้ส่องใบหน้าฉะนั้น”

2.ทำตนเป็นตัวอย่าง ในแง่ของการสอนอาจแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ

1) ทำให้ดู หรือสาธิตให้ดู

2) ปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง

ทำให้ดู เช่น เวลาครูสอนปั้นดินเหนียว สมมติว่าปั้นเป็นแจกัน ครูก็ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วให้เด็กทำตาม อย่างนี้เรียกว่าทำให้ดูในเรื่องที่สอนนั้นๆ

ส่วนปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น อยากให้ศิษย์เป็นนักเสียสละ ครูจะต้องบำเพ็ญตนเป็นนักเสียสละให้เขาเห็น แล้วเขาจะได้ซาบซึ้งและถือเอาเป็นแบบอย่าง

การที่ได้แต่สอนให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตัวเองทำไม่ได้นั้นไม่ได้ผล มิหนำซ้ำ “ดาบนั้นจะคืนสนอง” ได้ หรือว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง อะไรทำนองนั้น

ขอยกตัวอย่างสั้นๆ สักเรื่องหนึ่ง นักเทศน์รูปหนึ่งพอใจที่ตนเป็นนักเทศน์เอก ไปเทศน์ที่ไหน ญาติโยมนิยมไปฟังกันแน่นศาลาวัดทุกครั้ง

วันหนึ่งขณะเทศน์จบ พระนักเทศน์เอกก็ลงจากธรรมาสน์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม ที่วันนั้นมีผู้ฟังหนาแน่นกว่าวันก่อนๆ มานั่งประจำที่รอรับ “กัณฑ์เทศน์” (ของถวายพระเทศน์) ตามธรรมเนียมของการทำบุญฟังเทศน์

โยมคนหนึ่งยกถาดใส่เครื่องไทยธรรม (ของถวายพระ) ซึ่งมีของใช้สอยหลายอย่าง รวมทั้งเงินในซองด้วย กำลังจะรับประเคนก็ชะงัก

สายตาเหลือบไปเห็นขวานขนาดย่อมๆ วางอยู่ในถาด จึงเอ่ยถามว่า

“กัณฑ์เทศน์ มีขวานด้วยหรือโยม” เทศน์มากี่แห่งๆ ก็ไม่เคยมีใครเอาขวานมาใส่กัณฑ์เทศน์ ท่านจึงสงสัย

“ครับ วันนี้ขอถวายขวานแก่ท่าน ขวานนี้ดีนะครับ ถากอะไรได้สารพัด แต่เสียอยางเดียว” โยมหยุดพูดต่อ ยิ้มน้อยๆ มองพระคุณเจ้า

“เสียอะไรโยม”

“มันถากด้ามของมันไม่ได้” โยมตอบ

เล่นเอาพระคุณเจ้าสะอึก เพราะรู้ว่าโยมกำลังว่าตนที่ได้แต่ทำตัวเป็น “ขวาน” ถากคนอื่น คือสอนแต่คนอื่น แต่ตนเองก็ทำไม่ได้ตามที่สอนเขา

เมื่อดูพระพุทธองค์ จะเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในทั้งสองด้านคือ ในด้านการทำให้ดูเวลาสอน และทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างแก่เหล่าสาวก ขอยกตัวอย่างให้ดูดังนี้

1) ทรงสาธิตให้ดู ภิกษุรูปหนึ่งเป็นไข้พุพอง ร่างกายพุพอง มีหนองไหลเยิ้มไปทั้งตัว แถมส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งอีกด้วย ภิกษุอื่นๆ ไม่มีใครดูแลเธอ ต่างก็หนีไปไกลๆ ด้วยความรังเกียจ ปล่อยให้เธอนอนแซ่วรอความตายอยู่บนแคร่เพียงลำพัง

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงทรงชวนพระอานนท์ พุทธอุปฐาก เสด็จไปยังห้องที่ภิกษุรูปนั้นนอนอยู่ เสด็จเข้าไปทอดพระเนตรอาการของเธออย่างใกล้ชิด มิได้ทรงมีความรังเกียจแต่ประการใด

รับสั่งให้พระอานนท์ไปต้มน้ำ เอาน้ำร้อนมาผสมกับน้ำเย็นให้อุ่นพอประมาณ แล้วทรงใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นถูร่างกายภิกษุรูปนั้น ยังกับพยาบาลทำความสะอาดให้แก่คนไข้ก็มิปาน

แน่นอน การกระทำของพระพุทธองค์ อยู่ในสายตาของบรรดาภิกษุสงฆ์ในพระอาราม พวกเธอรู้สึกผิด ที่ให้พระองค์ต้องทรงปรนนิบัติภิกษุไข้เอง แทนที่พวกตนจะเป็นผู้ทำเสียเอง จึงพากันมานั่งเจี๋ยมเจี้ยมต่อหน้าพระพักตร์

พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา เมื่อพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล” ยิ่งไปกว่านั้น ทรงสอนให้สำนึกว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์ไม่มีพ่อแม่คอยดูแล เมื่อมาอยู่ร่วมกันต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันดูแลกัน ไม่ใช่ปล่อยให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งตกระกำลำบาก ขาดการเหลียวแลดุจภิกษุผู้น่าสงสารรูปนั้น

ได้ผลครับ จากนั้นมาก็ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีก

2) ทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง ว่าไปแล้ว พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นแบบอย่างในทุกด้าน ดังคำพูดถึงพระองค์ตอนหนึ่งว่า

พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระพุทธะ (ผู้ตรัสรู้แล้ว) ด้วยพระองค์เองแล้ว

จึงทรงแสดงธรรมเพื่อการตรัสรู้ ทรงเป็นผู้ฝึกเองแล้วจึงทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกคนอื่น ทรงสงบเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ ทรงข้ามพ้นทุกข์เองแล้วจึงทรงแสดงธรรมเพื่อความข้ามพ้น ทรงดับเย็นแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น

ไม่ต้องยกตัวอย่างก็ได้ รู้กันทุกคนแล้วว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระจริยาวัตรเป็นแบบอย่างแก่ชาวโลกในทางใดบ้าง แจ้งประจักษ์แก่ใจทุกผู้ทุกนามแล้ว

สำหรับผู้มีหน้าที่สอนคนอื่น จะโดยอาชีพหรือไม่ก็ตาม อย่างเราๆ ท่านๆ นี้ ไม่ต้องเอาอะไรมากเพียงแค่ทำตามที่สอนคนอื่นได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่ทั้งหมดก็เกินพอแล้วครับ