จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : นกเงือก : ‘รักแท้ หรือ รักลวง’ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ขอบคุณภาพจาก อีจัน

 

 

นกเงือก : ‘รักแท้ หรือ รักลวง’

 

‘นกเงือก’ เป็นนกตัวใหญ่ ปากทั้งใหญ่ทั้งยาว สวยงาม แข็งแรง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กวีสมัยอยุธยา ทรงเล่าถึงนกเงือกไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง” ว่า

“นกเงือกอยู่โพรงไม้                        ผัวฟักไข่เมียผันผาย

เล่นชู้อยู่เสบยสบาย                               ผัวหมายไว้ให้รวงรัง ฯ

นกเงือกอยู่ซอกไม้                          เรียงราย

ผัวฟักเมียผันผาย                                  ด่วนได้

เล่นชู้อยู่เสบยสบาย                               ลืมคู่

ผัวอดอาหารให้                                    อยู่เฝ้ารวงรัง ฯ”

นกเงือกอาศัยในโพรงไม้ กวีมองว่านกเงือกตัวเมียเป็นนกหลายใจ แทนที่จะทำหน้าที่เมียและแม่ กลับโยนภาระให้ผัว ตัวเองไปสำราญกับผัวใหม่ ทิ้งให้ผัวเก่าอดอาหาร อยู่โยงเฝ้ารัง ก้มหน้าก้มตาฟักไข่แทน

ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ สุนทรภู่ให้หัสไชยคุยเรื่องนกเงือกให้สร้อยสุวรรณและจันทร์สุดาฟังขณะเดินทางในป่า

“ส่วนเจ้าพี่ชี้พนมชมนกไม้                          นางซักไซ้เสียงเพราะเสนาะสนอง

พระเชษฐาว่านกเงือกเลือกคู่ครอง                ครั้นคลอดฟองของตัวให้ผัวฟัก

ปิดโพรงไม้ไว้ช่องพอมองเห็น                      กลัวจะเล่นชู้ชั่วหึงส์ผัวหนัก

ตัวเมียไปได้ชู้เป็นคู่รัก                               ลืมผัวฟักฟองไข่ทิ้งให้ตาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

รายละเอียดที่เพิ่มขึ้นทำให้พฤติกรรมนกเงือกตัวเมียถึงขั้น ‘แรดเรียกพี่’ ทำเป็น ‘หึง’ กลัวผัวจะไป ‘เล่นชู้’ กับนางนกอื่น ก็เลย ‘ปิดโพรงไม้ไว้ช่องพอมองเห็น’ ขังผัวไว้ในโพรง ตัวไป ‘ได้ชู้เป็นคู่รัก’ เพลินกับผัวใหม่จนลืมผัวที่ ‘ฟักฟองไข่’ และ ‘ทิ้งให้ตาย’

นางนกเงือก ‘ร้าย’ ขนาดนี้เลยหรือ?

 

มุมมองของกวีทั้งสองน่าจะเป็นดังที่ “สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน” โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่ม 1 บันทึกไว้ว่า

“…ชาวบ้านเชื่อกันว่า นกเงือกตัวผู้จะเจาะรูทำรัง เลี้ยงลูก และให้ตัวเมียมาหาเลี้ยง แต่แท้ที่จริงแล้ว นกเงือกตัวเมียจะเข้าไปวางไข่ กกไข่อยู่ในโพรงไม้ มันจะอุดโพรงที่เข้าไปเสีย เหลือแต่รูเล็กๆ สำหรับมีอากาศหายใจ และคอยยื่นหัวออกมารับอาหารจากตัวผู้เท่านั้น ธรรมชาติจะช่วยทำให้ขนของมันร่วงจนหมด เพราะร้อนอุดอู้อยู่ในโพรง ตัวผู้จึงมีหน้าที่บินหาอาหารมาป้อนลูกและเมียของมันในโพรงไม้ หากตัวผู้ตายไป ลูกและเมียที่อยู่ในโพรงไม้ย่อมตายตามไปอย่างไม่มีปัญหา เพราะตัวเมียไม่สามารถจะบินออกหากินได้ พอลูกโตเต็มที่ ขนนกจะงอกออกมาอีกทั้งแม่และลูก แล้วมันจึงช่วยกันกับพ่อนกทลายโพรงไม้และออกบินหากินกันต่อไป…”

อันที่จริงนกเงือกผัว-เมียเป็น ‘คู่ทุกข์คู่ยาก’ โดยแท้ ร่วมด้วยช่วยกันอย่างแข็งขัน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัว ตัวเมียสร้างรังโดยมีตัวผู้สนับสนุนวัสดุและอาหาร ดังที่คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เล่าไว้ใน “สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 7” ว่า

