ความจริงหนึ่งเดียว/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ความจริงหนึ่งเดียว

 

ในรายการสัตตะ ตอน Neuroscience of Free will อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา พูดประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจว่า วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากวิธีคิดแบบคริสเตียน ในมุมของการแสวงหาความจริงสูงสุด หรือมีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงความจริงสูงสุดนั้น แค่วิธีการแตกต่างกัน

ได้ทราบจากอาจารย์ว่า มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยใช้คำขวัญว่า “Veritas Christo et Ecclesiae” ซึ่งแปลเป็นอังกฤษว่า “Truth for Christ and the Church.” แปลว่าในตอนต้นการศึกษาหาความจริงนั้นไม่ได้แยกขาดจากวิธีคิดแบบศาสนา

มุมของการเชื่อว่าสิ่งต่างๆ มีคำตอบจริงแท้หนึ่งเดียวซึ่งมีรากฐานมาจากคริสต์ศาสนา (เอกเทวนิยม) จึงน่าสนใจ

เพราะหลังจากความคิดแบบพระเจ้ามีองค์เดียวกลายเป็นกระแสหลักเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินหันมานับถือคริสต์และแผ่กระจายแนวคิด ‘พระเจ้าองค์เดียว’ ไปพร้อมอำนาจของอาณาจักรโรมัน วิธีคิดแบบ ‘คำตอบที่ถูกมีคำตอบเดียว’ ก็สืบเนื่องมาโดยตลอด

แม้วิทยาศาสตร์เหมือนจะเกิดมาหลังจากมนุษย์ตั้งคำถามกับพระเจ้าก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าวิทยาศาสตร์ก็พยายามหา ‘คำตอบที่ถูก’ นั้นโดยเชื่อว่ามี ‘ความจริงหนึ่งเดียว’ ที่สามารถเข้าถึงสักวันหนึ่งตราบที่ไม่ละความพยายาม

ในหนังสือ ‘การสร้างความสมเหตุสมผล (ของใคร?)’ อาจารย์ธเนศพูดถึงกรอบคิดเรื่อง justification หรือความสมเหตุสมผลที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อมีการปฏิรูปคริสต์ศาสนา เพราะมนุษย์สามารถดำเนินชีวิตด้วยการเชื่อฟังพระเจ้าอย่างสมบูรณ์ (ไม่ต้องผ่านตัวแทนอย่างบาทหลวง ไม่ต้องฟังการตีความจากศาสนจักรโรมันคาทอลิก) การเชื่อฟังพระเจ้าอย่างเต็มใจก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านจิตวิญญาณ เป็นการประสาน ‘ศีลธรรม’ และ ‘แรงปรารถนา’ ของมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียว

ตรงนี้น่าสนใจ เพราะการเชื่อในพระเจ้าและมีเป้าหมายเพื่อเข้าถึงศาสนา (กลับไปอยู่กับพระเจ้า) จะต้องควบคุมแรงปรารถนาส่วนตัวให้ไปได้กับศีลธรรมที่ศาสนากำหนดไว้

‘วินัย’ จึงไม่ใช่เรื่องการควบคุมตนของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการเชิงสถาบัน คือศาสนามากำหนดให้คนคนนั้นทำบางอย่างที่ถูกสอนว่าถูกต้องดีงาม

ในยุคก่อน ศาสนาผูกโยงผู้คนไว้ด้วยกัน พร้อมควบคุมให้ผู้นับถืออยู่ในวินัย โดยมี ‘เป้าหมาย’ ชัดเจน ความที่เป้าหมายหนึ่งเดียวชัดเจนก็อาจกลายมาเป็นความมั่นใจในคำตอบของตนเอง และมั่นใจว่าฉันมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด

อาจารย์ธเนศมักแซวว่า วิธีคิดแบบ ‘ต้องตั้งเป้าหมายแล้วไปให้ถึง’ แบบที่นักการตลาดนำมาใช้ในโลกทุนนิยมทุกวันนี้ก็มีรากฐานมาจากเป้าหมายแบบศาสนา

ในสังคมตะวันตกเมื่อศาสนาลดบทบาทลง มนุษย์พยายามใช้ ‘เหตุผล’ ในการหาวิธีอยู่ร่วมกัน การจะอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ ‘รัฐ-ชาติ’ มนุษย์ต้องสามารถเลือกได้อย่างเสรี ซึ่งการเลือกของผู้คนก็ใช้เหตุผลนี่เอง และถ้าจะเลือกได้ก็ต้องรู้ก่อนว่า ‘เป้าหมาย’ ของตัวเองคืออะไร

มนุษย์จึงต้องกำหนดเป้าหมายเป็นการแสวงหา ‘ประโยชน์สูงสุด’ (ซึ่งคล้ายการกลับไปอยู่กับพระเจ้า) ฉะนั้น ‘ความสุข’ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการเป็นสมาชิกทางการเมือง

