เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ‘ตะวันชายฉายน้ำอร่ามตา’

 

‘ตะวันชายฉายน้ำอร่ามตา’

 

สมัยอยู่มัธยมต้น ราวปี พ.ศ.2494-2495 มีชั่วโมงขับร้อง ครูสอนให้ร้องเพลงไทยเป็นประจำ โดยเฉพาะเพลงเขมรไทรโยค เพราะเป็นเพลงบรรยายธรรมชาติของจังหวัดกาญจนบุรีบ้านเรา

อีกเพลงไพเราะนักคือ เพลงจำปาทองเทศ เนื้อร้องจากพระราชนิพนธ์ ร.5 เรื่องเงาะป่า

 

นั่งเหนือแผ่นผาที่หน้าถ้ำ

เท้าราน้ำเอนอิงพิงพฤกษา

ตะวันชายฉายน้ำอร่ามตา

ตกตามซอกศิลาซ่ากระจาย

 

จำเพาะคำ “เอนอิง” นั้นไพเราะนัก ด้วยทำนองที่เข้ากันกับคำเอนอิง ให้ทั้งความรู้สึกและภาพอิริยาบถที่กำลัง “เอนอิงพิงพฤกษา” กลางเสียงน้ำตกที่ “ตกตามซอกศิลาซ่ากระจาย”

…จับใจจริง

 

เนื้อร้องจากกลอนบทนี้ วรรคที่ไพเราะสุดตามความเห็นส่วนตัวคือวรรคสามที่ว่า

ตะวันชายฉายน้ำอร่ามตา

เพราะทั้งคำและความ โดยเฉพาะเสียงของคำที่เชื่อมร้อยอย่างสละสลวย มีจังหวะจะโคน

คำ “ตะวันชาย” นอกจากเสียงคำแล้วยังให้ภาพ แสงเคลื่อนไหวช้าๆ ของดวงตะวัน รับกับคำ “ฉายน้ำ” คือ…ชาย แล้วฉายประกายกับผิวน้ำสะท้อนระยิบระยับ อร่ามตา งดงามนัก

คำ “ตะวันชาย” นี้ เห็นจะไม่มีใครใช้กันแล้วกระมัง ถือเป็นโวหาร หรือ “คำกวี” โดยแท้

ขอให้สังเกตเสียงคำที่กระเพื่อมไหวเป็นลีลา คือคำ “ชาย” กับ “ฉาย” ซึ่งเป็นเสียงสามัญ (ชาย) กับเสียงจัตวา (ฉาย) พร้อมสัมผัสสระ เพียงสองคำนี้ก็งดงามแล้ว ซ้ำยังขยายความ “ฉายน้ำ” แล้ว “อร่ามตา” คือคำ “น้ำ” ซึ่งเป็นเสียงตรีมาตัดกับคำ “อร่าม” เสียงเอกอันเป็นระดับเสียงสูงต่ำ คือลีลาสูงต่ำที่มักไพเราะเสมอในทางคีตศิลป์ถ้ารู้จักนำมาใช้ให้ถูกที่ถูกจังหวะจะโคน

ฉะนั้น กลอนวรรคนี้จัดว่าเป็นวรรคกวีสมบูรณ์ด้วยถึงพร้อมทั้งคำและความพร้อมเสียงเสนาะเพราะพริ้ง

สัมผัสคำสัมผัสใจ

นี่คือความสมบูรณ์ของคำกวีอันมีสุนทรียรสเป็นหลัก

อาจมีเกณฑ์วินิจฉัยอื่นอีก เช่น เป้าหมายของเนื้อหา เป็นต้น หากสุนทรียภาพก็เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของความเป็นบทกวีอยู่ด้วยอย่างสำคัญ

 

ที่ยกเรื่องนี้มาพูด นอกจากภาพประทับใจในวัยเด็กแล้ว ก็ด้วยคำนึงถึงความสำคัญของการศึกษาไทยปัจจุบันว่าเรามีโครงสร้างการปูพื้นฐานสุนทรียภาพให้ลูก-หลานเราอย่างไรหรือไม่

