คุยกับทูต | แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน สัมพันธ์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ 420 ปี (2)

คุยกับทูต | แร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน

สัมพันธ์ ไทย-เนเธอร์แลนด์ 420 ปี (2)

 

เมื่อพูดถึงจักรยาน เชื่อว่าหลายคนคิดถึงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเอกลักษณ์ของเมืองคือ วัฒนธรรมการขี่จักรยานของประชากร (Cycling Culture) โดยเมืองหลวงซึ่งมีขนาดเล็ก และมีประชากรเพียง 1,182,000 คน (เพิ่มขึ้น 0.68% จากเมื่อปี 2023) แห่งนี้ กลับมีจักรยานที่ใช้มากถึง 881,000 คัน ซึ่งนั่นหมายความว่าในทุกๆ ครัวเรือน จะมีจักรยานที่ใช้กันอย่างน้อย 1-2 คันนั่นเอง

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำราชอาจักรไทย เล่าเรื่องเนเธอร์แลนด์ ประเทศจักรยานที่เกิดจากพลังชาวดัตช์

เป็นเรื่องจริงหรือไม่ที่ผู้คนในเนเธอร์แลนด์ยังคงปั่นจักรยานกันเป็นจำนวนมาก แม้แต่ในเมืองหลักๆ ก็ตาม

“นอกจากทิวลิป ชีส รองเท้าไม้ และกังหันลมแล้ว สิ่งหนึ่งที่เนเธอร์แลนด์เป็นที่รู้จักก็คือ การใช้จักรยานเป็นพาหนะในชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างแพร่หลาย แม้แต่นายกรัฐมนตรีของเราก็ปั่นจักรยานไปทำงาน”

“นอกจากนี้ ที่สถานทูตของเราในกรุงเทพฯ ยังได้มีส่วนร่วมในการนำจักรยานมายังประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่กรุงเทพฯ”

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ (2 จากซ้าย) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่า กทม. (ขวาสุด)

ชาวดัตช์ชื่นชอบการปั่นจักรยานมาโดยตลอดหรือไม่

“ไม่เสมอไป แต่ประวัติความเป็นมาของจักรยานเมื่อย้อนกลับไปสองศตวรรษก่อน มีการพัฒนาทดลองจักรยานครั้งแรกในยุโรป ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา การออกแบบมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง จนกระทั่งรูปร่างของจักรยานสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว โดยเป็นล้อสองล้อที่มีขนาดเท่ากัน ขับเคลื่อนด้วยแป้นเหยียบสองอันใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยโซ่ แฮนด์จักรยาน (Handlebars) ใช้ควบคุมทิศทางของรถผ่านล้อหน้า และแม้ว่าจะมีนวัตกรรมมากมายที่ทำให้จักรยานเร็วขึ้น แข็งแกร่งขึ้น เชื่อถือได้มากขึ้น เบาขึ้น หรือควบคุมได้ง่ายขึ้น แต่พื้นฐานยังคงเหมือนเดิม”

“ดังที่ทราบ จักรยานมีอยู่ทั่วไปในประเทศเนเธอร์แลนด์ ชาวดัตช์มักจะปั่นจักรยานเกือบทุกที่ ไปมหาวิทยาลัย, ไปทำงาน, ไปเดต, ไปพบแพทย์, ไปซูเปอร์มาร์เก็ต และอื่นๆ โดยรวมแล้ว ชาวดัตช์โดยเฉลี่ยปั่นจักรยานประมาณ 1,000 ก.ม.ต่อปี ด้วยเหตุผลดังกล่าว”

“ปั่นสองล้อไม่ง้อน้ำมัน” การปั่นจักรยานจึงไม่ใช่แค่การเดินทางอีกต่อไป แต่กลายเป็นความสนุกสนาน

จักรยานในเมืองอัมสเตอร์ดัม ภาพ- Sustainable Cities

ข้อดีของการปั่นจักรยาน

“การใช้จักรยานเพื่อสัญจรมีข้อดีหลายประการ ประการแรก เหตุผลทางเศรษฐกิจ : จักรยานมีราคาค่อนข้างถูก นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม การประดิษฐ์จักรยานก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ”

“ปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายที่นำเสนอจักรยานหลากหลายสไตล์ในราคาที่แตกต่างกัน โลกาภิวัตน์ของตลาดได้ช่วยลดต้นทุนด้วย แต่นอกจากต้นทุนในการซื้อจักรยานแล้ว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางยังต่ำเมื่อเทียบกับการเป็นเจ้าของรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์อีกด้วย การติดตั้งโซ่ใหม่หรือเปลี่ยนยางมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสายพานไทม์มิ่ง (หรือบางคนเรียกว่า สายพานราวลิ้น) หรือท่อไอเสียใหม่สำหรับรถยนต์ของคุณอย่างมาก และอย่าลืมว่า ไม่มีการจ่ายภาษีสำหรับการเป็นเจ้าของจักรยานในประเทศส่วนใหญ่”

ข้อดีในทางปฏิบัติ

“ยกตัวอย่างในการจอดรถ จักรยานใช้พื้นที่เพียงเศษเสี้ยวของพื้นที่ที่รถใช้จอด จักรยานยังมีแม้กระทั่งแบบที่พับได้ สามารถนำติดตัวไปบนรถไฟ”

ข้อดีในด้านสุขภาพ

“การขี่จักรยานนอกจากช่วยให้มีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงแล้ว ยังสามารถช่วยลดน้ำหนัก เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ลดไขมันในเลือดหรือคอเลสเตอรอล และยังช่วยทางด้านสุขภาพจิตอีกด้วย เนื่องจากจักรยานใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อ จึงไม่มีควันไอเสีย จักรยานจึงเป็นมิตรกับสภาพอากาศอย่างยิ่ง”

“เหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่กรุงเทพฯ ซึ่งเผชิญกับการจราจรที่ติดขัด ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะทางมลพิษ ได้รับประโยชน์อย่างมาก”

นักธุรกิจอัมสเตอร์ดัม ภาพ -Dawn Paley

การส่งเสริมการปั่นจักรยานในเนเธอร์แลนด์

“เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับจักรยานมาก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นที่ราบ การเดินทางด้วยจักรยานจึงเป็นเรื่องง่าย เนเธอร์แลนด์จึงใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ด้วยการสร้างเลนจักรยานและเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ”

“ในเมืองต่างๆ รวมถึงในพื้นที่ชานเมืองและชนบท มีถนนและช่องทางที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลอย่างดีเพื่อรองรับนักปั่นจักรยานในทุกที่ที่พวกเขาต้องการ”

“ในหลายพื้นที่ การจราจรทางจักรยานได้รับการส่งเสริมมากกว่าการใช้รถยนต์ นี่เป็นเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับในใจกลางเมืองหลายแห่ง เช่น เมืองชั้นในของอัมสเตอร์ดัม แม้ว่าในทางเทคนิคแล้วจะสามารถเดินทางไปยังสถานที่ส่วนใหญ่ด้วยรถยนต์ได้ แต่การขับรถก็ไม่สะดวกเนื่องจากตัวเลือกที่จอดรถที่จำกัดและอัตราค่าจอดรถที่สูง ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากไม่มีรถยนต์และพึ่งพาจักรยานเพื่อสัญจรไปมา”

นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ และนายคาเตอร์ ดวงพร้อมลูกทั้งสาม

อุปสรรคในการปั่นจักรยานในเนเธอร์แลนด์

“เนเธอร์แลนด์ยังเผชิญกับช่วงเวลาที่รถยนต์ครอบงำโครงสร้างพื้นฐานของเรา ในเมืองใหญ่ๆ เช่น อัมสเตอร์ดัมและอูเทรคต์ (Utrecht) มีทางหลวงวิ่งผ่านศูนย์กลางประวัติศาสตร์ การขี่จักรยานนับเป็นสิ่งที่อันตรายและมีการเสียชีวิตจากการจราจรค่อนข้างบ่อย คล้ายกับเมืองใหญ่อื่นๆ”

“แต่ในช่วงทศวรรษ 1970 ประชากรชาวดัตช์รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งนี้ และเนื่องจากความพยายามของสาธารณชน จึงมีการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อส่งเสริมการปั่นจักรยานและปรับโครงสร้างพื้นฐานของเนเธอร์แลนด์ทั้งหมดให้เข้ากับการปั่นจักรยาน”

“โดยเรายังคงทุ่มเทความพยายามนี้ต่อไปทุกวัน มีการสร้างและบำรุงรักษาทางจักรยานอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองดำเนินการเพื่อจำกัดการจราจรทางรถยนต์โดยไม่จำเป็นในศูนย์กลางประวัติศาสตร์ของตน”

ภาพ – ANNE HAMERS

การปั่นจักรยานมีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร

“จักรยานมีผลกระทบอย่างมากต่อสังคมทั่วโลก ตัวอย่างเช่น จักรยานได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการช่วยปลดปล่อยผู้หญิงในอเมริกาและยุโรปในช่วงทศวรรษ 1890 จักรยานช่วยให้ผู้หญิงมีความคล่องตัวทางสังคมมากขึ้น โดยเป็นรูปแบบการคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมและเข้าถึงได้”

“ในประเทศจีน ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา จักรยาน ‘นกพิราบบิน’ (Flying Pigeon) กลายเป็นชื่อที่ใช้ในครัวเรือน และด้วยเหตุนี้ ประเทศจึงได้ชื่อว่า ‘อาณาจักรแห่งจักรยาน’ จักรยานถือได้ว่า เป็นหนึ่งในสาม ‘สิ่งที่ต้องมี’ ของพลเมืองทุกคน ควบคู่ไปกับจักรเย็บผ้าและนาฬิกา ซึ่งเป็นสิ่งของที่จำเป็นในชีวิตที่บ่งบอกถึงความมั่งคั่งอีกด้วย จักรยาน Flying Pigeon กลายเป็นสัญลักษณ์ของระบบสังคมที่เท่าเทียมกันซึ่งให้ความสะดวกสบายเพียงเล็กน้อย แต่เป็นการขับขี่ที่เชื่อถือได้ตลอดชีวิต”

สำหรับในประเทศไทยเริ่มมีจักรยานใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ซึ่งได้นำจักรยานเข้ามาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากการเดินทางกลับจากการปฏิบัติหน้าที่พิเศษที่กรุงลอนดอน จักรยานที่นำเข้ามานั้นมีลักษณะล้อหน้าใหญ่ ล้อหลังเล็กก่อนหน้าที่จะพัฒนามาเป็นจักรยานล้อเท่ากัน (-จักรยานในสยาม Culture ศิลปวัฒนธรรม-มติชนอคาเดมี)

ในหนังสือจดหมายเหตุแสงอรุณ เล่ม 5 หน้า 15 ฉบับ 1 มีนาคม พ.ศ.2439 มีข่าวลงว่า “รถไบไซ เกล์ [จักรยาน] คือ รถถีบ มี 2 ล้อเรียงกัน มีราคาขายคันละ 100 บาทขึ้นไป จนถึงคันละ 300 บาทเศษ” และเหตุที่คนไทยนิยมขี่จักรยานเป็นพาหนะ เพราะเริ่มมีถนนหนทางเกิดขึ้น •


ดอกทิวลิปและกังหันลม DeZwaan ในฮอลแลนด์ ภาพจาก Pure Michigan

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin