‘บีอาร์ไอ’ 1 แถบ 1 เส้นทางในอุษาคเนย์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง อินโดนีเซีย (Photo by TIMUR MATAHARI / AFP)

เป็นความจริง บีอาร์ไอ หรือ Belt and Road Initiative ของจีนพัฒนาไปหลายภูมิภาค ทว่าอุษาคเนย์ใกล้บ้านเรานับวันน่าสนใจ

และมีข้อสงสัยมากมาย

สมุทรรัฐอุษาคเนย์ (Maritime Southeast Asia)

บีอาร์ไอในฟิลิปปินส์

บีอาร์ไอในฟิลิปปินส์เลือนรางท่ามกลาง โวหารต่อต้านจีน (anti-China rhetoric) ช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีอะควิโน (Aquino) และการยืนกรานผลักดันข้อยุติเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างสองฝ่าย มาสู่เวทีพหุภาคี (Multilateral) มากกว่าการเจรจาทวิภาคี (Bilateral) ตามที่ทางการจีนชื่นชอบ

ในช่วงนั้น จีนจึงเฝ้ารอเวลา หากผลของการเลือกตั้งทั่วไปปี ค.ศ.2016 ในฟิลิปปินส์จะนำรัฐบาลที่เป็นมิตรมากกว่า

อย่างไรก็ตาม โดยพื้นฐานแล้ว รายงานจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับช่องว่างทางการเงินที่ใหญ่ ระหว่างต้นทุนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ของตน กับเงินทุนที่ฟิลิปปินส์สามารถคาดว่าจะได้รับจากสถาบันให้กู้นานาชาติ เช่น ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียและธนาคารโลก นั่นหมายความว่า หากจีนผลักดันโครงการใดๆ ภายใต้บีอาร์ไอ การกู้ยืมจากธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank-AIIB ของจีนจะเป็นอีกแหล่งหนึ่งด้วย

ถึงกระนั้นก็ตาม ยังไม่มีโครงการใดภายใต้บีอาร์ไอในฟิลิปปินส์เกิดขึ้น แต่ประเทศอื่นๆ ในสมุทรรัฐอุษาคเนย์เปิดสู่โครงการบีอาร์ไอหมดแล้ว

 (Photo by TIMUR MATAHARI / AFP)

บีอาร์ไอในอินโดนีเซีย

จีนนั้นชนะประมูลอันร้อนแรง โครงการก่อสร้าง ทางรถไฟความเร็วสูง (high-speed railway) ระยะทาง 150 กิโลเมตรจากจาการ์ตา-บันดุง จีนชนะญี่ปุ่นที่เสนอให้ผลตอบแทนโครงการน้อยกว่า ญี่ปุ่นเรียกร้องรัฐบาลอินโดนีเซียค้ำประกันเงินกู้ (loan guarantee) โครงการ รวมทั้งใช้เงินทุน (funding) จากงบประมาณของรัฐบาลด้วย ในขณะที่จีนไม่ได้เรียกร้องทั้ง 2 เงื่อนไขนี้

China Railway Corporation ของจีน และ PT Pillar Sinergi BUMN ของอินโดนีเซียลงนามร่วมทุน (joint venture) ก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ลงทุนฝ่ายอินโดนีเซียเป็นเจ้าของโครงการ 60% หุ้นส่วนจีนถือหุ้น 40% เงินกู้ระยะเวลานาน 40 ปีจาก China Development Bank จะเป็นเงินลงทุนหลักของโครงการนี้

ความร่วมมือนี้แสดงว่า การร่วมทุน แสดงวิสัยทัศน์ยาวไกลว่าวิธีการนี้ใช้ได้กับการก่อสร้างโครงการคมนาคมต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง การรถไฟจีน (China Railway Corporation) จะถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยเปิดดำเนินการโรงงานผลิตอุปกรณ์ต่างๆในอินโดนีเซีย ซึ่งอนุญาตให้ร่วมทุนกันผลิตรถไฟความเร็วสูง ในแผนสำหรับตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง

อีกทั้ง การรถไฟจีน จะช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บุคลากรท้องถิ่นอินโดนีเซีย โดยว่าจ้างและฝึกอบรมคนท้องถิ่น

