คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ‘อดอาหาร’ มิติศาสนาและการเมือง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ศาสนาไหนๆ ก็มีบทบัญญัติเรื่องอาหาร เพราะอาหารสัมพันธ์กับการมีชีวิตและความศักดิ์สิทธิ์ การงดเว้นอาหาร (fast) เป็นการถอยกลับหรือทำให้เกิดความหมายที่ตรงกันข้าม

ใครไม่กินก็ย่อมสิ้นเรี่ยวแรงและตายลง และเมื่อตายลงก็กลายเป็นอาหารให้สิ่งอื่นกินหมุนเวียนไปไม่สิ้นสุด

ดังนั้น การกินคือกระบวนการหมุนวนไปของจักรวาล

นอกจากนี้ อาหารยังเป็นตัวก่อกำเนิดเชื้อชีวิต ในคัมภีร์อุปนิษัทของฮินดูกล่าวว่า เมื่อกินอาหารก็เกิดเชื้อชีวิตของชาย (เรตัส) ชายส่งต่อเชื้อชีวิตให้หญิง ซึ่งก็คือการกินแบบนึงนั่นเอง คนเราถึงเกิดมาได้

“กิน” “กาม” “เกิด” จึงเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่องดกิน กามและเกิดจึงมีไม่ได้

ในช่วงนวราตรีหรือเทศกาลบูชาเจ้าแม่ มนุษย์ตัดหัวพืชพันธุ์ (เก็บเกี่ยว) จึงต้องงดทั้งกินและกาม นำพาตัวเองสู่ความตายและความมืดชั่วขณะ ไม่เสพและไม่ผลิต ดุจเดียวกับต้นพืชพวกนั้น แล้วเกิดใหม่หลังหว่านไถ

แต่โดยปกติศาสนาของเจ้าแม่ไม่เคยห้ามกิน-กาม เพราะกินดื่มย่อมทำให้กามงอกงาม เมื่อกามงอกงามชีวิตก็เป็นไป จะก้าวสู่ความตายชั่วคราวก็เพื่อรอการกำเนิดใหม่ สาวกในนิกายเจ้าแม่แต่โบราณจึงไม่ห้ามเรื่องมัสยะ-มังสะ (เนื้อและปลา) หรือเมรัย และเอาใช้ในพิธีกรรมด้วย

ผิดกับศาสนาของเจ้าพ่อหรือศาสนาผู้ชาย พรตงดเว้นทั้งกินกามย่อมนำมาซึ่งความตายทางกามะ แล้วทำให้ชายกลายเป็นนักพรตผู้ตายด้านจากโลกิยะ

ในพุทธศาสนา ศาสนาไชนะ หรือศาสนาฮินดูในสายพรตนิยม นักบวชจึงกินได้เพียงเล็กน้อย ข้อกำหนดเรื่องอาหารกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งสำหรับชีวิตออกบวช

แม้ศาสนิกเองก็ตาม ย่อมได้รับการส่งเสริมให้อดอาหารเป็นครั้งคราว ในศาสนาฮินดูนั้น มีทั้งการอดแบบอุกฤษฏ์ คืองดทั้งอาหารและน้ำเป็นเวลานานๆ งดในบางวันหรือบางมื้อ หรืองดแค่อาหาร หรืองดอาหารบางชนิด ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่สืบทอดกันมาและความศรัทธาของผู้ปฏิบัติ

การอดอาหารมิใช่ข้อบังคับ ศาสนิกจะทำหรือไม่ก็ได้ ถ้าทำก็เชื่อกันว่าย่อมให้คุณวิเศษต่างๆ เป็นต้นว่าได้รับความโปรดปรานจากเทพ ชำระบาปโทษ ได้พรบางข้อ ได้ขัดเกลากิเลส บรรลุฤทธิ์อำนาจต่างๆ

