จิตต์สุภา ฉิน : ปักหมุดบนแผนที่ดิจิตอล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เวลาที่เรานึกถึงประเทศเกาหลีใต้ทุกวันนี้ นอกจากวัฒนธรรมเคป๊อปที่เป็นที่ชื่นชอบในหมู่แฟนๆ ชาวไทยแล้ว (และเนื้อย่างแสนอร่อยที่ซู่ชิงคิดถึงทีไรก็น้ำลายสอทุกที)

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนในประเทศ

เพราะที่นี่เป็นบ้านเกิดของแบรนด์เทคโนโลยีระดับโลกจำนวนไม่น้อย

แถมความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่ 29 mbps ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 4.6 เท่า ก็ทำให้เกาหลีใต้ครองอันดับหนึ่งประเทศที่มีอินเตอร์เน็ตเร็วที่สุดในโลก

ดังนั้น เมื่อไหร่ที่นึกถึงเกาหลีใต้ เราก็มักจะคิดว่าประเทศนี้จะต้องมีความพร้อมในด้านไอทีไปเสียหมดทุกเรื่องแน่นอน

และนั่นก็คือสิ่งที่ซู่ชิงคิดก่อนที่จะบินมาเที่ยวเกาหลีใต้ทริปนี้ค่ะ

 

อันที่จริงซู่ชิงเคยได้ยินเรื่อง Google Maps ใช้งานไม่ได้เต็มรูปแบบในเกาหลีใต้มาแล้ว

แต่ตอนนั้นไม่ได้มีแผนที่จะเดินทางไป ก็เลยไม่ได้คิดอะไรมากและลืมเรื่องนี้ไปเสียสนิท

พอเดินทางมาถึงก็หวังพึ่งบริการแผนที่ของกูเกิลเต็มที่ อยากจะไปกินอะไร จะไปช้อปปิ้งที่ไหน ก็คิดไว้ว่าจะมาหาเอาดาบหน้า เปิดๆ แผนที่กูเกิล แล้วก็เดินตามที่มันนำทางไปนี่แหละ จะยากอะไร ทุกประเทศก็ทำแบบนี้มาหมดแล้ว

ปรากฏว่ามาถึงจริงๆ แผนที่กูเกิลในเกาหลีใต้มีฟีเจอร์ที่ใช้งานได้น้อยมากเมื่อเทียบกับแผนที่กูเกิลในประเทศอื่น

ระบบขนส่งสาธารณะอย่างเส้นทางการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินหรือรถเมล์ก็ยังพอใช้งานได้อยู่ (ซึ่งก็ยังห่างไกลกับข้อมูลแสนละเอียดยิบในประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกานะคะ แถมมีหลายครั้งที่ให้เส้นทางการต่อรถที่สุดจะอ้อมโลกมาให้ด้วย)

แต่พอจะใช้ฟังก์ชั่นการนำทาง ไม่ว่าจะเป็นการนำทางให้ขับรถ หรือนำทางให้เดิน นี่คือง่อยสนิท

ถ้าต้องการเดินจากจุด A ไปจุด B มันจะแค่ตัดเส้นเฉียงๆ ให้ ไม่ได้บอกตรอก ซอก ซอย เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาแต่อย่างใด ให้ไปสังเกตจุดที่ตัวเองอยู่ควบคู่กับแผนที่เอาเอง

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ยอมให้กูเกิลเข้ามาเก็บข้อมูลทำแผนที่ได้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนประเทศอื่นๆ

แต่อนุญาตให้เก็บแผนที่แบบความละเอียดต่ำ และจะต้องประมวลผลข้อมูลผ่านเซิร์ฟเวอร์ในประเทศเท่านั้น

ซึ่งก็เป็นเพราะเหตุผลทางด้านความมั่นคง

ทางการเกาหลีใต้กลัวว่าการทำให้ข้อมูลแผนที่ภายในประเทศสามารถเข้าถึงได้จากต่างประเทศจะเป็นการเผยช่องโหว่ให้ประเทศอื่นโจมตีได้

ซึ่งประเทศอื่นที่ว่านั้นก็คงไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน แต่เป็นเกาหลีเหนือนั่นแหละค่ะ

 

ส่วนคนในประเทศไม่ได้เดือดร้อนอะไรสักเท่าไหร่ เพราะพวกเขาก็มีแอพพ์แผนที่อื่นๆ ที่บอกข้อมูลละเอียดยิบให้ใช้งานได้แบบคล่องมือกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Naver Map หรือ Kakao Map

แต่มันเสียตรงที่ทุกอย่างเป็นภาษาเกาหลีล้วนๆ ชาวต่างชาติอย่างซู่ชิงมาลองเปิดใช้ก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย

พอแอพพ์ที่คุ้นเคยไม่สามารถใช้งานได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมในบางครั้งยังต้องกางแผนที่ดูร่วมไปด้วยเนื่องจากตัวแอพพ์บอกข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน

การมาเที่ยวครั้งนี้ก็เลยกร่อยๆ เซ็งๆ ไปบ้างเหมือนกัน

แต่มันก็ทำให้ซู่ชิงคิดว่าแล้วบางส่วนของโลกที่เขาไม่มีแผนที่ดิจิตอลให้ใช้งานได้ ชีวิตจะลำบากกว่านี้อีกแค่ไหน

ไม่ใช่แค่ในแง่มุมท่องเที่ยวอย่างเดียวนะคะ

แต่ในแง่ของการทำธุรกิจ การเข้าถึงระบบสาธารณสุข หรือเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นด้วย

 

สํานักข่าวเอเอฟพีทำสกู๊ปที่เล่าเรื่องความคืบหน้าในการทำแผนที่ในทวีปแอฟริกาไว้ได้อย่างน่าสนใจค่ะ

