‘กล้อง กับ ใจ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ

 

‘กล้อง กับ ใจ’

 

ถึงวันนี้ หากมีโอกาสได้พูดคุย ผมมักได้รับคำถามหนึ่งเพื่อให้ตอบ ในฐานะของคนผู้ทำงานในป่าและใช้กล้องเป็นเครื่องมือมาเป็นระยะยาวนานพอสมควร

คำถามนั้นคือ สถานการณ์ รวมทั้งจำนวนประชากรสัตว์ป่า ในช่วงเวลาที่ผมเริ่มต้นทำงาน กับปัจจุบัน มีความแตกต่าง หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

คำตอบหนึ่งที่ผมตอบได้อย่างมั่นใจคือ ในช่วงเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ผลของการ “เอาจริง” กับการดูแล ปกป้องสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของพวกมัน เห็นผลสัตว์ป่าเพิ่มจำนวน หลายชนิดซึ่งพบเจอได้ยาก ก็พบเห็นได้ง่ายขึ้น

ปัญหาการล่าสัตว์ป่า แม้ว่าจะยังคงมีอยู่ แต่การลาดตระเวนของคนในป่าอย่างเข้มข้น อีกทั้งการใช้เครื่องมือ อย่างการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ นั่นช่วยปกป้องชีวิตสัตว์ป่าได้มาก

แต่บนโลกซึ่งวิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกหนแห่ง เหล่าสัตว์ป่าก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหม่ๆ ไม่เพียงการถูกล่าเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการออกมาจากป่าปะทะกับคน หรือต้องติดอยู่ในพื้นที่แคบๆ พบกับการผสมแบบเลือดชิด เหล่านี้เป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังร่วมมือเพื่อแก้ไข

วันนี้สัตว์ป่าหลายชนิดเพิ่มจำนวน พบเห็นได้ง่ายๆ มีรูปถ่ายสัตว์ป่ามากมาย

แต่ในวันที่ผมเริ่มต้น สถานการณ์ดูคล้ายจะแตกต่างไป

กระทิง – สัญชาตญาณการระวังภัยของกระทิงนั้นดี พวกมันสัมผัสได้เร็วกับกลิ่นกายคน

ฤดูฝนปี 2528 ป่าด้านตะวันตก

“เคยเข้าไปเฝ้าโป่งมาก่อนไหม” น้าสนม พิทักษ์ป่าวัยกลางคน ซึ่งทำงานในป่านี้มานาน ถามเมื่อผมขอตามแกเข้าไปเฝ้ารอกระทิงในโป่ง

“กระทิงมันจมูกไวนะ หูดีด้วย ต้องนั่งเงียบๆ ทั้งวัน จะไหวเหรอ” แกถามซ้ำ

“ได้ครับ รับรองผมจะเงียบที่สุด” ผมตอบ ความเยาว์วัย รวมกับความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่อยากเห็นกระทิง ทำให้ผมตอบเช่นนั้น

ก่อนหน้านี้ไม่นาน มีข่าวพบเห็นกระทิงในป่าแห่งนี้ฝูงใหญ่ เจ้าหน้าที่สำรวจป่า พบพวกมันจากบนเฮลิคอปเตอร์ ในช่วงนั้น กระทิงคือเป้าหมายของการล่า ความสง่างามของรูปร่าง รวมทั้งเหล่าคนผู้ถือปืนในมือเชื่อว่า พวกมันเป็นสัตว์ดุร้าย

หาก “พิชิต” กระทิงได้ ย่อมหมายถึง จะได้รับความนับถือจากคนอื่นๆ

 

“ฝนตกๆ อย่างนี้มีน้ำทั่วไป ไม่รู้ว่าพวกมันจะมาที่โป่งไหม จะเสียเวลาเปล่าๆ นะ” พิทักษ์ป่าผิวคล้ำ ยกเหตุผลอย่างไม่อยากให้ผมเข้าไปด้วย แต่ทนผมรบเร้าไม่ไหวจึงยินยอม

จากทางดินเละๆ เราจอดรถไว้และเดินต่อ เขาพาผมลัดเลาะไปตามด่านเล็กๆ

“โป่งอยู่ในหุบ ลมจะพัดไปทั่ว กลิ่นเราจะกระจาย สัตว์รับรู้ง่าย” เขากระซิบบอกเมื่อเราใกล้ถึงโป่ง

โป่งมีลักษณะเป็นลานค่อนข้างโล่ง ล้อมรอบด้วยแนวหิน ฝั่งตรงข้ามห่างออกมาราว 50 เมตร มีพุ่มไม้หนาพอให้เราเข้าไปหลบอยู่ได้

“นั่งเงียบๆ ขยับตัวเบาๆ” เขาสั่งตอนเราซ่อนตัวเรียบร้อยแล้ว

 