ดังนั้น จากแง่มุมศาสนาดึกดำบรรพ์ การอดอาหารเป็นหนทางหนึ่งในการจำลอง “ความตาย” ของโลกธรรมชาติสำหรับมนุษย์เพียงชั่วคราว และทำให้ชีวิตบรรสานกับโลกภายนอก คือเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของฤดูกาล ซึ่งเป็นลักษณะพื้นฐานของศาสนาโบราณ

ในเวลาต่อมาเมื่อศาสนาแบบพรตนิยมหรือศาสนาแบบผู้ชายเกิดขึ้น การอดอาหารกลายเป็นข้อปฏิบัติสำคัญของการออกบวชบำเพ็ญ เพราะความตายสำหรับกามหรือโลกิยะสถาปนาอำนาจของนักบวชชาย รวมทั้งทำให้ความเป็นพรตเด่นชัดขึ้น

ในแง่นี้การอดอาหารเริ่มสัมพันธ์กับศีลธรรม โดยเกี่ยวข้องกับความสามารถในการควบคุมตนเอง การอดทนอดกลั้น เพื่อขจัดขัดเกลาคุณลักษณะบางอย่างที่ไม่ต้องการ เช่น กิเลสต่างๆ แต่ก็ยังเป็นแง่มุมความประพฤติส่วนบุคคลอยู่มาก

ในเวลาต่อมา การอดอาหารจะกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมทางสังคม และสุดท้ายจะกลายเป็นวิถีการเรียกร้องทางการเมืองอีกด้วย

นักอดอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก คงไม่หนีพ้น “มหาตมะคานธี” เราคงทราบดีว่า ในช่วงหลังของชีวิต คานธีใช้การอดอาหารของตนเพื่อเรียกร้องหรือประท้วงประเด็นความขัดแย้งต่างๆ

มหาตมะคานธี อดอาหารหลายครั้ง ในช่วงปี ค.ศ.1946-1947 เพื่อประท้วงความขัดแย้งเข่นฆ่ากันระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมในช่วงการอพยพครั้งใหญ่ แต่ละครั้งที่คานธีอดอาหารนานหลายวันและประกาศจะอดอาหารจนตายหากปัญหาไม่ได้ยุติลง

ไม่น่าเชื่อว่าทุกครั้งก่อนที่มหาตมะคานธีจะสิ้นใจเพราะอดอาหาร ปัญหาเหล่านั้นจะยุติลงได้ และนั่นยิ่งทำให้ ตำแหน่ง “มหาตมา” “อาตมันอันยิ่งใหญ่” ซึ่งโดยปกติใช้เรียกนักบวชชั้นสูงของคานธี เด่นสง่าขึ้นทุกที

ศิษย์หาของมหาตมะคานธี เช่น ท่านวิโนพา หรือพันสะลี ก็มักใช้การอดอาหารเป็นอาวุธสำคัญในการประท้วงเรียกร้องทางการเมืองและสังคมเสมอ

วิธีการบนหลักอหิงสาหรือ “ความไม่เบียดเบียน” ที่เรียกว่า “สัตยาเคราะห์” ของมหาตมะคานธี ได้กลายเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลก

แต่ที่จริงแล้ว การอดอาหารของมหาตมะคานธีไม่ใช่สิ่งใหม่ คานธีเป็นศาสนิกคุ้นเคยกับการอดอาหารในศาสนาฮินดูอยู่แล้ว ดังนั้น สำหรับเขา การอดอาหารแม้จะทำไปเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองหรือสังคม แต่ก็มีมิติทางศาสนาอยู่ไม่น้อย

การอดอาหารของมหาตมะคานธีในแง่มุมหนึ่งจึงเป็นการ “ไถ่บาป” แก่ผู้คนรายรอบตัวเขา ซึ่งไม่อาจทำให้การไม่ใช้ความรุนแรงบรรลุผล ดุจเดียวกับการบำเพ็ญพรตของฤษีในสมัยโบราณ

แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างสำคัญ ระหว่างการอดอาหารในศาสนากับของมหาตมะคานธีนั้น คือคานธีไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่การบรรลุผลทางจิตวิญญาณส่วนตัว แต่มุ่งกระตุ้น “มโนธรรมสำนึก” ของผู้คนที่มืดบอดด้วยอคติและความรุนแรงเป็นสำคัญ โดยยอมเสียสละแม้ชีวิตของตนเอง

