หลังเลนส์ในดงลึก : ภาพที่ดี

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ป่าห้วยขาแข้ง 10:50 น. ท้องฟ้าขมุกขมัวด้วยเมฆฝน หลังจากตกลงมาตลอดคืนที่ผ่านมา ฝนโปรยจนกระทั่งรุ่งเช้าสายฝนหนักขึ้น กระทั่งร่วม 9 โมงเช้าจึงเหลือเพียงละอองเบาบาง

เส้นทางลื่นไถลไม่มีร่องลึกๆ เนินชันๆ หลายเนินพื้นเป็นดินลูกรัง

ดูเหมือนว่าฤดูฝนไม่ได้ทำให้การสัญจรในป่าห้วยขาแข้งต้องพบกับอุปสรรคเท่าใด ความยุ่งยากมักเกิดขึ้นจากไม้ล้มขวาง กอไผ่ทั้งกอหรือบางส่วนซึ่งเกิดจากฝีมือช้างที่ดึงลงมากองไว้ หนามแหลมๆ ของไผ่หนามคือตัวการอันทำให้ร้านปะยางในเมืองลานสักคุ้นเคยกับคนในป่าห้วยขาแข้งดี มอเตอร์ไซค์ใช้ได้ตลอดปี

กระนั้น โก๊ะ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าก็รอเราอยู่จนกระทั่งเย็นเพื่อเดินทางเข้าหน่วยพร้อมๆ กัน

“ไปก่อนครับผมขี่ตามหลัง” เขาพูด

ระยะทางจากสำนักงานเขตถึงหน่วยเพียงแค่ 12 กิโลเมตร มีเนินชันๆ บ้างแต่ไม่ถึงกับยุ่งยาก

มีช่วงซึ่งต้องผ่านดงไผ่หลายครั้ง เราเสียเวลาบริเวณนั้นเพราะต้นไผ่ที่ขวางทาง

ประสบการณ์ของโก๊ะ คือพบเจอช้างหลายครั้ง เขาเข้ามาทำงานที่นี่เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นพนักงานราชการตำแหน่งพิทักษ์ป่าที่โชกโชน เดินลาดตระเวนในป่าห้วยขาแข้งเรียกได้ว่าแทบจะทุกตารางกิโลเมตรแล้ว ปะทะและเข้าจับกุมผู้ต้องหาหลายครั้ง

“แต่กับช้างไม่เอาครับ ตัวมันโต” โก๊ะว่า

บ้านพักของหน่วยพิทักษ์ป่ายังคงสภาพเดิมๆ บ้านไม้สีเขียวอ่อนซีดๆ มีระเบียงสูงจากพื้นราว 1 เมตร บ้านไม้สร้างมานานจึงเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดนอกจากคน ถ้าได้ยินเสียง โก๊ะร้องอย่างตกใจเวลาเข้าห้องน้ำ นั่นแสดงว่าเจ้าตุ๊กแกที่ปกติจะแอบอยู่หลังกระจกโผล่หน้าออกมาทักทาย

ได้ยินเสียงร้องอย่างตกใจของโก๊ะเพราะตุ๊กแก ผมนึกถึงภาพที่เขาเข้าจับกุมหรือปะทะโดยไม่กลัว เหมือนกับอ่อนสาผู้ช่วยนักวิจัยแห่งโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งซึ่งเดินเข้าไปหาเสืออย่างไม่หวั่น

และพร้อมกระโดดหนีทันทีเมื่อพบกับคางคก

จากหน่วยพิทักษ์ป่าเราใช้เวลาร่วม 40 นาทีจึงถึง “ที่ทำงาน” ซุ้มบังไพรอยู่ริมโป่งขนาดใหญ่ ในโป่งมีหมูป่าตัวหนึ่งเดินหากิน มันชะงักเงยหน้าขึ้นเมื่อผมเดินมาถึง ก้มหน้างุดๆ อีกครั้งก็เงยหน้าขึ้น และค่อยๆ เดินออกไป