การร่วมทุนอันนี้ เป็นตัวอย่างทั้งเส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) และยุทธศาสตร์แกนหลักทางทะเลระดับโลก (Global Maritime Axis strategy) สำหรับบีอาร์ไอจีน ความสำเร็จในการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงในอินโดนีเซีย ช่วยสร้างความมั่นคงต่อความสำเร็จในการประมูลงานก่อสร้างของจีน คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ (High Speed Railway Kuala Lumpur-Singapore) ด้วย

ภาคคมนาคม รัฐบาลอินโดนีเซียยังแสวงหาการลงทุนต่างประเทศโดยตรง (Foreign Direct Investment-FDI) จีนและเงินทุนจาก AIIB เพื่อพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางทะเลและอากาศ รวม 24 ท่าเรือ และ 15 สนามบิน รวมทั้งพัฒนา 18 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

ภาคพลังงาน รัฐบาลอินโดนีเซียเดินหน้าโครงการพลังงาน มีนาคม 2015 รัฐบาลจีนและอินโดนีเซียลงนามความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจ ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ที่บาหลีระยะที่ 1 เสร็จสิงหาคม 2015 China Huadian Corporation ลงทุนโครงการนี้มูลค่า 670 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้สิทธิดำเนินการโรงไฟฟ้าระยะเวลา 30 ปี

โรงไฟฟ้านี้ไม่ใช่ grid พลังงานอันสุดท้าย อินโดนีเซียยังแสวงหาเงินกู้จาก AIIB เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อขยายการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่ม

 

บีอาร์ไอในมาเลเซียและสิงคโปร์

รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ศึกษาความเป็นไปได้โครงการรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ ความจริงเรื่องรถไฟและอุตสาหกรรมรถไฟนั้น China Railway Stock Corporation (CRRC) มีชื่อเสียงในตลาดมาเลเซียอยู่แล้ว บริษัทเป็นผู้จัดหารถไฟ 38 ขบวนให้ Malaysian Railway ในปี 2010 เพื่อสนองความต้องการรถไฟในตลาดอาเซียน CRRC ตั้งโรงงานผลิตรถไฟที่เมือง Btu Gajah

โรงงาน CRRC ไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรมจีนในมาเลเซียแห่งเดียว จีนยังลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ East Coast Economic Region โดยดึงเงินลงทุนเกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ FDI จีนส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมหนักเป็นการร่วมลงทุน ส่วนอุตสาหกรรมนี้เป็นโครงการฝาแฝดกับส่วนอุตสาหกรรมจีนที่ Qinzhou โดยที่หุ้นส่วนจีนและมาเลเซียได้กระจายการลงทุนในอนาคต ด้านพลังงานสีเขียว, ICT และ Logistic

บริษัท China’s Quangxi Beidu Gulf International Port Group ถือหุ้นอยู่ 40% ลงทุนที่ Kuantun Port น่าสนใจการขยายท่าเรือที่นี่จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าของมาเลเซียกับจีน ได้แก่ การส่งแร่บ๊อกไซต์ (bauxite) ของมาเลเซียไปจีน

นั่นหมายความว่า ความอุดมสมบูรณด้านแร่ธาตุของมาเลเซียยังเป็นที่ต้องการของจีน ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียด้านอุตสาหกรรมได้เจริญอย่างรวดเร็วมาจากบทบาทของฝ่ายจีนอีกด้วย

 

สิงคโปร์

การลงทุนที่โดดเด่นมากคือ ความร่วมมือโครงการระหว่างรัฐบาล (intergovernmental) Suzhou Industrial Park and Tianjin Eco City

ความจริงแล้วหากยกประเด็นบีอาร์ไอยิ่งน่าสนใจ

สิงคโปร์เกี่ยวข้องมากไปกว่าการก่อสร้าง KL-Singapore high-speed rail line เพราะด้วยความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการเงินของสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์จะเป็นฮับทั้งทางด้านการเงินและLogistic เชื่อมต่อโครงข่ายบีอาร์ไอ (BRI network) เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เราควรมองพลวัตในอุษาคเนย์ให้รอบด้าน

เราจะเห็นอีกพลวัตบั่นทอนบีอาร์ไอ ซึ่งก็มาจากอีกบทบาทหนึ่งของจีนนั่นเอง

ทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งแห่งสมุทรรัฐ

 