“ชีวิตที่น่าสนใจของนกเงือกนี้ คือ วิธีที่ทำรัง ฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ซึ่งเป็นวิธีที่แหวกแนวผิดจากนกอื่นๆ ทั้งหมดในโลก คือ พอถึงฤดูผสมพันธุ์ นกคู่ผัวตัวเมียจะแยกออกจากฝูง พากันไปเที่ยวหาโพรงไม้เป็นคู่ๆ โพรงไม้ที่นกเงือกเลือกมักจะต้องเป็นโพรงที่ค่อนข้างใหญ่ พอหาได้แล้วตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงเอาปากเขี่ยมูล และสิ่งซึ่งตัวสำรอกออกมาผสมกับดินที่นกตัวผู้จะคาบบินขนมาส่ง ผสมแล้ว นางนกตัวเมียก็จะใช้ปากโบกไล้ตามปากโพรงจนกลายเป็นผนังแข็งปิดปากโพรง จะทำอยู่หลายวันจนปากโพรงปิดเกือบหมด คงเหลือแต่ช่องเล็กๆ พอที่ปลายปากจะสอดออกมารับอาหารที่ตัวผู้จะบินมาส่งให้ต่อไปได้เท่านั้น ผนังที่ปิดปากโพรงนี้พอแห้งแล้วจะแข็งมาก

นางนกเมื่อขังตัวเองเสร็จแล้วก็จะเริ่มวางไข่ ครั้งหนึ่งราว 1-4 ฟองเป็นอย่างมาก นางแม่ในระยะวางไข่และกกไข่นี้ จะผลัดขนของนางเองด้วย”

นกเงือกตัวผู้สมเป็น ‘Family man’ ตัวจริง เมียท้องก็ดูแลเอาใจใส่จนคลอดตลอดเวลาไม่ว่างเว้น คุณหมอบุญส่งเล่าว่า

“นกผัวจะคอยหาอาหาร เช่น ลูกไม้ สัตว์เล็กๆ เช่น กิ้งก่า จิ้งเหลน และงูมาคอยส่งให้ พอมาเกาะที่ลำต้นไม้ใต้ปากรังแล้วจะส่งเสียงเรียก นางเมียจะร้องรับแล้วก็ยื่นปากมาจากโพรงคอยรับอาหาร นกผัวจะขยอกอาหารออกมาจากลำคอแล้วคาบยื่นให้นางเมียและลูกๆ กินจนอิ่ม ตลอดระยะนี้นกตัวผู้จะต้องทำงานเหนื่อยและจะกินไม่ใคร่อิ่ม เพราะต้องคอยขยอกอาหารให้เมียและลูกๆ หมดอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้น ในระยะนี้ นกตัวพ่อจึงมักจะผอม”

“ซึ่งผิดกับนกแม่และลูกๆ ซึ่งกินอิ่มและไม่ใคร่ได้ออกกำลัง มักจะอ้วนกลมอยู่ในโพรงนั้น”

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความเรื่อง “นกเงือก สัญลักษณ์แห่งรักแท้และผู้บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่า” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 เกี่ยวกับความอยู่รอดของนกเงือก นอกจากขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของมนุษย์ ยังขึ้นอยู่กับธรรมชาติของนกเงือกเองด้วย

“เป็นนกชนิดเดียวที่ทำรังปิดโพรง ตัวผู้ออกไปหาอาหารมาป้อนให้ลูก-เมีย ถ้าตัวผู้ถูกล่า ตัวเมียอยู่ในโพรงปิดกับลูกนกก็อาจตาย ซึ่งเรื่องนี้เราช่วยแทบไม่ได้เลย เราเคยเอาอาหารปีนขึ้นไปป้อน แม่นกก็คายทิ้ง เพราะตัวเมียเขาไม่รับอาหารจากคนแปลกหน้า”

นกเงือกมีคู่เพียงครั้งเดียว ใช้ชีวิตคู่ผัวเดียวเมียเดียวตลอดอายุขัย ว่ากันว่าถ้าคู่ของมันตาย อีกตัวจะพลอยตรอมใจตายตามไปด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พิไล พูลสวัสดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่นกเงือกขึ้นบัญชีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ว่า

“ป่าไม้ถูกทำลายทำให้รังของนกเงือกหายไปด้วย และลูกนกก็ถูกล่านำไปขายซึ่งเป็นสองสาเหตุของการสูญพันธุ์…ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก…นกเงือกปากย่นและนกเงือกดำ สองพันธุ์นี้เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เพราะอาศัยอยู่ในป่าที่ราบต่ำ จำนวนพันธุ์ละ 20 กว่าตัวเท่านั้นเอง ซึ่งประชากรที่จะอยู่รอดปลอดภัยสืบสายพันธุ์ได้นั้นจะต้องไม่น้อยกว่า 500 ตัว”

ชะตากรรมนกเงือก สัญลักษณ์รักแท้ ฤๅจะ ‘พ่ายแพ้’ สันดานเห็นแก่ได้ของมนุษย์?