ก่อสร้างที่ดิน / นาย ต. / เรียกว่า ‘เยียวยา’

Workers ascend on a gondola lift to the top of a construction site in Bangkok on April 5, 2021. (Photo by Mladen ANTONOV / AFP)

ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.

เรียกว่า ‘เยียวยา’

 

ความเดือดร้อนใหม่ล่าสุดของวงการอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ และอีก 6 จังหวัด ก็คือการปิดไซต์งานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นมา เดิมประกาศจะใช้ถึง 27 กรกฎาคม

แต่หลังจากนั้นมามีประกาศควบคุมกึ่ง “ล็อกดาวน์” เพิ่มเติมมาอีกหลายมาตรการ มีการเพิ่มจังหวัดที่เป็นพื้นที่แดงเข้มข้นและควบคุมสูงสุดอีก 3 จังหวัด ไม่แน่ใจว่า ระยะเวลาจะขยายออกไปอีกไหม หรือพื้นที่ใหม่อีก 3 จังหวัดจะรวมด้วยหรือเปล่า

แต่ในที่นี้อยากพูดถึงการเยียวยา

เพราะเหตุที่ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น สืบเนื่องมาจากมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาก จึงให้ยุติกิจกรรมการก่อสร้างต่างๆ ให้คนงานอยู่แต่ในแคมป์ไม่ให้ออกไปข้างนอก

หน่วยงานรัฐจะเข้ามาดำเนินการด้านสาธารณสุข อาทิ การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเชิงรุกในแคมป์ การแยกตัวผู้ติดเชื้อออกไป การส่งข้าวส่งน้ำให้กับคนงาน การช่วยเงินเยียวยาคนงานที่มีประกันสังคม และจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

ผ่านมาเกือบจะครบเดือนแล้ว ผลปรากฏว่า ส่วนใหญ่ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก

 

เอาแค่เรื่องสำคัญที่สุดเรื่องแรกที่เป็นเหตุผลในการปิดแคมป์คือการคัดกรองผู้ติดเชื้อ หลายแคมป์บริษัทผู้รับเหมาเจ้าของงานต้องซื้ออุปกรณ์ตรวจ rapid test มาตรวจแยกคนงานเอง เพื่อตัดวงจรการระบาด หน่วยงานรัฐไม่ได้เข้ามาตรวจคัดเคลียร์แคมป์ต่างๆ ให้เสร็จสมกับความครึกโครมตอนปิดแคมป์แต่อย่างใด

จะว่าไปแล้วน่าจะเกินขีดความสามารถของหน่วยงาน เพราะลำพังแค่คนธรรมดาไปเข้าคิวขอตรวจจากศูนย์ที่ไปเปิดบริการ ยังต้องไปนอนค้างคืนเพื่อจองคิวตรวจ ซึ่งบางทีสายวันต่อมาก็ได้รับคำตอบว่า น้ำยาหมดเพียงแค่นั้นคิวที่เหลือตรวจให้ไม่ได้

ข้าวปลาอาหารที่คนงานที่ถูกล็อกอยู่ในแคมป์กินอยู่ในแต่ละวัน ส่วนใหญ่จะได้รับจากทางผู้รับเหมาเจ้าของงานจัดหามา ทางบริษัทอสังหาริมทรัพย์เจ้าของโครงการมาร่วมสมทบ ซัพพลายเออร์ผู้ผลิต ผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสมทบ และจำนวนไม่น้อยก็มีผู้ใจบุญซื้อไปบริจาค การเยียวยาจากรัฐมีส่วนน้อยมาก

ด้านเงินช่วยเหลือเป็นเงิน รัฐช่วยได้เฉพาะผู้ทำประกันสังคม ซึ่งมีไม่มากตามแคมป์คนงานก่อสร้าง เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน จำนวนไม่น้อยเป็นแรงงานต่างด้าว

 

การช่วยเหลือเยียวยาสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทอสังหาฯ เจ้าของโครงการ ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม

สินเชื่อซอฟต์โลนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์อัตราดอกเบี้ยต่ำโดย บสย.ค้ำประกันนั้น ทางปฏิบัติจริงๆ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งก็ปล่อยให้ลูกค้าเดิมของตนเองไปตามสัดส่วนวงเงินกู้เดิมที่เคยมีกันอยู่แล้ว ฉะนั้น กิจการที่ไม่ได้เป็นลูกค้าเก่าก็คงไม่ได้

นอกจากนั้น แบงก์พาณิชย์ก็ปล่อยให้ตามเงื่อนไขยอดรายได้และสัดส่วนหนี้ที่สามารถชำระได้ของแต่ละบริษัทไป ก็หมายความว่ากิจการที่มีปัญหามากๆ ยอดขายหาย กำไรไม่มี ก็ไม่ได้สินเชื่อซอฟต์โลนนี้อยู่ดี

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เรียกว่าเป็นการ “เยียวยา” ของรัฐบาลทุกวันนี้ ซึ่งไม่เข้าใจคนทำมาหากิน ไม่เข้าใจกลไกธุรกิจอะไร นอกจากธุรกิจเรือดำน้ำ รถถัง และเครื่องบิน