การศึกษา : ‘หยุด’ เรียนออนไลน์ 1 ปี แก้ น.ร. ‘เครียด-ออกกลางคัน’??

การศึกษา / จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ

 

‘หยุด’ เรียนออนไลน์ 1 ปี

แก้ น.ร. ‘เครียด-ออกกลางคัน’??

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงทั้งในไทย และนานาประเทศทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกๆ ด้าน ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน

รวมถึงรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา ที่จากเดิมนั่งเรียนใน “ห้องเรียน” เปลี่ยนมาเรียนผ่านระบบ “ออนไลน์” แทน เพื่อรักษาระยะห่าง และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

แม้สถานศึกษาในไทย ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนจากการเรียนในห้องเรียนปกติ มาเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อปี 2563 แต่ดูเหมือนการเรียนผ่านระบบออนไลน์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เพราะนอกจาก “โรงเรียน” ส่วนใหญ่ ไม่เคยมีประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์แล้ว ยังมีโรงเรียนมากมายที่ไม่มีอุปกรณ์ และอินเตอร์เน็ตรองรับ

เช่นเดียวกับ “นักเรียน” อีกจำนวนมากที่ไม่มีอุปกรณ์และอินเตอร์เน็ตสำหรับเรียนผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน

แม้รัฐบาลและ ศธ.จะพยายามแก้ไขปัญหา โดยเพิ่มรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงเด็กๆ ในทุกพื้นที่ นอกเหนือจากเรียนผ่านออนไลน์ รวมทั้งพยายามจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ และอินเตอร์เน็ต ให้ทางโรงเรียนและนักเรียน

แต่ดูเหมือนการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ยังคงไม่ได้ผลเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “เด็กปฐมวัย” และ “เด็กเล็ก”…

แล้วถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดยังยืดเยื้อไปเรื่อยๆ อาจทำให้เด็กไทยต้องเรียนผ่านออนไลน์ต่อไปอย่างน้อย 1 ปี หรืออาจถึง 2 ปี…

อะไรจะเกิดขึ้นกับ “เด็กไทย” และ “ระบบการศึกษาไทย”!!

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ของ ศธ.พบว่า โรงเรียนที่จัดการเรียนผ่านระบบออนไลน์จำนวน 7,889 แห่ง มีข้อจำกัดจากการใช้แท็บเล็ต ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ผู้ปกครองต้องทำงานนอกบ้าน นักเรียนต้องอยู่กับแท็บเล็ตโดยไม่มีผู้ดูแล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเด็ก ที่เกิด “ความเครียด” และพบว่าจำนวนมากถอดใจ “ออก” จากโรงเรียนกลางคัน…

ขณะที่การเรียนผ่านออนไลน์ในระดับมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายรายก็ขอ “ดร็อปเอาต์” เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ของประเทศในเอเชียและยุโรป ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า ผู้ปกครองเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ 40% และบ้านมีอุปกรณ์ หรือสภาพไม่พร้อม 25%

สำหรับผลสำรวจของ Washington Post พบว่า เด็กเครียด ก้าวร้าว เบื่ออาหาร ปวดหลัง มีปัญหาเจ็บตา หรือตาอ่อนล้า

ส่วนงานวิจัยของจีนได้สำรวจนักเรียนในมณฑลหูเป่ยที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเก็บข้อมูลนักเรียนเกรด 2-6 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2563 พบว่า นักเรียนถึง 40% เครียด และวิตกกังวล

สอดคล้องกับผลสำรวจของไทย ที่พบข้อมูลนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากเครียดจากการเรียนออนไลน์ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความทุกข์ สุดท้ายนำไปสู่โศกนาฏกรรม…

ปัญหาการเรียนผ่านระบบออนไลน์ของไทย ส่งผลให้กลุ่มนักเรียนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย” ยื่นหนังสือถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กรณีที่นักเรียนหลายคนต้อง “หลุด” จากระบบการศึกษา เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยาจาก ศธ.

โดยเรียกร้องให้ ศธ.ลดภาระงาน และหาวิธีสอน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหา เพราะการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา ไม่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ฝากให้ผู้บริหาร ศธ.ดูเรื่องความพร้อมของเด็กในต่างจังหวัดเป็นพิเศษ เพราะจะมีปัญหาเรื่องการเรียนทางไกล และทางอินเตอร์เน็ต มากกว่าเด็กในเมือง ซึ่งน่าเห็นใจ!!

