“เจ้าอนุวงศ์” ถูกขังประจานกลางพระนคร ตายแล้วยังเอาศพไปเสียบประจาน

อนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ www.flickr.com/Rob Young

เมืองไทยในอดีต ผู้ที่ถูกประจานครบถ้วนทั้งพูดประจาน ตัดหัวเสียบประจาน และพาตระเวนประจานทั่วเมืองมีไม่น้อย หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เจ้าอนุวงศ์


พระราชพงศาวดารบันทึก

บทลงโทษ “เจ้าอนุวงศ์”

“พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3” ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) บันทึกว่า

“เจ้าพระยาราชสุภาวดี จึ่งให้พระอนุรักษโยธา พระโยธาสงคราม หลวงเทเพนทร์ พระนครเจ้าเมืองขอนแก่น ราชวงศ์เมืองชนบท กับไพร่ 300 คนคุมตัวอนุกับครอบครัวลงมาส่งถึงเมืองสระบุรี พระยาพิไชยวารีขึ้นไปตั้งรับครอบครัวและส่งเสบียงอยู่ที่นั้น ก็ทำกรงใส่อนุตั้งประจานไว้กลางเรือ ให้พระอนุรักษโยธา พระโยธาสงครามตระเวนลงมาถึงกรุงเทพมหานคร ณ วันเดือน 2 ขึ้น 11 ค่ำ โปรดให้จำไว้ทิมแปดตำรวจ บุตรหลานผู้หญิงและภรรยาน้อยนั้นก็ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น

แล้วรับสั่งให้ทำที่ประจานลงที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับใส่อนุ มีรั้วตารางล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน มีกรงเหล็กน้อยๆ สำหรับใส่บุตรหลานภรรยาอนุถึง 13 กรง

มีเครื่องกรรมกรณ์คือครก สาก สำหรับโขลก มีเบ็ดสำหรับเกี่ยวแขวน มีกระทะสำหรับต้ม มีขวานสำหรับผ่าอก มีเลื่อยสำหรับเลื่อยไว้ครบทุกสิ่ง แล้วตั้งขาหย่างเสียบเป็นเวลา

เช้าๆ ไขอนุกับอ้ายโยปาศัก 1 อ้ายโป้สุทธิสาร 1 อ้ายเต้ 1 … ฯลฯ … หลานอนุ 5 คน รวม 14 คน ออกมาขังไว้ในกรงจำครบแล้ว ให้นางคำปล้องซึ่งเป็นอัครเทพีถือพัดกาบหมาก เข้าไปนั่งปรนนิบัติอยู่ในกรง ให้นางเมียน้อยสาวๆ ซึ่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีส่งลงมาอีกครั้งหลังนั้น แต่งตัวถือกะบายใส่ข้าวปลาอาหารออกไปเลี้ยงกันที่ประจาน ราษฎรชายหญิงทั้งในกรุงนอกกรุงพากันมาดูแน่นอัดไปทุกเวลามิได้ขาด ที่ลูกผัวญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้นก็มานั่งบ่นพรรณนาด่าแช่งทุกวัน

ครั้นเวลาบ่ายแดดร่มก็เอาบุตรหลานที่จับได้มาขึ้นขาหย่างเป็นแถวกันให้ร้องประจานโทษตัว เวลาจวนพลบก็เอาเข้ามาจำไว้ที่ทิมดังเก่า ทำดั่งนี้อยู่ได้ประมาณ 7 วัน 8 วัน พออนุป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตาย โปรดให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่สำเหร่” (ญาดา อารัมภีร)

พงศาวดารไร้คำ “กบฏ”
เหตุ เป็น “สงครามระหว่างรัฐ”

นายกำพล จำปาพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หากมองในขอบเขตโลก ศึกเจ้าอนุวงศ์ สะท้อนหลายสิ่งในสังคมไทย โดยถือเป็นศึกใหญ่ยิ่งกว่าสงครามเก้าทัพ ส่งผลต่อสยามมากกว่าสงครามครั้งใดๆ เนื่องจากหลังสงครามมีการกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากเข้ามาในสยาม ซึ่งกระจายออกไปตั้งถิ่นฐานตามเมืองโบราณแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย, ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, เมืองพระรถ หรือพนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพิจารณาในเอกสารโบราณ อย่างพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จะไม่พบคำว่า “กบฎ” อันเป็นคำที่ถูกใช้ในภายหลัง คือในยุคของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เนื่องจากเดิมเป็นเรื่องของ “สงครามระหว่างรัฐ” ซึ่งเส้นทางเดินทัพ เป็นเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ ทว่า เส้นทางดังกล่าวไม่ได้มีเฉพาะศึกสงคราม แต่เป็นเส้นทางคมนาคมที่ใช้ไปมาหาสู่กันด้วย

ศึกอนุวงศ์
ส่งผล “อีสาน” เป็นอย่างทุกวันนี้

นายศานติ ภักดีคำ อาจารย์ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ กล่าวว่า เส้นทางที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ คือเส้นทางที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพลงมาแล้วสยามยกทัพตีโต้กลับ ดังนั้น บ้านเมืองสองข้างทางจึงยับเยิน

อย่างไรก็ตาม หากไม่ผ่านสงครามเจ้าอนุวงศ์ อีสาน จะไม่เป็นอีสานอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผสมปนเปของผู้คนเนื่องจากมีการกวาดต้อนไพร่ไปเวียงจันทน์ รวมถึงเมืองบางแห่งก็ถูกตั้งขึ้นหลังสงครามดังกล่าวอีกด้วย อย่าง “เมืองหนองคาย” สำหรับเส้นทางเดินทัพในครั้งนั้นเป็นเส้นทางที่ใช้คมนาคมมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์

“ศึกเจ้าอนุวงศ์ ไม่ใช่แค่การรบรากัน แต่จุดสำคัญคือเป็นสงครามแย่งคน เพราะตอนเสียกรุง สยามเสียคนไปมาก ดังนั้นตอนไปตีเมืองต่างๆ จึงเป็นการกวาดต้อนคนมาเป็น ไพร่บ้านพลเมือง ฝั่งเจ้าอนุวงศ์ก็เช่นกัน เมื่อเกิดศึกครั้งนี้ก็กวาดคนลาวที่อยู่ในไทยกลับเวียงจันทน์ สำหรับเส้นทางที่ใช้ในศึกนี้ เป็นเส้นทางโบราณที่ใช้ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องถึงยุคทวารวดี

นอกจากนี้ ในวรรณคดีก็มีบันทึกถึงเส้นทางนี้ไว้ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ไม่ได้ใช้แค่ตอนสงครามมีหลักฐานเรื่องเส้นทางเดินทัพของเจ้าอนุในนิราศทัพเวียงจันทน์ ของหม่อมเจ้าทับ ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ เจ้าอนุวงศ์เดินทัพลงมาถึงโคราชได้โดยไม่มีใครต้าน เพราะในยุคนั้น เมืองในเส้นทางอยู่ในเขตลาว” นายศานติกล่าว

 

 


หมายเหตุ : 
บทสัมภาษณ์มาจากงาน “สโมสรศิลปวัฒนธรรม” จัดเสวนาหัวข้อ “ตามรอยเส้นทางเดินทัพไทย ในศึกเจ้าอนุวงศ์” มีวิทยากร ได้แก่ นายศานติ ภักดีคำ, นายกำพล จำปาพันธ์, สมชาย ปรีชาเจริญ (จิตร ภูมิศักดิ์)  เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2559