ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2560 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
(เรียบเรียงจากปาฐกถารีธ (The Reith Lectures) ประจำปี ค.ศ.2016 ของสถานีวิทยุบีบีซี ประเทศอังกฤษ เรื่อง “Mistaken Identities : Creed, Country, Color, Culture” (“ผิดฝาผิดตัว : ความเชื่อ, ประเทศชาติ, สีผิว, วัฒนธรรม” แสดงโดย ศาสตราจารย์ควาเม แอนโธนี อัพเพียห์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ตอนแรกว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนา)
“…บรรดาพระนักบวชและนักวิชาการมักอยากยืนกรานว่าหลักลัทธิซึ่งถึงอย่างไรพวกเขาก็เป็นนายของมันนั้นเป็นตัวการขับดันวัตรปฏิบัติ ฉะนั้น มันก็เลยง่ายที่จะละเลยกระบวนการย้อนกลับตาลปัตรกัน กล่าวคือ วิธีการที่บ่อยครั้งหลักลัทธิต่างหากที่ถูกขับดันโดยวัตรปฏิบัติ อันได้แก่ โดยรูปแบบการเคารพบูชา, อารมณ์ความรู้สึกที่คุ้นชิน, ธรรมเนียมประเพณีของการกำกับควบคุมทางสังคม แน่ล่ะว่าวัตรปฏิบัตินั้นเปลี่ยนแปลงพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลยไป บ้างก็อย่างเชื่องช้าและบ้างก็อย่างรวดเร็ว และวัตรปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงย่อมอาจนำไปสู่ความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงได้
ข้อความย่อหน้าต่างๆ ในพระธรรมคัมภีร์อาจถูกตีความแบบใหม่ๆ และหากแม้นข้อความดังกล่าวปรับเปลี่ยนไม่ได้ มันก็มักถูกยกเลิกไป
ลองนึกถึงข้อความย่อหน้านั้นในบทเพลงสดุดีของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ว่าท่านจะได้รับพรประทานจากพระผู้เป็นเจ้ามากเพียงใดหากท่านจับทารกชาวบาบิโลนทุ่มใส่ก้อนหิน
หรือข้อความย่อหน้าหนึ่งในตอนเปโตรที่ 1 ของพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ที่ว่าทาสควรสยบยอมต่อนายของตนไม่ว่านายจะโหดร้ายเพียงใดก็ตาม – จะเห็นได้ว่าเป็นประโยชน์ที่เราจะมองเมินข้อความในย่อหน้าเหล่านี้ไปเสีย
หมากอันทรงพลังของนักบุญปอลอยู่ตรงท่านยึดมั่นพระธรรมคัมภีร์ของยิว ขณะเดียวกันก็สั่งสอนสาวกของพระเยซูคริสต์ว่าพวกเขาสามารถละเลยพระธรรมคัมภีร์ของยิวตอนใหญ่ๆ ไปได้เพราะมันผูกมัดแต่เฉพาะชาวยิวเท่านั้น
พูดสั้นๆ ก็คือ หากแม้นพระธรรมคัมภีร์ทั้งหลายมิได้ถูกนำมาตีความ – และเพราะฉะนั้นจึงถูกตีความซ้ำแล้วซ้ำอีกละก็ – พระธรรมคัมภีร์เหล่านั้นก็คงไม่สามารถชี้นำผู้คนอยู่ยาวนานหลายศตวรรษ เมื่อว่ากันถึงเรื่องการอยู่รอดของพระธรรมคัมภีร์ดังกล่าวแล้ว ความเปิดกว้างของมันจึงหาได้เป็นข้อบกพร่องไม่ หากเป็นบุคลิกลักษณะอย่างหนึ่ง อาจจะว่าเป็นภาระก็ได้ แต่มันก็เป็นพรประทานจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย”
ลักษณะเปิดกว้างที่ว่านี้แผ้วถางไปในหลายทิศทางด้วยกัน ทั้งนี้เพราะในบรรดาพวกนิยัตินิยมโดยพระธรรมคัมภีร์ (scriptural determinism) ที่เกรี้ยวกราดรุนแรงที่สุดนั้นย่อมได้แก่ พวกเคร่งหลักศาสนามูลฐาน (fundamentalists) ซึ่งฝังจิตฝังใจอยู่กับการต้องกระชากลากดึงคนอื่นๆ ให้ถูลู่ถูกังเข้าไปสู่แบบฉบับหนึ่งเดียวของธรรมเนียมศาสนาอันยิ่งใหญ่อันใดอันหนึ่งให้จงได้
