วัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นของอินเดีย-ไทย ก่อนจะมาถึง “ลำไย ไหทองคำ” | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23/06/2017

 

ผมไม่เคยรู้จัก ลำไย ไหทองคำ จนกระทั่งท่านนายกฯ ออกมาพูดถึง จึงลองไปติดตามชม แล้วก็ไม่เข้าใจว่าท่านนายกฯ ซึ่งมีเรื่องให้ทำเยอะแยะรวมทั้งเรื่องที่ท่านเองควรชี้แจงต่อสังคมด้วย (เช่น เรื่องรถไฟความเร็วสูงของจีน พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ ฯลฯ) จะมาอะไรกับคนที่ทำงานสุจริตคนหนึ่งถึงกับต้องพูดออกสื่อ

กลายเป็นช่วยโปรโมตให้คนรู้จักคุณลำไยมากขึ้น รวมทั้งผมด้วย (ฮา)

หลังนายกฯ กล่าวออกสื่อไปแล้ว ผู้พิทักษ์ศีลธรรมอันดีงามของสังคมไทยก็ดาหน้ากันออกมาวิจารณ์กรณีคุณลำไยกันมาก ทั้งท่าเต้น ทั้งชุดแต่งกาย วิจารณ์แม้กระทั่งชื่อในการแสดง “ไหทองคำ” โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่านั่นมันชื่อคณะของเขา

ในทางกลับกัน หลายท่านก็ออกมาให้ความเห็นเรื่องวัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นของพื้นบ้าน โดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน เช่น ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน เพื่อนร่วมงานรุ่นใหญ่ของผมที่ภาควิชาปรัชญา ศิลปากร

อาจารย์ชาญเล่าว่า ในอีสานบ้านเกิดของท่านนั้น การแสดงพื้นบ้านอย่างหมอลำ (ซึ่งใช้พื้นที่วัด อันเป็นลานกิจกรรมสาธารณะของชุมชน) ดึกเข้าหน่อยก็ร้องรำเรื่องเพศออกมากันโท่นๆ และอย่างสนุกสนาน จนคนดูอยู่กันถึงเช้า

แม้แต่พระเจ้าพระสงฆ์จะเทศน์ในงานบุญ ชาวบ้านจะเป็นคนเลือกว่าจะให้เทศน์เรื่องอะไร โดยมากก็เป็นวรรณกรรมท้องถิ่น อาจารย์ชาญเล่าว่า สมัยที่แกเป็นสามเณรนั้นชาวบ้านให้เทศน์นิทาน “เสียวสวาด” (แปลว่า ผู้เฉลียวฉลาด) เรื่องพระธุดงค์โดนตุ๊กแกกัดคุยหฐานกับสาวที่ใช้หน่อไม้อ่อนบรรเทาความร้อนรุ่มในใจ

อันนี้คือบทเทศน์พระเณรในวัฒนธรรมชาวบ้านเลยนะครับ ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไร

 

เมื่อย้อนกลับไปดูในวัฒนธรรมชาวบ้านไทย ทุกๆ ท้องที่ ล้วนแต่มีวัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นกันทั้งนั้น

วัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นเหล่านี้มีในหลากรูปลักษณะ เช่น ในศิลปะการแสดงซึ่งมักพบมากกว่าอะไรอื่น ในจิตรกรรมในสถาปัตยกรรม ในข้าวของเครื่องใช้ ในวรรณกรรมและแม้แต่ในพิธีกรรม

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือของเหล่านี้ไม่ได้แยกออกไปจากพื้นที่ของศาสนา จิตรกรรมหรือวรรณกรรมเชิงสังวาส มันก็อยู่ในวัดทั้งนั้นครับ

ในอินเดีย เทวสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งนั้นคือ เทวาลัยที่ “ขชุรโห” เต็มไปด้วยรูปสลักกามสูตรและการร่วมเพศอย่างวิจิตรพิสดาร

แม้วัฒนธรรมอินเดียในปัจจุบันนี้จะกลายเป็นวัฒนธรรมแบบพราหมณ์ทางการไปเสียมาก แต่ในวิถีชีวิตชาวบ้าน วัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นยังคงดำรงอยู่ แม้ไม่มากเท่ากับอุษาคเนย์ก็ตาม