ในแง่นี้ท่านมหาตมะคานธีได้นำเอาประเพณีโบราณทางศาสนามาเพิ่มมิติศีลธรรมทางสังคมการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

ที่จริงก่อนหน้านั้น การดื้อเพ่งโดยไม่ใช่ความรุนแรงเป็นสิ่งที่มหาตมะทำและรณรงค์อยู่เสมอ เช่น การนัดหยุดงาน จงใจละเมิดกฎหมายบางข้อที่พิจารณาแล้วว่าอยุติธรรม เช่น ภาษีเกลือที่ออกโดยรัฐบาลอังกฤษ และยอมรับโทษด้วย

แต่การถึงขั้นเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันนั้น เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงท้ายๆ ของชีวิตของท่าน คงเพราะเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเกินเยียวยา ชนิดที่ไม่มีใครฟังใครอีกต่อไป

ผมเคยอ่านจากที่ใดจำไม่ได้เสียแล้ว เล่ากันว่าในแคว้นคุชราตบ้านเกิดของท่านนั้น มีธรรมเนียมท้องถิ่น ว่า ถ้าลูกหนี้หนีหนี้ไม่ยอมจ่าย ถึงที่สุดแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเสื่อไปปูนั่งอดอาหารประท้วงอยู่หน้าบ้านลูกหนี้ ซึ่งทำให้เป็นที่อับอายยิ่งนัก ด้วยวิธีนี้จะทำให้ลูกหนี้ต้องยอมออกมาจ่ายทันที

เรื่องนี้จะจริงหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เรื่องเล่านี้สะท้อนว่า นอกจากเรื่องศาสนา มีวัฒนธรรมกระตุ้นเร้าความสำนึกทางศีลธรรมอยู่ในอินเดีย และมหาตมะคานธีก็คุ้นเคยอยู่แล้ว

น่าเศร้าใจที่การประท้วงทางการเมืองของไทยก่อนหน้านี้หลายครั้งมักใช้คำว่า “สันติอหิงสา” ชนิดที่ไม่มีอะไรตรงกับหลักการของมหาตมะคานธี

สันติอหิงสาที่ปราศจากการยึดมั่นความจริงและความรักโดยยอมเสียสละตนเพื่อกระตุ้นเร้ามโนธรรมสำนึกของอีกฝ่าย เป็นแต่คำพูดสวยหรูแต่ไม่มีความหมายอะไร มิหนำซ้ำยังมีการใช้ความรุนแรงและกระตุ้นให้ใช้ความรุนแรงอยู่ตลอดเวลา

ถ้ามหาตมะคานธีคืนชีพได้และมาเห็นเข้า คงอุทาน เห ราม! (Oh my God!) เสมือนตอนที่ท่านถูกยิงแล้วคงสิ้นใจไปอีกครั้งเป็นแน่

ไผ่ ดาวดิน
ไผ่ ดาวดิน

ในเมืองไทยเองก็มีการใช้การอดอาหารเพื่อประท้วงเรียกร้องทางการเมืองหลายครั้ง ที่ดังๆ ก็เช่น กรณีคุณฉลาด วรฉัตร หรือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง

ล่าสุดในขณะที่ผมเขียนบทความอยู่นี้ คุณไผ่ ดาวดิน เยาวชนนักกิจกรรมกำลังอดอาหารในเรือนจำ ซึ่งเขาถูกจับกุมโดยเหตุรณรงค์ประชามติอย่างสงบ

ทว่า การอดอาหารของคุณไผ่ กลับไม่มีเสียงสะท้อนก้องไปภายนอกมากนัก สังคมไทยยังคงเต็มไปด้วยความเงียบงันอย่างเคย

แม้ว่ามิตรสหายหลายท่านจะพากันคัดค้านว่าเขาควรเก็บแรงกายแรงใจไว้ อย่างน้อยการมีชีวิตอยู่ก็น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้ แต่ไผ่ก็ยังยืนยันที่จะอดอาหารต่อ เพราะเขาคงเข้าถึงสิ่งเดียวกับที่มหาตมะคานธีคิด

ทางเลือกของคนเป็นสิ่งควรเคารพ เพราะทางเลือกมักมาพร้อมศักดิ์ศรีแห่งตน ซึ่งบางคราใครๆ ก็ไม่อาจเข้าใจ แม้ว่าจะห่วงใยหรือคัดค้านเพียงใดก็ตาม

แค่เสียสละตัวเข้าไปในคุกเพื่อยืนยันว่าเขาไม่ผิด แต่ตัวกฎหมายและการบังคับใช้นั่นแหละผิดก็นับแย่ว่าแล้ว ยังเสียสละอดอาหารเพื่อส่งเสียงไปในสังคมนี้ให้ดังกว่าเดิม

ผมขอแสดงความคารวะครับ

มหาตมะคานธีทำเรื่องนี้สำเร็จ เพราะในทางหนึ่งเขาก็เห็นว่าว่ามีคนจำนวนมากรักและเคารพเขา การอดอาหารจึงมุ่งส่งสารไปยังคนเหล่านั้นเป็นสำคัญ เช่นผู้คนในประเทศอินเดียเอง และคนเหล่านั้นย่อมไม่อยากให้มหาตมะคานธีตาย

อีกทั้งบริบททางวัฒนธรรมที่ทำให้การอดอาหารมีมิติทางจิตวิญญาณ รวมทั้ง “สามัญสำนึก” ของผู้คนที่มีมากพอ ย่อมไม่อาจทนเห็นการตายต่อหน้าต่อตาของคนผู้หนึ่ง โดยที่ตนเองสามารถระงับยับยั้งได้

มหาตมะคานธีเชื่อเสมอว่า ความรักและความจริงจะเอาชนะความรุนแรง อคติและความเกลียดชังได้

แต่สังคมไทยทุกวันนี้เป็นสังคมชนิดไหนกัน สังคมที่ปล่อยให้คนหนุ่มสาวเดินเข้าคุกโดยความอยุติธรรม สังคมที่แม้มีผู้เสียสละตนก็ยังไม่อาจส่งเสียงเข้าไปทะลุทะลวงอคติทางการเมืองที่บดบังตาไว้

สังคมที่ “คนดี” สามารถยอมให้ “อีกฝ่าย” ตายไปต่อหน้าต่อตา หรือจะรับความอยุติธรรมทุกข์ทรมานเพียงใดก็ใม่สน เพราะพวกนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับยักษ์มาร

สังคมที่เสียงแห่งความเกลียดชังดังกว่าเสียงแห่งความจริงและความรัก และผู้คนที่ส่งเสียงแห่งความรักนั้นมีน้อยเหลือเกิน

มีอยู่หนึ่งกำลังส่งเสียงออกมาจากเรือนจำ ซึ่งผู้คนในสังคมนี้ไม่ได้ยิน

ยอมรับว่าตนเองไม่มีความกล้าหาญเท่าไผ่ แต่ผมจะพยายามฟังเสียงนั้นและบอกว่ามันมีเสียงนั้นอยู่

เราอยู่ในสังคมที่แย่กว่าอินเดียในยุคแห่งความวุ่นวายและหลายฝ่ายพยายามใช้ความรุนแรง ซึ่งอย่างน้อยผู้คนยังพอมีสามัญสำนึกบ้าง

เราอยู่ในสังคมที่สามัญสำนึกหรือมโนธรรมสำนึกไม่ทำงานกันแล้วหรือ

เราอยู่ในสังคมที่ความรักสิ่งหนึ่งกลับทำให้เกิดความเกลียดชังต่ออีกสิ่งหนึ่ง ชนิดที่สามารถทำลายลงได้อย่างไร้ความกรุณาปรานี

คือสังคมที่เราอาศัยอยู่ในเวลานี้หรือ