ในนั้นเล่าถึงเมืองกอตอนูในสาธารณรัฐเบนินที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตกว่าการไปอยู่ที่นั่นและต้องการจะหาสถานที่สักแห่งเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญที่สุด เพราะแทบจะไม่มีข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์อย่างชื่อถนน หรือตำแหน่งแห่งหนของอะไรให้สามารถตรวจสอบได้เลย

เวลาคนที่นั่นจะบอกทางกัน ก็จะต้องบอกด้วยการใช้จุดสังเกตรอบด้านเข้ามาช่วย เช่น สำนักงานของฉันตั้งอยู่หลังตลาด เดินผ่านตึกอพาร์ตเมนต์มาจะเห็นเสาสัญญาณมือถืออยู่ด้านซ้าย เลี้ยวเข้ามาในซอยที่สามก็จะเห็นอาคารที่ปูกระเบื้องไว้ ฯลฯ อะไรประมาณนั้น

และถ้าหาจุดสังเกตไม่เจอแค่อย่างเดียวก็จบ เริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ศูนย์

เอเอฟพีเล่าถึงชายวัย 34 ปีคนหนึ่ง นามว่า แซม อักบาโดนู ซึ่งเคยทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่มักจะถูกเรียกตัวไปยังศูนย์อนามัยชุมชนเพื่อไปซ่อมเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาก็คือเขามักจะหาสถานที่ที่เขาจะต้องไปไม่เจอ หรือบางทีก็ซับซ้อนวกวนเข้าถึงยาก

ในปี 2013 แซมได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า OpenStreetMap ซึ่งก็คือโปรเจ็กต์การทำแผนที่โลกที่เปิดให้คนเข้าถึงได้ฟรี โดยมีอาสาสมัครช่วยกันป้อนข้อมูลเข้าไปด้วยการใช้เครื่องมือประเภทต่างๆ

แซมก็เลยเปิดโปรเจ็กต์สำหรับประเทศเบนินขึ้นมา รวมตัวกับอาสาสมัครคนอื่นๆ และออกเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของเมืองด้วยกัน

เริ่มต้นจากข้อมูลพื้นฐานทั้งหลาย อย่างเช่น ชื่อถนน บ้านเลขที่ จากนั้นก็ทยอยใส่ข้อมูลชนิดละเอียดยิบในแบบที่แผนที่กูเกิลก็ยังไม่มี

อย่างเช่น ต้นไม้ ร้านปะยางที่หัวมุม หรือร้านตัดเสื้อเล็กๆ ทำแบบนี้มาต่อเนื่องได้สี่ปีแล้ว

ในที่สุดตอนนี้กอตอนูก็เริ่มมีตัวตนอยู่บนแผนที่โลกดิจิตอลกับเขาเพิ่มขึ้นทีละนิดๆ

 

กอตอนูเป็นเมืองหนึ่งในอีกหลายๆ แห่งในทวีปแอฟริกาที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กลับไม่มีกฎระเบียบทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ดี หรือขาดการจัดการเมืองชนิดที่ปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรม ซึ่งการไม่มีที่อยู่เป็นตัวเป็นตนในรูปแบบดิจิตอลให้สามารถเข้าถึงได้ ก็ทำให้ประชากรขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการพื้นฐาน ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ไปจนถึงความสะดวกสบายของการได้รับสินค้าจากการช้อปปิ้งออนไลน์ด้วย

หรืออย่างในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แผนที่ของเมืองหลายแห่งในประเทศ มีเพียงแค่เส้นถนนให้เห็นเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นแล้วก็ไม่มีรายละเอียดอะไรอยู่เลย แต่ความพยายามของคนที่เข้าร่วมโปรเจ็กต์ OpenStreetMap ก็ดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ คนที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีก็ช่วยกันใช้ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ที่ได้มาจากภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งหาได้บนอินเตอร์เน็ต ใส่เข้าไปในแผนที่ออนไลน์แพลตฟอร์มนี้

คองโกที่ประสบภัยอีโบลาระบาดก็นับเป็นหนึ่งจุดที่ผู้คนพยายามช่วยกันใส่ข้อมูลเพิ่ม ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับบ้าน หรือจุดจ่ายน้ำ ซึ่งนับเป็นข้อมูลสำคัญมากที่ต้องใช้ในการยับยั้งการระบาดของโรค โดยอาสาสมัครหลายคนที่ร่วมป้อนข้อมูลให้แผนที่นี้ไม่ได้เกิดมาจากความลุ่มหลงเท่านั้น แต่กลายเป็นเหมือนภารกิจสำคัญในฐานะของการเป็นประชากรคนหนึ่งเลยทีเดียว

เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ทำให้เราเห็นได้ว่ามีหลายวิธีมากที่เราจะสามารถช่วยลงมือลงแรงพัฒนาและยกระดับให้เมือง ประเทศ หรือโลกของเราน่าอยู่ขึ้น เราอาจจะไม่ทันได้คิดว่าการช่วยกันใส่ข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์แบบนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ยังไงบ้าง

สำหรับคนที่อยู่ในประเทศที่มีแผนที่ดิจิตอลเพียบพร้อม มีการบอกทางที่แม่นยำ นำทางได้เป๊ะ มีเวลาของรถสาธารณะชนิดบอกกันเป็นวินาที ก็คงอาจจะมองข้ามความสำคัญของแผนที่ไปได้ง่ายๆ เพราะเราใช้มันจนกลายเป็นสิ่งที่แสนจะธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับคนในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีที่อยู่บนโลกดิจิตอลอย่างเป็นตัวเป็นตน

การใส่พวกเขาเข้าไปในแผนที่ ก็เหมือนกับการเปิดประตูให้โอกาสใหม่ๆ เข้าถึงพวกเขาเหล่านั้น และทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้