การรักษาความสงบเรียบร้อย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 /”นอกเครื่องแบบ”

กัปตันซามวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์ (Captain Samuel Joseph Bird Ames)

บทความพิเศษ

“นอกเครื่องแบบ”

 

การเดินทางของตำรวจไทย (4)

 

การรักษาความสงบเรียบร้อย

ในรัชสมัย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ใน พ.ศ.2398 ไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับประเทศอังกฤษ ซึ่งนับเป็นการเปิดทำการค้ากับประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ

แต่ก็จำต้องยอมรับ “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” (Extraterritoriality) ของชาวอังกฤษ

หมายความว่า ถ้ามีข้อพิพาทใดที่มีชาวอังกฤษหรือคนในบังคับ จะต้องนำคู่ความไปขึ้นศาลภายใต้กฎหมายของประเทศอังกฤษ

ซึ่งต่อมา (พ.ศ.2398-2411) ไทยได้ทำสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ

เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีระบบศาลยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่เป็นแบบแผน

อีกทั้งการพิสูจน์ความจริงก็ยังไม่ได้มาตรฐานสากล เช่น มีการตอกเล็บ บีบขมับ ดำน้ำ ลุยไฟ ทำให้ไทยถูกบังคับให้จำต้องยอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกปลอดภัยในการเดินทางเข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย

ซึ่งต่อมาก็มีเรือสินค้าจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้ามาค้าขายมากมาย

อีกทั้งยังมีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยได้ย้ายเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพระนคร

ความยุ่งยากจึงติดตามมา อาทิ การทะเลาะวิวาท การฉกชิงวิ่งราว ตลอดจนเริ่มมีคดีฉุกฉกรรจ์เกิดขึ้นทุกวัน

บ้านเมืองมีโจรผู้ร้ายชุกชุม

นอกจากนี้ ในเขตหัวเมืองต่างๆ ก็มีคนมากขึ้นเช่นกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนน้อยไม่สามารถดูแลความสงบได้ทั่วถึง ทำให้หลายๆ ครั้งเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็ไม่สามารถระงับเหตุได้

หรือกว่าเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายก็หนีไปไกลแล้ว

ทำให้โจรผู้ร้ายกำเริบทำความผิดมากขึ้น

 

จากหลายๆ สาเหตุดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงปัญหา

จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมืองเช่นเดียวกับต่างประเทศ

มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามจับกุมโจรผู้ร้ายและคุ้มครองทรัพย์สินของประชาชนโดยเฉพาะ

และปฏิบัติงานได้ทันทีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น

ไม่จำเป็นต้องรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือพระบรมราชโองการดังแต่ก่อน

พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “กองโปลิศ” ขึ้น โดยให้มีการนำเอาวิธีการพิสูจน์ความจริงที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติมาใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย

และกองโปลิศนี้ยังสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องรอให้มีการร้องขอหรือมีพระบรมราชโองการอีกต่อไป

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีหน่วยงาน “ตำรวจ” ซึ่งทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

ทรงพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้ากองโปลิศ โดยพิจารณาจากชาวต่างประเทศผู้มีความสามารถเหมาะสมและเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตนครหลวง

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการมีหน่วยงาน “ตำรวจ” ซึ่งทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “กัปตัน ซามวล โจเซฟ เบิร์ด เอมส์” (Captain Samuel Joseph Bird Ames) อดีตกัปตันเรือสินค้าชาวอังกฤษ ซึ่งได้พาภรรยาและบุตร 2 คนเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2396 ให้เป็นผู้รับผิดชอบการก่อตั้งกองโปลิศ ตามแบบอย่างโปลิศในประเทศทางยุโรป เพื่อรับผิดชอบงานดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพระนครขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2405

โดยทรงพระราชทานนามหน่วยงานนี้ว่า “กองโปลิศคอนสเตเบิ้ล” (Constable)

 

“กัปตันเอมส์เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อ ค.ศ.1832 (พ.ศ.2375) ที่เมืองเคนต์ (Kent) ประเทศอังกฤษ

ก่อนเข้ามาอยู่เมืองไทยมีอาชีพเป็นกัปตันเรือใบขนาดสี่เสากระโดง ตระเวนค้าขายอยู่แถวน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติก

ต่อมาเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือมาทางมหาสมุทรอินเดีย ค้าขายถึงลังกา สิงคโปร์ และกรุงเทพฯ ชั่วระยะเวลาหนึ่งจึงเปลี่ยนใจเลิกอาชีพการเดินเรือหันมาประกอบอาชีพเป็นช่างรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา สังกัดกรมกองตระเวนขวา กัปตันเอมส์รับราชการเป็นโปลิศตลอดมาจนถึง พ.ศ.2435 จึงปลดเกษียณ และถึงอนิจกรรมในกรุงเทพฯ พ.ศ.2444″13

กองโปลิศคอนสเตเบิ้ล เป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ มีกำลังพลไม่มาก จัดแบบแผนตามอย่างโปลิศในประเทศอังกฤษ ใช้เครื่องแบบสีน้ำเงินอย่างตำรวจอังกฤษ รับผิดชอบรักษาความสงบในพื้นที่สำเพ็ง

แต่ก็มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่อยู่พอสมควร เนื่องจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้

เมื่อเกิดมีเหตุร้ายขึ้นจึงคุยกับคู่กรณีไม่รู้เรื่อง รวมทั้งการสอบถามพยาน ประชาชนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก

อีกทั้งประชาชนยังไม่รู้จักคุ้นเคยกับกิจการตำรวจ เพราะถือเป็นของใหม่ในสมัยนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ไปเฝ้ายามประจำจุดก็ตกเป็นที่ล้อเลียนของประชาชน และถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา

แต่อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เหล่านั้นก็มีวินัยเป็นอย่างยิ่ง ยังคงตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีปัญหาอันเกิดจากการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติอีกด้วย

เมื่อมีชาวต่างชาติเป็นคู่กรณีก็จะต้องนำคู่ความทั้งสองฝ่ายไปขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลกงสุลของประเทศนั้นๆ ซึ่งโดยมากชาวต่างชาติก็มักจะได้รับความช่วยเหลือให้พ้นผิดเสียเป็นส่วนใหญ่

ทำให้ชาวต่างชาติได้ใจ ไม่ค่อยสนใจปฏิบัติตัวตามกฎหมายของไทยนัก

 

ตํารวจในยุคนี้แม้จะยังไม่มีกฎข้อบังคับที่แน่นอนเป็นการเฉพาะ แต่ก็เป็นการเริ่มต้นของตำรวจสมัยใหม่ในประเทศไทยที่เป็นสากลมากขึ้น

ทั้งนี้ กัปตันเอมส์ได้รับราชการจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา” ทำหน้าที่บัญชาการกองโปลิศคอนสเตเบิ้ล ถือศักดินา 600

โดยได้ออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.2435 และถึงแก่กรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2444

นับเป็นผู้มีคุณูปการของวงการตำรวจไทยเป็นอย่างยิ่ง