นิ้วกลม | ทำไมเกาหลีเหนือไม่เลือกความรุ่งเรือง

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1ภาพถ่ายดาวเทียมยามค่ำแสดงแผนที่เกาหลีเหนือที่เกือบมืดสนิทกับเกาหลีใต้ที่สว่างไสว นับเป็นหลักฐานประจักษ์ของความเจริญที่แตกต่างกันระหว่างสองเกาหลีได้เป็นอย่างดี

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาหลีถูกแบ่งเป็นสองส่วนตรงเส้นรุ้ง 38 องศา ใต้ลงมามีสหรัฐอเมริกาดูแล เหนือขึ้นไปอยู่ภายใต้เงาของพี่ใหญ่อย่างโซเวียตรัสเซีย ญาติมิตรหลายคนพลัดพรากกันหลังขีดเส้นแบ่งแผนที่

หนังสือ Why Nations Fail เล่าถึงการพบกันอีกครั้งระหว่างพี่ชายกับน้องชาย

ฮวางพยองวอน-พี่ชายซึ่งเป็นเภสัชกรอยู่เกาหลีใต้เอ่ยถามน้องชายซึ่งเป็นหมอในกองทัพอากาศว่า ชีวิตเหนือเส้นรุ้งที่ 38 ขึ้นไปเป็นอย่างไรบ้าง

คำตอบคือ น้องชายไม่มีรถขับ ไม่มีโทรศัพท์ใช้ กระทั่งเขาจะฝากเงินกลับไป น้องก็ยังบอกว่า “ถ้าผมขนเงินกลับไป รัฐบาลก็จะบอกว่า “ส่งเงินนั่นมา” อยู่ดี พี่เก็บไว้เถอะ”

พี่ชายเห็นเสื้อนอกน้องรุ่งริ่งหมดแล้ว จึงเสนอเสื้อของตนให้ แล้วให้น้องถอดเสื้อทิ้งไว้ น้องตอบว่า “ผมทำอย่างนั้นไม่ได้ เสื้อตัวนี้เพิ่งยืมมาจากรัฐบาลเพื่อมางานนี้” น้องชายดูลุกลี้ลุกลน ระแวงเหมือนมีใครแอบฟังอยู่ตลอดเวลา

สภาพน้องตอนนี้ผอมเหมือนไม้เสียบผี

ภาพตอนที่ผมเดินทางไปทำสารคดีที่ประเทศเกาหลีทั้งสองผุดขึ้นในหัว

หากเดินทางจากเกาหลีใต้ไปเกาหลีเหนือจะรู้สึกเหมือนเดินทางย้อนเวลาอย่างน้อย 50 ปี

กรุงโซลที่เป็นมหานครทันสมัยไม่แพ้เมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือฮ่องกง ตกกลางคืนตึกสูงเหล่านั้นเปิดไฟสว่างโร่

ขณะที่กรุงเปียงยางของเกาหลีเหนือมีเพียงอาคารใหญ่ไร้ผู้คน มืดและเงียบงันในยามค่ำ ไม่ต้องนับว่าถ้านั่งรถออกนอกเปียงยางไปจะเจอแต่ทุ่งหญ้าแห้งแล้ง ความเป็นอยู่ของประชากรในสองประเทศแตกต่างกันแบบฟ้ากับเหว

รอยแยกระหว่างสองประเทศเริ่มตั้งแต่คิมอิลซ็องตั้งตนเป็นผู้นำที่มีอำนาจไม่จำกัดในปี 1947 วางระบบเศรษฐกิจที่ชื่อว่าจูเช ซึ่งเป็นการวางแผนจากส่วนกลางโดยมีสหภาพโซเวียตช่วยเหลือ

ตั้งแต่นั้นการถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคลถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตลาดการค้าถูกล้มไป รัฐจำกัดเสรีภาพของประชาชนทุกแง่มุม ยกเว้นแต่ชนชั้นปกครองรอบตัวคิมอิลซ็อง และคิมจองอิล ลูกชายผู้สืบทอดตำแหน่ง

การไม่อนุญาตให้มีทรัพย์สินส่วนบุคคลทำให้ผู้คนขาดแรงจูงใจเพื่อลงแรงเพิ่มหรือรักษาระดับการผลิตเอาไว้ให้เท่าเดิม นอกจากนั้นผู้ปกครองยังขัดขวางนวัตกรรมและปิดกั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เอาไว้

