นิ้วกลม | ทำไมปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงเกิดขึ้นที่อังกฤษ

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1รอยแยกสำคัญของยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1346 เมื่อกาฬโรคเริ่มแพร่ระบาดไปทั่ว จากพ่อค้าเจนัวซึ่งหอบหนูติดมาจากพ่อค้าจีนบนเส้นทางสายไหม หมัดที่เกาะมากับหนูเป็นพาหะคร่าชีวิตคนถึง 75 ล้านคน ชาวยุโรปหายไปหนึ่งในสาม

สิ่งที่เกิดตามมาคือปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ประชากรอังกฤษหายไปเกือบครึ่ง

ช่วงต้นศตวรรษที่สิบสี่ ยุโรปมีระเบียบสังคมแบบเจ้าขุนมูลนาย โดยกษัตริย์ถือครองที่ดิน แต่มอบที่ดินให้เจ้าครองแคว้นแลกกับบริการทางทหาร

ส่วนเจ้าครองแคว้นก็จัดสรรที่ดินให้ชาวไร่ แลกกับการที่ชาวไร่ต้องทำงานเต็มกำลังโดยไม่ได้ค่าแรง แถมยังต้องจ่ายค่าปรับกับภาษีอีกหลายอย่าง เนื่องจากชาวไร่อยู่ในฐานะ “คนรับใช้” (servile) จึงเรียกชาวไร่เหล่านั้นว่าเซิร์ฟ (serf) หรือข้าติดที่ดิน ซึ่งไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้หากเจ้าผู้ครองแคว้นไม่อนุญาต

เจ้าผู้ครองแคว้นนอกจากเป็นเจ้าของที่แล้วยังเป็นตุลาการ คณะลูกขุน และกำลังตำรวจอีกด้วย

ระบบเช่นนี้ทำให้ความมั่งคั่งไหลไปสู่เจ้าผู้ครองแคว้นซึ่งมีเพียงหยิบมือเท่านั้น

2กาฬโรคมา ประชากรลด แรงงานขาดแคลน ปรากฏการณ์นี้สะเทือนระบบที่เคยมีมา เพราะชาวไร่ชาวนาเริ่มเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงให้ลดค่าปรับและขอค่าแรงเพิ่ม

เสียงที่ต่อรองได้มากขึ้นทำให้ชาวไร่ค่อยๆ แยกตัวเป็นอิสระ เกิดกบฏชาวนาในปี 1381 ยึดกรุงลอนดอนไว้เกือบหมด

แม้สุดท้ายถูกปราบแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการพยายามบังคับใช้กฎหมายแรงงานอีกเลย

การใช้แรงงานตามระบบเจ้าขุนมูลนายค่อยๆ หายไป

เริ่มเกิดตลาดแรงงานแบบเปิดกว้างขึ้นในอังกฤษ และค่าจ้างก็สูงขึ้นด้วย

ขณะที่ในยุโรปตะวันออกเกิดเหตุกลับตาลปัตร

ผู้ครองแคว้นขูดรีดแรงงานมากขึ้น ยึดที่มากขึ้น

แม้แรงงานน้อยลงแต่กลับเป็นโอกาสให้ผู้ครองแคว้นบังคับชาวไร่ให้รับใช้ในฐานะบ่าวรับใช้ต่อไป

แทนที่คนงานจะมีอิสระมากขึ้นกลับกลายเป็นถูกรุกล้ำเสรีภาพยิ่งกว่าเดิม

ทางแยกนี้เป็นทางแยกสำคัญของการพัฒนาที่แบ่งยุโรปตะวันตกออกจากยุโรปตะวันออก

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยุโรปตะวันออกไม่มีนวัตกรรมทางความคิดหรือเทคโนโลยีโดดเด่นให้เห็น

ขณะที่อังกฤษเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องในศตวรรษที่ 17 เพราะเริ่มเกิดกลุ่มต่างๆ แย่งชิงอำนาจกัน ท้าทายกัน

และพยายามวางโครงสร้างในแบบที่ตนได้ประโยชน์

3เมื่อเกิดการต่อรองขึ้น อำนาจและผลประโยชน์ต่างๆ เริ่มถูกเรียกร้องให้กระจายออกจากที่เคยกระจุกอยู่ที่ศูนย์กลางเพียงหยิบมือ

การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ในปี 1688 ได้จำกัดอำนาจราชสำนักอังกฤษกับฝ่ายบริหารไว้ และผันอำนาจทางเศรษฐกิจไปให้รัฐสภาแทน

เปิดพื้นที่ให้คนกลุ่มใหญ่ในสังคมสามารถส่งเสียงเรียกร้องท้วงติงการทำงานของรัฐมากขึ้น

เหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยสร้างสังคมที่เป็นพหุนิยมให้อังกฤษ เกิดชุดสถาบันทางการเมืองที่เปิดกว้างขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

รัฐบาลเลือกใช้สถาบันทางเศรษฐกิจที่สร้างแรงจูงใจให้คนลงทุน ทำการค้า สร้างนวัตกรรม บังคับใช้กฎหมายกรรมสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง

เลิกเก็บภาษีตามอำเภอใจและล้มเลิกการผูกขาดเกือบสมบูรณ์

เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งสิ้น

เมื่อตลาดไม่ผูกขาด การเมืองไม่รวบอำนาจ ผู้คนได้รับการปกป้องทางปัญญา จึงพัฒนาความคิดและเทคโนโลยี แข่งขันกัน

ไม่แปลกที่นักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายเกิดขึ้นบนแผ่นดินนี้

เจมส์ วัตต์ (ผู้ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำให้สมบูรณ์) ริชาร์ด ทรีวิธิก (ผู้สร้างรถจักรไอน้ำ) ริชาร์ด อาร์กไรต์ (ผู้ประดิษฐ์เครื่องปั่นด้าย) และอิแชมบาร์ด คิงดอม บรูเนล (ผู้สร้างเรือกลไฟที่ปฏิวัติวงการ) ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ

แรงขับเคลื่อนของนวัตกรรมทางความคิดและเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสถาบันทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกิดจากสถาบันการเมืองที่เปิดกว้างด้วย

4ย้อนไปในปี 1583 วิลเลียม ลี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นเวลาเดียวกันกับที่ควีนอลิซาเบธที่ 1 มีพระราชเสาวนีย์ให้พสกนิกรต้องสวมหมวกถัก

ลีมีความเห็นว่าหมวกที่ว่านี้มีแต่คนทอผ้าเท่านั้นที่ผลิตได้ กว่าจะถักเสร็จก็กินเวลานานเหลือเกิน เขาจึงคิดประดิษฐ์ “เครื่องจักรผลิตสิ่งทอ” ขึ้น

ปี 1589 เครื่องทอผ้า “สตอกกิ้งเฟรม” พร้อมใช้งาน เขาเดินทางไปเข้าเฝ้าควีนอลิซาเบธที่ 1 ณ กรุงลอนดอน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องจักรนี้มีประโยชน์อย่างไร และขอสิทธิบัตรเพื่อป้องกันการลอกเลียน

แต่แล้วเมื่อพระราชินีได้ทอดพระเนตร ผลที่ได้รับกลับชวนให้เขาผิดหวัง พระองค์ไม่พระราชทานสิทธิบัตรให้ แต่กลับตรัสว่า “ท่านลี ท่านมุ่งหมายไว้สูงนัก ลองพิจารณาดูว่าสิ่งประดิษฐ์ของท่านจะทำให้พสกนิกรที่น่าสงสารของข้าพเจ้าเป็นอย่างไร สิ่งนี้จะทำให้พวกเขาเดือดร้อนเพราะไร้งานทำ จนพวกเขาต้องเป็นขอทาน”

ดารอน อะเซโมกลู และเจมส์ เอ. โรบินสัน ผู้เขียน “Why Nations Fail” เรียกนวัตกรรมเช่นนี้ว่า “การทำลายเชิงสร้างสรรค์”

หมายถึงนวัตกรรมที่อาจทำให้วิถีแบบเก่าได้รับผลกระทบแต่กลับช่วยสร้างสรรค์ให้ความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น

แน่นอนว่าเมื่อเกิดความคิดใหม่ย่อมมีความกลัวการทำลายวิถีเดิมเป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญ

ดังเช่นที่ควีนอลิซาเบธที่ 1 ทรงกังวลว่าการผลิตด้วยเครื่องจักรอาจทำให้คนตกงานและการเมืองไม่มั่นคง เป็นภัยต่ออำนาจของราชสำนัก

5แต่แล้วสิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนไปหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์

เมื่ออำนาจอยู่ที่รัฐสภามากขึ้น และสมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย จึงเริ่มปฏิรูปสถาบันทางเศรษฐกิจให้ส่งเสริมการผลิต แทนที่จะเก็บภาษีจนขัดขวางธุรกิจ

การทำลายเชิงสร้างสรรค์ไม่เพียงกระจายรายได้และความมั่งคั่ง แต่ยังกระจายอำนาจทางการเมืองอีกด้วย

ตัวอย่างเช่น เมื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรมขยายตัวในแมนเชสเตอร์และเบอร์มิ่งแฮม เจ้าของโรงงานกับชนชั้นกลางใหม่เริ่มมีมากขึ้นและทำการประท้วงนโยบายที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา

เช่น นโยบายห้ามนำเข้าธัญพืชในราคาต่ำเกินไป ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีต่อเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ผลิตข้าวสาลี แต่ไม่ดีต่อเจ้าของโรงงานที่ต้องจ่ายค่าแรงแพงขึ้นเพื่อชดเชยราคาขนมปังแพง

การเมืองจึงไม่ได้กีดกันผู้ผลิตใหม่ๆ อีกต่อไป เมื่อสามารถต่อรองได้

6สิ่งสำคัญที่ “Why Nations Fail” ชี้ให้เห็นคือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อังกฤษเป็นดินแดนเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คือ การเปลี่ยนแปลงระบบให้กลายเป็นระบบที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มที่หลากหลาย ตั้งแต่ชาวไร่ชาวนา ผู้ผลิตสินค้าประเภทต่างๆ นักประดิษฐ์ พ่อค้า เจ้าของโรงงาน ฯลฯ กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นแนวร่วมที่แข็งแกร่งและฐานกว้างอย่างยิ่ง

“…หากคนเหล่านี้มีผลประโยชน์อย่างเดียวกัน พื้นเพแบบเดียวกันหมด การปฏิวัติในอังกฤษก็คงเป็นแค่การฉายหนังซ้ำเรื่องตระกูลแลงคัสเตอร์ปะทะตระกูลยอร์ก มีกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งสู้กับอีกกลุ่มหนึ่ง ผลัดกันสร้างสถาบันขูดรีดไม่แบบเก่าก็แบบใหม่…”

แนวร่วมในวงกว้างก่อให้เกิดสถาบันการเมืองที่เป็นพหุนิยมมากกว่า ทำให้รัฐสภารับฟังคำร้องทุกข์จากเสียงของคนที่หลากหลาย แม้จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่นอกรัฐสภาก็ตาม และไม่มีใครยอมให้ใครผูกขาดผลประโยชน์อีกต่อไป

เมื่อโอกาสตกอยู่กับคนที่หลากหลายมากขึ้น ผลดีก็ตกอยู่กับประเทศโดยรวม

7หากถามว่า ความยิ่งใหญ่ของอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมและยุคล่าอาณานิคมมีที่มาจากอะไร

คงมีผู้ให้คำตอบหลากหลายปัจจัย

ไหนจะเรื่องทรัพยากรธรรมชาติอย่างถ่านหินและอื่นๆ อีกมากมาย

แต่มุมมองจากหนังสือ “Why Nations Fail” ดังที่ได้เล่าสู่กันฟังทั้งหมดนี้ก็น่าหยิบมาใคร่ครวญว่า ตัวหมัดเล็กๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการล้มตายของผู้คนจำนวนมหาศาลนั้นอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญอยู่ด้วย

และยิ่งน่าคิดต่อไปอีกว่า ในสถานการณ์วิกฤตแบบเดียวกัน มีประเทศส่วนหนึ่งกระจายอำนาจออกไปกับประเทศอีกส่วนหนึ่งรวบอำนาจให้เข้มขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออนาคตของสังคมไปคนละแบบ ห่างไกลกันคนละทิศคนละทางเลยทีเดียว

ตรงทางแยก ไม่มีใครรู้หรอกว่าเลือกแบบใดจะพาไปสู่ปลายทางแบบไหน

แต่ถ้ามองย้อนไปยังอดีตเรามักพบคำตอบว่า

มีบางทางเลือกดีกว่าอีกทางหนึ่ง