มุกดา สุวรรณชาติ : ถ้ารัฐใช้ ม.116… ปกป้องเรือดำน้ำ จะลุกลามถึงทำเนียบ

มุกดา สุวรรณชาติ

ไม่ได้กู้ชาติ แต่กู้เงิน มาซื้อเรือดำน้ำ

ที่คนค้านกันมากในขณะนี้ก็คือการใช้งบประมาณ 22,500 ล้าน ในการจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ รัฐบาลคือฝ่ายที่เห็นด้วยและคิดว่ามีความจำเป็น

แต่มีคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้เสียภาษีมองว่าไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจการเงิน

เพราะเงิน 22,500 ล้าน รวมกับที่ซื้อลำแรก 13,000 รวมแล้ว 35,500 ล้าน สามารถนำไปช่วยประคองและฟื้นฟูธุรกิจรายย่อยได้หลายหมื่นราย และช่วยลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในธุรกิจเหล่านั้นได้หลายแสนคน

หรือสามารถนำไปใช้ในระบบสาธารณสุข ที่ใช้บัตรทอง ปี 2563 ตามหลักประกันสุขภาพได้ถึง 9,300,000 ราย

ถ้านำไปให้เด็กกู้ยืมเรียนต่อตามโครงการ กยศ. จะสามารถให้เด็กกู้เงินเรียนได้ถึง 200,000 ราย ต่อเนื่องกันถึง 3 ปี

นี่คือความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายในช่วงที่ประเทศเข้าสู่ความยากลำบากซึ่งจะต่อเนื่องนานหลายปี

อีกเหตุผลของฝ่ายที่ค้าน คือสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศช่วงนี้เราไม่มีคู่ขัดแย้งที่มีชายแดนที่ติดกับเราที่มีสภาพตึงเครียด ทุกประเทศก็กำลังมีปัญหาภายในเหมือนกัน

รัฐบาล คสช.ซื้อเรือดำน้ำมาแล้ว 1 ลำ

โดยเดือนกรกฎาคม 2559 กระทรวงกลาโหมอนุมัติความต้องการเรือดำน้ำ 3 ลำ

18 เมษายน 2560 ครม.ได้อนุมัติให้จัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากประเทศจีน จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท พล.อ.ประยุทธ์ตอบสื่อปมเรือดำน้ำว่า “ต้องมีให้เพื่อนบ้านเกรงใจ”

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2562 กองทัพเรือไทยทำสัญญาต่อเรือ LPD ยกพลขึ้นบกลำใหม่จากจีน เพื่อเป็นเรือพี่เลี้ยงให้เรือดำน้ำ และเพื่อภารกิจยกพลขึ้นบก บรรเทาสาธารณภัย งบฯ 6,100 ล้านบาท

 

การปกป้องน่านน้ำ
ต้องมีเรือรบ
ที่สามารถใช้งานได้เหมาะสม

ประวัติการต่อสู้ของทหารเรือที่ผ่านมาคือปกป้องน่านน้ำและประชาธิปไตย

ถ้าพูดถึงการปกป้องน่านน้ำและผลประโยชน์ทางทะเล ตลอด 30 ปีมานี้ กองทัพเรือมีผลงานดีเด่น จากเรือผิวน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ออกทำงานอย่างต่อเนื่อง ผู้รุกล้ำและพวกที่ทำผิดกฎหมายกลัวเรือรบและเรือตรวจชายฝั่งที่พวกเขามองเห็น ทั้งยังช่วยเรื่องภัยพิบัติ

ที่ผ่านมาเคยมีการซื้อเรือจักรีนฤเบศร 7,100 ล้านในปี 2535 เข้าประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้รับเครื่องฮ็อกเกอร์-ซิดเดลีย์ แฮริเออร์ เอวี-8 เอส (ที่นั่งเดี่ยว) และทีเอวี-8 เอส (สองที่นั่ง) มือสองจากกองทัพเรือสเปนเข้าประจำการจำนวน 9 ลำ

