คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “พิธีอารตี” คืออะไร ต้นแบบเวียนเทียนสมโภชใช่ไหม?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ใครไปวัดฮินดูเช้าตรู่และย่ำค่ำ จะเห็นพราหมณ์ท่านถือคันประทีปดวงไฟหลายดวงแกว่งๆ วนๆ หน้าเทวรูป ทำเช่นนี้ทุกวัน

นานเข้าคนไทยเริ่มทำพิธีแบบฮินดูที่บ้านเรือนหรือตำหนักทรง ก็เอาพิธีเช่นนี้ไปทำบ้าง รู้จักกันในชื่อ “อารตี” หรือบางคนก็เรียกว่า บูชาไฟ

ที่จริงคำว่าบูชาไฟ ในวงการศาสนาใช้หมายถึงพิธี “โหมะ” คือพิธีบูชายัญโดยการใส่อาหารและเนยลงในกองไฟ (กูณฑ์) สำหรับบวงสรวงให้เทพเจ้า

เป็นคนละพิธีกันกับอารตีครับ

 

พิธีอารตีนั้น เรียกตามศัพท์สันสกฤตว่า อารติกยมฺ หรือ นีราชนมฺ ซึ่งหมายถึงการเวียนประทีป

คันประทีปหรือตะเกียงสำหรับทำพิธีอารตีนั้น ทำเป็นภาชนะเหมือนตะเกียงมีด้ามจับถือ อีกด้านมีหลุมสำหรับใส่สำลีชุบน้ำมันเนยหรือก้อนการบูนจุดไฟ มีตั้งแต่หลุมเดียวไปจนถึงหลายสิบหลุม

แบบง่ายที่สุดคือใช้ถาดโลหะ แล้วจุดประทีปหรือการบูนในนั้น หรือแม้แต่ใช้แป้งสาลีปั้นเป็นถ้วยขนาดเล็กทำเป็นหลุมใส่สำลีชุบน้ำมันเนยก็ใช้ได้

ผมเคยไปวัดหนึ่งในอินเดีย ชื่อวัดสิทธิวินายกมหาคณปติที่เมืองกัลยาณ ในรัฐมหาราษฎร์ พราหมณ์ท่านว่า ที่นี่อารตีใช้ผ้าพันไม้จุดไฟอย่างคบเพลิงโบราณ

ส่วนพราหมณ์สยามท่านไม่ได้ใช้น้ำมันเนยหรือการบูนอย่างอินเดีย แต่ใช้เทียนขี้ผึ้งแทน จะด้วยเพราะน้ำมันเนยมิใช่ของหาง่ายในสมัยโบราณ หรือเพราะไม่นิยมก็ตามแต่ และเรียกคันประทีปนั้นว่า “คันชีพ”

พิธีอารตีนี้พราหมณ์สยามท่านเรียก “แกว่งคันชีพ” ตรงๆ เลยครับ

ส่วนวิธีการอารตี หากเป็นแบบตะเกียง ผู้บูชาจะถือด้วยมือขวา มือซ้ายถือกระดิ่ง จากนั้นวนตะเกียงอารตีตามเข็มนาฬิกา เริ่มจากพระบาทของเทวรูป ขึ้นไปที่พระนาภี และพระพักตร์ตลอดจนพระวรกาย มือซ้ายก็สั่นกระดิ่งไปด้วย จนกว่าจะสวดมนต์หรือประโคมจบ

หากเป็นแบบถาดก็ถือถาดด้วยมือทั้งสอง เวียนตามเข็มนาฬิกาเบื้องหน้าเทวรูป

 

การอารตีนั้นมีสองแบบ คือแบบที่กระทำในช่วงสนธยา เรียกว่าสันธยารตี มีในช่วงรุ่งเช้าและช่วงโพล้เพล้ ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเวลาของวัน (กลางคืนเปลี่ยนเป็นกลางวัน กลางวันเป็นกลางคืน) ในแบบนี้มักถือว่าเป็นการบูชาประจำวันของเทวสถานไปด้วย

ดังนั้น อารตีแบบนี้มักมีเครื่องบูชาอื่นๆ ประกอบ เช่น เครื่องสรงน้ำ ดอกไม้ ธูป ฯลฯ ผสมกับการเวียนประทีป ระบบที่การรวมการบูชาเข้ากับพิธีอารตีนี้ เข้าใจว่าพราหมณ์พังคละในฝ่ายเคาฑิยะเป็นพวกแรกที่ทำและแพร่ไปยังพราหมณ์ฝ่ายอื่นๆ

อารตีสนธยาจะต้องมีการประโคม ทำนองเดียวกับย่ำยาม โดยมีเครื่องกระทบโลหะ เช่น กระดิ่ง ระฆัง กังสดาล และกลองประจำเทวสถาน หรือหากเป็นเทวสถานที่สำคัญก็มักมีวงประโคมพวกปี่กลองด้วย

ในอินเดียภาคเหนือ ปราชญ์และพราหมณ์หลายท่านเห็นว่า อารตีเป็นเวลาที่ศาสนิกชุมนุมกันมากที่สุด จึงแต่งบทกวีสรรเสริญพระเป็นเจ้าสำหรับขับร้องประกอบในเวลาอารตีด้วย ซึ่งมีมากมายหลากหลายเพลง เพื่อเพิ่มบรรยากาศความงดงามและส่งเสริมความภักดี กลายเป็นธรรมเนียมใหม่ที่นิยมโดยทั่วไป

ส่วนอารตีอีกแบบนั้น ไม่จำเป็นจะต้องทำตามเวลา เป็นพิธีที่ทำตามวาระโอกาสต่างๆ เช่น พระเป็นเจ้าออกแห่ หรือทำเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่างๆ

บางท่านว่า พิธีนี้จะทำในขั้นตอนสุดท้ายของพิธีบูชาเทพเจ้า แต่ที่จริงแล้วไม่ถึงกับสุดท้าย เพราะหลังอารตียังมีขั้นตอนอื่นๆ อีกเล็กน้อย เช่น การกระพุ่มมือบูชาด้วยดอกไม้ (มนตรปุษปาญชลิ) หรือขอสมาลาโทษ

ที่จริงนอกจากเทวรูปแล้ว การอารตียังกระทำต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เช่น คัมภีร์ ตำรา หรือแม้แต่บุคคลและสถานที่ก็ได้ เช่น ต่อครูบาอาจารย์ เจ้าบ่าว ผู้ใหญ่ หรือแม่น้ำคงคา พระอาทิตย์ ภูเขา ฯลฯ

ดังใครไปอินเดีย ก็มักต้องไปชมพิธีอารตีแม่น้ำคงคา ไม่ว่าจะที่พาราณสีหรือหริทวารซึ่งมีชื่อเสียงมาก ซึ่งฮินดูเขากระทำบูชาต่อแม่น้ำโดยตรง ไม่ต้องผ่านสัญลักษณ์แทนเช่นเทวรูป

เพราะตัวแม่น้ำคงคาเองนั่นแหละคือเทพีที่ปรากฏเบื้องหน้า ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรแทน

 

เหตุใดถึงต้องทำพิธีนี้ ท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาส ครูของผมกรุณาอธิบายไว้ว่า ที่จริงเป็นความจำเป็นมาสู่พิธีกรรม คือแต่เดิมเทวรูปถูกสร้างอยู่ในปราสาทหิน หรือไม่ก็ถ้ำตามธรรมชาติที่ถูกเปลี่ยนเป็นเทวสถาน

และโดยหลักอาคมในการสร้างเทวสถาน ภายในห้องประดิษฐานเทวรูปที่เรียกว่าครรภคฤหะนั้น จะต้องมีทางเข้าออกทางเดียว และไม่มีช่องแสงหรือหน้าต่าง จึงมืดมาก มองอะไรแทบไม่เห็น

ครั้นศาสนิกชนไปสักการะ ซึ่งโดยหลักฮินดู บุญกิริยาง่ายๆ คือการได้ไป มองดู (ภาษาสันสกฤตว่า ทรฺศนมฺ หรือ ทรรศนะ) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นบุญแก่ตาเนื้อตาใจ

พราหมณ์ผู้ดูแลจึงจุดไฟขึ้นด้วยตะเกียงที่มีดวงไฟหลายดวงหรือใช้ไฟจากการบูนซึ่งให้ไฟสว่างและมีกลิ่นหอม ส่องให้ดูตั้งแต่พระบาทไปจนทั่วพระวรกายของเทวรูป ผู้คนจะได้ชื่นชมยินดี

