ประเด็น แหลมคม ตายแล้วเกิด ตายแล้วสูญ ประเด็น อจินไตย : ดังได้สดับมา

พุทธศาสนามีคำว่า “อจินไตย” ดำรงอยู่ ความหมายก็เป็นไปอย่างที่หนังสือพจนานุกรม ฉบับมติชน นิยามเอาไว้อย่างรวบรัด

อจินไตย วิสัยที่พ้นความคิด ที่ไม่พึงคิด

แม้ว่าไม่พึงคิดแต่ก็มิได้หมายความว่าจะละเลย หากแต่เมื่อประสบเข้ากับชุดในทางความคิดอันเข้าลักษณะ “อจินไตย” ก็จะมีกระบวนการอธิบายในอีกแบบ

แตกต่างไปจากที่หลายคนอยากให้เป็น

ดังนั้น เมื่อมีการยกประเด็นคำถามขึ้นว่า “เขากล่าวหาท่านอาจารย์ว่า อธิบายแบบตายแล้วสูญเป็น “นัตถิกทิฏฐิ” และเรื่องไม่มีตัวตน ไม่มีบุญ ไม่มีบาป การเกิดไม่มี นั้นเป็นการอธิบายของเดียรถีย์อย่างคนปราศจากวิชาความรู้ อย่างคนไม่รู้จริง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิด หลงผิดว่าไม่มีตัวตนที่ตายแล้วพาบุญกุศลไปด้วยได้

“นี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ”

คำถามอย่างนี้สำหรับผู้ที่ติดตามพุทธทาสภิกขุอย่างต่อเนื่องก็จะตระหนักได้เป็นอย่างดีว่าเป็นประเด็นอันมาจากคนที่เข้าใจผิด

ประเภทฟังไม่ได้ศัพท์ จับเอาไปกระเดียด

กระนั้น หากรับฟังคำตอบและกระบวนการในการอธิบายของท่านพุทธทาสภิกขุก็จะตระหนักตามความเป็นจริง

จำเป็นต้องอ่าน

ข้อแรก เขาหาว่าเราสอน “ตายแล้วสูญ” เราไม่เคยสอน อ้างหนังสือหลายร้อยหน้า หลายร้อยเล่ม หลายหมื่นหน้าที่พิมพ์ไปแล้ว

พิมพ์ออกไปแล้วมีตรงไหนบ้าง เล่มไหนบ้าง บรรทัดไหนบ้างที่อาตมาสอนว่า “ตายแล้วสูญ”

ถ้าว่าใครไปหาพบว่าตรงไหน บรรทัดไหน หรือแม้แต่ที่ยังอยู่ในเทปบันทึกเสียงที่ยังไม่ได้พิมพ์ที่อาตมาได้สอนว่า “ตายแล้วสูญ” ก็จะให้รางวัลผู้หาพบสักหมื่นหรือแสนก็ได้ จะขอยืมเงินจากพวกคุณนี่แหละไปให้รางวัลเขาที่ค้นพบว่าอาตมาได้สอนว่า “ตายแล้วสูญ”

อาตมาได้สอนเรื่องนี้ตั้งแต่แรกบวช พรรษาแรกของการบวชประมาณก็ 54 ปีมาแล้ว

สอนพวกชี อุบาสกอุบาสิกาประจำวัน ประจำโรงธรรม ว่าพุทธศาสนานั้นเขาไม่ได้สอนว่าตายแล้วเกิด ไม่ได้สอนว่าตายแล้วสูญ พวกท่านทั้งหลายอย่ายึดถือว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ

มันต้องว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย

ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับเกิดมี มันก็เกิด ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับเกิดมันไม่มี มันก็ไม่เกิด

อย่าพูดโดยส่วนเดียวว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ให้พูดว่าแล้วแต่เหตุปัจจัยคือ “อิทัปปัจจยตา”

หรือถ้าให้ดีกว่านั้น ให้จริงกว่านั้นก็ให้เห็นลึกลงไปว่า ไม่มีตัวคนที่กำลังเกิดอยู่ ที่กำลังอยู่ ที่มีชีวิตอยู่ นั่งกันอยู่ที่นี่ก็ตาม ไม่ใช่มีตัวคนที่กำลังเกิดอยู่ มันมีเพียงธาตุทั้งหลายที่ถูกปรุงแต่งไปตามกฎเกณฑ์แห่ง “อิทัปปัจจยตา”

เป็นกระแสเปลี่ยนแปลงแห่งธาตุทั้งหลาย ไม่มีตัวตนเดี๋ยวนี้ไม่มีตัวคนแล้วใครมันจะตาย แล้วใครมันจะเกิดล่ะ ถ้าเห็นว่าไม่มีตัวคนก็เลิกพูดกันได้เรื่องตายแล้วเกิดๆๆ หรือไม่เกิด

นี่อาตมาสอนอย่างนี้ในโรงธรรมศาลาตั้งแต่ปีแรกบวช ฉะนั้น เชื่อว่าอาตมาสอนอย่างนี้ก่อนคนที่มากล่าวหาอย่างนี้เกิด คนที่กล่าวหาอย่างนี้อายุคงไม่ถึง 50 ปี

แต่พวกคุณอย่าพูดนะว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด

แต่ถ้าว่าเราจะต้องพูดว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดบ้าง นี้เราก็พูดบ้างอย่างล้อเล่นก็มี อย่างมีการสอนโดยอ้อมก็มี คือสอนว่าถ้ามีปัญหาเรื่องตายเกิดหรือไม่เกิดนี้ให้เชื่อว่าตายแล้วเกิดไว้จะดีกว่า ได้เปรียบกว่าที่จะเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด

โดยข้อเท็จจริงมันพูดไม่ได้ว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด

ถ้าเห็นลึกเข้าไปอีกจะเห็นว่าโดยปรมัตถ์นั้นมันไม่มีคนอยู่แล้ว ใครมันจะตาย แล้วใครมันจะเกิด นี่เป็นพุทธศาสนา นี่เป็นคำสอนของพุทธเดียรถีย์

อาตมาเป็นสาวกของพุทธเดียรถีย์ก็ต้องพูดไปอย่างนี้

ถ้าเป็นอัญญเดียร์ถีย์หรือเดียร์ถีย์อื่นเป็นมิจฉาทิฏฐิอื่น เขาจะยืนยันว่าตายแล้วเกิดบ้าง บางพวกจะยืนยันว่าตายแล้วไม่เกิดบ้าง

นั่นเดียรถีย์อื่น ไม่ใช่เดียรถีย์นี้

ในเดียรถีย์นี้ ในธรรมวินัยนี้คือในพุทธศาสนานี้จะไม่มีการพูดว่า ตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด จะพูดแต่ว่า “อิทัปปัจจยตา” มันเป็นเพียงสายกระแสแห่ง “อิทัปปัจจยตา” อย่าพูดว่ามีคนตายแล้วมีคนเกิด มีคนอะไรเลย

สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดในตัวตนแห่งความเป็น “พุทธทาสภิกขุ” ที่ไม่มีใครสามารถบิดเบือนหรือเบี่ยงเบนไปได้

สมอย่างยิ่งกับสภาวะแห่งการเป็น “ทาส” ของ “พระพุทธเจ้า”

นั่นก็คือ ยึดกุมหลักแห่งพุทธธรรมอย่างมั่นแน่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักที่ท่านอ้างอิงอยู่ตลอดเวลา

คือหลักแห่ง “อิทัปปัจจยตา”

มันต้องว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับเกิดมี มันก็เกิด ถ้าเหตุปัจจัยสำหรับเกิดไม่มีมันก็ไม่เกิด