Memoria ไทยแลนด์ ‘ที่นี่มีคนตายเพราะโควิด’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

Memoria

ไทยแลนด์

‘ที่นี่มีคนตายเพราะโควิด’

 

ยังไม่รู้ว่าคนไทยจะได้มีโอกาสชม “Memoria” ภาพยนตร์ของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” เมื่อใด

ชมเพื่อจะได้พิสูจน์ให้ประจักษ์ว่า “ความทรงจำ” อะไร

ที่ทำให้ “อภิชาติพงศ์” นำไปเป็นแรงบันดาลใจสร้างหนังเรื่องนี้ จนทำให้คว้ารางวัล “จูรี่ไพรซ์” ซึ่งมีศักดิ์ฐานะเป็นเหมือนรางวัล “หนังยอดเยี่ยมลำดับที่สาม” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2021 ไปครองได้อย่างน่าภูมิใจ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอคอย “อภิชาติพงศ์ ” ก็ได้สร้าง “ความทรงจำ” ชุดหนึ่งขึ้นมา

เพื่อสื่อสารกับคนนานาชาติในวงกว้าง ระหว่างขึ้นรับรางวัลดังกล่าวเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม

โดยการกล่าวว่า

“ผมรู้สึกโชคดีที่ได้มายืนที่นี่

ขณะที่เพื่อนร่วมประเทศของผมจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้

พวกเขาหลายคนประสบกับความทุกข์ยากขนานหนักจากวิกฤตโรคระบาด

อันเนื่องมาจากการบริหารจัดการทรัพยากร ระบบบริการสุขภาพ และการจัดหาวัคซีนที่ผิดพลาด

ผมขอเรียกร้อง (call out) ให้รัฐบาลไทยและโคลอมเบีย รวมถึงรัฐบาลจากประเทศอื่นๆ ที่กำลังตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายคลึงกัน

ได้โปรดตื่นขึ้น และทำงานเพื่อประชาชนของคุณ ณ บัดนี้”

(อ่าน ‘อภิชาติพงศ์’ Call Out! / ‘จูรี่ไพรซ์’ จากคานส์ /สะท้านถึง ‘การเมืองไทย’ คอลัมน์ยิ้มเยาะเล่นหวัว เต้นยั่วเหมือนฝัน โดยคนมองหนัง หน้า 80)

 

ความทรงจำที่ “อภิชาติพงศ์” สื่อสารผ่านคำพูดดังกล่าว

แน่นอนว่า ย่อมไม่เป็นที่ประทับใจ และไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลไทย ศบค.อย่างแน่นอน

ไม่มีหน่วยงานราชการใดออกมาร่วมแสดงความยินดีกับ “Memoria”

ตรงกันข้าม หลายคนหวั่นใจว่า “Memoria” อาจกลายเป็นหนังไม่พึงประสงค์ของสังคมไทย และเป็นสิ่งไม่พึงจะพูดถึง

แต่กระนั้น “ความทรงจำ” อันเกี่ยวเนื่องกับโควิด และสิทธิทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้

มิใช่อภิชาติพงศ์เท่านั้นที่พูด

แม่ค้า หน่วยกู้ภัย ดารา กลุ่มบุคคล องค์กร ต่างเริ่มพูด วิจารณ์ ด่าทอ เกี่ยวกับความล้มเหลว ความไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาโควิดมากขึ้นตามลำดับ

 

ในวงการบันเทิง ล่าสุดนางเอกสาว ปู-ไปรยา สวนดอกไม้ ที่แม้จะเป็นคนละสายกับ “อภิชาติพงศ์”

แต่กระนั้น ในหมวกอีกใบที่สวม

ไปรยา สวนดอกไม้ ลุนด์เบิร์ก คือทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) คนแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2560

จากข้อมูลของ UNHCR ประเทศไทย ระบุว่า ไปรยามีภารกิจเดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยไปในประเทศ รวมทั้งให้ความสนใจและความรับรู้เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้สัมภาษณ์กับสื่อมากกว่า 50 แห่ง และสร้างความรับรู้ในวงกว้าง

UNHCR ระบุว่า “คุณไปรยามุ่งมั่นหน้าที่เพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของผู้ลี้ภัยจะดังขึ้นและมีคนได้ยินเสียงของพวกเขา”

“รวมถึงในปี พ.ศ.2562 คุณไปรยาเดินทางลงพื้นที่ประเทศโคลอมเบีย เพื่อติดตามสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นที่ต้องหนีจากความรุนแรงในอเมริกากลางด้วย”