ขบวนการเคร่งหลักศาสนามูลฐานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นคริสเตียน, พุทธ, ฮินดู, ยิว, มุสลิม, หรืออื่นใด ล้วนแต่ตั้งเป้าปกป้องและป่าวประกาศวิถีแท้ทางเดียว (the One True Way) ซึ่งจินตนาการกันไปว่านั่นคือวิถีที่เคยเข้าใจกันในยุคแรกเริ่มเมื่อสัจธรรมถูกเปิดเผยออกมาเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ ขบวนการดังกล่าวก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งร่วมกัน กล่าวคือ ถึงแม้พวกเขาจะเคารพนับถือของเก่า แต่เอาเข้าจริงพวกเขาล้วนแต่ใหม่เอี่ยมอ่องทั้งนั้นในฐานที่เป็นปฏิกิริยาต่อโลกสมัยใหม่ ปฏิทรรศน์อันยิ่งใหญ่ของลัทธิเคร่งหลักศาสนามูลฐานก็คือมันพึ่งพาอาศัยสิ่งที่มันปัดปฏิเสธเองนั่นแหละ กล่าวคือ ขอบข่ายพื้นที่ของเสรีภาพในการตีความ
ทุกวันนี้ชาวอิหร่านผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์จำนวนมากเชื่อว่าอุลามาอฺ หรือบรรดาผู้รู้หลักคำสอนของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือควรได้ถือครองอำนาจการเมืองในขั้นสุดท้าย และถึงแม้หลักความเชื่อนี้จะเป็นสิ่งใหม่ในธรรมเนียมชีอะฮ์ พวกเขาก็อ้างว่ามันเป็นจริงเช่นนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้วและชาวมุสลิมทุกคนควรยอมรับมัน
ส่วนคนอื่นๆ ทั่วโลกก็พากันเชื่อว่าสัจธรรมทั้งปวงอยู่กับองค์ทะไลลามะบ้างล่ะ หรืออยู่กับพระสันตะปาปาบ้างล่ะ หรืออยู่กับพระนักบวชของโบสถ์อิสระบางแห่งในบราซิลหรือเคนยาบ้างล่ะ เป็นต้น
แต่กระนั้นไม่ว่าป้ายชื่อที่ท่านกำลังกล่าวอ้างจะเป็นอิสลามหรือพุทธหรือคริสต์ศาสนาก็ตามที เอาเข้าจริงก็มีผู้คนที่ศรัทธายึดมั่นอย่างจริงใจและได้กล่าวอ้างป้ายชื่อเดียวกับที่ท่านว่านั้นด้วยเหมือนกัน ทว่า พวกเขากลับเชื่อถือสิ่งอื่นๆ พวกเคร่งหลักศาสนามูลฐานยืนกรานว่าคนเหล่านั้นหาใช่มุสลิมหรือชาวพุทธหรือคริสเตียนจริงๆ ไม่ ในทรรศนะของพวกเขา คนส่วนมากที่ยืนยันว่าตนยึดถือป้ายชื่อเหล่านี้ล้วนหลงผิด…
ดังนั้น ป้ายชื่อดังกล่าวจึงประยุกต์ใช้กับคนส่วนใหญ่ที่กล่าวอ้างมันหาได้ไม่ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอ้างเช่นนั้นด้วยน้ำใสใจจริงก็ตาม
เมื่อท่านตระหนักถึงความยุ่งยากสับสนเหล่านี้แล้ว บางสิ่งบางอย่างที่ผู้คนมักพูดกันเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนาก็น่าจะปรากฏออกมาให้ท่านเห็นได้ในแง่มุมใหม่ ตัวอย่างเช่น ที่ทางของผู้หญิงในศาสนาอิสลาม เป็นต้น ท่านมักจะได้ยินข้อถกเถียงทำนองนี้คือ
มีข้อความย่อหน้าต่างๆ ในพระคัมภีร์อัลกุรอานที่เห็นได้ชัดว่าปฏิบัติต่อหญิงในฐานะต้อยต่ำกว่าชาย ลองดูซูเราะฮ์ (บทที่ 4 โองการที่ 11) ซึ่งกล่าวว่าชายควรได้มรดกเป็นสองเท่าของสัดส่วนที่หญิงได้ หรือซูเราะฮ์ (บทที่ 2 โองการที่ 282) ซึ่งกล่าวว่าพยานหลักฐานของหญิงสองคนในข้อพิพาทเรื่องสัญญาการค้าสามารถทดแทนพยานหลักฐานของชายได้หนึ่งคน หรือข้อความในบทที่ 4 โองการที่ 34 ซึ่งกล่าวว่า “บรรดาชายนั้นคือผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูปกครองบรรดาหญิง เนื่องด้วยการที่อัลลอฮ์ได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคน” ข้อความย่อหน้าต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสังคมอิสลามยังคงยึดมั่นผูกพันที่จะปฏิบัติต่อชายในฐานะเหนือกว่าหญิงสืบต่อไป
เรื่องมันก็เป็นอย่างนั้นแหละครับ และท่านจะสังเกตเห็นว่าลัทธินิยัตินิยมโดยพระธรรมคัมภีร์ประเภทนี้ถูกระดมไปใช้ทั้งโดยคนนอกเพื่อกล่าวหาศาสนาอิสลามและโดยคนในเพื่อปกป้องวัตรปฏิบัติที่พวกเขาชื่นชอบสนับสนุน
เอาเป็นว่าตอนนี้เราจะขอยกข้อความจริงที่ว่าข้อถกเถียงนี้ละเลยหลักฐานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จำนวนมากออกไปก่อน
อย่างเช่น หลักฐานที่ว่าปากีสถานและบังกลาเทศอันเป็นประเทศที่อิสลามเป็นศาสนาประจำชาตินั้นได้เคยมีนายกรัฐมนตรีหญิงมาแล้วหลายคน และมีผู้หญิงในสภานิติบัญญัติของสองประเทศนั้นเป็นสัดส่วนร้อยละมากกว่าในสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าความไม่เสมอภาคทางเพศสภาพยังคงเป็นปทัสถานที่สองประเทศนั่น เหมือนดังที่มันยังเป็นในที่อื่นๆ เกือบทั้งหมดในโลก แต่โปรดตราไว้ว่าเราอาจสรรหาข้อถกเถียงที่ละม้ายคล้ายคลึงเกี่ยวกับศาสนายิวหรือคริสต์ศาสนามาประกบข้อถกเถียงอิงพระธรรมคัมภีร์ที่ว่านี้ได้เช่นกัน
ดังที่นักบุญปอลกล่าวไว้ในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เล่มเอเฟซัสว่า “ฝ่ายภรรยา จงยอมฟังสามีของตน เหมือนยอมฟังองค์พระผู้เป็นเจ้า” อันที่จริงหากเราย้อนยุคไปตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ยี่สิบและอาศัยการอ่านพระคริสต์ธรรมคัมภีร์และศึกษาธรรมเนียมศาสนาต่างๆ เป็นพื้นฐานแล้ว ผมไม่คิดว่าจะมีใครทำนายว่าถึงตอนสิ้นศตวรรษนั้น จะมีรับไบหญิงหรือบิชอปหญิงแห่งนิกายแองกลิคันขึ้นมาได้
แต่กระนั้นผู้หญิงคนแรกก็ได้รับการบวชเป็นรับไบที่เมืองออฟเฟนบัค อัม ไมน์ในปี ค.ศ.1935 เธอชื่อ เรจินา โจนัส และเธอถึงแก่ความตายที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ของพวกนาซี ในสหรัฐอเมริกาที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้ มีรับไบหญิงในทุกๆ สาขาหลัก ของศาสนายิวรวมทั้งในหมู่ยิวออร์โธดอกซ์ (ที่ยึดทรรศนะดั้งเดิม – ผู้แปล) ด้วย บิชอปอาวุโสของนิกายแองกลิคันสาขาอเมริกันก็เป็นผู้หญิงในตำแหน่งหัวหน้าบิชอป
ข้อความจริงก็คือว่าชุมชนศาสนาทั้งหลายต่างพากันปรับเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับเพศสภาพของตนครั้งแล้วครั้งเล่า
กระนั้นแล้วจึงกล่าวได้ว่าพระธรรมคัมภีร์ทั้งหลายอยู่รอดได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมันไม่ใช่เป็นแค่บัญชีรายการความเชื่อหรือคำสั่งสอนว่าควรดำเนินชีวิตอย่างไรนั่นเอง
แต่ต่อให้ในกรณีบรรดาเอกสารทางศาสนาที่เป็นบัญชีรายการความเชื่อและคำสั่งสอนอย่างนั้นจริงๆ มันก็ยังต้องเอามาตีความ…
ดังที่ผมได้เรียนรู้เรื่องนี้จากคุณแม่ของผมซึ่งนับถือคริสต์นิกายแองกลิคัน ระหว่างที่เธอกำลังเตรียมเข้าพิธีประกาศตน เธอเอ่ยกับผู้เป็นพ่อว่าเธอกำลังยุ่งใจเกี่ยวกับข้อบัญญัติแห่งศรัทธาสามสิบเก้าข้อซึ่งโบสถ์นิกายแองกลิคันได้ยืนยันนับแต่รัชสมัยพระนางเจ้าเอลิซาเบ็ธที่หนึ่งเรื่อยมา
คุณตาของผมจึงบอกว่า “เอาล่ะถ้างั้นพ่อมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งพอจะช่วยลูกเรื่องนั้นได้”
เพื่อนที่ว่าคือ วิลเลียม เทมเปิ้ล ผู้จะขึ้นเป็นสังฆราชแห่งคริสตจักรนิกายแองกลิคันในไม่ช้า ขณะที่คุณแม่ของผมไล่ทบทวนข้อบัญญัติแห่งศรัทธากับท่านไปทีละข้อ ทุกครั้งที่คุณแม่บ่นว่านี่มันออกจะปลงใจเชื่อยากอยู่ ท่านสังฆราชก็จะแสดงความเห็นด้วยกับคุณแม่ (ผู้ฟังหัวร่อครืน) โดยกล่าวว่า “ใช่ นั่นมันออกจะเชื่อยากจริงๆ น่ะแหละ”
ดังนั้น คุณแม่ของผมจึงตัดสินใจว่าถ้าหากเขายังเป็นสังฆราชกันได้ทั้งที่ติดใจสงสัยเรื่องเหล่านี้ กะอีแค่เป็นศาสนิกนิกายแองกลิคันธรรมดาๆ คนหนึ่งอย่างเราก็คงพอเป็นได้แน่ล่ะน่า ท่านก็เลยเข้าพิธีประกาศตนไป
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)