ปัจจุบันประสบปัญหาการดูแลรักษาและขาดแคลนอะไหล่ ปลดประจำการหมดแล้วทั้ง 9 ลำตั้งแต่ 2549 และยังมีเฮลิคอปเตอร์ซีฮอว์ก เอส-70 บี จำนวน 6 เครื่อง

สรุปแล้วสุดท้ายเราไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก แต่มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ที่นานๆ จะใช้ครั้ง

ความขัดแย้งเรื่องซื้อเรือดำน้ำอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก อาจจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในระดับนโยบาย ถ้ามีการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป

อาจมีพรรคการเมืองที่ต้องการเรือดำน้ำ กับพรรคที่ไม่ต้องการเรือดำน้ำ แต่ต้องการใช้งบประมาณไปช่วยคนไข้ โรงพยาบาล หมอและพยาบาลมากกว่า และอาจจะมีบางพรรคที่ประกาศไม่ยอมรับสัญญาซื้อขายนี้ก็ได้

เฉพาะหน้าโดนต่อต้านการซื้อแน่ รัฐบาลจะไปจับประชาชนที่คัดค้านการใช้เงินภาษีของเขามาขังไว้หรือ จะอ้างมาตรา 116 มาปกป้องการซื้อเรือดำน้ำ คงไม่มีใครยอมหรอก

 

การคุกคามเสรีภาพ
และการใช้มาตรา 116
จะขยายความขัดแย้ง

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 บัญญัติไว้ว่า

ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

หากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แม้จะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 116 หากเป็นการเรียกร้องโดยสันติวิธีไม่มีการใช้กำลังเข้าบังคับ ก็ย่อมไม่ผิดตามมาตรา 116(1)

หลังการรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 มีการจับกุมและดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก

เช่น คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง จากการให้สัมภาษณ์นักข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ จากการโพสต์เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์นัดหมายให้ประชาชนออกมาชุมนุมต่อต้าน คสช. ฯลฯ

คดีความใช้เวลานานมาก มีแค่การตั้งข้อหาในช่วงการจับกุมและเผยแพร่เป็นข่าวต่อสาธารณะเท่านั้น ขณะที่คดีความส่วนหนึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตยังไม่เข้าข่ายเป็นความผิด

โดยเฉพาะในยุคของ คสช. คดีความตามมาตรา 116 ทั้ง 10 คดี ยังไม่มีผู้ต้องหาถูกตัดสินว่ามีความผิดเลยแม้แต่คนเดียว

ที่ผ่านมา นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 26 ธันวาคม 2562 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 130 ราย หลังเลือกตั้ง 2562 ต่อเนื่องมาถึงการชุมนุมใหญ่เดือนกรกฎาคม 2563 ถึงปัจจุบันพบว่ารัฐบาลมีการใช้มาตรา 116 ตั้งข้อกล่าวหา ก็เพื่อสกัดและปรามการเข้าร่วมการชุมนุมและปราศรัย หวังเชือดไก่ให้ลิงดู

เนื่องจากมาตรา 116 มีโทษจำคุกสูงสุดถึงเจ็ดปี ซึ่งถือเป็นข้อหาหนักที่มีโทษสูง ตำรวจและอัยการสามารถขอฝากขังผู้ต้องหาไว้ก่อนฟ้องคดีได้ 48 วัน การขอประกันตัวต้องวางหลักทรัพย์ตามอัตราโทษสูง ใครถูกตั้งข้อหาหนักเช่นนี้ย่อมรู้สึกกลัว เป็นกังวลกับผลคดีของตัวเอง ทำให้ฝ่ายรัฐมีอำนาจข่มขู่และต่อรองทางการเมืองเพิ่มขึ้น

รัฐหวังว่าคนอื่นในสังคมจะรู้สึกกลัวและไม่กล้าทำ

แต่ตอนนี้คนต่อต้านยิ่งมีเพิ่มขึ้นเกือบทั่วประเทศแล้ว ถ้าจะจับคนต่อต้านทั้งกลางวันกลางคืน ผลมันจะออกตรงข้าม กลายเป็นยั่วให้ประชาชนโกรธ แน่จริงลองไปจับนักเรียนสิ

 

เกมการเมืองจะเดินต่ออย่างไร
ซื้อเวลา
โดยใช้การแก้รัฐธรรมนูญได้นานแค่ไหน

1.เกมการเมืองในช่วงนี้อ่านได้ว่าฝ่ายรัฐบาลถูกรุกหนักด้วยการประท้วงของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน และในทุกหัวข้อที่ฝ่ายประท้วงยกขึ้นมา ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถตอบโต้ได้ด้วยเหตุผล

2. ที่รัฐบาลพอทำได้ก็คือหาเรื่องจับกุมแกนนำผู้ประท้วงหรือผู้พูด ไม่ยอมให้พูด เป็นการดำเนินคดีโดยใช้มาตรา 116 เพื่อทำให้การประท้วงติดขัดไม่สะดวกราบรื่น แต่ก็ดูเหมือนไม่สามารถขัดขวางได้ การประท้วงยังขยายออกไปเรื่อยๆ แต่รัฐบาลก็ใช้เกมหูทวนลมไม่ยอมฟังเหตุผล ยิ่งทำให้การประท้วงขยายตัว

3. รัฐบาลต้องการจะยื้ออำนาจบริหารต่อไป เพื่อจะใช้งบประมาณปีละ 3.3 ล้านล้าน เป้าหมายคือดึงเวลาออกไปอีก 2 ปี

4. ดังนั้น แผนที่ 2 ของรัฐบาลอาจจะยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยใช้การดึงเวลาให้นานที่สุด อย่าคิดว่ารัฐบาลจะไม่ยอมให้เลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จากประชาชน แต่จะอ้างกฎเกณฑ์จากรัฐธรรมนูญ 2560 และดึงเวลาในการลงประชามติและทำให้การเลือก ส.ส.ร.ยุ่งยาก กว่าจะเลือกได้ก็เป็นเวลานาน และอย่าคิดว่าฝ่ายสืบทอดอำนาจจะไม่ได้รับเลือกเข้ามา พวกเขามีอำนาจและเงินมากพอที่จะแปลงกายเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ได้แม้อาจไม่ใช่เสียงข้างมาก

5. เมื่อเลือกได้แล้วยังต้องมาประชุมเพื่อร่างรัฐธรรมนูญซึ่งถ้ามีคนดึงเกมก็จะยิ่งยาวออกไป นานเป็นปีๆ จากนั้นต้องกลับมาลงประชามติ ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

ถ้ารัฐบาลเดินเกมแบบนี้ ฝ่ายที่ต่อต้านแม้จะไม่พอใจ แต่มีทางเดียวคือจะต้องบีบด้วยเวลาให้สั้นตามที่กำหนดด้วยแรงผลักดันทางสังคม ประเมินแล้วก็นานเป็น 1-2 ปี

 

ถ้าเกมยืดออกไป
หรือถ้าปะทะแตกหัก
ใครได้-ใครเสีย

เกมนี้เป็นเกมต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งที่จริงแล้วเวลายืดออกไปอีก 1 ปีแม้พวกที่อยากใช้งบประมาณพวกที่อยากหาเงินทอนเพื่อเอามาซื้อเสียงจะบรรลุเป้าหมายได้บ้าง

แต่ฝ่ายนักเรียน นักศึกษา ประชาชนก็จะใช้เวทีที่เคลื่อนไหวรณรงค์นี้ทำความเข้าใจกับเรื่องการเมืองมากขึ้น

โดยเฉพาะเยาวชนที่ออกมาต่อต้านระบบที่กำลังเสื่อมจะได้มีเวลาปรับปรุงความคิดแนวทางการรณรงค์ให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงในสังคม สามารถมองหาชัยชนะในระยะยาว

แต่ในขณะที่เวลาผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจจะเข้ามากระทบกับคนยากคนจน คนชั้นกลาง ปัญญาชน พ่อค้าพวกทุนขนาดเล็ก SME ทั้งหลายล้วนแต่มีผลกระทบอย่างหนักทั้งสิ้น

ดังนั้น กองเชียร์ที่เคยเชียร์รัฐบาลก็จะมีความเข้าใจมากขึ้นและจะเปลี่ยนเสียงมาเป็นกลาง

สุดท้ายจะถึงขั้นต่อต้านรัฐบาลอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ในเชิงอุดมการณ์อาจจะไม่เหมือนกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น

ถ้ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจให้เห็นว่ามีโอกาสฟื้นตัวได้ แรงกดดันจากประชาชนจะสูงมากและจะมาจากทุกกลุ่ม ถ้าทุกอย่างยังเดินไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง จนเกิดการโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีอื่นก่อน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการแตกของพรรคร่วมรัฐบาลที่เห็นว่ารัฐบาลไม่ไหว ก็จะชิ่งตัวออกและสร้างกำลังของตนเองให้มากที่สุด

ส่วนพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลโอกาสที่จะเป็นพรรคใหญ่แบบเดิมอาจไม่ได้แล้ว แต่จะแตกเป็นพรรคเล็กโดยหวังว่าจะรวมกันได้เมื่อชนะเลือกตั้ง

การปะทะแตกหัก แบบ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 รัฐบาลคงไม่อยากให้เกิด แต่ก็ไม่ลาออก เวลานี้ไปบีบให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่โดยไม่แก้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีประโยชน์ ถ้า ส.ว.ยังเลือกนายกฯ ได้ ในเมื่อเป็นผลผลิตของ คสช.

ตอนนี้ ส.ว.ก็เลยกลายเป็นเป้าหมายกำจัดออก เพราะเป็นส่วนเกินของระบบเลือกตั้งของประชาชน แถมยังเลือกข้าง จึงมีคนเสนอให้แก้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560

 

ทำไมข้อเสนอของฝ่ายประท้วง
ที่เป็นนักเรียน-นักศึกษาทำให้รัฐบาลแก้ไม่ตก

น่าจะมีอยู่เหตุผลเดียวคือ ปัญหาและข้อเสนอของเยาวชนเหล่านั้นล้วนแต่เป็นความจริงและเป็นจุดอ่อนที่รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มีผู้รู้และนักวิชาการจำนวนมากทดลองนำข้อเสนอของเยาวชนมารวบรวมได้ 10 กว่าข้อ พบว่าที่พอจะโต้ตอบหรือแย้งได้บ้างมีเพียง 2 ข้อเท่านั้น

จะเห็นว่าความขัดแย้งขยายไปจนถึงการต่อต้านสินค้าที่เป็นสปอนเซอร์ให้กับสถานีโทรทัศน์ที่คนไม่พอใจ พวกชาวบ้านร้านถิ่น ประชาชน นักเรียน นักศึกษาไม่ได้มีกองกำลังไม่มีอาวุธ การต่อสู้ของพวกเขาก็จะใช้การชุมนุมประท้วงอภิปรายเปิดโปงการทุจริตต่างๆ เต็มที่ก็มีการนัดหยุดงาน งดซื้อสินค้า หรืองดเสียภาษี

แต่ประชาชนไม่มีอาวุธที่จะก่อความรุนแรง ถ้าจะระวังเรื่องการยึดอำนาจต้องระวังพวกกันเอง

การลุกลามของความขัดแย้งอย่างที่เคยเตือนไปแล้วว่าถ้ามีการรุกล้ำเสรีภาพไปกดดันคุกคามจับกุมก็อาจจะมีการโต้ตอบกันบ้างเป็นธรรมดา วันนี้เมื่อเด็กๆ ออกมาประท้วงก็มีคนไปขู่พ่อ-แม่ถึงบ้าน

เมื่อทั้งเด็กและผู้ใหญ่ถูกคุกคามถึงครอบครัวเช่นนี้การตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ยิ่งถ้าความขัดแย้งขยายไปเรื่อย ครอบครัวของผู้มีอำนาจทั้งหลายคงใช้ชีวิตปกติลำบาก

ตอนนี้ลามไปถึงการตรวจสอบทรัพย์สินผู้บริหารแล้ว

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)