ความที่ทะเลจีนใต้มีปัญหาต่างๆ มากมายซ้อนทับกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของการประมง พื้นที่ทับซ้อนที่ยังตกลงกันไม่ได้ รวมทั้งภูมิรัฐศาสตร์ด้านความมั่นคงการทหาร จีนเองกลับเป็นตัวเร่งปัญหามากขึ้น

การที่จีนเร่งเพิ่มงบประมาณทางทหาร ก่อให้เกิดความกังวลอย่างมากต่ออินโดนีเซีย ด้วยจีนแสดงความปรารถนาเพิ่มมากขึ้น เพื่อควบคุมเหนือทะเลจีนใต้

คงจำกันได้ว่า จีนสร้างแผนที่ของจีนเองโดยอ้างประวัติศาสตร์การเดินเรือยุคโบราณ และโยงแผนที่ ที่เพิ่งสร้าง เข้าไปบริเวณเขต Natuna ของอินโดนีเซียซึ่งอุดมไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

จนเสมือนเป็นเงาทะเลทอดผ่านด้านใต้ของหมู่เกาะ Riau ตะวันออกของ Lingga Regency และตะวันตกของ Borneo พื้นที่อ่อนไหวด้านความมั่นคงทางทหาร อีกทั้งมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ พันธุ์พืชหายาก สัตว์ป่าสวยงาม สินแร่มีค่า

ท่ามกลางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหลายเส้นในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรงงานอุตสาหกรรม พลังงานจากถ่านหินและพลังงานสีเขียว โครงข่ายโลจิสติกส์ ฮับทางการเงิน ฯลฯ อันสอดรับต่อบีอาร์ไอ เน็ตเวิร์ก

เป็นเวลาถึง 2 ครั้งในปี 2019 และ 2020 ที่รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเร่งรีบนำเครื่องบินขึ้นสกัดกั้น ตักเตือนการล่วงล้ำจากกองเรือปกป้องชายฝั่งกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People’s Liberation Army Coast Guard) ของทางการจีน ที่กำลังปฏิบัติการในเขตน่านน้ำอธิปไตยอินโดนีเซีย

นับว่า อะไรที่เขาแจ้งว่าเป็น ชายฝั่ง ก็นับว่าเป็นชายฝั่งที่ไกลมากๆ อันนี่ไม่ตลกนะครับ ช่วงมิถุนายน ทางการจีนแสดงตนกระหายสงครามต่ออินโดนีเซีย โดยส่งเรือประมงจำนวนมากเท่าที่จะมากได้จำนวน 200 ลำ ทั้งที่ความจริง เรือประมงประจำการโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ควรเข้าใจว่า เรือประมงจีน พรางตัวด้วยเจ้าหน้าที่ แล้วจีนยังออกทั้งระเบียบและกฎเกณฑ์ ให้เรือประมงมี สองหน้าที่ เป็นเรือประมงหาปลาพราง และต้องพร้อมเป็นเรือในกิจการทหาร พร้อมติดตั้งอาวุธได้ด้วย

เรือประมงพรางตัวดังว่า เข้าไปใกล้ Whitson Reef บริเวณ Palawan ซึ่งอยู่ภายในเขตเศรษฐกิจปะการังเฉพาะของฟิลิปปินส์ ในเวลาไม่นานนัก เครื่องบินเจ๊ต 12 ลำของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน บินเหนือมาเลเซียตะวันออกด้านซาราวัค (Sarawak) แล้วทั้งฟิลิปปินส์และมาเลเซียก็ประท้วงทางการทูตทันที

นับวัน สุมทรรัฐอุษาคเนย์ร้อนแรงด้วยโครงการก่อสร้างที่ยังไม่แล้วเสร็จ

บางโครงการไม่รู้ว่าจะก่อสร้างไปเพื่ออะไร หนี้สินที่เพิ่มพูน จู่ๆ แผนที่ก็ระบุว่าชายแดนจีนมาไกลถึงหมู่เกาะเพื่อนบ้านอันไกลโพ้น แปลกเป็นหมู่เกาะอันอุดมสมบูรณ์ เรือประมงที่พร้อมเผชิญหน้าทางทหาร เครื่องบินเจ๊ตที่บินว่อนเหนือน่านฟ้าเขตอธิปไตยของชาติ

“โวหารต่อต้านจีน” จึงดังกึกก้องมหาสมุทรไม่ขาดสายต่อไป