แน่นอนว่า พื้นที่ประเทศโคลอมเบีย ที่ว่าก็คือ สถานที่ในภาพยนตร์เรื่อง “Memoria” ของ “อภิชาติพงศ์” นั่นเอง

ซึ่งแม้ภารกิจในโคลอมเบียของบุคคลทั้งสองจะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยสิ้นเชิง

แต่กระนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับโลก รวมทั้งใน “โคลอมเบีย” และใน “ไทย” ก็ดูเหมือนจะสร้างความรู้สึกให้กับบุคคลในแวดวงบันเทิงทั้งสองร่วมกัน

ขณะที่อภิชาติพงศ์กล่าวถึงวิกฤตโควิดในเวทีเมืองคานส์ข้างต้น

ปู ไปรยา ก็ได้เขียนในไอจีส่วนตัว แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทย

 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปูเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยมาโดยตลอด

ภาพข่าวที่ปูได้เห็นคือ ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียม

จำนวนผู้เสียชีวิตคาบ้านเพิ่มขึ้นแต่ละวันอย่างน่าใจหาย

หมอ-พยาบาลติดโควิดเพิ่มขึ้น

วัคซีนไม่เพียงพอ

ที่มีอยู่ก็ป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ไม่ดี ต้องมีคนเสียชีวิตอีกเท่าไหร่ ประชาชนทนไม่ไหวออกมาเรียกร้องขอวัคซีนที่มีคุณภาพ

ที่ผ่านมา ปูอัดอั้นใจมาตลอด

ปูอยากแสดงความเห็นในสิ่งที่ปูรู้สึก แต่ปูต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นตามมากับองค์กรที่ปูทำงานให้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้ปูได้แสดงความเห็นส่วนตัวบนพื้นที่ส่วนตัวนี้แล้ว

ปูหวังมาตลอดว่า รัฐบาลจะใช้หัวใจรับฟังเสียงข้อเรียกร้องของประชาชน เสียงร้องไห้ ความเจ็บปวดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก

แล้วแสดงความจริงใจยอมรับความผิดพลาด

ขอโทษประชาชน

เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน และรีบจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ปูไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียม

ประชาชนชนมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการสาธารณสุข

ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการได้รับความคุ้มครองในสิ่งที่พวกเขาคิด พูด และแสดงความคิดเห็น

และผู้บริหารประเทศควรเปิดใจรับฟัง และมีคำอธิบายดีๆ ให้กับประชาชน

โดยไม่ใช้ความรุนแรง”

 

ก่อนที่ปู ไปรยา จะเขียนระบายผ่านไอจีดังกล่าว 1 วัน คือวันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม

มีกลุ่มมวลชนรวมตัวกันเพื่อไปทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาล

เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก

ตัดงบฯ สถาบัน และกองทัพเพื่อนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโรคระบาดโควิด-19

รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนคุณภาพดีมาให้ประชาชน

แต่มวลชนดังกล่าว ที่ทำหุ่นจำลอง “คนตาย” เพื่อเป็น “สารบอกกล่าว” ไปถึงผู้มีอำนาจในทำเนียบรัฐบาลว่า “ที่นี่มีคนตายเพราะโควิด”

ไม่อาจไปถึงจุดหมายตามที่ต้องการได้ เมื่อเจอตำรวจควบคุมฝูงชนสกัด

มีการฉีดน้ำ ยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา เข้าใส่มวลชนอย่างหนัก จนไม่อาจบรรลุเป้าหมายกิจกรรมได้

หุ่นจำลองคนตายที่บอกว่า “ที่นี่มีคนตายเพราะโควิด” ถูกเผาตามรายทาง

ด้วยความรู้สึกอันตอกย้ำว่า เสียงเรียกร้องของประชาชนไม่ถึงหูของผู้มีอำนาจ

 

ดังคลิปดังสะท้านโลกโซเชียล

ที่กลายเป็นอีกหนึ่งแห่ง “ความทรงจำ” อันเจ็บปวดของประเทศไปอีกความทรงจำหนึ่ง

เมื่อแม่ค้าขายอาหารรายหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ระเบิดความในใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ปฏิบัติตามนโยบายของ “เจ้านาย” มาขอให้ปิดร้านในเวลาที่กำหนดเพื่อควบคุมโควิด-19

แม่ค้าคนดังกล่าวตั้งคำถามกับตำรวจในฐานะตัวแทนภาครัฐว่า ทางราชการมีการวางแผนรองรับอะไรให้ประชาชนบ้าง มีแต่ขอจากประชาชน

“แต่ประชาชนขออะไรได้บ้าง ประชาชนหิวข้าวจะทำยังไง”

