การศึกษา/ถึงเวลา…ดึง “ม.ชั้นนำโลก” ช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0?!?

การศึกษา

ถึงเวลา…ดึง “ม.ชั้นนำโลก” ช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0?!?

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

สาระสำคัญคือสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและวิทยาการจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อนํามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาและการวิจัยระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศกับสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอื่นในประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต และรองรับการปฏิรูปประเทศ

โดยมีคำสั่ง

1. การจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ให้ดําเนินการได้ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.)

2. คพอต. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง อาทิ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.)

3. คพอต. มีหน้าที่และอํานาจในการกําหนดศาสตร์วิทยาการและสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยจากต่างประเทศสามารถจัดได้ จัดทําข้อตกลง กําหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

4. ได้รับยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎ ดังนี้ กฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ประกาศ ศธ. ว่าด้วยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา และหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพภายในระดับอุดมศึกษาและการประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษา และกรณีจําเป็น คพอต. อาจเสนอ ครม. เพื่อขอยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎอื่นอีกได้

และอาจได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน

นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวว่า เรื่องระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 ฉบับ ได้แก่

1. คําสั่งที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกลงวันที่ 17 มกราคม 2560

2. คำสั่งที่ 27/2560 เรื่อง การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. คําสั่งที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

และ 4. คำสั่งที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ

โดยสาระรัฐบาลต้องการดึงมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศเข้ามาจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวะไปจนถึงระดับอุดมศึกษา

อย่างคำสั่งที่ 27/2560 สถานศึกษาที่มาจัดการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน/อาชีวะ จะได้รับยกเว้นกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เฉพาะบุคลากรชาวต่างชาติที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสอนและการบริหารสถานศึกษาและกฎกระทรวงว่าด้วยระบบหลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา

“คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เบ็ดเสร็จตั้งแต่การแต่งตั้งกรรมการ การอนุมัติจัดตั้งไปจนถึงการเลิกกิจการ ข้อดีคงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูงเข้ามาจัดตั้งได้สะดวกขึ้น แต่คำถามคือคำว่าศักยภาพสูง จะใช้อะไรเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ข้อเสียเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศกับไทย อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจัดอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานหลักสูตรของไทย ขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศกลับได้รับการยกเว้น แล้วจะใช้เกณฑ์อะไรมาวัดว่าจัดได้อย่างมีศักยภาพ” นายรัฐกรณ์ กล่าว

คำสั่ง คสช. ยังเปิดช่องให้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยไทย

คำถามคือ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยหรือไม่

เกรงว่ามหาวิทยาลัยไทยบางแห่งอาจอาศัยช่องทางนี้มองหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อจะได้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย

ที่สุดมหาวิทยาลัยไทยจะถูกกลืน และเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพสูง การลงทุนย่อมสูงและค่าเทอมย่อมแพง นักศึกษาไทยที่เข้ามาเรียนได้ย่อมเป็นส่วนน้อย อาจมีนักศึกษาต่างชาติมาเรียน

ฉะนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์คือนักศึกษาต่างชาติ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างนักศึกษา

อีกทั้งภาษาอังกฤษเป็นปัญหาใหญ่สำหรับเด็กไทย เราเตรียมการรองรับพอหรือยัง

สุดท้ายจะกลายเป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนต่างชาติ โดยคนต่างชาติ ไม่ใช่เพื่อคนไทย

ด้าน นายรัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มองว่า เป็นสิ่งดีที่รัฐบาลเข้าใจความแตกต่างของอุดมศึกษาที่บางสาขามหาวิทยาลัยไทยยังตามหลังต่างประเทศ

ที่สำคัญจะทำให้คนไทยที่มีความพร้อมได้รับการศึกษาและไม่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ขณะเดียวกันยังเป็นการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล

แต่การเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยต่างชาติได้รับยกเว้นกฎหมาย ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับมหาวิทยาลัยไทย

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งส่งผลต่อการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างร้ายแรง

นายรัฐพงศ์ กล่าวต่อว่า ถ้ามหาวิทยาลัยต่างประเทศมีคุณภาพจริง ควรต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย และจะรู้ได้อย่างไรว่าการไม่เดินตามกฎหมายไทยจะทำได้ดีกว่า

การเปิดโอกาสให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบตรงนี้ถือว่าไม่เป็นผลดีต่ออุดมศึกษาไทยอย่างมาก

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งต่างฝากรัฐมนตรีว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทุ่มเทเพื่อพัฒนาอุดมศึกษาไทยให้เท่าเทียมต่างประเทศ

ที่น่าสนใจคือ กระทรวงและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล้าหรือไม่ที่จะปลดล็อกยกเว้นให้มหาวิทยาลัยไทยไม่ต้องปฏิบัติตาม

เพราะหากเปิดโอกาสจะมีมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งสนใจและพร้อมจะเปิดหลายสาขาวิชา และเชื่อว่าคุณภาพไม่ด้อยกว่าต่างชาติ

แต่วันนี้ติดขัดกฎระเบียบ และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมที่ไม่ทำให้สังคมไทยมองว่ารัฐบาลและ ศธ. เห็นต่างชาติดีกว่า รัฐมนตรีควรเสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 ปลดแอกอุดมศึกษาไทย

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ชี้แจงว่า จะแปลคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เป็นภาษาอังกฤษและเดินสายพบเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ เพื่อสื่อสารให้ต่างชาติเข้าใจ

เบื้องต้นมีหลายประเทศให้ความสนใจ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ การเปิดสอนในประเทศไทย ไม่ใช่เปิดกว้างทุกสาขา จะพิจารณาและอนุญาตให้เปิดในสาขาที่มหาวิทยาลัยไทยไม่ได้เปิดสอน โดยเน้นสาขาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 และรองรับการขยายตัวระบบเศรษฐกิจการค้า การลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ ทั้งนี้ ไม่ต้องกลัวการแย่งนักเรียนนักศึกษา เพราะคนละกลุ่มเป้าหมาย

การเปิดทางให้มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศเข้ามาจัดการศึกษาในไทย จะช่วยสร้างบรรยากาศการแข่งขันและตื่นตัวให้แก่มหาวิทยาลัยไทย คพอต. จะถูกจับตามองในฐานะผู้คุมกฎ นอกจากนี้ สาขาวิชาและกฎเกณฑ์ที่จะออกมา รวมถึงมหาวิทยาลัยต่างชาติล็อตแรกที่จะทำความร่วมมือกับไทย จะถูกเพ่งเล็ง ชาวอุดมฯ ฝากความหวังไว้ที่ประธาน ทปอ. และนายก สสอท. ให้ช่วยเข้าไปคานอำนาจ

การพิจารณาต้องยึดผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ เพราะถ้าพลาดขึ้นมา คนที่ตกเป็นเป้าโจมตีคงหนีไม่พ้นรัฐมนตรีศึกษาฯ

ที่ล่าสุดในห้วง 3 ปีของรัฐบาลยุค คสช. นักวิชาการต่างออกมาประเมินให้สอบตกทั้ง 3 รัฐมนตรีศึกษาฯ

โดยเฉพาะ นพ.ธีระเกียรติ ถูกพาดพิงมากที่สุด