จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : พร้อมเพย์ – พร้อมพัง

ญาดา อารัมภีร

การขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่มีหลากหลายทั้งของไทยและของจีน ดังจะเห็นได้จากข้อความบางตอนใน “ประกาศหอรัษฎากรพิพัฒน์” เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 13 ค่ำ ปีกุน จุลศักราช 1249 พ.ศ.2430

“การเล่นพนันต่างๆ ซึ่งชาวสยามเคยเล่นเป็นการสนุก และแข่งขันพนันกันด้วยทรัพย์สมบัติพัสดุเงินทองต่างๆ นั้น ที่เป็นการพนันของชาวสยามแท้ก็มีแต่ วิ่งม้า วิ่งวัว ชนนก ชนไก่ ชนปลาและไพ่ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น การเล่นถั่วโปนั้นเป็นวิชาการพนันของจีน พวกจีนพากันเข้ามาพึ่งพระบรมเดชานุภาพอาศัยทำมาหากินอยู่ในกรุงสยามได้ความผาสุกหากินอยู่ตามภูมิลำเนาแล้ว พากันก่อการเล่นถั่วโปซึ่งเป็นวิชาถนัดของตนขึ้น ชักชวนให้คนไทยให้หลงเล่นไปด้วย ทำให้เป็นการเสียทรัพย์เสียเวลา เสียประโยชน์การค้าขาย และทำให้สันดานหมกมุ่นไปในสิ่งซึ่งหาประโยชน์มิได้ เป็นการร้ายแรงยิ่งกว่าการเล่นซึ่งชาวสยามเคยเล่นกันมา”

มีวรรณคดีหลายเรื่องกล่าวถึงการพนันทั้งของไทยและของจีน รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงอิเหนาชวนนางจินตะหรา มาหยารัศมี และสการะวาตี เล่นไพ่ต่อแต้มไว้ในตอนหนึ่งของบทละครรำเรื่อง “อิเหนา”

“พระตรัสชวนโฉมยงทรงต่อแต้ม
ยิ้มแย้มเย้ายวนสรวลสันต์
ต่างองค์ลงไพ่เป็นเชิงชั้น
งอนจริตบิดผันพาที”

 

‘ต่อแต้ม’ สมัยก่อนมิได้ใช้ไพ่ป๊อกอย่างสมัยนี้ ดังที่ “อักขราภิธานศรับท์” ของ ดร.แดนบีช บรัดเลย์ อธิบายว่า

“เปนชื่อไพ่เครื่องเล่นอย่างหนึ่ง, เขาทำด้วยงาช้างยาวสักสองนิ้ว, กว้างสักนิ้วหนึ่ง, เจาะเปนรูๆ, เรียกว่าแต้ม, เมื่อเล่นเอาแต้มวางต่อให้ถูกต้องกัน”

วรรณคดีเรื่อง “อิเหนา” ยังเล่าถึงบ่อนถั่วในงานพระเมรุเมืองหมันหยา ถ่ายทอดภาพนักพนันที่มาเที่ยวชมงาน ถือโอกาสเสี่ยงโชคเสียเลย

“พวกผู้ชายโฉงเฉงนักเลงถั่ว
ก็แต่งตัวนุ่งผ้าพกใหญ่

เห็นบ่อนตั้งหลังระทาดอกไม้
ก็แวะวางเข้าไปนั่งแทง

บ้างยักขึ้นเส้นเล่นพกเปล่า
ครั้นเสียเข้าก็นั่งทำหน้าแห้ง”

‘ถั่ว’ คือ การพนันซึ่งใช้ถ้วยครอบเบี้ย โดยมากใช้เบี้ยจั่น เมล็ดมะขามผ่าซีก หรือเมล็ดละหุ่ง เมื่อเปิดถ้วยแล้วแจงนับทีละสี่เบี้ย

ส่วน ‘โป’ หรือ ‘โปปั่น’ คือการพนันซึ่งมีการปั่นโป เครื่องเล่นทำด้วยทองเหลืองสี่เหลี่ยม มีลิ้นแดงขาวข้างในใช้ปั่น “อักขราภิธานศรับท์” ให้รายละเอียดว่า ทองเหลืองสี่เหลี่ยมนั้นกว้างสองนิ้ว ถ้าแทงถูกข้างขาว ผู้แทงได้

 

การพนันเป็นที่ชื่นชอบของทุกเชื้อชาติ ดังที่ “เพลงยาวตำนานหวย” ของนายกล่ำ เล่าถึงสภาพการณ์ในเมืองไทยสมัยนั้นว่า

“ลาวละครมอญไทยอ้ายพม่า
มันเริงร่าแสนสนุกเป็นสุโข

บ้างเล่นไพ่พัวพันบ้างปั่นโป
เอาปากโวร้องซุ่ดจนสุดแรง”

มีบ้างที่เล่นได้ รวยเอาๆ ดังกรณีเมียเจ๊กขายหมู ใน “นิราศเมืองเพชร” ของสุนทรภู่

“ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก
ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข

เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรวยโป
หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก”

ผู้ที่เล่นเสียก็เหมือนยกเอานรกมาไว้ในบ้าน ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “โอวาทกระสัตรี” เล่าถึงพฤติกรรมผัวชั่วผลาญเงินเมียไปกับอบายมุข