อย่างในประเพณีโหลิ พราหมณ์จะทำบูชาก็ทำไป ชาวบ้านก็ก่อไฟร้องเพลงสัปดี้สัปดนเกี้ยวกัน อีกวันสาวๆ ก็เอาไม้ไล่ตีหนุ่มๆ ตามตรอกซอกซอย ทั้งๆ ที่ปกติก็อยู่บ้านไม่ออกไปไหน

เพลงเกี้ยวพาราสี หรือเพลงเกี่ยวกับเกษตรกรรม จะไทย จีน ฝรั่ง แขก ก็ล้วนสองแง่สองง่ามทะลึ่งๆ ทั้งนั้น

ของพวกนี้อยู่ในวัฒนธรรมชาวบ้านมายาวนาน ผมเข้าใจว่าเพราะมันมีหน้าที่อยู่สองประการ อย่างแรก การร้องรำทะลึ่งนั้นเป็นพิธีกรรม “เจริญพืชพันธุ์” อย่างหนึ่งตามระบบความเชื่อโบราณ

ความเชื่อดึกดำบรรพ์นี้ตรงไปตรงมาครับ ไม่มีสังวาสก็ไม่มีพืชผล จะคนสัตว์พืชก็เหมือนกันหมด จะสังวาสได้ก็ต้องกระตุ้นกันสักหน่อยด้วยรำร้องพิธีกรรมเช่นนี้แหละ

 

อีกประการหนึ่ง เป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดที่มีในสังคมนั้น เช่น ในอินเดียซึ่งมีพื้นที่แสดงออกของผู้หญิงน้อย ร้องรำหรือพิธีแบบนี้คือการปลดปล่อยความเครียดออกมา สังคมก็ไปต่อได้

แนวคิด “รักนวลสงวนตัว” ที่มักเข้าใจกันว่า คือความเป็นไทยแท้ หรือเป็นของโบร่ำโบราณ เอาเข้าจริงๆ แล้วผมไม่แน่ใจนักไม่ว่าจะอินเดียหรือไทย

ในมหาภารตะ นางเทราปทีมีผัวเป็นพี่น้องปาณฑพทั้งห้าคน มีงานศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ตำนานในมหากาพย์เรื่องนี้มีที่มาจาก วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนพื้นเมืองก่อนอารยันจะมาถึง คือเมียเดียวมีผัวหลายคน ซึ่งเข้าใจว่าในอุษาคเนย์ก็อาจมีวัฒนธรรมเช่นนี้ด้วย

ความคิดเรื่องรักผัวคนเดียว (สันสกฤตว่า ปติวรตา ที่กลายเป็นชื่อนิยาย ปดิวรดา) ผมเข้าใจว่าเป็นแนวคิดในภายหลัง ต่อเมื่อต้องการระเบียบทางสังคม (ที่กำหนดโดยผู้ชาย) แล้ว แนวคิดนี้จึงไปปรากฏเป็นตำนานในปุราณะ และขับเน้นขึ้นในมหากาพย์รามายณะ โดยเฉพาะฉบับตุลสีทาส ซึ่งสร้างค่านิยมรักนวลสงวนตัว และให้สาวๆ นุ่งห่มมิดชิดไม่พูดจากับชายอื่นจึงจะเป็นหญิงดีเยี่ยงพระสีดา

เทวรูปพระเทวีทั้งหลายในปัจจุบันที่เห็นใส่สาหรี เครื่องประดับอลังการนั้น ล้วนเป็นของที่คนปัจจุบันไปยัดใส่ให้ท่านทั้งนั้นครับ ด้วยค่านิยมไม่เปิดเผยเนื้อหนังนี่แหละ แต่โบราณเทวรูปเทวีที่ไหนก็นุ่งน้อยห่มน้อยทั้งนั้น เปลือยถันก็ยังมี

บางองค์ก็ใส่ “กุจพันธะ” แปลตามตัวว่า (แถบผ้า) พันเต้านม เป็นแถบผ้าเล็กๆ พอปิดยอดปทุมถันเท่านั้น

เรียกว่า หวาดเสียวกว่าชุดน้องลำไยเยอะ หรือเกาะอกบ้านเราเยอะอย่างเทียบกันไม่ติด

 

ส่วนในวัฒนธรรมของไทยเราเอง ลองอ่านวรรณกรรมอย่างขุนช้างขุนแผนดูครับ โอ้โห กลัวคุณระเบียบรัตน์จะเป็นลมเสียก่อน

