ต่างประเทศอินโดจีน : แรงงานกับปาล์มน้ำมัน

อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซีย กำลังมีปัญหาอย่างหนักอยู่ในเวลานี้ ไม่เพียงเพราะเผชิญกับปัญหาการส่งออกเพราะสถานการณ์โควิดเท่านั้น ยังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานแบบสาหัสอีกด้วย

นั่นเนื่องเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นเหตุให้แรงงานต่างชาติที่เคยหลั่งไหลเข้ามามากมาย กลับเหือดหายไปจนหมดสิ้น

กระบวนการผลิตของสวนปาล์มน้ำมันกำลังเข้าสู่ช่วงพีกสุดของฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนข้างหน้า

ทำให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตพากันขึ้นป้าย “รับสมัครคนงาน” ทั้งบริเวณสวนปาล์ม, บริเวณหน้าโรงงาน เรื่อยไปจนถึงที่เกลื่อนที่สุดคือการโฆษณาหาคนงานบนโลกออนไลน์

แทบทุกบริษัทเสนอเงื่อนไขจูงใจกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ที่พักฟรี, น้ำฟรี ผลประโยชน์เพิ่มเติมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้แห่กันมาสมัครทำงานทั้งหลายทั้งในสวนและในโรงงาน ตั้งแต่คนเก็บเกี่ยวทะลายปาล์ม เรื่อยไปจนถึงพนักงานขับรถแทร็กเตอร์

เงื่อนไขหรูหราเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่จำเป็นต้องทำ เพราะไม่เพียงขาดแคลนแรงงานเท่านั้น ยังเป็นการพุ่งเป้าว่าจ้างแรงงานชาวมาเลย์โดยเฉพาะอีกต่างหาก

 

สมาคมปาล์มน้ำมันแห่งมาเลเซีย (เอ็มพีโอเอ) บอกว่า เพราะการระบาดของโควิดปิดกั้นการเดินทางระหว่างประเทศลง ทำให้ในตอนนี้ขาดแคลนแรงงานแล้วอย่างน้อย 37,000 คน หรือราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรมนี้ในมาเลเซีย

เอ็มพีโอเอระบุว่า อีกไม่ช้าไม่นานก็คงลุกลามเป็น 70,000 คน จำเป็นต้องหาแรงงานในท้องถิ่นเข้ามาทดแทนให้ได้โดยเร็วที่สุดและมากที่สุด

อิมราน ผู้จัดการสวนปาล์มของไซม์ดาร์บี บอกว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิด “ความพยายามครั้งใหญ่” ในการว่าจ้างแรงงานมาเลย์เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้

แทนที่จะเป็นแรงงานจากประเทศอย่างอินโดนีเซียและบังกลาเทศเหมือนที่เคยเป็นมา

การขาดแคลนแรงงาน ส่งผลสะเทือนอย่างหนักต่อการผลิตน้ำมันปาล์ม ในทางหนึ่งเพราะทำให้การเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มทำได้ล่าช้ากว่าปกติ ผลก็คือ ปาล์มสุกเน่าเสียมีเพิ่มมากขึ้น

ในอีกทางหนึ่ง ทำให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในมาเลเซียยิ่งเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย ที่ไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ขาดแคลนแรงงานมาก่อนมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ในสภาพปกติทั่วไป ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของมาเลเซียก็สูงกว่าอยู่แล้ว โดยอยู่ระหว่าง 406-480 ดอลลาร์ต่อตัน เทียบกับต้นทุนของอินโดนีเซียซึ่งอยู่ที่ 400-450 ดอลลาร์ต่อตัน ยิ่งเกิดปัญหายิ่งทำให้เกิดแรงกดดันต่อราคาต้นทุนให้สูงมากยิ่งขึ้น

อันที่จริงการจ้างแรงงานในท้องถิ่นสามารถช่วยลดต้นทุนลงได้ เพราะไม่ต้องจ่ายทั้งค่าหัวและค่าธรรมเนียมในการ “นำเข้า” แรงงานจากต่างประเทศ

แต่นากิบ วาฮับ ประธานบริหารของเอ็มพีโอเอ บอกอย่างกังขาว่า นั่นต้องหมายความว่าแรงงานมาเลย์มีผลิตภาพในระดับเดียวกับแรงงานต่างชาติเหล่านั้นนะ

งานในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันถูกคนมาเลย์ด้วยกันมองว่า เป็นงาน “สกปรก” และ “อันตราย” เกินไป อาจทำได้ชั่วครั้งชั่วคราวหากจำเป็น แต่ให้ปักหลักทำงานอย่างนี้คงยาก

 

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แย่งแรงงาน” กันระหว่างสวนขนาดย่อมๆ ขึ้นอย่างช่วยไม่ได้

แต่บริษัทใหญ่ๆ อย่างไซม์ดาร์บี ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของสวนปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ที่สุดของโลก กลับคิดหาหนทางแก้ที่ถาวรกว่านั้น

ลดจำนวนคนงานลง เพิ่มจักรกลและเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว ลำเลียงและสกัด

เอ็ม อาร์ จันดราน เจ้าหน้าที่เอ็มพีโอเอที่คร่ำหวอดอยู่กับอุตสาหกรรมนี้มานานบอกว่า โดรน, ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ คือคำตอบระยะยาวของสถานการณ์นี้

ไม่นานเราอาจเห็นสวนปาล์มใช้โดรนบินตรวจหาทะลายที่สุกเต็มที่ แล้วยิงเลเซอร์เพื่อเก็บเกี่ยวก็เป็นได้

ไม่เพียงทำให้สวนปาล์มทันสมัยขึ้นเท่านั้น ยังทำให้งานสวนมีเสน่ห์ขึ้นอีกมากสำหรับชาวมาเลเซียอีกด้วย

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2
ลงทะเบียนเข้างานฟรี มีต้นไม้แจกด้วยนะ (จำนวนจำกัด)