วิชาศิลปะทุกสาขานี่แหละเป็นพื้นฐานสำคัญสุด

ทราบว่าที่ประเทศเกาหลีนั้น ภาคบ่ายจะปล่อยให้เด็กได้คลุกคลีกับดนตรีตามชอบ

ที่ประเทศออสเตรเลียเขาจะปล่อยให้เด็กทำงานศิลปะตามชอบเช่นกัน เช่น ปั้นดินแล้วเข้าเตาเผาผลิตงานประติมากรรมเป็นรายได้พิเศษในงานตลาดนัดศิลปะประจำของโรงเรียน เป็นต้น

ที่อังกฤษก็ทราบว่าเขาปูพื้นฐานเด็กตั้งแต่วัยอนุบาลด้วยกิจกรรมสามอย่าง คือ เขียนรูป ดนตรี และเดินป่า

เขียนรูปเป็นพื้นฐานของจินตนาการ

ดนตรีเป็นพื้นฐานของความประณีตละเอียดอ่อน

และการเดินป่าเป็นพื้นฐานของการใฝ่รู้ใฝ่เห็น

 

พื้นฐานการศึกษาไทย สมัยยังไม่มีโรงเรียนเป็นทางการ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยนิพนธ์ไว้ถึงการศึกษาภายในรั้วในวังนั่นมีขั้นตอนคือ

วัยเด็กสอนให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น จากนั้นครบสิบสามปีมีพิธีโสกันต์ คือ โกนจุก จากนั้นเด็กชายให้บวชเณร เด็กหญิงเรียนรู้งานบ้านเรือน เด็กชายสึกจากเณรแล้วเรียนรู้การอาชีพ มีการทหาร เป็นต้น ถึงอายุยี่สิบให้บวชเป็นพระภิกษุ สึกแล้วถือว่าเป็นบัณฑิต ดังเรียกว่า “ทิด” นั้น

นี้คือระบบการศึกษาในรั้วในวัง น่าสังเกตคือ การให้บวชเณรและบวชพระ

บวชเณรเพื่ออบรมฝึกนิสัยให้รู้สงบเรียบร้อยก่อนสึกออกไปเป็นวัยรุ่น จะได้รู้วิธีบังคับจิตใจที่เร่าร้อนรุนแรงตามวิสัยของช่วงวิกฤตวัยรุ่น

บวชพระเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การงานอาชีพและมีครอบครัวเป็นหลักฐานต่อไปในชีวิต

การได้ผ่านการบวชทั้งเณรและพระก็เพื่อได้เรียนรู้จักตัวเองเป็นสำคัญนั่นเอง

งานศิลปะทุกแขนงก็เช่นกัน ล้วนเป็นพื้นฐานให้ได้สัมผัสกับจิตใจตนเอง ได้เรียนรู้สุนทรียภาพและรู้จักตัวเองอย่างแท้จริง

ครอบครัว สิ่งแวดล้อม และสถาบันการศึกษาจึงเป็นเหตุปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพคนและสังคม

เราให้ความสำคัญและจัดการกับพื้นฐานเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมกันจริงจังและอย่างไรหรือไม่

ขงจื๊อกล่าววาทะสัจธรรมไว้ว่า

มนุษย์งอกงามด้วยบทกวี

มั่นคงด้วยศีลธรรม

เต็มเติมด้วยดนตรี

สามคุณค่า

 

มนุษย์ แปลว่า ใจสูง

คือสูงพ้น กิเลสสาม

รักโลภ โกรธ หลง ตาม

วิสัยสัตว์ เดรัจฉาน

 

ความรู้ คู่ ปฏิบัติ

จึงสามารถ พ้นสามานย์

หลักกิจ กับหลักการ

มิใช่เป็น เช่นกลไก

 

ขงจื๊อ จอมปราชญ์จีน

กล่าววาทะ อมตะไว้

จงใคร่ ใจในใจ

ไว้เป็นยอด ปัญญาวุธ

 

สมบูรณ์ สมแบบเป็น

คุณสมบัติ วิเศษสุด

คือวาทะ ว่า… “มนุษย์-

-งอกงามได้ ด้วยบทกวี –

 

-มั่นคง ด้วยศีลธรรม

และเติมเต็ม ด้วยดนตรี”

สามสิ่ง นี้พึงมี

สร้างคุณค่า ความเป็นมนุษย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์