จากกวางจูถึงกรุงเทพฯ/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

จากกวางจูถึงกรุงเทพฯ

 

ขณะที่ประเทศไทยเรามีเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองให้กล่าวถึง ให้รำลึกถึงในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้ง 17 พฤษภาคม 2535 หรือพฤษภาทมิฬ ที่ประชาชนถูกปราบปรามในการต่อต้านนายกฯ จากทหาร ทั้ง 19 พฤษภาคม 2553 หรือเหตุการณ์ 99 ศพ ที่ถูกปราบด้วยกระสุนจริง

รวมถึงการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทำลายประชาธิปไตย และน่าเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงถึงเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคมปี 2553 ที่มีคดี 99 ศพค้างคาอยู่

ในเดือนพฤษภาคมนี้เช่นกัน ที่เกาหลีใต้มีเหตุการณ์นองเลือดใหญ่คือ 18 พฤษภาคม 2523 การปราบปรามประชาชนที่กวางจู โดยรัฐบาลทหารเกาหลีใต้

ประวัติศาสตร์กวางจู เป็นเหตุการณ์นองเลือดที่โด่งดังไปทั่วโลก อีกทั้งเป็นจุดเปลี่ยนทางประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ เพราะหลังจากนั้นนักศึกษา-ประชาชนเกาหลีเดินหน้าผลักดันการเมืองไปสู่ประชาธิไตยเสรีเป็นผลสำเร็จ ทำให้กลายเป็นชาติที่มีการพัฒนายิ่งใหญ่ในระดับโลกวันนี้

กวางจูยังมีส่วนสัมพันธ์กับประเทศไทย ด้วยมีการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลสำคัญในภูมิภาคนี้ และคนไทยได้รับการเชิดชูล่าสุดเป็นคนที่ 3 คือ ทนายอานนท์ นำภา

โดยก่อนหน้านี้ มีอังคณา นีละไพจิตร ได้รับรางวัลเมื่อปี 2549 และไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ได้รับรางวัลในปี 2560

สำหรับอานนท์ ซึ่งได้รับรางวัลกวางจูประจำปีนี้ ไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลเองได้ ด้วยยังถูกคุมขัง และยังรักษาตัวจากอาการโควิดในโรงพยาบาลในฐานะผู้ต้องขัง ดังนั้น การมอบรางวัลเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงจัดผ่านออนไลน์ มีถ่ายทอดสดในช่องยูทูบ

รางวัลกวางจูเป็นรางวัลยกย่องนักสิทธิมนุษยชนและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ทนายอานนท์ได้รับการเชิดชูข้ามประเทศ ว่าเป็นผู้ที่มีคุณความดีในด้านสิทธิมนุษยชนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ แต่กลับต้องรับรางวัลที่เกาหลีใต้ยกย่องเชิดชู ในขณะที่ยังถูกคุมขังในคดีทางความคิดความเชื่อ!?

คนเกาหลีใต้ ไปจนถึงนักสิทธิมนุษยชนนักประชาธิปไตยทั่วโลกที่นั่งดูพิธีมอบรางวัลให้ทนายอานนท์ คงรู้สึกสะเทือนใจว่านักสิทธิมนุษยชนและนักประชาธิปไตยของประเทศไทยที่ได้รับเชิดชู กลับต้องสูญสิ้นอิสรภาพในวันนี้

สะท้อนถึงบรรยากาศเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทยได้อย่างโจ่งแจ้ง

แล้วยิ่งทั่วโลกรู้ดีว่า ในช่วงปี 2563 และในปีนี้ เยาวชนคนรุ่นใหม่ในเมืองไทย ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แล้วต้องถูกสลายม็อบ ถูกคุมขังกันระนาวเช่นไร

ได้รับรู้ว่าปัญหาประชาธิปไตยไทย นับจากเกิดม็อบชัตดาวน์เพื่อปูทางให้เกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วนายกฯ ยศพลเอกคนนั้นก็ยังเป็นนายกฯ จนถึงวันนี้

ขณะที่กวางจูก็คือ การที่นักศึกษา-ประชาชนเกาหลีใต้ ถูกรัฐบาลทหารของนายพลชุนดูฮวาน ปราบปราม จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์และเป็นรางวัลสำคัญ

การถ่ายทอดสดงานมอบรางวัลกวางจู จึงเกิดผลสะเทือน ราวกับประจานสภาพความเป็นไปในประเทศไทยไปทั่วโลก

 

เกาหลีใต้เป็นชาติที่เจริญก้าวหน้าระดับต้นๆ ของเอเชีย มีการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรี มีเสถียรภาพ เมื่อการเมืองดีมีเสรี ก็ทำให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าในทั่วด้าน เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง มีอุตสาหกรรมที่เป็นสินค้าระดับโลก ทั้งรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สมาร์ตทีวี ตู้เย็น มือถือ

วัฒนธรรมเกาหลีใต้ ยังกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ครองตลาดไปทั่ว ภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์ ซีรีส์ละครทีวีเกาหลี กระแสเคป๊อป กระทั่งอาหาร

เมื่อ 40 ปีก่อน ทีมฟุตบอลเกาหลีใต้ยังเป็นคู่แข่งที่สูสีของทีมชาติไทย ในสังเวียนลูกหนังสนามศุภชลาศัย แต่วันนี้เกาหลีใต้ไปบอลโลกทุกสมัย ส่วนบอลไทยระดับเจ้าอาเซียนเท่านั้น

จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเกาหลีคือ การผลักทหารออกไปจากการเมืองได้สำเร็จ ไม่มีการแทรกแซงทางการเมือง ไม่มีรัฐประหาร เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์

นั่นจึงทำให้เกาหลีใต้ยกระดับเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียไปในทันที

เป็นบทพิสูจน์ของคำว่า ถ้าการเมืองดี เศรษฐกิจจะดีไปด้วย และมีความเจริญก้าวหน้าทั่วด้าน!

แต่ก่อนหน้านั้น เกาหลีใต้ก็เป็นหนึ่งในชาติที่ต้องผ่านยุคอันมืดมน อยู่ภายใต้เผด็จการทหารล้าหลัง อยู่ในวังวนของการรัฐประหาร บรรดานายพลขึ้นมาเป็นใหญ่ทางการเมือง

จนกระทั่งในปี 2523 นักศึกษา-ประชาชนในเมืองกวางจู มีการเคลื่อนไหว จัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารของนายพลชุนดูฮวาน

เมื่อสถานการณ์เริ่มตึงเครียด รัฐบาลทหารก็สั่งให้ตำรวจถอนออกจากการควบคุมการชุมนุม เปลี่ยนเป็นส่งทหารเข้าปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม การสลายม็อบต่อเนื่องหลายวัน มีคนตายไปถึง 165 ราย สูญหายหรือคงถูกทำลายศพอีกราว 70 คน

การสังหารหมู่กวางจู 1980 หรือ พ.ศ.2523 เป็นประวัติศาสตร์นองเลือดที่โลกรู้จักกันดี

จากนั้นนักศึกษา-ประชาชนเกาหลีใต้ก็เดินหน้าต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยต่อไป จนประสบความสำเร็จเป็นลำดับ ได้รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง จนนำไปสู่การรื้อฟื้นคดีสังหารหมู่กวางจู และจับกุมผู้นำทหารเผด็จการมือเปื้อนเลือดดำเนินคดีหลายราย

นอกจากตอกย้ำว่า รัฐบาลที่ปราบปรามประชาชน จะต้องถูกดำเนินคดี ไม่ลอยนวลเหมือนบ้านเราแล้ว ยังเป็นมาตรฐานให้ทหารยุคต่อมากลับเข้ากรมกอง ทำหน้าที่อันมีเกียรติของทหารในการปกป้องอธิปไตยประเทศชาติเท่านั้น ไม่เข้ามาแทรกแซงการเมืองอีก

ประชาชนเกาหลีใต้ก็สรุปบทเรียนความเลวร้ายในยุครัฐบาลทหาร พร้อมกับนำประวัติศาสตร์กวางจูเป็นข้อเตือนใจให้การศึกษา จากนั้นก็ไม่มีประชาชนล้าหลังที่ออกมาเรียกหาอำนาจทหารอีก ไม่มีวังวนเหมือนบ้านเรา

ประเทศชาติเขาจึงก้าวหน้าไปเรื่อยไม่มีหยุดไม่มีถอยหลัง

 

ชาวเกาหลีใต้มีการจัดรำลึกวันสังหารหมู่กวางจู ในทุกวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี พร้อมกับเป็นวันมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้กับบุคคลดีเด่นในชาติต่างๆ ในย่านภูมิภาคนี้ ซึ่งปีนี้คือ ทนายอานนท์ นำภา

มอบให้ท่ามกลางการเปิดภาพบรรยากาศอันน่าเศร้าสลดของประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะคนที่มูลนิธิของเกาหลีใต้ยกให้เป็นนักสิทธิมนุษยชน นักประชาธิปไตย กลับอยู่ในสภาพไร้เสรีภาพ

เกาหลีมอบรางวัลให้ ก็ช่วยเปิดความจริงอันมืดมนในประเทศไทย ออกไปยังทั่วโลก

ขณะที่ประชาชนคนไทย ผ่านเหตุการณ์ถูกปราบปรามนองเลือดในการต่อสู้กับรัฐบาลทหารมาหลายหน แต่มีการวางแผนแยบยลผ่านมวลชนขวาจัดล้าหลัง เพื่อปูทางให้ทหารกลับมาสู่อำนาจในบ้านเราหลายรอบหลายหน

เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง ทำให้ไม่พัฒนาก้าวหน้าไปไหน

เกาหลีใต้ผ่านการเสียสละเลือดเนื้อของวีรชน 18 พฤษภคม 2523 แล้วจบ แต่ไทยเราทั้ง 14 ตุลาคม 2516 ต่อด้วย 6 ตุลาคม 2519 แล้วเกิด 17 พฤษภาคม 2523 ตามด้วยการปราบนองเลือด 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 หรือ 99 ศพ

ก็ยังเกิดม็อบนกหวีดชัตดาวน์ เพื่อให้ทหารกลับมาสู่อำนาจใน 2 พฤษภาคม 2557 จนได้!!

จนกลายเป็นความยากลำบากในสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจทรุดหนักในวันนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลนายพลเอก จะมีความสามารถเหมาะสมกับสถานการณ์นี้

รางวัลกวางจู วันแห่งการต่อสู้กับรัฐบาลทหารในเกาหลีใต้ ที่มอบให้กับคนไทยที่กลายเป็นผู้ต้องขัง

คงช่วยเตือนสติและบอกเล่าอะไรให้กับสังคมไทยได้เรียนรู้จากเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี!