คำ ผกา | วัฒนธรรมเป็นพิษ

คำ ผกา

การที่ประเทศไทยถูกหน่วงเหนี่ยวไม่ให้เข้าถึงและกลายเป็นสังคมประชาธิปไตยมาจนถึงทุกวันนี้ มันสร้างความเสียหายทางวัฒนธรรม สติปัญญา และเหนี่ยวรั้งไม่ให้คนไทยเป็นอารยชนกับเขาเสียที

นอกจากจะไม่ได้กลายเป็นอารยชนแล้ว คนไทยจำนวนไม่น้อยยังทึกทักความไร้อารยะที่ตัวเองมีและเป็นนั้นคือ “มาตรฐานสากล” ที่ใครๆ ในโลกเขาก็เป็นกัน

อาการแบบนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า provincial หรือความ “บ้านนอก” “ความไม่รู้โลก” แต่หลงคิดว่าตนเองคือศูนย์กลางความเจริญของโลก หลงคิดว่าตนเองคืออู่อารยธรรมโลก

ล่าสุดที่พบเจอด้วยตนเองคือ เมื่อเข้าร่วมโปรแกรมเที่ยวโปรแกรมหนึ่ง ผู้จัดได้มีความหวังดีว่า ระหว่างรอเรือข้ามไปเกาะพะงันนั้น มีเวลาสอง-สามชั่วโมงจึงจัดบริการพิเศษให้ ไม่คิดค่าใช้จ่าย เราจะได้ไม่ต้องนั่งแกร่วๆ เบื่อๆ และในความปรารถนาดีก็แจ้งมาในกรุ๊ปไลน์ว่าจะพาไป “ไหว้พระ” จากนั้นไปนั่งกินกาแฟ ถ่ายรูปสวยๆ

ฉันตอบไปในกรุ๊ปไลน์ทันทีว่า “ไม่สะดวกไหว้พระค่ะ”

เหตุที่ตอบไปอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะฉันรังเกียจการไปวัด หรือไม่ชอบไหว้พระ ตัวฉันเองก็ไปไหว้พระ ทำบุญ ไปวัด ไปทำบุญโลงศพอะไรด้วยตนเองอยู่บ่อยครั้ง

แต่ที่ “สะดุด” ความรู้สึกคือ การยัดโปรแกรม “ไหว้พระ” เข้ามานั้นมันสะท้อนวิธีคิดของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า “มีใครไม่ชอบไหว้พระด้วยเหรอวะ”

หรือ “การไหว้พระเป็นสิ่งที่ดีและเป็นสิ่งที่คนทุกคนชอบโดยไม่ต้องสงสัย”

การทึกทักเอาเองว่า การ “ไหว้พระ” ต้องเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ต้องอยากทำสิ ยังไม่เท่ากับทึกทักเอาเองว่า วัดดังๆ วัดที่เป็นกระแสในละคร วัดที่กำลังอยู่ในกระแส ไม่ว่าจะเป็นกระแสขอโชคลาภ หรือขอหวย ย่อมเป็นวัดที่ใครๆ ก็ต้องอยากไปสิ

หรือที่ฉันรำคาญที่สุดคือ เมื่อไปเชียงราย ทุกคนก็จะทึกทักว่า สถานที่ที่เราอยากไปคือ วัดร่องขุ่น

โนวววววววว – พอบอกว่าไม่ไปก็ต้องมีคำถามถามดังว่า “ทำไม มันเป็นไปได้ยังไงที่ในโลกใบนี้จะมีคนไม่อยากไปวัดร่องขุ่น”

ความ Provincial หรือความไม่อารยะ ในที่นี้คือ การที่เมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่อนุญาตให้สังคมนี้เป็นสังคมของรัฐฆราวาสที่แท้จริง ทำให้คนไทยไม่รู้และไม่ยอมรับรู้อะไรอีกหลายอย่างที่ “โลกสากล” เขาเป็นกัน

เช่น ไม่ยอมรับรู้ว่า การเที่ยวจัดโปรแกรม “ไหว้พระ” ใส่ลงไปในตารางทัวร์ หรือการท่องเที่ยวเป็นเรื่องเสียมารยาท และแสดงออกซึ่งความ insensitive ต่อบุคคลอื่นที่เราไม่มีวันรู้ว่าเขานับถือศาสนาอะไร หรือแม้กระทั่ง insensitive ต่อคนที่ไม่นับถือศาสนา

เมื่อพูดถึงคนไม่มีศาสนา คนไทยที่ provincial ก็จะเลิ่กลั่ก – เฮ้ย ได้ยังไงคนไม่มีศาสนา ตายแล้วใครจะทำพิธีให้ ตายไปใครจะส่งวิญญาณ เขาไม่มีศาสนา แล้วเขามีชีวิตกันยังไงนะ เขาสามารถทำชั่วได้โดยไม่ต้องกลัวบาปเลยใช่ไหม ฯลฯ

