การต่อสู้ที่ว้าเหว่ยิ่ง / เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

การต่อสู้ที่ว้าเหว่ยิ่ง

 

ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มธรรมศาสตร์เพื่อการชุมนุม” หรือ “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” หรืออื่นๆ ซึ่งในที่สุดแล้วหลอมรวมมาเป็น “กลุ่มราษฎร” เพื่อขยายวัยของแนวรวมให้กว้างขึ้นมา “คนรุ่นใหม่” ที่นิยามด้วยอายุ

เป็นคนรุ่นใหม่ในความหมายของความคิด

ล้วนแล้วแต่รวมตัวเคลื่อนไหวด้วยความหวังว่า “อนาคตที่มืดมน” จากยุคสมัยของเผด็จการครองเมือง จะฟื้นคืนมาสู่แสงสวางแห่งการเคารพอำนาจประชาชนในนามประชาธิปไตยบ้าง

น่าจะเป็นเรื่องดีงาม และควรส่งเสริมสนับสนุนยิ่งที่เยาวชนคนหนุ่ม-สาวสละความสุขส่วนตัวออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตดีงานของประเทศชาติ และความฝันที่จะไปสู่ความรุ่งเรืองของประชาชน

และเมื่อยิ่งนับวันความเสียสละนั้นสะท้อนชัดว่าเสี่ยงคุก เสี่ยงตะราง หรือกระทั่งเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ ยิ่งสมควรยิ่งที่เจตนางดงามนั้นควรจะได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูล

แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองหาเป็นเช่นนั้นไม่

 

พลังของคนหนุ่มคนสาวไม่เพียงเผชิญกับอำนาจที่พร้อมกว่าทั้งกองกำลัง อาวุธ กฎหมาย และองค์กรที่เป็นกลไกรับใช้อำนาจเท่านั้น

กระทั่งผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น “พลังฝ่ายประชาชน” งอกมาจากอำนาจของประชาชน ส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะยืนอยู่ข้างฝ่ายสนับสนุนผู้มีอำนาจ

เลือกที่จะยืนอยู่เพื่อรักษาสถานะความได้เปรียบในสังคมของตัวเองไว้

พลังของคนหนุ่ม-สาวจึงต่อสู้ด้วยความว้าเหว่ยิ่ง มีเพียงความหวังว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเข้าใจและให้การสนับสนุนในที่สุดแล้วนั้น

แม้จะผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังหวัง

ทว่าถึงวันนี้ เมื่อ “ขบวนการอำนาจนิยม” ตั้งตัวได้ และวางระบบเข้ามารับมือความเคลื่นไหวไม่ว่าจะในโลกออนไลน์ด้วย “กองทัพไอโอ” หรือภาคสนามด้วย “มือที่ 3” ที่ส่งผลต่อภาพของการชุมนุมโดยสันติ

สถานการณ์ที่ชวนให้ว้าเหว่ดูจะยิ่งรุนแรง

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุดชัดเจน

 

ในคำถาม “ท่านคิดว่ากลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้วมีเบื้องหลังหรือไม่” ร้อยละ 65.25 อันหมายถึงส่วนใหญ่ตอบว่า “มีผู้อยู่เบื้องหลัง”

เมื่อถามว่า “มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับพฤติกรรม/กิจกรรมของกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้วที่ผ่านมา” (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) แม้มากที่สุดร้อยละ 20.23 จะเห็นว่าต่อสู้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย

แต่ที่รองลงมาคือร้อยละ 19.33 ไม่ตอบ ไม่สนใจ, ร้อยละ 16.20 บอกว่าแสดงออกถึงการเอาแต่ใจ ไม่เคารพในกฎหมายของบ้านเมือง, ร้อยละ 9.13 เห็นว่าแสดงออกถึงการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, ร้อยละ 9.89 เห็นว่าแสดงออกถึงการไม่เคารพและไม่รับฟังความเห็นต่าง

แม้รองลงจากนั้นคือร้อยละ 8.90 เห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น, ร้อยละ 8.29 เห็นว่าเคารพและรับฟังความเห็นต่าง แต่ร้อยละ 4.26 บอกเป็นการพูดเท็จและบิดเบือนข้อมูล, ร้อยละ 3.57 บอกเป็นการต่อสู้ที่ยึดหลักสันติวิธี, ร้อยละ 3.50 บอกว่าเป็นการตอบโต้ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างไรจิตสำนึกรับผิดชอบ

มีร้อยละ 3.12 บอกพูดด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล, ร้อยละ 3.12 เห็นว่ายึดสันติวิธี, ร้อยละ 1.52 เห็นว่าตอบโต้อย่างมีจิตสำนึก, ร้อยละ 2.97 เห็นว่าเคารพความเท่าเทียม, ขณะที่ร้อยละ 0.76 ยังเห็นว่าแบ่งชนชั้น

 

นั่นหมายความว่าผลของ “นิด้าโพล” ดูเหมือนประชาชนส่วนใหญ่มอง “ม็อบสามนิ้ว” ในด้านลบมากด้านบวก

และนี่คือการตอกย้ำว่าเป็นการต่อสู้ที่ “ว้าเหว่” ยิ่ง

ขบวนการจัดการให้ความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไม่มีความชอบธรรม ยิ่งนานวันยิ่งเป็นระบบที่ปฏิบัติการสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างพร้อมเพรียง

เสียงกู่ร้องถึง “ความสิ้นหวัง” ที่ได้ยินนั้น เริ่มไม่เกินเลยจากสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริงต่อไป