ความเขลาอันเป็นสันดาน | คำ ผกา

คำ ผกา

ขอทบทวนความผิดพลาดของรัฐบาลไทยในการรับมือกับการระบาดของโควิด

เพื่อสลิ่มทั้งหลายจะได้เลิกอ้างว่า คนที่วิจารณ์รัฐบาลใช้ “โควิด” เป็นเครื่องมือทางการการเมืองเพื่อดิสเครดิตประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือดิสเครดิตรัฐบาล

บางสลิ่มก็อ้างว่าถ้าไม่ใช่ประยุทธ์ ทุกอย่างจะเลวร้ายกว่านี้ บ้างก็อ้างว่า ไม่ควรเปลี่ยนม้ากลางศึก เปลี่ยนนายกฯ แล้วจะได้ไฟเซอร์มาฉีดให้คนไทยเลยหรือไง

อย่าลืมว่าโควิด-19 เริ่มระบาดตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 หลายๆ ประเทศในโลกเผชิญวิกฤตโควิดนี้อย่างหนักหน่วงไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ อเมริกา อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฯลฯ

พูดง่ายๆ ไม่มีประเทศไหนไม่บอบช้ำเลยจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่นี้

ความบอบช้ำแบ่งออกเป็นสองระดับ

หนึ่ง ระดับปัจเจกบุคคลที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่ตายจากโควิด

สอง ความสูญเสียในระดับสังคม/เศรษฐกิจ อันเกิดจากการล็อกดาวน์ ภาวะที่ไม่สามารถเดินทางระหว่างประเทศได้โดยง่าย

ธุรกิจที่เจ็บปวดมากจากการระบาดครั้งนี้คือ ธุรกิจการบิน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

 

ในระหว่างที่ไม่มีวัคซีน หลายประเทศเน้นการจัดการแบบล็อกดาวน์เข้มงวด

บางประเทศ เช่น สวีเดน ไม่เลือกหนทางการล็อกดาวน์ แต่ปล่อยไหล ให้ประชาชนระมัดระวังตัวเอง หวังให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สองแนวทางนี้มีราคาที่ต้องจ่ายต่างกัน

ประเทศที่เลือกการล็อกดาวน์เข้มงวดยอมจ่ายค่า “ชดเชย” รายได้ให้แก่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ยอมแบกภาระค่าใช้จ่ายแทนเจ้าของกิจการเพื่อไม่ให้เกิดภาวะการเลิกจ้าง เช่น ร้านอาหาร ภัตาคารที่ต้องปิดร้านจากมาตรการล็อกดาวน์ ยังจ่ายเงินเดือนพนักงานเต็มจำนวนโดยที่ไม่ต้องมาทำงาน

ธุรกิจขนาดเล็กได้รับความช่วยเหลือทั้งเงินให้เปล่าและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย การพักชำระหนี้อย่างไม่มีเงื่อนไข จนกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

ทั้งหมดนี้รัฐบาลยอมจ่ายเพื่อรักษาเศรษฐกิจของประเทศ รักษาอัตราการจ้างงาน และลดความสูญเสียจากการที่มีคนตกงาน และสุดท้ายเจ้าของกิจการสูญเสีย “ต้นทุน” ในการพัฒนาแรงงานเหล่านั้นขึ้นมาโยเปล่าประโยชน์ หากปล่อยให้พวกเขาสูญเสียงานที่เคยมีอยู่เดิมไป

ส่วนประเทศอย่างสวีเดน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าสถานะทางการเงินของรัฐบาลไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการล็อกดาวน์ได้ เลือกที่จะไม่ปิดเมือง ประชาชนเฝ้าระวังตนเอง ทรัพยากรทางสาธารณสุขเก็บไว้สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ

ใครไม่อยากป่วย ไม่อยากตาย ก็ดูแลตัวเองก็แล้วกัน

ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคลแทบไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นเทศที่ระบบรัฐสวัสดิการอยู่แล้ว

แต่ต้องยอมรับความจริงว่า อัตราผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เขาเลือกแล้วว่าจะเอาอย่างนี้ อธิบายที่มาที่ไปของการตัดสินใจได้ ว่าทำไมถึงเลือกทางนี้

ส่วนในรายละเอียด แต่ละประเทศก็มีวิธีบริหารจัดการแตกต่างกันออกไปอีก

บางประเทศเน้นการปูพรมตรวจ ตรวจง่าย ตรวจฟรี ตรวจสม่ำเสมอ หลังจากได้เรียนรู้ว่า คนติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่หนัก การตรวจให้เยอะ ให้บ่อย ลดการระบาด เพราะทำให้คนที่รู้ตัวว่ามีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ จะได้มีโอกาสได้แยกตัวเองออกมาจากคนอื่น

ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาลให้เป็นภาระของสาธารณสุข แยกตัว กักตัวครบกำหนดก็ตรวจซ้ำๆ อีกจนแน่ใจ จากนั้นก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ

ประเทศที่จัดการแบบนี้ก็ไม่มีใครตระหนกกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ติดเชื้อนอกจากจะไม่ใช่ความล้มเหลวของรัฐบาลแล้ว ยังถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลที่สามารถปูพรมตรวจคนได้เยอะที่สุดเท่าที่จะเยอะได้

แน่นอนว่า คนที่ต้องแยกตัว/กักตัว ย่อมได้รับการดูแลเรื่องรายได้ที่หายไปและอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากระบบสวัสดิการหรือประกันสังคมที่มีอยู่แล้ว

ในทุกแนวทางของการรับมือกับโควิดนี้ไม่มีแนวทางไหนดีไร้ที่ติ ทุกรัฐบาล ทุกประเทศก็โดนก่นด่า ถูกวิจารณ์จากประชาชนและสื่อมวลชนในประเทศกันทั้งนั้น

แต่ทั้งหมดนี้มันก็อธิบายที่มาที่ไปได้ และถ้าจะมีคนไม่เห็นด้วยก็คือไม่เห็นด้วย

ต่างจากประเทศไทยของเรา ที่แต่ละมาตรการที่ออกมาเหมือนคนทำงานไปรายชั่วโมง ไม่คิดหน้า ไม่คิดหลัง คิดบนฐานของการจัดงานอีเวนต์ นิทรรศการ เน้นการเอาใจ “นาย” พุ่งเป้าไปที่การตำหนิประชาชน

และคิดว่าการตั้งคณะกรรมการเยอะๆ แปลว่า การทำงานหนักและเอาใจใส่

ช่วงปีแรกของโควิด ประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อโควิดน้อยมากกลับเลือกวิธีล็อกดาวน์ทันที ในขณะที่เลือกวิธีการล็อกดาวน์ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย ร้านอาหาร ร้านนวด สถานบันเทิง คนทำงานกลางคืน ตั้งแต่คนครัว เด็กล้างจาน นักร้อง เด็กเสิร์ฟ นักดนตรี ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กพยายามตะเกียกตะกายเอาตัวรอดทุกวิถีทาง เรียกได้ว่าบอบช้ำกันแสนสาหัส และอาจกล่าวได้ว่า ผู้คนเผชิญกับภาวะยากจนเฉียบพลันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างยิ่งตั้งแต่ปีที่แล้วแต่ไม่ได้ทำคือ

1. การชดเชยรายได้แบบถ้วนหน้าผ่านเช็คเงินสด ไม่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ต้องพิสูจน์ผลกระทบหรือความยากลำบากใดๆ เพราะมันคือการยิงกระสุนทีเดียวได้นกสองตัว คือ สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจะช่วยให้เขาไม่ต้องเผชิญกับภาวะความยากจนเฉียบพลัน และผลอีกทางหนึ่ง ห่วงโซ่การบริโภคภายในไม่ชะงักงัน เศรษฐกิจไม่ชะลอตัวจนเกินไป เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้พวกเขารักษาการจ้างงานเอาไว้ได้ และเมื่อประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ธุรกิจเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจได้ทันที

2. การวางแผนการจัดหาวัคซีนที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงและแผนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างครบถ้วนโดยเร็วเพื่อผลแห่งการเปิดประเทศให้กลับมาหารายได้ได้อีกครั้งหนึ่ง

ซึ่งเป็นสองอย่างที่รัฐบาลไทยไม่ได้ทำ

 

ก่อนที่โลกนี้จะมีวัคซีนแม้ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดน้อย แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจของเรากลับหนักหนาสาหัส

ไม่นับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นแปลว่าราคาที่เราต้องจ่ายคือราคาของความเป็นประชาธิปไตยในสังคมที่ตกต่ำลงไปจากที่ต่ำอยู่แล้ว

