นพมาส แววหงส์ / ภาพยนตร์ : THE GLORIAS ‘นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี’

นพมาส แววหงส์

THE GLORIAS
‘นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี’

กำกับการแสดง
Julie Taymor

นำแสดง                                                                                                        Julianne Moore
Alicia Vikandar
Timothy Hutton
Bette Midler

กลอเรีย สไตเน็ม เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันและผู้หญิงแถวหน้าที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และ 1970 เธอเป็นหัวหอกของขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีทั้งในสหรัฐอเมริกาและในระดับนานาชาติ

หนังเรื่อง The Glorias เป็นหนังปฐมฤกษ์สำหรับเปิดเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ในปีนี้

และผู้กำกับฯ และผู้ร่วมเขียนบทของ The Glorias คือจูลี่ เทย์เมอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในวงการและโด่งดังจากการกำกับฯ ละครมิวสิเคิลเรื่อง The Lion King (และ Spider-man ที่ตกเป็นข่าวครึกโครมและลงท้ายก็ต้องถูกปิดไปเนื่องจากมีนักแสดงเสียชีวิตจากการแสดงอย่างผาดโผน)

ในโลกของภาพยนตร์ หลายคนคงรู้จักผลงานของจูลี่ เทย์เมอร์ จากหนังชื่อ Across the Universe ซึ่งร้อยเรียงเรื่องราวจากเพลงดังๆ ของวง The Beatles ที่ดังระเบิดเถิดเทิงอยู่ในทศวรรษ 1960-1970

ผู้เขียนโตขึ้นมาในบรรยากาศที่มีเสียงเพลงของคณะนักร้องนี้วงอยู่รอบตัวในช่วงวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน จึงมีความรู้สึกร่วมกับ Across the Universe เป็นพิเศษ นานๆ ทีปีหนเมื่อมีเวลาก็จะคิดถึงจนต้องกลับไปดูซ้ำอีกหลายรอบ ด้วยพลังภาพที่จูลี่ เทย์เมอร์ สร้างสรรค์ให้แก่หนังที่เล่าเรื่องด้วยเพลงโปรดยอดฮิตทั้งเรื่องแบบนั้น ลักษณะหนึ่งที่จูลี่ใช้คือภาพไซคีเดลลิกที่ว่ากันว่าเป็นผลจากสารเสพติดที่ก่อให้เกิดภาพหลอน

จากนั้นจูลี่ เทย์เมอร์ ก็เป็นผู้กำกับฯ ที่น่าจับตามาตลอดด้วยลักษณะการนำเสนอเป็นภาพที่ติดตราตรึงใจ จนได้ไปดูผลงานการกำกับฯ ละครเวทีของเธออีกครั้งที่นิวยอร์กในโอเปรายอดฮิตของโมซาร์ตเรื่อง The Magic Flute….แหม สุดจะบรรยายค่ะ จินตทัศนะของผู้กำกับฯ คนนี้เธอบรรเจิดจริงๆ

หนังเรื่อง The Glorias เป็นผลงานของเธอ โดยสร้างจากหนังสืออัตชีวประวัติของกลอเรีย สไตเน็ม ชื่อ My Life on the Road

The Glorias นำเสนอชีวิตอันยืนยาวและการต่อสู้อันโชกโชนของกลอเรียซึ่งอยู่ในวัย 86 ปีในปัจจุบัน และใช้นักแสดงที่เล่นเป็นกลอเรีย 4 คน ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยสาวสะพรั่ง (อลิเชีย วิกานดาร์) และวัยสาวใหญ่ (จูเลียน มอร์) แถมยังมีตัวจริงเสียงจริงของเธอปรากฏอยู่ในตอนท้ายด้วย

นักแสดงสองคนในวัยสาว ได้รับรางวัลด้านบทบาทการแสดงมากมายทั้งสองคน ที่โดดเด่นคือวิกานดาร์จากบทสมทบใน The Danish Girl และมอร์จากบทนำใน Still Alice

กลอเรียมีวัยเด็กที่ผิดจากเด็กทั่วไป เพราะพ่อ (ทิโมธี ฮัตตัน) เดินทางตลอดเวลาและสั่งสอนลูกด้วยค่านิยมแปลกๆ สิ่งหนึ่งที่ติดอยู่ในใจกลอเรียมาตลอดคือแม่ของเธอต้องเสียสละอาชีพนักหนังสือพิมพ์ที่น่าจะรุ่งเรืองขณะที่ต้องใช้นามปากกาเป็นผู้ชาย เพื่อสร้างครอบครัวกับพ่อผู้ไม่อยู่เป็นหลักแหล่ง และในที่สุดก็ต้องหย่าร้างกันไป

กลอเรียตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตตามเส้นทางในฝันของตัวเองเมื่อตั้งท้องในวัยสาว และรับทุนเดินทางไปอินเดียเพื่อหาประสบการณ์ชีวิต ท่ามกลางบรรยากาศของประเทศที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียงและไม่มีความเสมอภาคใดๆ เลยในสังคม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่จะหล่อหลอมตัวตนของเธอไปทั้งชีวิต

และเธอเริ่มเส้นทางอาชีพด้วยการเป็นนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์ในเวลาที่นักหนังสือพิมพ์ผู้หญิงเป็นเรื่องน่าตกใจและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน

เธอต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและการถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองหรือช้างเท้าหลังมาตลอด และไม่ยอมใช้นามปากกาหรือแอบอยู่ในเงามืดเบื้องหลังผู้ชาย

จุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพของเธอคือผลงานเขียนแบบเปิดโปงสำหรับอาชีพ “กระต่ายสาว” ในสโมสร “เพลย์บอย” ซึ่งเธอใช้เวลาเข้าไปหาข้อมูลด้วยการไปสมัครเป็นสาวเสิร์ฟบันนี่อยู่พักใหญ่

จากนั้นกลอเรียก็ตกอยู่ในความสนใจของคนรอบด้าน โดยเฉพาะนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อความเสมอภาคของคนผิวสีและเพื่อสิทธิสตรี

กลอเรียร่วมก่อตั้งนิตยสาร Ms. ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิงเล่มแรกที่ไม่ได้อยู่ในวงการแฟชั่น และมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงใช้คำนำหน้าชื่อว่า Ms. โดยไม่ต้องแสดงสถานภาพสมรส แทน Miss หรือ Mrs. เช่นเดียวกันผู้ชายที่ดำรงความเป็น Mr. อยู่อย่างเดียวตลอดชีวิต

นอกจากนั้น เธอยังเป็นหัวหอกในการต่อสู้เพื่อ “สิทธิในการเลือก” (Pro-choice) ของผู้หญิง ซึ่งเป็นคำสวยหรูสำหรับสิทธิในการทำแท้งของสตรี โดยที่ฝ่ายที่คัดค้านก็เรียกขบวนการของตนด้วยถ้อยคำสวยหรูเหมือนกันว่า “สิทธิในการมีชีวิต” (Pro-life)

เราจะเข้าใจชื่ออันแปลกประหลาดของหนังว่า The Glorias จากการนำเสนอตัวตนในวัยต่างๆ ของกลอเรียอย่างแหวกแนว โดยไม่ได้เดินเรื่องตามลำดับเวลา

เช่นเดียวกับความคิดเบื้องหลังอัตชีวประวัติที่พูดถึงการเดินทางในชีวิต (My Life on the Road) หนังตัดกลับไปสู่ภาพของกลอเรียในวัยต่างๆ ในรถบัสที่แล่นอยู่ บางครั้งก็มีกลอเรียคนละวัยนั่งอยู่บนรถคันเดียวกันไปพร้อมๆ กัน ในจุดต่างๆ บนรถ และบางครั้งก็นั่งอยู่เคียงข้างกัน

แถมกลอเรียที่อยู่ในวัยต่างกันยังสนทนากันเองด้วยซ้ำ อาทิ กลอเรียในวัยสาวปรารภกับกลอเรียในวัยสาวใหญ่ว่าเธอน่าจะต่อสู้กับโลกของผู้ชายที่กดขี่และเหยียดหยามบทบาทของผู้หญิงมากกว่านี้ และกลอเรียในวัยสาวใหญ่ก็ตอบว่า ยังมีเวลาสำหรับการต่อสู้ การสู้ในสถานการณ์ที่ยังไม่เหมาะอาจทำให้เธอเดือดร้อนได้ ฯลฯ

มีช่วงการนำเสนอที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ลายเซ็น” ของจูลี่ เทย์เมอร์ ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวที่อยู่ในความคิดของกลอเรียออกมาเป็นภาพหลายตอน…ให้ความรู้สึกว่าแทรกเข้ามาอย่างผิดที่ผิดทางชอบกล…

เช่น ตอนที่เธอถูกสัมภาษณ์ทางทีวีว่าทำไมเธอถึงแต่งตัวเซ็กซี่ในขณะที่เธอเป็นคนเรียกร้องไม่ให้ผู้ชายมองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ กลอเรียตอบว่านี่เป็นเครื่องแบบประจำตัวเธอ คือสวมเสื้อกางเกงสีดำทั้งตัวอยู่แล้ว จะเรียกว่าเซ็กซี่ได้อย่างไร และในช่วงนี้ก็มีการนำเสนอด้วยภาพที่เป็นความในใจของเธอ

สิ่งหนึ่งซึ่งอยู่ในความสนใจของใครๆ คือชีวิตส่วนตัวของกลอเรียซึ่งดำรงความเป็นโสดมาจนถึงวัยหกสิบกว่า แต่หนังที่มีความยาวกว่าสองชั่วโมงนี้นำเสนออย่างย่นย่อจนแทบจะเหมือนไม่ได้บอกอะไรมาก คือตอนที่เธอแต่งงานกับผู้ชายวัยเดียวกันชื่อเดวิดในพิธีแต่งงานแบบอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกี และเป็นชีวิตแต่งงานในช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเขาตายจากเธอไป

เกร็ดนอกเรื่องที่น่าสนใจคือ เดวิดคนที่กลอเรียแต่งงานด้วย ชื่อ เดวิด เบล และเป็นพ่อของคริสเตียน เบล ดาราชื่อดังคับฟ้าของฮอลลีวู้ดที่เรารู้จักกันดี

The Glorias เป็นหนังที่น่าสนใจจากความไม่ธรรมดาหลายอย่างและเป็นชีวประวัติของบุคคลที่โดดเด่นมากคนหนึ่ง…แต่ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว ดูจบก็ยังรู้สึกไม่สมใจเท่าไรนัก…