“มีแต่การบังคับ มีแต่การประกาศ แต่มีมาตรการอะไรบ้างที่ช่วยเหลือประชาชน แอลกอฮอล์มีมาไหม ข้าวกล่องเทศบาลมีมาไหม ไม่มี ไม่มีอะไรเลยสำหรับราชการ มีแต่การบังคับ ถ้าคุณคิดจะสั่งการ คุณต้องเตรียมแผนรองรับด้วย”

“ตำรวจทำกับประชาชนเหมือนเราทำผิด และไม่มีการเยียวยาอะไรเลย ทั้งที่อีก 10 จังหวัดที่มีมาตรการล็อกดาวน์ได้รับการเยียวยา แต่ตัวเองยังต้องจ่ายค่าเช่าและภาษีเหมือนเดิม”

“เพราะเขายอมกันทั้งตลาดไง มันถึงเป็นยังนี้ แต่มันมีประชาชนอย่างฉันที่ไม่ยอม ไม่ยอมในอำนาจรัฐ ไม่ยอมในความที่ไม่ถูกต้อง”

“คุณรู้ไหมนี่คือการต่อสู้ของประชาชน”

 

ขณะที่ในฝั่งฟาก “ผู้ปฏิบัติงาน” ก็มีชุดแห่งความทรงจำอีกชุดหนึ่ง

โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 เพจ “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ได้โพสต์ข้อความระบุตอนหนึ่งว่า…

“วันนี้ห้องเก็บศพของโรงพยาบาลเต็มแล้ว

เราเติมคอนเทนเนอร์เก็บศพเพิ่มมาอีกสองตู้เพื่อให้เรามีศักยภาพเก็บร่างผู้เสียชีวิตได้เพิ่มอีกสามเท่า…”

อันยืนยันว่า ตัวเลขเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ตัวเลขเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เวลา 05.00 น. ประเทศไทยอยู่อันดับ 52 ของโลก ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 426,475 ราย เสียชีวิต 3,502 คน

ความตายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว

นำไปสู่ข่าวอันหดหู่ เมื่อมีรายงานพบผู้เสียชีวิตจากทั้งการติดเชื้อโควิด-19 และเคสสุ่มเสี่ยงที่ยังไม่สรุปสาเหตุหลายราย โดยเสียชีวิตภายในบ้านพัก กลางซอย และริมถนน ในพื้นที่กรุงเทพฯ หลายจุด

โดยหลายศพไม่มีผู้มาดำเนินการเก็บศพ หรือเก็บก็ล่าช้า นานหลายชั่วโมง

เป็นภาพแห่งความทรงจำอันน่าสลดใจที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง

 

“…พวกเราได้ทำเต็มกำลังความสามารถในรอบนี้มากว่าสามเดือนติดต่อกันโดยไม่หยุดเลย

ด้วยความเชื่อมั่นว่า การรบหน่วงเวลาช่วยดูแลผู้คนที่ทุกข์ทรมานอยู่ในแนวรบของเรา จะช่วยทำให้ประเทศและประชาชนไม่แพ้สงครามนี้ในท้ายที่สุด

ด้วยนโยบายของรัฐบาลเรื่องการจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างกว้างขวางและเร่งด่วนให้แก่ผู้คนทั้งประเทศ??

เราเพิ่งได้ทราบว่าวัคซีนจะไม่มีมาอีกแล้ว และอีกนานจนกำหนดไม่ได้ที่ผู้คนที่พวกเราดูแลอยู่จะได้รับภูมิคุ้มกันเพียงพอ

จะต้องรอคอยวัคซีนต่อไป??????

เราร้องขอมากเกินไปหรือเปล่านะ ที่จะขอให้รัฐบาลรับประกันสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของคนไทย โดยการจัดหาวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย มาฉีดให้คนไทย ตามที่รัฐบาลสัญญาไว้??

เราได้แต่ถามตัวเองว่าทำไม ทำไมรัฐบาล ทำไมกระทรวงซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในเรื่องนี้หลอกลวงเรา หลอกลวงผู้คนทั้งประเทศให้อดทน รอคอยและมีความหวัง

ซึ่งท้ายที่สุดก็ปรากฏว่าไม่มีทางเป็นจริงได้เลย??”

 

นั่นคืออีกส่วนหนึ่งของความรู้สึกผู้ปฏิบัติงาน ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเพจ “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์”

นี่คือ Memoria ไทยแลนด์

ที่ถูกทำให้เป็นความทรงจำ “ดำมืด” ของคนไทยไปตลอดกาล