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านว่าวรรณกรรมที่ออกแนวอย่างพวกกลอนสอนหญิงให้รักนวลสงวนตัวอะไรแบบนั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับชาวบ้าน แต่ไว้ให้ลูกสาวขุนนางที่จะต้องไปปรนนิบัติท้าวพระยา ไม่ใช่วรรณกรรมของคนทั่วๆ ไป

ส่วนท่าเต้นท่าร่ายรำแต่โบราณ ผมก็เข้าใจว่าจะอ่อนช้อยนิ้งโหน่งแบบที่เชื่อกันว่า นี่แหละประเพณีไทยแท้ก็ไม่มี ล้วนแต่รวดเร็วโยกย้ายส่ายเอว อย่างฟ้อนแง้นของภาคเหนือ ท่าต่างๆ ของหมอลำ และท่าโนรากับพราน ล้วนวิจิตรพิสดารยิ่ง

บางท่ากระเด้งกระเด้าเขย่าเสียยิ่งกว่าสมัยนี้

ในอินเดีย ลองไปดูท่ารำพระศิวนาฏราชที่สลักไว้สิครับ บางท่าพระองค์ท่านยกพระบาทขึ้นสูงยิ่งกว่าน้องลำไยเยอะ

 

ผมมิได้กำลังจะบอกว่า เพลงลูกทุ่งและการแสดงของน้องลำไยเป็นประเพณีโบราณอะไรแบบนั้นนะครับ และมิได้จะมีเจตนาปกป้องน้องเขาเป็นพิเศษ โดยการไปอ้างถึงวัฒนธรรมโบราณ แต่อยากให้เห็นว่าวัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นส่อนัยทางเพศนั้นเป็นของมีมาอยู่แล้ว เป็นของในวิถีชีวิตทั่วๆ ไป

ที่สำคัญ การแสดงประเภทลูกทุ่งของเราส่วนมากก็มี “ราก” จากการแสดงเชิงพิธีกรรมพื้นบ้านทั้งนั้น เช่น หมอลำ ลิเก ฯลฯ เพียงแต่มันพัฒนาขึ้นมาในทางรูปแบบและเทคโนโลยีต่างๆ

เหมือนอย่างละครหลังข่าวแหละครับ ผมว่ามันรับสืบขนบจากการแสดงเก่า เช่น ลิเกหรือละคร เพราะมันยังใช้วิธีเล่าเรื่อง ภาษาภาพ แก่นแกนอย่างละครแบบเดิม ไปดูละครหลังข่าวอินเดียก็อีกอย่างคือมีขนบ วิธีเล่าเรื่องและภาษาภาพของตัวเอง

ดังนั้น การแสดงของน้องลำไย ไหทองคำ จึงมีรากอยู่ในวัฒนธรรมของชาวบ้าน เป็นความบันเทิงแบบชาวบ้าน ภายใต้ระบบศีลธรรมและการจัดการของชาวบ้านเอง แม้หน้าที่ของมันอย่างพิธีเจริญพืชพันธุ์อาจไม่ใช่เสียแล้ว

แต่หน้าที่ของการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมยังมีอยู่อย่างเต็มที่

 

ที่สำคัญ ประเด็นขัดแย้งแบบกรณีวัฒนธรรมทะลึ่งนี้มันเป็นเรื่อง “ชนชั้น”เสียด้วย กล่าวคือ วัฒนธรรมทะลึ่งทะเล้นส่วนมากเป็นของชาวบ้าน ในขณะที่ชนชั้นสูงนั้นออกจะรังเกียจอะไรแบบนี้

วัฒนธรรมของชนชั้นสูงสถาปนา “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” โดยอาศัยมาตรวัดทางศีลธรรมของตนเอง และอ้าง “ความเก่าแก่ของขนบจารีต”

ซึ่งเป็นศีลธรรมและความเก่าแก่ที่ไม่รู้ว่าเอามาจากไหน

อำนาจทางศีลธรรมนี้เองที่คอยชี้นิ้วตัดสินและเข้าไปครอบงำกระทั่งความบันเทิงของชาวบ้าน

ของเก่าที่ชาวบ้านทำสืบมาและปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยจึงกลายเป็นของไร้รสนิยมและไร้ศีลธรรม

ลำไย ไหทองคำ จึงทำให้หลายๆ คนออกมาดิ้นยิ่งกว่าตัวน้องลำไยเองอีก ปัดโธ่