ขณะที่เกาหลีใต้ก็ใช้เวลาเปลี่ยนผ่านยาวนานกว่าจะเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

แต่ตลอดเส้นทางความเปลี่ยนแปลงนั้น เกาหลีใต้ลงทุนกับการศึกษาอย่างมาก อัตราคนรู้หนังสือและได้เข้าเรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ

นโยบายที่ส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งออก และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่รวดเร็ว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยในช่วงหลัง ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุด

เวลาผ่านไปเพียงครึ่งศตวรรษ ช่องว่างระหว่างสองประเทศนี้ห่างกันถึงสิบเท่า

2ความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างกับเศรษฐกิจแบบขูดรีดคือ

เศรษฐกิจแบบเปิดกว้างนั้นมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่มั่นคง ระบบกฎหมายที่ยุติธรรม และมีบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความคิดสร้างสรรค์

แถมยังเป็นองค์ประกอบที่ยืนยันกับทุกคนในสังคมว่าโอกาสทางเศรษฐกิจนั้นเป็นของคนส่วนใหญ่ในสังคม มิใช่เพียงอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น

การกำกับควบคุมระบบทั้งหลายจึงต้องโปร่งใสและเป็นธรรม ระบบเส้นสายที่เอื้อให้เอกชนบางรายได้เปรียบกว่าคนตัวเล็กตัวน้อยนับเป็นเครื่องกีดขวางการแข่งขันที่สมบูรณ์ ซึ่งสิ่งนี้ก็ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากในเกาหลีใต้ แต่แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นอยู่ก็แตกต่างกับเกาหลีเหนือแบบเทียบไม่ติด

ระบบเศรษฐกิจที่ดี กฎหมายที่เป็นธรรม รวมถึงโอกาสในชีวิตที่เท่าเทียมนั้นเป็นเนื้อดินที่ดีสำหรับการเติบโตของหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาสามารถนำเสนอธุรกิจใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาแข่งขันกันได้เต็มที่ โดยไม่ต้องตกเป็นเหยื่อให้กับความไม่เท่าเทียมของโอกาสและความเหลื่อมล้ำในสังคม

ผู้เขียน Why Nations Fail เปรียบว่า ผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นบิล เกตส์ หรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อีกหลายคนอาจต้องเป็นชาวนายากจนข้นแค้นหรือถูกบังคับให้เป็นทหารรับใช้ในกองทัพ สำหรับประเทศที่ไม่มีระบบต่างๆ ที่เป็นธรรม

3สถาบันทางการเมืองย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อสังคมนั้นๆ

สถาบันการเมืองกำหนดว่าเลือกรัฐบาลมาอย่างไร ส่วนไหนของรัฐบาลมีสิทธิ์ทำอะไรบ้าง สมาชิกในสภาใครเป็นคนเลือก มีที่มาอย่างไร ใครมีอำนาจในสังคมและอำนาจนั้นทำอะไรได้บ้าง

ซึ่งถ้าอำนาจแจกจ่ายกันในวงแคบอย่างไร้ข้อจำกัดย่อมเสี่ยงต่อการมีผู้นำที่มีอำนาจไม่จำกัด ผู้นำที่ว่านั้นก็สามารถออกแบบสถาบันเศรษฐกิจที่สร้างความมั่นคงและเสริมอำนาจให้กับตนเองได้

ต่างจากการกระจายอำนาจไปในวงกว้าง แล้วจำกัดอำนาจของคนแต่ละกลุ่มไม่ให้เกินหน้าเกินตาคนอื่น สังคมก็จะเป็นพหุนิยมหรือมีความหลากหลายและเท่าเทียมกันมากกว่า

เศรษฐกิจการเมืองแบบเปิดกว้างจึงเน้นการกระจายอำนาจและโอกาสให้คนที่หลากหลาย ขณะที่เศรษฐกิจการเมืองแบบขูดรีดจะเน้นการรวบอำนาจไว้ในมือผู้ปกครองกลุ่มเล็กๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการใช้อำนาจขูดรีดทรัพยากรที่จากคนที่เหลือในสังคม

คำถามที่น่าสนใจคือ ในเมื่อรู้ว่าถ้ากระจายอำนาจแล้วบ้านเมืองจะรุ่งเรืองกว่า เหตุใดผู้ปกครองที่ขูดรีดจึงไม่เลือกความรุ่งเรืองเล่า?

ดังที่กล่าวถึงอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อน, การเติบโตทางเศรษฐกิจมาพร้อมกับ “การทำลายเชิงสร้างสรรค์” พูดง่ายๆ คือ ธุรกิจใหม่ย่อมดึงทรัพยากรไปจากธุรกิจเก่า เทคโนโลยีใหม่มาทำให้ของเดิมล้าสมัย การเปิดกว้างนั้นเสี่ยงต่อการที่ “ผู้ได้เปรียบ” จะกลายไปเป็นผู้แพ้ในเกมของการพัฒนา

เมื่อแพ้ทางธุรกิจ เงินน้อยลง ย่อมเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจทางการเมืองด้วย

“ผู้ได้เปรียบ” จึงเป็นฝ่ายต่อต้านการพัฒนาต่างๆ อยู่เสมอ เพราะมันอาจกระจายโอกาสออกไปสู่ผู้คนจำนวนมากขึ้น ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น มีคนแย่งชิงทรัพยากรจากตนไปมากขึ้น

ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกับจักรวรรดิรัสเซีย ฝ่ายที่ครองอำนาจขัดขวางการพัฒนาอุตสาหกรรมได้สำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจของออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียชะงักงัน จนชาติเหล่านี้ล้าหลังชาติยุโรปอื่นๆ ซึ่งเศรษฐกิจเริ่มเติบโตตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า

การทำลายเชิงสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นในวงกว้างได้นั้นจะต้องไม่ถูกผู้แพ้ทางเศรษฐกิจและการเมืองขัดขวางไว้เสียก่อน

สุดท้ายแล้ว ความขัดแย้งในสังคมล้วนเกิดจากทรัพยากรที่มีจำกัด เงิน และอำนาจ

โดยทั่วไปแล้วจึงมิค่อยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเพื่อกระจายอำนาจที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะฝ่ายที่กุมทุกสิ่งอยู่ย่อมรู้ดีว่าสิ่งต่างๆ ที่ถือครองย่อมถูกกระจายออกไปยังคนอื่น

เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง สังคมจึงเกิดการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการกระจายทรัพยากรและโอกาสต่างๆ ตามมา

4เกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงจากสถาบันการเมืองแบบขูดรีดมาเป็นแบบเปิดกว้างในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งเริ่มต้นจากการเรียกร้องของนิสิต นักศึกษาและประชาชน กระทั่งเกิดการปฏิรูปต่อเนื่องจนมีประชาธิปไตยแบบพหุนิยมตั้งแต่ปี 1992 แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือ

ย้อนกลับไปดูเส้นทางการพัฒนาของเกาหลีใต้ ในช่วงเวลาที่ยังไม่เปิดกว้าง มีหลายนโยบายที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากการสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยรัฐบาล แม้สถาบันการเมืองแบบขูดรีดจะสร้างการเติบโตได้บ้าง แต่ก็มักไม่สามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะการเติบโตต่อเนื่องนั้นต้องการ “การทำลายเชิงสร้างสรรค์” ที่เกิดจากหัวสมองใหม่ๆ ของผู้คนจำนวนมาก

สถาบันการเมืองแบบขูดรีดมักนำไปสู่ความขัดแย้ง เกิดศึกภายใน เพราะความมั่งคั่งและอำนาจไปรวมอยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว อำนาจรัฐที่มากเกินและไม่เหมาะสมมักนำมาซึ่งการต่อต้าน ในหลายประเทศนำไปสู่การต่อสู้รุนแรง เกิดสงครามกลางเมือง และสภาวะบ้านเมืองไร้ขื่อแป อย่างในทวีปแอฟริกาและบางส่วนของละตินอเมริกา

สถาบันการเมืองแบบขูดรีดจึงไม่เป็นผลดีต่อใครเลย กลุ่มที่มีอำนาจก็ขูดรีดมากขึ้น เสี่ยงอันตรายมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศก็หยุดพัฒนา มีการใช้อำนาจเพื่อความได้เปรียบของคนบางส่วน ทำให้การแข่งขันและสร้างสรรค์ชะงักงัน นำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม ต่างจากสถาบันการเมืองแบบเปิดกว้างที่เอื้อประโยชน์อย่างเท่าเทียมและหลากหลายมากกว่า

ไฟฟ้าส่องสว่างยามค่ำของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ยืนยันสิ่งนี้ได้เป็นอย่างดี