หนังสือเรียนสำหรับเด็ก/บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก

 

ในนิยาย The Supernova Era มีช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เรียกว่า The Great Learning ที่ผู้ใหญ่จะสอนเด็กๆ ก่อนที่พวกเขาจะตาย มันเป็นห้วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน นี้คือการเรียนรู้ครั้งยิ่งใหญ่ ที่เด็กๆ อายุสิบสามปีเหล่านั้น ต้องเรียนรู้ให้ได้ และให้เรียนจบภายในไม่กี่เดือน พวกเขาต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบข้ามคืน

จากนั้นก็จะมาถึงวันสำคัญ คือวัน Hand Over วันที่พวกผู้ใหญ่จะถ่ายมอบอำนาจให้พวกเขา

ในนิยาย มันเป็นกันทั้งโลก เป็นกันทั้ง Generation ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนจะไม่ตาย ดังนั้น ทุกชีวิตจึงต้องรีบเร่ง ต้องสอนลูกหลาน และปล่อยวาง

นิยายเรื่องนี้ คนเขียนเป็นคนจีน ที่สามารถคิดแบบรัฐได้ ขบวนความคิดนั้นจึงซับซ้อน แต่ก็มีระเบียบ เช่น วันหนึ่ง ผู้นำพาเด็กๆ สามคนที่ถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าของรัฐรุ่นต่อไป พาพวกเขาไปดูรถไฟยี่สิบขบวน

ขบวนที่หนึ่งมีผงชูรส อีกสิบเก้าขบวนบรรทุกเกลือ พวกเขาสามคนไม่เคยเห็นผงชูรสและเกลือมากมายเท่านี้มาก่อนเลยในชีวิต

ผู้นำพามาดูผงชูรสและเกลือจำนวนมหึมาเหล่านั้น แล้วก็ตั้งคำถามว่า ของพวกนี้ใช้ได้นานเท่าไร เด็กคนหนึ่งตอบว่า หนึ่งปี อีกคนหนึ่งตอบว่า ห้าปี อีกคนหนึ่งตอบว่า สิบปี

แต่ผู้นำตอบว่า ผิดหมด ของเหล่านี้สำหรับคนจีน ๑.๔ พันล้านคน จะเสพภายในหนึ่งวันเท่านั้น

ผู้นำต้องการให้พวกเขาเรียนรู้ว่า หากพวกเขาเป็นผู้นำของชาติจีน หน้าที่ของพวกเขาคืออะไร มันหนักหนาสาหัสขนาดไหน การจะเลี้ยงดูคนจีน ๑.๔ พันล้านคน มันหมายถึงอะไร

และสิ่งนี้ต้องเห็นด้วยตา คิดเองไม่ได้

 

ฉันอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า หากเมืองไทยมีการ hand over อำนาจ ให้แก่เด็กๆ จะเกิดอะไรขึ้น

เด็กๆ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเด็กอายุสิบสาม แต่หมายถึงเด็กอายุสามสิบห้าปีลงมา นี้คือการถ่ายมอบอำนาจที่แท้จริง น่าตื่นตะลึงยิ่งนัก

เมืองไทยทำไม่ได้แน่ เพราะชาติที่คิดแบบนี้ ต้องเป็นชาติที่คิดแบบรัฐ วางแผนแบบรัฐ ต้องเด็ดเดี่ยวและเด็ดขาด ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังไม่มีชาติไหนทำได้ ในนิยายทำได้ เพราะเป็นนิยาย แต่ด้วยความอยากรู้ ฉันอดคิดต่อเล่นๆ ไม่ได้

สมมุติเมืองไทยทำเช่นนั้น จะถ่ายมอบอำนาจให้เด็กๆ ซึ่งไม่ได้เด็กมาก แต่คืออายุสามสิบห้าปีลงมา โดยคัดพวกเขาขึ้นมาสักพันคน แล้วเลือกขึ้นมาอีกสิบคนที่จะมาเป็นหัวหน้า ที่เหลือก็เป็นระดับผู้นำเช่นกัน หากแต่รองลงไป เมืองไทยจะมีคนเก่งคนฉลาดหนึ่งพันคนไหม

และสิบคนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำจะมีบุคลิกอย่างไร

แน่ล่ะ พวกเขาต้องเป็นคนที่ mature แต่ความมหัศจรรย์อยู่ที่ว่า พวกเขายังมีความเป็นเด็ก ความคิดความอ่านของพวกเขาจะแตกต่างกับคนรุ่นก่อนเป็นอันมาก มุมมอง วิธีการแก้ปัญหา จะต่างกัน เป็นคนละมิติ

น่ามหัศจรรย์มาก เมืองไทยสามารถก้าวกระโดด กลายเป็นชาติที่เจริญที่สุดในโลก การเปลี่ยนแปลงนี้ จะเป็นแบบอย่างให้ชาติอื่นทั้งโลก เพราะนี่คือการถ่ายมอบอำนาจให้เด็ก ซึ่งคืออนาคตของชาติตัวจริง

การเปลี่ยนอายุจากสิบสามมาเป็นสามสิบห้า นั่นคือการปรับตัวให้เข้ากับความจริง ทำให้เกิดที่ว่างขึ้นมากมาย เกิดความยืดหยุ่น

 

คนที่อายุเกินสามสิบห้าปีหายไปไหน พวกเขาก็เพียงแต่มอบอำนาจสูงสุดให้เด็กๆ ส่วนตัวเองก็ทำงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจ

ที่สูงวัยกว่านั้น ก็อาจพักผ่อน หรือทำงานใดที่ยิ่งห่างไกลออกไปจากอำนาจออกไปอีก

หลักการมีอยู่แค่ว่า อำนาจไม่ใช่สิ่งดี มันเป็นพิษ ยิ่งแก่พิษยิ่งมาก หากเป็นเด็ก ยังอาจพอรับได้ในระดับหนึ่ง มันคือรังสีที่เป็นภัยต่อร่างกาย ในวัยเด็ก ร่างกายมีความยืดหยุ่นสูงพอ ปรับตัวได้ อำนาจมันทำลายทั้งโครโมโซม

นักวิทยาศาสตร์จะเป็นไปจนอายุเท่าไรก็ได้ เช่นเดียวกับศิลปิน นักปราชญ์ นักวิชาการ ฉันหมายความว่า มีเพียงอำนาจเท่านั้น ที่จำกัดเวลา นอกนั้นก็เป็นไปตามอิสระ เพราะอำนาจทำให้ติดยึด ทำให้เสื่อม

๑๐

เด็กๆ ก็หลงในอำนาจได้ จึงจำเป็นต้องมี Protocol มาควบคุมไว้ สิ่งที่เป็นตัวควบคุมดีที่สุด คือสิทธิมนุษยชน ผู้นำทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎข้อนี้ ใครที่ฝ่าฝืนก็ต้องหมดอำนาจ ดังนั้น จึงไม่มีความโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่มีการล้างแค้น การทำร้าย

๑๑

รัฐธรรมนูญใหม่ จึงเริ่มต้นด้วยข้อแรก สิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสากลสูงสุด

๑๒

รองลงมาจึงเป็นการกำหนดอายุของผู้ที่จะมีอำนาจได้ เรากำลังจะใช้มิติที่สี่ให้เป็นประโยชน์ เหมือนครั้งหนึ่งที่มนุษย์เริ่มตระหนักรู้ถึงเรื่องของชนชั้น ก่อนหน้านั้น ไม่มีความคิดเช่นนี้อยู่ในหัวเลย

๑๓

เด็กๆ จะตื่นตัวกว่าในการแก้ปัญหาโลกร้อน

เด็กๆ จะไม่มีความเคยตัวจากการคอร์รัปชั่น พวกเขาบริสุทธิ์กว่า ร่างกายไร้บาดแผล

มุมมองของพวกเขาไวกว่า พวกเขาไม่ติดยึดในแบบแผนเก่าๆ

พวกเขาอาจมองปัญหาในอีกมิติหนึ่ง คิดในสิ่งที่คนรุ่นเก่าไม่เคยคิดมาก่อน

มองในสิ่งที่คนรุ่นเก่าไม่เคยมอง