ในประเทศ : สุเทพ พบ มาร์ค กปปส. คืนรัง ปชป. เตรียมตัวเลือกตั้ง?

เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยื่นลาออกจากตำแหน่งไปถึง 2 คน ซึ่งมีผลนับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้มีจำนวนสมาชิก สปท. เหลืออยู่ 193 คน จากโควต้าทั้งหมด 220 คน

คนหนึ่งลาออกเนื่องจากปัญหาสุขภาพ คือ นายณัฏฐ์ ชพานนท์

ส่วนอีกหนึ่ง นายวิทยา แก้วภราดัย ลาออกขอกลับไปทำหน้าที่นักการเมืองตามเดิม

และเพื่อให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้สมาชิกแม่น้ำ 4 สาย ที่ต้องการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

ระหว่างรอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้มีผลบังคับใช้ นายวิทยาก็จะกลับไปตามแผนที่วางไว้ คือกลับไปเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง หลังจากสมาชิกภาพขาดไป เมื่อครั้งไปบวชที่วัดธารน้ำไหล ปี 2557

โดยหวังที่จะกลับไปสู้ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งหน้า

“ผมจะกลับไปสมัครเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิม ภายหลังกฎหมายพรรคการเมืองมีผลใช้บังคับ และ คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแผนที่ผมวางไว้ว่า หากงานปฏิรูปในส่วนที่รับผิดชอบเสร็จสิ้น จะลาออกจากตำแหน่ง สปท. เพื่อทำงานการเมืองต่อไป”

หากนายวิทยาเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ พรรคประชาธิปัตย์ก็คงไม่แปลก เพราะนักการเมืองพันธุ์แท้ ย่อมกลับสู่สนามเลือกตั้งทุกครั้งที่สนามการเมืองเปิด

และก็คงไม่แปลกถ้านายวิทยาไม่เคยเป็นอดีต กปปส. ที่ร่วมสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. การกลับมาเข้าร่วมครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วแกนนำ กปปส. ก็ตัดกันไม่ขาดกับพรรคประชาธิปัตย์

“ส่วนกรณีที่สมาชิก กปปส. บางคนไปร่วมกิจกรรมกับทางพรรค ปชป. นั้น เมื่อเสร็จสิ้นการชุมนุมแล้ว คนเหล่านั้นก็สามารถที่จะกลับไปในจุดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เกษตรกร หรือนักการเมือง และเมื่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองออกมา บรรดานักการเมืองออกมาแล้ว ใครที่ชอบพรรคไหนเขาก็อาจกลับไปพรรคนั้น ส่วนที่มาจากพรรค ปชป. เขาก็กลับไปที่พรรค หรือใครจะอยากไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตรงนี้ผมไม่เกี่ยวข้อง ไม่ผูกมัด แต่ในส่วนของมูลนิธิ ใครก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกได้ แต่ต้องเสียค่าบำรุงด้วยนะ อย่างน้อยปีละ 365 บาท”

คำกล่าวของนายสุเทพ ที่ว่านี้ ยืนยันชัดเจนว่าไม่มีปัญหาแน่นอน หากแกนนำ กปปส. บางคนจะกลับไปซบพรรค ปชป. เหมือนเดิม แถมยังออกมาเปิดเผยด้วยว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ได้เชิญ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. มาทานข้าวด้วย

จะถือเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ มานัดรับประทานอาหารอะไรกันในช่วงนี้

ช่วงที่ สนช. กำลังพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับแรกจากทั้งหมด 10 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ สนช. รับหลักการ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นกลไกของพรรคการเมืองที่เริ่มขยับ หลังถูกห้ามเคลื่อนไหวจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 57/2557 ห้ามไม่ให้ดำเนินการประชุม หรือดำเนินการใดๆ ในทางการเมือง รวมถึงให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว และเนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นทางการภายในพรรคที่อาจจะเป็นเพียงแค่การเจรจาในประเด็นผลประโยชน์ภายในพรรคเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นใช่ว่าจะมีเพียงเท่านั้น เพราะมีหลายพรรคการเมืองที่โดนปรับตามมาตรา 47 เนื่องจากไม่ได้เสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรค เนื่องจากไม่สามารถประชุมพรรคการเมืองเพื่อรับรองบัญชี อีกประเด็นที่ยังต้องรอการปลดล็อกจาก คสช. อยู่

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอดีตคณบดีรัฐศาสตร์ กล่าวว่า มีเพียงพรรคการเมืองขนาดใหญ่เท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวให้เห็น

ส่วนพรรคขนาดกลางคงจะวางยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับกติกาใหม่ที่เชื่อว่าจะมีความได้เปรียบที่สุดในเรื่องของคะแนนเสียงการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วน

ขณะที่พรรคขนาดเล็กคงไม่เคลื่อนไหวมาก เนื่องจากการบริหารจัดการ เรื่องงบประมาณ และผู้แทนฯ ในเขตต่างๆ ให้ครบทุกเขตสู้พรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางไม่ได้ โอกาสที่จะเพิ่มพื้นที่ในสภาก็คงเป็นเรื่องยาก

ดังนั้น พรรคขนาดกลาง และการต่อรองของกลุ่มการเมืองภายในพรรคขนาดใหญ่จึงมีสูงกว่าพรรคขนาดเล็ก

ทั้งนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคคงอยู่ในช่วงของการเตรียมตัวอย่างหนีไม่พ้น เนื่องจากกติกาและกฎหมายที่เข้ามาควบคุม

และคาดว่าในช่วงหลังการเลือกตั้งก็คงจะมีกฎหมายใหม่เข้ามาควบคุมนักการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายการปฏิรูป ที่ค่อนข้างจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร

นักการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองต้องอาศัยช่วงเวลานี้ปรับตัวพร้อมรับสถานการณ์

และอาจจะมีการเคลื่อนไหวหรือคัดค้านกฎหมายเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้า คสช. เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้หารือกันเมื่อไหร่ การเคลื่อนไหวเต็มรูปแบบคงจะมีให้เห็นอย่างแน่นอน

เพราะการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองจะต้องผ่านการกำหนดนโยบายในที่ประชุมพรรคทั้งสิ้น

จากความเคลื่อนไหวของคนการเมืองนี้เอง รศ.ยุทธพร ให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่สะท้อนภาพการปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดรับกติกาใหม่ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะออกมา เพราะกรอบรัฐธรรมนูญปี 2560 มีส่วนในการกำหนดทิศทางที่เปลี่ยนไป เช่น ระบบการเลือกตั้ง การเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง

พรรคการเมืองต่างๆ ก็คงต้องเตรียมตัวปรับเปลี่ยนทิศทาง นโยบาย ผู้สมัคร ในช่วงนี้แล้ว ซึ่งคาดว่าคงจะไม่เกินต้นปี 2562 จะมีการเลือกตั้งให้พรรคการเมืองได้ออกมาโลดแล่นอีกครั้ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาใช่ว่านักการเมืองทั้งหลายจะอยู่นิ่งเฉย หลายคนก็ลงพื้นที่พบปะประชาชน และหลายคนที่ยังมีตำแหน่งอยู่ ก็ทยอยลาออกเพื่อเตรียมตัวลงเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น หากมองลึกลงไป ตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ได้แบ่งขั้วออกเป็น 2 ด้าน คือ ฝั่งของนายสุเทพ และฝั่งของนายอภิสิทธิ์ ที่ต่างได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรค

รศ.ยุทธพร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ในส่วนของภาคใต้พัฒนาตัวเป็น กปปส. ไม่น้อย ส่วน ส.ส. รุ่นใหม่โดยเฉพาะส่วนกรุงเทพฯ พัฒนาตัวอยู่ในกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเห็นความพยายามในการถ่วงดุลของคนทั้งสองกลุ่มในพรรคมาโดยตลอด และเมื่อกติกาปรับเปลี่ยน กลุ่ม ส.ส. ในส่วนภาคใต้ก็พยายามที่จะมายึดพื้นที่ในจุดนี้คืน

ถึงอย่างไร รศ.ยุทธพร เชื่อว่า แม้นายสุเทพจะมีความได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์ทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนาน และยังได้รับความไว้วางใจจาก ส.ส. ของพรรคจำนวนไม่น้อย แต่ก็คงไม่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างแน่นอน เพราะได้เคยลั่นวาจาไว้ในช่วงของการชุมนุม กปปส. ว่าจะวางมือในทางการเมือง

นอกจากนี้ จากการออกมาประกาศย้ำเจตนารมณ์ชัดๆ ผ่านสื่อในช่วงที่ผ่านมาของนายสุเทพ ว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองช่วงนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น เพราะลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคมานานแล้ว ที่พูด ไม่ได้พูดเพื่อพรรคการเมืองไหนๆ แต่พูดเพื่ออนาคตของประเทศไทย และคงไม่บาดหมางกับใคร

วันนี้เราสามารถที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยโดยไม่ทะเลาะกับใครก็ได้

จึงต้องจับตากันอีกทีในวันที่ 1 เมษายน ปีหน้า (2561) ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคประชาธิปัตย์อีกที ว่าบทบาทของนายสุเทพเวลานั้นจะยังคงเข้ามามีอิทธิพล และเป็นไปตามที่ลั่นวาจาไว้บนเวทีต่อหน้ามวลมหาประชาชนเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ที่ว่า

“จบงานนี้ผมไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว จบแค่นี้ ชีวิตนี้เคยคิดจะเป็นนักการเมืองของประชาชน สู้มาในระบบทั้งชีวิต 35 ปี เมื่อการต่อสู้ในระบบไม่สามารถเอาชนะทุนสามานย์นายทุนได้จึงลาออกจากผู้แทนฯ ออกมาสู้กับประชาชน แพ้ชนะก็ให้รู้กันคราวนี้ จะไม่ลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจะไม่กลับไปพรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว สิ่งที่ทำจะได้เชื่อมั่นว่าไม่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์”

นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง