รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (8) : ถึงทีคนเสื้อแดง

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol

เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้

นั่นคือ

รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian) โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology) ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality) และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

 

ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะ “นอมิมี” คนที่สามของคุณทักษิณ พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่วมกับพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลโดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และการชุมนุมต่อต้านโดยคนเสื้อแดงก็ได้เริ่มขึ้นอีกครั้งหลังมีคำพิพากษายึดทรัพย์คุณทักษิณในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ในเดือนมีนาคม 2553 แกนนำคนเสื้อแดงได้ตระเวนปลุกระดมมวลชนตามหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสมาชิกพรรคเพื่อไทยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่

โดยมีประเด็นโจมตีรัฐบาลและขับไล่รัฐบาลโดยการยกเอาวาทะสองมาตรฐานการในตัดสินคดี โค่นล้มอำมาตย์ เรียกร้องความเป็นธรรมคืนให้ คุณทักษิณ ชินวัตร เรียกร้องให้ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ โดยกล่าวว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้

และยังเรียกร้องกดดันให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และ คุณชาญชัย ลิขิตจิตถะ ลาออกจากการเป็นองคมนตรี

โดยพื้นที่ชุมนุมหลักคือบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน และบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และมีการดาวกระจายรอบกรุงเทพฯ กดดันรัฐบาล และหาแนวร่วมจากคนกรุงเทพฯ

โดยการเคลื่อนขบวนรอบกรุงเทพฯ เพื่อกดดันรัฐบาลเป็นระยะๆ รวมทั้งมีการใช้ยุทธการเทเลือดที่ทำเนียบรัฐบาลและที่หน้าบ้านนายอภิสิทธิ์และที่ต่างจังหวัดด้วย

 

จากสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้เปิดการเจรจากับแกนนำคนเสื้อแดง ทางกลุ่ม นปช.คนเสื้อแดงเสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน

ส่วนคุณอภิสิทธิ์กล่าวว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของคนกลุ่มเดียว ดังนั้น จะต้องมีการหารือกับหลายๆฝ่ายมิใช่เฉพาะของกลุ่มเสื้อแดงอย่างเดียว

ต่อมาในการเจรจาครั้งที่สอง คุณอภิสิทธิ์ตอบข้อเสนอของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าไม่สามารถยุบสภาได้ภายใน 15 วัน แต่ก็ได้มีการยื่นข้อเสนอใหม่ให้แก่ฝ่ายกลุ่มเสื้อแดงพิจารณา โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ นปช. เข้ามาวางกรอบกติกาแก้ไขรัฐธรรมนูญและจัดทำประชามติ พร้อมทั้งทำบรรยากาศสังคมให้คลี่คลายความขัดแย้งก่อนนำไปสู่การยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในสิ้นปีหรือใช้เวลาประมาณ 9 เดือนนับจากนั้น

ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจตามที่ได้หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว มีความเห็นตรงกันว่าอยากให้จัดทำงบประมาณประจำปีให้แล้วเสร็จก่อน และต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชน โดยยึดกรอบเวลาตาม พ.ร.บ.การจัดทำประชามติภายใน 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน และหากประชาชนเห็นว่าควรดำเนินการอย่างไร ทุกพรรคการเมืองก็ควรปฏิบัติตาม

ฝ่ายแกนนำ นปช. ยังยืนยันข้อเสนอให้ยุบสภาภายใน 15 วันตามเดิม

คุณจุตพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ได้กล่าวว่าการเจรจาที่เกิดขึ้นนี้ ต่างคนต่างมีข้อเสนอของตัวเอง อยากให้แต่ละฝ่ายยืนจุดยืนตรงนี้ก่อน ส่วนวันข้างหน้าเป็นเรื่องของอนาคต

สรุปคือ ไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ในการเจรจาที่เกิดขึ้น ทางกลุ่ม นปช. ก็ชุมนุมกันต่อและเริ่มใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกดดันรัฐบาลต่อไป

 

หลังจากนั้น ในวันที่ 3 เมษายน 2553 แกนนำคนเสื้อแดงได้ยกระดับการชุมนุมต่อต้านโดยการเข้ายึดพื้นที่บริเวณราชประสงค์ควบคู่ไปกับบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินที่ปักหลักชุมนุมมาก่อนหน้านี้

บริเวณราชประสงค์ถือว่าเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวนับร้อยแห่ง ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าและโรงแรมต่างๆ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวและผู้คนทั่วไปลดน้อยลงไปอย่างมาก เพราะเกรงความไม่ปลอดภัย

และจากการยกระดับการชุมนุมดังกล่าวส่งผลให้ คุณอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในวันที่ 7 เมษายน 2553 ในขณะที่ด้านแกนนำ นปช. ก็ประกาศระดมมวลชนครั้งใหญ่ที่สุดในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2553

ภายหลังจากมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว ในวันที่ 8 เมษายน 2553 ทางฝ่ายรัฐบาลได้แจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานีประชาชน การระงับการแพร่สัญญาณดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจจากฝ่าย นปช. และมีความพยายามที่จะเคลื่อนมวลชนบุกเข้าไปในสถานีดาวเทียมเพื่อขับไล่ทหารที่มาควบคุมการระงับการแพร่สัญญาณจนเกิดการปะทะกัน มีผู้บาดเจ็บ 23 ราย แบ่งเป็นทหาร 7 นาย และพลเรือน 16 ราย

ทั้งนี้พบว่าไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น ศีรษะแตก ถูกแก๊สน้ำตา กระดูกหัก

แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนหรืออาวุธสงครามแต่อย่างใด

หลังจากนั้น ปรากฏการณ์มือที่สามได้อุบัติขึ้น ซึ่งประเด็นเรื่อง “มือที่สาม” นี้ดูจะเป็นของคู่บ้านคู่เมืองในการเมืองไทยอย่างไรก็ชอบกลก็ไม่ทราบ ยามมีความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นคารังคาซังทีไร ก็มักจะมีปรากฏการณ์มือที่สามเข้ามาแทรกเพื่อทำให้ “ฝีแตก” ผลจะได้ออกไปทางใดทางหนึ่ง ใครสนใจศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์มือที่สามในการเมืองไทย ก็ขอให้ไปหาหนังสือ “มือที่สาม” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ของ ศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อ่านดูได้

งานชิ้นนี้เป็นผลงานวิจัยที่ทำมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2549 แล้ว แต่ก็น่าจะให้ความรู้ความเข้าใจถึงวิธีการบางอย่างที่คนในวงการเมืองไทยชอบใช้มาโดยตลอด

แต่มือที่สามในปี พ.ศ.2553 แตกต่างไปจากในอดีต อย่างน้อยก็ตรงที่มันรุนแรงมากขึ้น

ปรากฏการณ์มือที่สามได้เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2553 เมื่อเกิดการจลาจลที่บริเวณสี่แยกคอกวัว ส่งผลให้ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงเสียชีวิต 25 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 800 ราย นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุด นับแต่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อแดง

จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2553 มีนายทหารยศพันเอกเสียชีวิต 1 นาย และนายทหารยศ พล.ต. ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 ขาหัก 3 ท่อน และนายทหารยศพันโทถูกสะเก็ดระเบิดจนต้องผ่าตัดสมอง

โดยนายทหารทั้งสามได้ตกเป็นเป้าการโจมตีของ “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” เพราะไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายใด

โดยกองกำลังติดอาวุธดังกล่าวได้แฝงตัวมากับกลุ่มคนเสื้อแดงและซุ่มโจมตี โดยใช้อาวุธสงครามโจมตีทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายผู้ชุมนุมประท้วง

ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากองกำลังติดอาวุธดังกล่าวไม่ได้มุ่งสังหารเฉพาะฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะ แต่ความต้องการที่แท้จริงคือสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงและเกลียดชังขึ้น เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลสั่งฆ่าประชาชนและนำเหตุการณ์ไปขยายผลต่อ

หรือไม่ก็ต้องการชี้ว่า ฝ่ายรัฐบาลต้องการสร้างสถานการณ์ให้เห็นว่ามีความชอบธรรมจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหรือ “กระชับพื้นที่”!