 

ทั้งนี้ หากเด็กไทย โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ จำเป็นต้องเรียนผ่านออนไลน์อีกอย่างน้อย 1-2 ปี จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างไรนั้น

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของการเรียนออนไลน์ คือเด็กทั่วประเทศโดดเรียนกว่า 20% เพราะเครียด ถ้าต้องเรียนออนไลน์อีก 1 ปี การศึกษาไทยน่าเป็นห่วง ทั้งในเชิงคุณภาพ ความถดถอยทางการศึกษา และสุขภาพจิตของเด็ก

ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก มีข้อมูลตรงกันว่าถ้าเด็กต้องเรียนออนไลน์ จะเกิดความถดถอยทางการศึกษา 20-50% จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เด็กต้องเรียนออนไลน์ต่อไปอีก 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมพงษ์เห็นว่า ปัญหาการศึกษาไทยเป็นระบบอนุรักษนิยม ติดกรอบ ติดระเบียบ บวกกับกลัวการแพร่ระบาด ทำให้ระบบการศึกษาหดตัว ถดถอย เพราะความกลัวเกินกว่าเหตุ ทำให้การจัดการศึกษาไม่ตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คิดถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก กล้าตัดสินใจบนข้อมูลรอบด้าน และไม่กลัวการวิจารณ์

ที่สำคัญ ต้องเร่งจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน เพราะหากดึงเวลาโดยให้เด็กเรียนออนไลน์ต่อไป จะสร้างความเลวร้ายต่อระบบการศึกษาของประเทศอย่างมาก

ขณะที่ น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน ฟันธงว่า ถ้าต้องเรียนออนไลน์อย่างน้อย 1-2 ปี จะส่งผลกระทบต่อ “เด็กปฐมวัย” และ “ประถม” อย่างมาก เพราะต้องเน้นพัฒนาการเป็นหลัก

ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ น.ท.สุมิตรมีข้อเสนอที่แหวกแนว คือให้ “หยุด” การเรียนการสอนทั่วประเทศ 1 ปี แล้วค่อยเริ่มเรียนใหม่ในปีหน้า ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ

แต่ “ข้อเสีย” ของการหยุดเรียน 1 ปี ก็จะทำให้เด็กๆ “เสียโอกาส” และ “เสียเวลา”…

ท้ายที่สุดแล้ว ศธ.จะตัดสินใจอย่างไร ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กๆ เป็นหลัก!!

 

ประเด็นนี้ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ รักษาการประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ที่ประชุมบอร์ด กพฐ.ได้หารือถึงผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ที่ทำให้เด็กออกกลางคัน และกระทบเรื่องคุณภาพ ซึ่งระดับมัธยมไม่น่าห่วงเท่ากับระดับประถม โดยต้องปรับเทคนิคการสอน ไม่เอาตัวชี้วัดในการเรียนแบบปกติมาวัดการเรียนแบบออนไลน์ และควรให้แต่ละพื้นที่กำหนดตัวชี้วัดเอง

ได้ออกมาคัดค้านข้อเสนอให้โรงเรียนทั่วประเทศหยุดเรียน 1 ปี เพราะมองว่า ถ้าครูและนักเรียนได้รับวัคซีนแล้ว จะกลับมาเรียนในห้องเรียนปกติได้ แต่การเรียนการสอนบางวิชาในอนาคต อาจเปลี่ยนรูปแบบไป โดยไม่จำเป็นต้องเรียนในโรงเรียนเท่านั้น

ทั้งยังเห็นปัญหาเหล่านี้เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ และนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ใช่หนีปัญหา หรือหยุดปัญหา เพราะทุกปัญหาคือโอกาสในการเรียนรู้

เพียงแค่ต้องเปลี่ยนเป้าหมายหลัก คือเตรียมเด็กให้ปรับตัวพร้อมเข้าสู่ยุคการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด มีเป้าหมายรองคือคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่เน้นคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก

ที่สำคัญ ควรหยุดคิดแทนเด็กๆ เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ได้สร้างปัญหาทุกคน แต่อาจเกิดปัญหาบางกลุ่ม บางระดับ บางอาชีพผู้ปกครอง ควรสร้างความเข้าใจทางการเรียนการสอนใหม่ในยุคดิจิตอลให้ผู้ปกครอง และนักเรียน

สอดคล้องกับแนวคิดของเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดร.อัมพร พินะสา ที่มองว่าการเรียนออนไลน์มีปัญหาอยู่บ้าง มีทั้งมุมบวกและลบ แต่ถ้าให้เด็กหยุดเรียนไปเลย ไม่ใช่ทางออกที่ดี จะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี

โดยเห็นว่า “ผู้ปกครอง” ต้องปรับตัว รวมถึง “นักเรียน” ต้องช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น

ขณะที่คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ก็ไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียน 1 ปี เพราะมีผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งได้ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดทำโครงการสอนออนไลน์ Project 14 รวบรวมบทเรียนออนไลน์ ตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา ซึ่ง สสวท.ได้จัดทำสื่อการสอนออนไลน์ไปมากกว่า 2,000 ชุดแล้ว

ก็ต้องจับตาว่า รัฐบาลและกระทรวงต่างๆ ที่มีสถานศึกษาในสังกัด จะมี “ทางออก” ให้กับเรื่องนี้อย่างไร!!