ประสาทรับกลิ่นของมันเป็นเลิศ มันรู้ตัวถึงการมาของผมแต่ไม่ได้แสดงอาการตื่นหนีไปอย่างตกใจ

ในซุ้มบังไพรขนาด 1.50 เมตร คูณ 1.50 เมตร มิดชิดผ้ายางชนิดกันฝนได้พอสมควร มันเป็นแบบที่ช่วยให้การทำงานสบายขึ้น นอกจากตั้งใจจะออกแบบให้กันกลิ่นกายของเราไม่ให้ลอยออกไปให้มากนัก ความมิดชิดยังช่วยกันแมลงต่างๆ รวมทั้งยุง ช่อง “แอบดู” มีมุ้งกันยุง เราจะเปิดช่องเพื่อให้เลนส์ผ่านได้เฉพาะเวลาจะใช้งาน

เก้ง 2 ตัวเดินออกมาด้วยท่าทีปกติ ดูเหมือนพวกมันจะไม่มีความระแวงอะไร

ผมใช้เก้งทดสอบการทำงานของกล้องเพราะอยู่ใกล้มาก เสียงชัตเตอร์ทำเอาเก้งทั้งสองตัวหยุดกินเงยหน้าขึ้น เมื่อไม่มีเสียงผิดปกติอีกก็ก้มลงกินต่อ เก้งมีประสาทสัมผัสที่ดีทั้งการมอง การรับฟัง และการรับกลิ่น สัตว์ต่างๆ ใช้เก้งเป็นผู้ตรวจสอบ เมื่อเก้งหากินอย่างปกติย่อมแสดงว่าบริเวณนั้นปลอดภัย

ผมมองเก้งด้วยตาเปล่า นานมาแล้วที่ผมรู้ว่ากับสัตว์ป่านั้นผมจะ “เห็น” พวกมันได้ชัดเจนเมื่อละสายตาจากช่องมองภาพ


ผมใช้เวลาวันละ 9-10 ชั่วโมงอยู่ในที่แคบๆ เช่นนี้ มองไปรอบๆ มีเป้ใส่กล้อง กล่องใส่ข้าวกลางวัน กระบอกน้ำและกระติกที่ชงโกโก้ร้อนไว้เต็ม ขาตั้งกล้องที่รองรับเลนส์เทเลโฟโต 400 มิลลิเมตร

เก้าอี้พับอันเล็กซึ่งเริ่มขาดคือความสะดวกสบายที่มี

ผมเคยบอกไว้ว่านี่คือโลกแคบๆ ที่ข้างนอกนั้นมี “ครู” ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา “สอน”

โลกแคบๆ อันทำให้รู้ว่าโลกข้างนอกนั้นกว้างใหญ่เพียงไร ผมมองรอบๆ พลางนึกถึงสิ่งที่เรียกว่ากาลเวลา นานเท่าไหร่แล้วที่ผม “เป็น” เช่นนี้ มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป เครื่องมือหลายอย่างไม่ใช่ชนิดเดียวกับครั้งที่ผมเริ่มต้น

หลายวันก่อนตั้งแต่เช้าจนค่ำ บริเวณที่ผมเฝ้ารออยู่เงียบเชียบ มีเพียงเสียงชะนีร้องจากที่ไกลๆ ไม่มีเก้ง กวาง หรือหมูป่าเจ้าประจำ

กระทั่งเย็นผมจึงรู้ว่ามีเสือดำตัวหนึ่งมานอนเล่นอยู่แถวๆ นั้น ทุกครั้งที่พบเห็นเสือผมนึกถึงวิถีชีวิตของพวกมัน ในการศึกษาเสือโดยเฉพาะเสือโคร่งอย่างจริงจังของโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พบว่าเสือจะมีความยากลำบากอยู่ 2 ช่วง คือช่วงแรกที่ต้องแยกออกจากพ่อแม่ก่อนจะแสวงหาถิ่นของตัวเองได้ และช่วงที่สองตอนที่โดนเบียดออกจากถิ่นของตัวเอง

ช่วงแรกนั้นยากลำบากก็จริง ถึงแม้ว่าอาจผ่านพ้นด่านทดสอบไปไม่ได้ด้วยซ้ำเพราะพลาดพลั้งไปปะทะกับเสือที่แข็งแรงกว่า

แต่ด้วยวัยซึ่งมีพละกำลังและจิตใจอันฮึกเหิมรวมทั้งความรู้สึกที่คิดว่า “รู้” หมดทุกสิ่ง ก็ดูเหมือนจะผ่านช่วงเวลานั้นไปไม่ยาก ความ “ยาก” ที่แท้จริงอยู่ที่ช่วงหลัง เสือที่อ่อนล้าโดนเบียดออกจากถิ่น พละกำลังถดถอย สิ่งที่พวกมันทำคือเปลี่ยนจากเหยื่อที่เข้มแข็งอย่างกระทิงหรือวัวแดง เป็นเหยื่อที่ย่อมลงมาอย่างกวางตัวเมีย มีบางครั้งพบว่าพวกมันล่าหมูป่า

ชีวิตของเสืออยู่ได้ด้วยการล่าที่ประสบผลสำเร็จ

การปรับตัวของพวกมันไม่ได้เปลี่ยนจากการเป็นนักล่า พวกมันเปลี่ยนเหยื่อที่จะล่าเท่านั้น และเมื่อถึงวันที่ล่าไม่ได้ จุดจบคือสิ่งที่ต้องยอมรับ


ท้องฟ้าเปลี่ยนจากขมุกขมัวเป็นสดใสอยู่ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็กลับมาขมุกขมัวอีก สายฝนโปรย เก้งสองตัวเงยหน้าขึ้นมองหมูป่าที่เดินเข้ามา ขณะเดินผ่านซุ้มบังไพรพวกมันชำเลืองมองความผิดปกติ ดวงตาของมันที่ค่อนมาทางหูทำให้การมองรอบๆ ง่ายขึ้น

ผมลองกดชัตเตอร์ มันสะดุ้งหยุดเดิน วิ่งไปข้างหน้า 4-5 ก้าวแล้วหยุด เป็นหมูที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ คราบโคลนติดอยู่เต็มตัว โคลนแห้งๆ เป็นคล้ายเกราะป้องกันแมลง

เสียงนกกกบินมาส่งเสียง “ฟืด ฟืด” นกมูมมารวมกลุ่มเตรียมตัวลงกินน้ำ เย็นๆ กว่านี้ฝูงกระทิงหรือช้างคงออกมาตามปกติ ผมมองไปที่พุ่มไม้ด้านขวามือ เมื่อสองอาทิตย์ก่อน กวางรุ่นๆ ตัวหนึ่งถูกหมาไนเข้ารุมที่นั่น ซากของมันโดนกินหมดเหลือแค่หนังและกระดูกภายในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง

ผม “เห็น” ภาพเหล่านี้เสมอๆ “เป็น” เช่นนี้มานานแล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปก็เพียงเครื่องมือ


หมูป่าเปลี่ยนจากอาการเดินเรื่อยๆ เป็นกระโจนอย่างรวดเร็ว มันอาจได้กลิ่นผม นั่นจะเป็นภาพที่ดีหากผมมองมันผ่านช่องมองภาพ

ผมกดชัตเตอร์หลังจากหมูตัวนั้นกระโจนผ่านไปแล้ว

กดชัตเตอร์ เพราะภาพจะไม่ได้บันทึกไว้ในการ์ด แต่จะเป็น “ภาพที่ดี” ซึ่งบันทึกไว้ในใจ