คนไทยซึ่ง provincial ก็จะไม่เข้าใจว่า ประเทศที่เขามีอารยะ เป็นรัฐฆราวาสนั้น โรงเรียนรัฐบาล สถานที่ราชการ ห้ามแสดงสัญลักษณ์ทางศาสนาใดๆ โดยสิ้นเชิง เพราะถือว่า “ราชการ” ต้องแสดงความเป็นกลางทางศาสนาอย่างเคร่งครัด และในปริมณฑลแห่งการเป็นฆราวาสนั้นต้องไม่มีมิติพิธีกรรมทางศาสนาใดๆ และพึงรำลึกว่าเรื่อง “ศาสนา” เป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนบุคคลมากๆ

การที่เราไม่เห็นว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่อง “ปัจเจก” ทำให้คนไทยมีปัญหากับทั้งศาสนาและความเชื่อของตนเองที่ไม่ตรงกับของผู้อื่นอยู่เสมอ

ความที่เอาศาสนาพุทธมาคู่กับความเป็น “ไทย” ก็ทำให้มีความพยายามสร้างบรรทัดฐานแห่งการเป็นพุทธแท้ พุทธเทียม พุทธพาณิชย์ พุทธที่ดี พุทธที่ไม่ดี

ซึ่งหากสังคมไทยเข้าใจว่าสังคมประชาธิปไตยที่มีคุณภาพมาพร้อมกับรัฐฆราวาสที่ต้องมองเห็นเรื่องศาสนา ความเชื่อเป็นเรื่อง “รสนิยม” ของปัจเจก ตราบเท่าที่รสนิยมนั้นไม่ไปรบกวนใครหรือไม่ไปทำให้ใครเดือดร้อน ก็ไม่ควรไปพิพากษาว่า แบบไหนแท้กว่ากัน

เช่น วัดที่มีการก่อสร้างศาสนสถานโอฬาริกใหญ่โต เปิดวัดเป็นที่บวงสรวงบูชา ขอหวย ขอเนื้อคู่ ขอโชคลาภ – ตราบเท่าที่สถาปัตยกรรมของวัดไม่ผิดกฎหมายผังเมือง พิธีกรรมของวัดไม่ส่งเสียงดังรบกวนชาวบ้าน หรือความโกลาหลคึกคักของวัดได้รับการบริหารจัดการจนไม่เป็นภาระแก่ชุมชน

วัดนั้นก็ไม่ควรจะถูกประณามอะไร เพราะความเชื่อของคนที่ศรัทธา เป็นความเชื่อและรสนิยมของเขา

เมื่อคนไทยจำนวนมากไม่เข้าใจทั้งเรื่องประชาธิปไตยและความเป็นรัฐฆราวาส แถมยังคิดว่า “ศาสนา” เป็นสิ่งที่ดีด้วยตัวของมันเองโดยปริยาย ยิ่งเป็นศาสนาพุทธยิ่งดีโดยปริยายยิ่งกว่า

เวลาที่คนไทย “ไปวัด” จึงใช้คำว่า “ไหว้พระ” ราวกับว่าสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน

แต่ความจริงแล้ว เราสามารถไปวัดและศาสนสถานของทุกศาสนาในฐานะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม เราสามารถไปวัดเพื่อจะไปอิ่มเอิบกับความงามทางสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง สวน ภูมิทัศน์ของวัด โดยไม่จำเป็นต้องไป “ไหว้พระ”

พระพุทธรูปในเมืองไทยจำนวนมาก มีความหมายเชิงศิลปะอย่างเอกอุ ควรมีพื้นที่สำหรับการไปนั่งในโบสถ์ วิหาร เพื่อกำซาบความงามของประติมากรรมได้เท่าๆ กับที่เราไปไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล

เราควรไปโบสถ์ ไปเยี่ยมชมมัสยิดได้ในมิติเดียวกับที่เราไปชมมิวเซียม ไปเรียนรู้ โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีมิติของความศรัทธาแบบศาสนิก แต่สามารถไปโดยความเคารพต่อประวัติศาสตร์ ต่อสถาปัตยกรรม ต่องานศิลปะที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาบนความศรัทธาของศาสนานิกกลุ่มหนึ่งได้เช่นกัน

แต่ก็นั่นแหละ ฉันก็พบว่ามีคนไทยจำนวนมากที่อ่อนไหวต่อคำว่า “ไหว้พระ”

พอมีใครชวนไป “ไหว้พระ” ก็จะปีติขึ้นมาทันทีและพร้อมไปด้วยอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะนั่นคือกิจกรรมที่หมายถึงการทำ “ความดี” ที่ในโลกนี้ไม่มีใครเขาปฏิเสธกันหรอก

ดังนั้น เราจึงมีคนที่โพสต์รูปไปวัด ทำบุญ ปล่อยปลา ในเฟซบุ๊กแล้วก็เขียนแคปชั่นว่า “เอาบุญมาฝาก”

จากนั้นก็จะมีคอมเมนต์ว่า “สาธุๆๆๆๆ” รัวๆ ไป เหมือนเป็นอุปาทานหมู่ และราวกับว่าถ้าไม่ไปเข้าร่วมสาธุ เราจะพลอยบาปไปด้วย

หรือแม้กระทั่งมีสายการบินที่ทำมาหากินไม่ได้ช่วงโควิด เกิดไอเดียบรรเจิด บินวนไหว้พระเก้าวัด หรือบินวนรูปหัวใจไปเช็กอินไหว้พระกลางอากาศ – เอิ่ม – คิดว่าขนมพอผสมน้ำยา เพราะลูกค้าคนไทยก็คงถูก “ตก” ทางการตลาดด้วยคำว่า “ไหว้พระ” ทันที เพราะการ “ไหว้พระ” เป็นสิ่งที่ดีโดยไม่มีเงื่อนไขอยู่แล้วนี่

ได้ช่วยชาติ ได้ช่วยสายการบินแห่งชาติ แถมยังได้บุญ

คุ้มกว่านี้มีอีกไหม

ถ้าสังคมไทยได้รับการ “อนุญาต” ให้เป็นสังคมประชาธิปไตย เราคงได้เข้าใจและตระหนักในคุณค่าแห่งการเป็นรัฐฆราวาส จากนั้นเราคงเรียนรู้ที่จะเคารพตนเองในฐานะมนุษย์ เคารพผู้อื่นเพียงเพราะเขาเป็นมนุษย์ โดยไม่ต้องพ่วงเอาคุณสมบัติว่าเป็นคนดีไหม เป็นพุทธมามกะไหม เป็นคนถือศีลไหม ไหว้พระไหม เป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียม และคงจะ sensitive พอที่จะรู้ว่ากิจกรรม “ไหว้พระ” นั้นไม่ใช่กิจกรรมที่เอาไปชวนคนแปลกหน้าไปร่วมด้วยได้เลย

และถ้าเราได้รับอนุญาตให้เป็นสังคมประชาธิปไตยมาตลอด เราคงได้เรียนรู้ว่าประเทศนี้จะดีหรือไม่ดี จะน่าอยู่หรือไม่น่าอยู่ มันไม่เกี่ยวอะไรกับการเป็นเมืองพุทธ หรือไม่เป็นเมืองพุทธ

แต่เกี่ยวกับระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคม ที่หมายถึง การมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน การมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น ระดับความเข้มข้นของการเป็นรัฐสวัสดิการ และสถิติทางอาชญากรรมที่ต่ำ ไม่เกี่ยวกับการถือ “ศีล” แต่เกี่ยวกับประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารประเทศ การกระจายความมั่งคั่ง และการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต

ถ้าเราได้รับอนุญาตให้มีประชาธิปไตย รัฐจะไม่ใช้ข้ออ้างทาง “ศาสนา” มาควบคุมชีวิตการกิน ดื่ม ของประชาชน

รวมทั้งจะไม่มีวาทกรรมว่าด้วยบาป บุญ มากดทับศักยภาพ โอกาสของมนุษย์ หรือใช้เป็นข้อแก้ตัวว่าทำไมคนบางคนจึงมีสถานะสูงกว่า มีชีวิตที่ดีกว่าคนอีกหลายคนเพียงเพราะเขาทำบุญมากกว่า

เมื่อเราไม่เคยได้รับอนุญาตให้มีประชาธิปไตย สิ่งที่น่าเศร้าเรามักไม่รู้ว่าเราถูกขังให้เป็นมนุษย์อนารยะ หรือค่อนข้างจะ provincial โลกแคบ และคิดว่าอะไรที่เป็นไทย คืออะไรที่ใครๆ ในโลกนี้เขาก็เป็นกันทั้งนั้น

และพอพบว่าที่อื่นไม่ได้เป็นแบบนี้ก็แถไปว่า “เพราะเราอารยะกว่าคนอื่นไง คนอื่นมันบ้านป่าเมืองเถื่อน ดูสิ ฝรั่งยังต้องมาบวช มาเรียน มาพึ่งพระพุทธศาสนา” ว่าซั่น

และที่เกิดขึ้นง่ายดายเหมือนไร้พิษสงก็คือ เราสามารถลงโปรแกรมท่องเที่ยวได้อย่างสามัญธรรมดาว่า “ไหว้พระ” โดยมั่นใจมากว่า จะไม่มีใครไม่ชอบ

สาธุ