“แต่ข้างฝ่ายชายผัวนั้นชั่วช้า
การทำมาหากินไม่ได้เรื่อง

กินแล้วออกเที่ยวเล่นเป็นนิจเนือง
คิดจะเปลื้องเครื่องเรือนสู่เพื่อนกิน

ภรรยาหาได้เอาไปเสีย
เล่นแต่เบี้ยโปถั่วตัวปลอกปลิ้น

ละเลิงลามตามปัญญาเป็นอาจิณ
สูบแต่ฝิ่นกินแต่เหล้าทุกเช้าเย็น”

 

อย่าว่าแต่คนที่เป็น ‘ไท’ (= เป็นอิสระ) แม้แต่ ‘ทาส’ ก็หนีการพนันไม่พ้น หมดตัวเมื่อไรก็ขายตัวเป็นทาสเมื่อนั้น “พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าด้วยทาสและเกษียณอายุ” ทรงระบุว่าการพนันเป็นหนึ่งในอุปสรรคของการเลิกทาส

“คนก็คงจะยังอยากเป็นทาสอยู่ เพราะเหตุที่เป็นการไม่ต้องเสียข้าราชการมากนัก แล้วไม่ต้องทำมาหากินสิ่งไร อาศัยกินข้าวของนายไปมื้อๆ หนึ่ง เมื่อการมาก็ทำ ก็เมื่อไม่มีการก็นอนอยู่เปล่าๆ ถ้ามีทุนรอนบ้างเล็กน้อยก็คิดเล่นโปเล่นหวย ลองเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายดูทีหนึ่ง เมื่อมันเสียไปแล้ว อยู่ไปคงมีข้าวกิน ก็การที่จะให้ทาสหมดไปนั้น ถ้าต้นเหตุยังไม่สิ้น ปลายเหตุก็คงยังมี”

น่าสังเกตว่าการพนันยังขยายขอบข่ายจาก ‘นอกวัง’ เข้าไปถึง ‘ในวัง’ และ ‘ในวัด’ เพราะคนนอกเป็นตัวการ ดังตอนหนึ่งของประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 22 “ประกาศพระราชบัญญัติฝ่ายพระบวรราชวัง เรื่องเล่นเบี้ยในพระบวรราชวัง” มีข้อความว่า

“…ในพระบวรราชวังนี้ แต่ก่อนหามีผู้ใดบังคับว่ากล่าวรักษาพระบวรราชวังเด็ดขาดไม่ คนนอกพระราชวังเข้าไปอาศัยอยู่ในพระบวรราชวังก็มีอยู่มาก ที่เป็นคนนักเลงทุจริตก็มี เป็นข้าเจ้าบ่าวนายหลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ก็มีบ้าง คบหากันเข้ากับคนในพระบวรราชวังเล่นเพื่อน ตั้งบ่อนถั่ว บ่อนแปดเก้า เล่นหวย การพนันต่างๆ จนสิ้นทรัพย์สิ่งสิน เกิดโจรผู้ร้ายมาช้านาน…”

นอกจากนี้ รัชกาลที่ 4 ยังทรงออกประกาศฉบับที่ 176 “ประกาศพระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณรแลศิษย์วัด” ณ วันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะแม เอกศก จัดการผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

“บัดนี้ โปรดจะให้ชำระทุกพระอารามหลวงแลวัดขึ้นทั้งปวง จะขอเอาตัวพระภิกษุสามเณรที่เสพสุรา น้ำตาลส้ม แลสูบฝิ่นสูบกัญชา กินข้าวค่ำ เล่นถั่วโปการพนันต่างๆ แลถืออาวุธเที่ยวหรือเล่นสวาท สึกเสียแทบให้สิ้นเชิง อย่าให้รกวัดวาอารามที่ทำบุญบูชา”

 

ดร.แดนบีช บรัดเลย์ หรือหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีที่เคยประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้เขียนบทความจากประสบการณ์จริง เรื่อง ‘การเยี่ยมชมบ่อนการพนัน’ (จากหนังสือ “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน” กรมศิลปากร แปลและพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2557)

“ข้าพเจ้าเพิ่งกลับมาจากการออกสำรวจบ่อนการพนันที่มีชื่อเสียงซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับบ้านของข้าพเจ้า บ่อนการพนันนี้เป็นเรือนแพลอยน้ำ ซึ่งมีชาวจีนผู้หนึ่งเป็นเจ้าของ พวกชาวจีนถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่นพนันในสยาม… ฯลฯ …มีบ่อนการพนันอยู่มากมายลงไปตามแม่น้ำ บางทีอาจมีหลายร้อยแห่งในกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ ซึ่งได้รับการอนุญาตจากรัฐบาล พวกบ่อนการพนันนี้สร้างรายได้ให้กับแผ่นดินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่เป็นการดำเนินการโดยลำพังที่ทำลายเสาหลักของราชอาณาจักรนี้”

การพนันของไทยเองก็มีไม่น้อย มามีของจีนเพิ่มเข้าไปอีก คนไทยเลยติดการพนันงอมแงมทั้งเมือง มิน่าล่ะ หมอบรัดเลย์ถึงทิ้งท้ายด้วยความหนักใจอย่างยิ่งว่า

“ความชั่วร้ายนี้จะทำลายชนชาติสยามอย่างแน่นอน หากไม่เร่งรีบปฏิรูปประเทศนี้เสียที”