มองผ่านช่องเล็กๆ ที่ปกคลุมด้วยใบไม้ออกไปผมมองเห็นตัวโป่งชัด ทางด่านข้างซอกเขา ควรจะเป็นเส้นทางที่กระทิงจะเดินลงมา ผมมองไปที่ตำแหน่งนั้นอย่างไม่วางตา

พุ่มไม้ที่เราซ่อนตัวอยู่ไม่กว้าง ว่าตามจริงค่อนข้างแคบและอึดอัดกับการอยู่สองคนด้วยซ้ำ ส่วนพื้นก็ไม่เรียบ มีก้อนหินเล็กใหญ่กระจายไปทั่ว

ผ่านมาสักชั่วโมง ผมเริ่มเมื่อย ยุงจำนวนมากเข้ารุมตอม บินวนข้างหู ผมขยับตัว กางเกงสีกันดังแกรกกราก

พิทักษ์ป่าวัยกลางคน นั่งหลับตาเงียบ ราวกับรูปปั้น

เวลาผ่านไปผมขยับตัวหลายครั้ง ทั้งความเมื่อย และยุง ทำเอาความอยากเห็นกระทิงลดลง

ผมขยับตัว ขณะน้าสนมนั่งเฉย “ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่นะ จึงจะนิ่งอย่างนี้ได้” ผมคิด ทั้งที่แกสูงวัยกว่าผมมาก

ผมเริ่มสงสัย หรือการเฝ้ารอสัตว์ป่าอย่างนี้ ต้องใช้สิ่งที่มากกว่าความอดทนของร่างกาย

 

ผมยกมือขึ้นปัดยุงที่ตอมหน้า กำลังจะขยับตัว น้าสนมกดไหล่ผมไว้

“กระทิง” ผมอ่านริมฝีปากแกได้อย่างนี้ ผมมองออกไปในโป่ง เงาตะคุ่มในพุ่มไม้ทำให้ผมแทบหยุดหายใจ

การเฝ้ารออย่างทรมาน กำลังจะเป็นความจริง

กระทิง สัตว์ผู้สง่างาม กำลังจะออกมาให้ผมเห็นในวินาทีนี้

กิ่งไม้เล็กๆ บังผมกับภาพเบื้องหน้า ผมขยับตัวหลบเพื่อมองชัดๆ

“เป๊าะ” เป็นเสียงที่เกิดขึ้นเพราะเข่าผมกดทับไปบนกิ่งไม้แห้งเล็กๆ

เบื้องหน้าเกิดความโกลาหล เสียงโครมคราม พุ่มไม้ไหวยวบยาบ สัญชาตญาณของกระทิงไวกว่าผมคาดคิด เพียงกิ่งไม้เล็กๆ หักเท่านั้น

เสียงตะบึงของสัตว์ขนาดใหญ่ ค่อยๆ ห่างไป

“กระทิงกว่าสิบตัวกำลังจะลงโป่ง แต่ตกใจวิ่งหนีไปแล้ว” น้าสนมพูดเรียบๆ ใบหน้าเฉยเมย

“ขอโทษครับ” ผมยกมือไหว้อย่างสำนึกผิด

“เราไม่ได้เห็นน่ะไม่เท่าไหร่หรอก แต่โป่งนี้จะร้างไปหลายวัน เพราะสัตว์ตื่น พวกมันเสียโอกาสในการกินแร่ธาตุในโป่งไปแล้ว”

ผมอึ้ง เพราะนึกไม่ถึงว่าความอ่อนด้อยของผมจะมีผลเสียขนาดนี้

พิทักษ์ป่าผิวคล้ำลุกขึ้น มุดออกจากพุ่มไม้ ผมเดินตามมาเงียบๆ

ความผิดหวัง เสียใจ วนเวียนในหัว ยกมือไหว้อีกครั้ง เมื่อพิทักษ์ป่าวัยกลางคนเอื้อมมือตบไหล่อย่างปลอบใจ

ไม่ง่ายเลยกับการจะเดินไปบนเส้นทางสายนี้

จะต้องใช้เวลานานเท่าใดจึงจะทำได้อย่างน้าสนม

 

เวลาผ่านมาเนิ่นนาน วันนี้ การพบกระทิง คล้ายเป็นเรื่องง่ายๆ

ผมนึกถึงช่วงเวลาเริ่มต้นบ่อยๆ ในวันที่เฝ้ารออยู่กับน้าสนม เวลาทำให้ผมพบกับคำตอบที่เคยสงสัย ขณะเฝ้ารอสัตว์ป่า อาจต้องใช้สิ่งที่มากกว่าความอดทนของร่างกาย สิ่งนั้นคือหัวใจ

“ใจ” ซึ่งพร้อมจะรับมือกับทุกสิ่ง ใจที่พร้อมจะนับถือ ให้เกียรติ รวมทั้งรับบทเรียนต่างๆ ที่เหล่าสัตว์ป่าสอน

“กล้อง กับ ใจ” นั้นต้องรวมอยู่ด้วยกัน