และด้วยราคาของความพังพินาศทางเศรษฐกิจและความอ่อนแอของการเมืองประชาธิปไตย ผลลัพธ์ที่ได้มากลับไม่ใช่ประสิทธิภาพของการควบคุมโรคระบาด

ตรงกันข้ามในขณะที่หลายประเทศในโลกเริ่มโยนหน้ากากทิ้ง เริ่มจัดการแข่งขันกีฬา เริ่มจัดคอนเสิร์ต และจัดการฉัดวัคซีนให้พลเมืองของเขาอย่างครบถ้วน

สิ่งที่ประเทศไทยเจอกลับเป็นการระบาดระลอกใหม่, ใหม่กว่าและใหม่ได้อีก พร้อมๆ กับความสับสนเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อวัคซีนที่รัฐจัดหาให้ และยอดคนตายจากโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทรัพยากรทางสาธารณสุขมากกว่าตายจากความร้ายแรงของเชื้อโรคด้วยตัวมันเอง

นี่คือความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลนี้ที่มี ครม.ก็เหมือนไม่มี

ณ วันนี้ทีมเศรษฐกิจก็ยังมะงุมมะงาหรา พร่ำพูดแต่ว่ากำลังทำแผนฟื้นฟูเยียวยาแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ได้ผลกระทบ ชวนให้คิดว่า แล้วที่นั่งๆ อยู่ในตำแหน่งที่ผ่านมาทำอะไรอยู่วะ

แล้วก็มีนายกฯ ที่ทำงานในเวลาราชการ บริหารประเทศเหมือนเด็กเรียนหนังสือตามตารางสอนและสนุกกับการเอาตัวเองไปนั่งหัวโต๊ะบริหารทุกเรื่องราวกับเป็นคนทำงานเป็นอยู่คนเดียวในประเทศ แล้วดันคิดว่าการไปนั่งประชุมๆๆ จบลงด้วยการเคาะมาตรการหนึ่ง สอง สาม ออกมาตามที่หน่วยงานราชการชงให้ โดยไม่ค่อยจะเข้าใจอะไรนัก นอกจากคิดว่าคือผลงานชิ้นโบแดงไปเสียทุกสิ่งอัน

จากนั้นก็บอกตัวเองว่าความเละตุ้มเป๊ะของประเทศไทยเกิดจากโง่เขลาของประชาชนที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

การมีผู้นำโง่ไม่ใช่เรื่องแย่

แต่การมีผู้นำโง่ที่ไม่รู้ตัวว่าโง่นั้นแย่มาก และแย่ในระดับหายนะของประเทศชาติและประชาชน เพราะผู้นำที่โง่และไม่รู้ตัวว่าโง่นั้นเป็นผู้นำขึ้นมาได้จากการจี้ปล้นเอาอำนาจของประชาชนไปเป็นอำนาจของตนเองและมีพวกพ้องคอยป้อยอให้หลงผิดคิดว่าตนนั้นไม่โง่ เพื่อพวกพ้องจะได้อาศัยหากินเก็บผลประโยชน์จากการให้คนโง่แต่คิดว่าตัวเองฉลาดนั่งเมืองต่อไปเรื่อยๆ

สำหรับคนที่เห็นความไร้น้ำยาของรัฐบาลและนั่งด่านอนด่ามาโดยตลอดเมื่อได้รับผลกระทบอย่างน้อยเราก็รู้ว่าชีวิตเราจะดีขึ้นหากเรามีโอกาสได้ “เลือก” ผู้นำประเทศได้ตามสิทธิทางการเมืองของเราในฐานะเจ้าของอำนาจ

แต่สำหรับสลิ่มที่ได้รับผลกระทบ ชีวิตพังพินาศ ตกงาน กิจการเจ๊ง แต่ยังรักระบอบเผด็จการอยู่นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับพวกเขาที่ชีวิตจะต้องพังพินาศไปโดยไม่มีแม้แต่โอกาสจะรู้ว่าหายนะในชีวิตนั้นมันเกิดจากความเขลาในระดับที่ลึกถึงขั้นเป็นสันดานของตนเอง

ความเขลานั้นไม่น่ากลัว แต่ความเขลาที่กลายเป็นสันดานนั้นมันเหมาะสมกับคำว่าน่าเวทนาเพียงคำเดียวเท่านั้น