ในประเทศ : ธรรมศาสตร์เอฟเฟ็กต์! จาก “ค่ำคืนตึงเครียด” ถึง “เช้าทางสามแพร่ง”

จากการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

กลายเป็น “ธรรมศาสตร์เอฟเฟ็กต์” เมื่อเพดานข้อเรียกร้องขยับสูงขึ้น เกินจาก 3 ข้อ 2 เงื่อนไข ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก Free YOUTH ที่ยกระดับมาเป็นกลุ่มประชาชนปลดแอก Free People แทน ทั้งการเลิกคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ และยุบสภา บนเงื่อนไข ต้องไม่มีการรัฐประหาร และไม่มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ตกมายัง “ผู้บริหาร มธ.” เป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของการชุมนุมในวันดังกล่าว ได้ส่ง “แรงกดดัน” มายังมหาวิทยาลัย

ถึงขั้นให้ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. ต้อง “ลาออก” จากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

ในค่ำคืนนั้น คณะผู้บริหาร มธ.อยู่ในสภาวะตึงเครียด เพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งทางคณะผู้บริหารก็เตรียมชี้แจงสิ่งต่างๆ ตั้งแต่คืนที่เกิดเรื่องขึ้น โดยย้ำถึงเนื้อหาในหนังสือขออนุญาตใช้พื้นที่จัดกิจกรรมของนักศึกษา ที่ในหนังสือมีเพียงข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นเท่านั้น

ทว่ามหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถปฏิเสธ “ความรับผิดชอบ” ได้ เพราะได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ไปแล้ว

การชี้แจงเริ่มขึ้นโดย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร มธ. ศูนย์รังสิต ได้ออกชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ขออภัยและขอน้อมรับผิดในสิ่งที่เกิดขึ้น

พร้อมชี้แจงถึงหนังสือที่ผู้จัดงานได้ทำมาขออนุญาตใช้พื้นที่ เมื่อ 31 กรกฎาคม 2563 มีเพียง 3 ประเด็น ซึ่งตนได้รับหนังสือ 5 สิงหาคม 2563 จากนั้นวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ได้เชิญผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ และ ตร.สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง มาหารือ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าการชุมนุมจะอยู่ในขอบเขต 3 ประเด็น

หากมีคนที่ปราศรัยประเด็นหมิ่นเหม่หรือผิดกฎหมาย คนพูดก็ต้องรับผิดชอบ

และหากมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เช่น การพูด ยกป้ายข้อความ หรือการกระทำใด ทาง ตร.จะใช้วิธีการพูดคุยเจรจา

เมื่อได้ข้อสรุปตามแนวทางนี้ จึงอนุญาตให้ใช้สถานที่

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปริญญาระบุว่า แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยความเรียบร้อย แต่พบว่ามีผู้ปราศรัยบางคน โดยเฉพาะมีผู้ไม่ได้เป็นนักศึกษา มธ.ขึ้นปราศรัยด้วย

 

แต่กระแสจากฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์เฟซบุ๊กขอให้ผู้บริหาร มธ.ลาออกทั้งคณะ ฐานปล่อยปละละเลยให้มีกิจกรรมเกิดขึ้น อีกทั้งให้ลงโทษนักศึกษาสถานเดียว คือ พ้นสถานะนักศึกษา

ทั้งนี้ พล.ต.นพ.เหรียญทองโพสต์ข้อความเปิดเผยว่า “ณฐพร โตประยูร” ได้อาสาเป็นผู้ดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งแจ้งความและดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องทุกราย ทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย แกนนำ ผู้อภิปรายบนเวที ผู้ประกอบการเวที เป็นต้น โดยเฉพาะผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม ที่ให้การสนับสนุนทุนทรัพย์ ทั้งคดีอาญาและแพ่ง รวมถึงการยึดทรัพย์และของกลางที่ใช้ในการชุมนุมด้วย

ซึ่ง “ณฐพร โตประยูร” ก็คือผู้ยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ว่ากระทำการล้มล้างการปกครอง หรือที่เรียกว่า “คดีอิลลูมินาติ” นั่นเอง

 

ต่อมา มธ.ได้ออกแถลงการณ์ “เสียใจ-ขอโทษ” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากกรณีเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนจากการชุมนุมทางการเมือง โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน พร้อมย้ำถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัยที่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ตลอดจนศีลธรรมอันดีของสังคม

พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้จัดงานได้ขออนุญาตใช้สถานที่เพื่อการเรียกร้อง 3 ประเด็น แต่ได้เกิดการแสดงออกนอกเหนือขอบเขตที่ได้ขออนุญาต ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม 3 ข้อ ได้แก่

1) การแสดงออกที่เกินกว่าขอบเขตนั้น เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลของผู้ที่แสดงออก ตามที่ได้มีการตกลงระหว่างผู้จัดงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนจัดกิจกรรม เรื่องกระบวนการทางกฎหมายโดยเฉพาะกับบุคคลที่ไม่ใช่นักศึกษา มธ. จึงเป็นเรื่องการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ โดย มธ.จะให้ความร่วมมือและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

2) สำหรับการแสดงออกของนักศึกษา มธ.ที่ไม่เหมาะสม ทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างเป็นธรรม ตามข้อเท็จจริงภายใต้ข้อบังคับของ มธ.

3) มหาวิทยาลัยจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยเคร่งครัดการใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย และไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้บริหาร มธ.ได้ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด ตั้งแต่คืนวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยได้ประเมิน “เวิสต์เคส” คือ อธิการบดีลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อทุกฝ่ายได้อย่าง “ประนีประนอม” ที่สุด

 

ในฝั่งที่สนับสนุนการชุมนุม โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัย 120 คนทั่วประเทศได้ร่วมลงชื่อท้ายแถลงการณ์สนับสนุนการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน โดยย้ำถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 ในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความเห็นและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐไทยให้พันธกรณีอย่างกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) รับรองเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ข้อ 19

พร้อมย้ำถึงการชุมนุมที่ มธ.นั้น เป็นการแสดงออกตามครรลองกฎหมาย บนหลักพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ในการถกเถียง โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งควรต้องยกขึ้นมาวิเคราะห์ถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ

พร้อมชี้ว่าการประณามความคิดต่างว่าเป็นการก้าวล่วงหรือจาบจ้วงนั้น ไม่ได้ทำให้สังคมของเราเติบโตทางปัญญา เพื่อยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและพูดคุยกันด้วยเหตุผล และความยั่งยืนของประชาธิปไตย

 

ในส่วนขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ออกแถลงการณ์ยืนยันการชุมนุมดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นการแสดงออกที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง พร้อมทราบถึงแรงกดดันที่มาถึงคณะผู้บริหาร มธ. แต่ทางผู้บริหารไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบตามที่สังคมกดดัน โดยขอให้คณะผู้บริหาร มธ.ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ความถูกต้องและเป็นธรรม

เท่ากับว่า มธ.อยู่บน “ทางสามแพร่ง” จะเลือกเดินไปทางใด ย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย

หาก มธ.เลือกเดินในแนวทางสนับสนุนการชุมนุม ย่อมต้องเผชิญกับแรงเสียดทานจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

หาก มธ.เลือกทางไม่สนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษา ก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้สนับสนุนการชุมนุมอยู่ดี

แต่ทางเลือกนี้ มธ.ก็เลือกที่จะเดิน “ทางสายกลาง” ไม่ไปทางใดทางหนึ่งแบบสุดโต่ง เห็นได้ชัดจากแถลงการณ์ของ มธ.ที่ออกมาเมื่อ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้ มธ.ถูกวิจารณ์หนักจากทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งระบุว่าผู้บริหาร มธ.ลอยตัว-ปัดความรับผิดชอบ เป็นต้น

การตัดสินใจของ มธ. ก่อนจะออกแถลงการณ์นั้น มีรายงานว่า ผู้บริหาร มธ.มองถึงสังคม มธ.ในภาพรวม ที่ไม่ได้มีเพียงนักศึกษาที่ร่วมการชุมนุม แต่ยังมีนักศึกษาที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม รวมทั้งคณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่า มธ.ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าวด้วย และไม่ละเลยพื้นฐาน “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ที่มีมาแต่เดิม

ส่วนอนาคต มธ.ต่อจากนี้ การจัดกิจกรรมทางการเมืองจะต้องรัดกุมกว่านี้ เพราะจากคำชี้แจงของ ผศ.ดร.ปริญญากับแถลงการณ์ มธ.นั้นสอดรับกัน โดยอ้างถึงหนังสือขออนุญาตและการพูดคุยระหว่างผู้จัดงานและ ตร. แต่ในสังคม มธ.เอง ที่เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้มานาน ย่อมมีวิธีรับมือและวางสมดุลสิ่งต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร มธ.ยังคงดูกระแสสังคมทั้ง 2 ฝ่ายต่อไป อีกทั้งติดตามการชุมนุมของนิสิต-นักศึกษาในพื้นที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะมีการยกเพดานข้อเรียกร้องอีกหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว มธ.ก็เปรียบเสมือนเป็นฐานหลักของการชุมนุมนิสิต-นักศึกษา ด้วยพื้นฐานของ มธ.ที่มีรากประวัติศาสตร์ยึดโยงกับเรื่องราวเหล่านี้

จนมีคำกล่าวที่ว่า ประวัติศาสตร์ มธ. ก็คือประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ทั้งหมดนี้เปรียบเป็นทางสามแพร่งของ มธ.

โดยเฉพาะแรงกดดันจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม

เพราะเนื้อหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปคือการประคองสถานการณ์ไม่ให้ไปถึงจุดที่มีการเผชิญหน้ากัน

เพราะปรากฏการณ์ “ธรรมศาสตร์เอฟเฟ็กต์” ก็ทำให้นักศึกษา มธ.ตกเป็นเป้านิ่งไปด้วย

รวมทั้งจับตาการชุมนุม 16 สิงหาคมนี้ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มประชาชนปลดแอก

เพราะเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะฉายภาพกว้างการชุมนุมของนิสิต-นักศึกษาต่อจากนี้

จาก “ค่ำคืนตึงเครียด” ถึง “เช้าทางสามแพร่ง”!!