ท่านว่าเริ่มต้นอย่างนี้แล และเมื่อกระทำบูชาประจำวันอันประกอบด้วยการสรงน้ำและตกแต่งประดับประดาพระวรกายของเทวรูปแล้ว จึงเปิดม่านออกและอารตีด้วย ให้คนเข้าเฝ้าได้เห็นความงามอลังการที่ตกแต่งแล้ว เฉกเช่นเดียวกับพระราชาธิราชเสด็จออกเหมือนกับในพระราชพิธีของเรานั่นเอง

 


นอกจากความหมายตรงๆ ง่ายๆ ข้างต้น มีคำอธิบายหนึ่งว่า การอารตีหรือเวียนประทีปนั้น ยังเป็นการขจัดเสนียดจัญไรอวมงคลต่างๆ ด้วย ซึ่งท่านพระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ในภาคผนวกของหนังสือนิทานเบงคอลีที่ท่านแปล

ผมพินิจดูก็จริงดังท่านว่า ตัวอย่างเช่น เวลาเอาพระเทวรูปออกแห่แล้ว จะนำกลับเข้าเทวสถานก็ต้องทำพิธีอารตีก่อน นัยว่าขจัด “ตาร้อน” ของคนที่มาดูท่านด้วยอกุศลจิต

นอกจากน้ำ ในทัศนะฮินดูไฟก็เป็นเครื่องชำระได้ เพราะไฟผลาญทุกสิ่งให้เป็นจุณ เป็นภัสมธุลีไม่เหลือความสกปรกอะไรทั้งหมด โลกจึงประลัยด้วยไฟไม่ใช่น้ำ

การอารตีเวลาออกแห่ นอกจากจะใช้ตะเกียงตามปกติ เขายังใช้มะพร้าว คือจุดไฟวางบนมะพร้าวแล้วก็ทุบมะพร้าวนั้น เพื่อสื่อว่าได้ชำระล้างและทำลายสิ่งไม่ดีไปหมดแล้ว

เมื่ออารตีเสร็จ ไฟนั้นเขานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์เพราะได้ผ่านพระเป็นเจ้ามา ก็ให้วักลูบหน้าลูบตาเป็นสวัสดิมงคลขจัดความมืด ทำนองอย่างโบกควันเทียนของเราในเวียนเทียนสมโภช

โดยสรุปคือ อารตีของแขกนั้น เป็นทั้งการแสดงให้คนเห็นพระเป็นเจ้า เป็นการบูชาและไล่วิฆนจัญไรผสมๆ กัน ใช้ไปใช้มาจนไม่ได้คิดถึงความหมายใดเป็นพิเศษ

 

เบิกแว่นเวียนเทียนในพิธีพราหมณ์อย่างไทยก็ได้รับอิทธิพลของแขกมานั่นแหละครับ มันเห็นกันชัดอยู่ ทั้งแกว่งแว่นเวียนเทียนโบกควันใส่สิ่งที่เราสมโภช ผิดกันที่แขกไม่ได้เอาประทีปไปเวียนรอบๆ สิ่งเคารพอย่างเรา

ส่วนที่ต่าง ตรงที่เราส่งแว่นเวียนเทียนกันไปรอบๆ วง ผมคิดว่า ก็เพราะเรามีวัฒนธรรม “ล้อมวง” (ซึ่งแขกไม่มีนะครับ กินข้าวกันก็นั่งเรียงตามยาว เน้นระเบียบแนวแถวตามอาวุโส) ซึ่งมาจากศาสนาพื้นบ้าน คือธรรมเนียมทำขวัญนั่นแหละ ญาติพี่น้องมาล้อมกัน ครั้นรับบางส่วนของพราหมณ์มาใช้ ก็ยังคงใช้วิธีล้อมวงทำพิธีเหมือนอย่างเดิม

ส่วนการ “เวียนเทียน” ในความหมายอย่างที่เราทำในวันสำคัญทางพุทธศาสนา แขกเรียก “ประทักษิณา” คือเดินเวียนขวารอบสิ่งเคารพ ผิดกับเราตรงที่เขาไม่ต้องถือดอกไม้ธูปเทียนเครื่องบูชา และเขาถือเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งไม่เกี่ยวกับการอารตี

จะได้ไม่สับสนครับ