พูดง่ายๆ คือ ถ้าใครสักคนยินดีเป็นสมาชิกของรัฐ-ชาติก็ต้องเห็นว่ารัฐนั้นสามารถมอบความสุขและชีวิตที่มอบประโยชน์ให้กับตัวเองได้ นั่นคือเป้าหมายสำหรับการเลือกของเขาคนนั้น ขณะเดียวกันรัฐก็ควบคุมให้สมาชิกอยู่ในระเบียบบางอย่างที่สร้างขึ้นมาไม่ต่างจากศาสนา

จึงอาจมองได้ว่า ในยุคสมัยใหม่ รัฐก็คือศาสนาของโลก โดยที่รัฐต้องการการเสียสละจากสมาชิก เช่น สละชีพเพื่อชาติ ต้องการความเป็นปึกแผ่น สามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ส่วนความแตกต่าง (นอกรีต) เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ สมาชิกในศาสนา เอ้ย! ในชาติต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ศรัทธาสิ่งเดียวกัน

มองในมุมนี้ วิธีคิดแบบความจริงสูงสุดหนึ่งเดียวซึ่งเป็น ‘เป้าหมาย’ แผ่กระจายไปอยู่ในหลายพื้นที่ของชีวิต จากศาสนาไปสู่ชาติ สู่การตลาด การงาน ธุรกิจ ชีวิต วิทยาศาสตร์ รวมถึงศิลปะ (ที่มี focal point หรือไคลแมกซ์)

เพียงแค่ ‘เป้าหมาย’ แตกต่างกันไป ตั้งแต่กลับสู่ดินแดนพระเจ้า ยอมตายเพื่อชาติ มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จ อายุน้อยร้อยล้าน เป็นยูนิคอร์น ค้นหาความจริงของจักรวาล หรือสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีจุดพีก ฯลฯ

ทุกคนจึงอยู่ในโลกของการมีเป้าหมาย มีคำตอบสุดท้ายรออยู่ และต้องพยายามเต็มที่เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น บำเพ็ญตนผ่านความทุกข์ยากเพื่อไปถึง ‘เป้า’ ที่ตั้งไว้

เป็นเป้าที่ชัดเจนราวกับเป็นคำตอบสูงสุดของชีวิต

 

แอบถามอาจารย์ไปว่า เป็นไปได้ไหมที่ในอนาคต ‘ธรรมชาติ’ จะกลายมาเป็นศาสนาใหม่ อาจารย์พูดถึง Gaia (เทพีกาย่า) ซึ่งเจมส์ เลิฟล็อก อธิบายว่าโลกคือร่างยักษ์ที่ทุกสิ่งขับเคลื่อนไปพร้อมกัน มีผลสืบเนื่องเชื่อมโยงกัน มนุษย์ พืช สัตว์ และสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบของ ‘กาย่า’ นี้

นี่คือมุมมองที่เสนอ ‘ความจริง’ อีกแบบ

เป็นไปได้ไหมว่า เกรต้า ธุนเบิร์ก อาจให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือ ‘ภาวะโลกรวน’ มากสูงสุดก็เป็นได้ ส่วนจะมีใครยอมตายเพื่อพิทักษ์ธรรมชาติหรือไม่ อันนี้ก็ไม่แน่ อาจจะมีก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเป้าหมายชัด ความสมเหตุสมผลหนักแน่น ก็อาจมีสมาชิกที่เข้าร่วมเพื่อดำเนินการไปสู่ ‘เป้าหมาย’ เดียวกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือทำให้โลกนี้ยังคงเหมาะกับการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงคู่ขนานไปกับ ‘ศาสนา’ อื่นที่ยังขับเคลื่อนต่อไป

แต่ละ ‘ศาสนา’ ก็มี ‘พระเจ้า’ คนละองค์

ในยุคที่ความจริงมีมากกว่าหนึ่ง ความเชื่อดูเหมือนจะเป็น ‘พหุ’ มากกว่า ‘เอกะ’ ความสมเหตุสมผลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความจริง ซึ่งทุกครั้งที่มีใครหรือกลุ่มใดสร้างความสมเหตุสมผลขึ้นมาย่อมพร้อมจะถูกโต้แย้งได้เสมอ เหมือนที่อาจารย์ธเนศเขียนไว้ว่า “การให้ความสมเหตุสมผลจึงเป็นกระบวนการสร้างความยอมรับจากคนอื่น”

ทุกคนล้วนไตร่ตรองด้วยเหตุและผลก่อนลงเอยด้วยการเลือกของตนเอง

เราบอกได้ว่าทำไมเลือกเชื่อแบบนั้น ทำไมสมาทานความคิดนั้น แต่คนอื่นจะยอมรับหรือเปล่าก็อยู่ที่ความสมเหตุสมผลที่แต่ละฝ่ายสร้างขึ้นจะ ‘มีเหตุผล’ เพียงพอสำหรับคนอื่นหรือเปล่า

การต่อสู้ทางความคิดคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

การแย่งลูกค้าในตลาดความเชื่อและความจริงก็เช่นกัน

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่–ทำไมเราจึงเชื่อว่า ‘ความจริง’ มีแค่แบบเดียว

ไม่ว่ามองในมุมศาสนา รัฐ-ชาติ วิทยาศาสตร์ หรือใดๆ