เกษียร เตชะพีระ | ‘ผิดฝาผิดตัว’ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนา (2)

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1

(เรียบเรียงจากปาฐกถารีธ (The Reith Lectures) ประจำปี ค.ศ.2016 ของสถานีวิทยุบีบีซี ประเทศอังกฤษ เรื่อง “Mistaken Identities : Creed, Country, Color, Culture” (“ผิดฝาผิดตัว : ความเชื่อ, ประเทศชาติ, สีผิว, วัฒนธรรม” แสดงโดย ศาสตราจารย์ควาเม แอนโธนี อัพเพียห์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ตอนแรกว่าด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนา)

“…เมื่อพ่อแม่ของผมแต่งงานกันในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 นั้น พวกเขาได้รับคำเตือนว่า “การแต่งงานข้ามฟาก” ของพวกเขาคงจะยุ่งยากลำบาก และพ่อแม่ของผมก็เห็นด้วยเพราะคุณพ่อของผมนับถือคริสต์นิกายเมธอดิสต์ ส่วนคุณแม่นับถือคริสต์นิกายแองกลิคัน (ผู้ฟังหัวร่อครืน) พวกท่านลงหลักปักฐานกันที่คูมาซี เมืองหลวงของแคว้นอาชันตีจนชั่วชีวิต แต่กระนั้นพวกท่านก็ยังคงเป็นศาสนิกสังกัดต่างโบสถ์กันตลอดมาเช่นนั้นจริงๆ

ผมคิดว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชีวิตสมรสของพวกท่านยืนนานก็คือพวกท่านแต่ละคนต่างได้แรงค้ำจุนจากศรัทธาที่ผันแปรผิดแผกกันเล็กน้อยของตน สิ่งที่บางคนเห็นว่าเป็นภาระ พวกท่านกลับเห็นเป็นพรจากพระผู้เป็นเจ้า

และศาสนาก็หาใช่สิ่งที่พวกท่านประพฤติปฏิบัติกันเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้นไม่ หากมันซึมซาบแผ่ซ่านทั่วชีวิตของพวกท่านเลยทีเดียว

ในแง่นั้น มันก็เหมือนกับธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาอื่นอีกมากมายในกว่าสหัสวรรษที่ผ่านมา

ลองดูศาสนายิวอันเป็นความเชื่อเก่าแก่ที่สุดในบรรดาความเชื่อทางศาสนาอับราฮัม (ที่สำคัญหมายถึงศาสนายิว, คริสต์ศาสนา และศาสนาอิสลาม – ผู้แปล) ของเราเป็นตัวอย่าง เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่ทุกๆ วัน วัตรปฏิบัติในการกินอยู่และรักษาอนามัย, พิธีกรรมทั้งแบบสาธารณะและส่วนตัว, รวมทั้งรูปแบบการแต่งกายได้มีบทบาทใจกลางในการจำแนกชุมชนชาวยิวออกจากเพื่อนบ้านของพวกเขา

ชาวยิวทั้งหลายในเมืองอเล็กซานเดรีย (เมืองสมัยโบราณในอียิปต์ ก่อตั้งโดยอเล็กซานเดอร์มหาราช – ผู้แปล) ในศตวรรษแรกก่อนคริสตกาลดูผิดแผกแตกต่างจากเพื่อนบ้านของพวกเขาเนื่องจากทรงผมและหนวดเครา เสื้อผ้าที่สวมใส่ อาหารการกิน วิธีการสวดมนต์ และพระธรรมคัมภีร์ (the scriptures) อันพวกเขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์

ทว่า ในบรรดาสิ่งต่างๆ ที่จำแนกพวกเขาออกจากคนกลุ่มอื่นนั้น อันไหนเป็นเรื่องจารีตประเพณีและอันไหนเป็นเรื่องความเชื่อเล่า? พวกเขาคงตอบยากเหมือนกัน การดึงศาสนาให้หลุดออกจากทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามาเพื่อเปล่งแสดงแนวคิดแห่งศาสนายิวซึ่งแตกต่างเป็นเอกเทศจากสิ่งที่บัดนี้เราเรียกว่าเอกลักษณ์ยิวนั้นคงฟังไม่เข้าท่าเท่าไหร่นักสำหรับพวกเขาหรือเพื่อนบ้าน

ดังที่ มอร์เดอไค แคปแลน นักเทววิทยาเชิงบูรณะปฏิสังขรณ์ (Reconstructionist theologian) ชาวยิวเคยกล่าวไว้ว่าศาสนายิวก็คือศาสนาชาวบ้านของประชาชนชาวยิวนั่นแหละ และเจ้าความคิดประเด็นนี้ที่ว่าเอกลักษณ์อาจเกิดมาก่อนลัทธิความเชื่อนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นตะลึงสำหรับคนจำนวนมากเลยทีเดียว

การที่เราเอ่ยอ้างถึงเอกลักษณ์ทางศาสนาประดามีด้วยถ้อยคำอย่าง “ศรัทธา”, “การประกาศหลักความเชื่อ” (“confession”), หรืออันที่จริงก็ด้วยคำว่า “หลักข้อเชื่อ” (“credo”) จากคำภาษาละตินที่แปลว่า “ข้าเชื่อ” นั้นก็มีเหตุผลบางอย่างอยู่

เหตุผลที่ว่าก็คือเราถูกอบรมบ่มสอนมาให้คิดถึงศาสนาว่าเป็นเรื่องของความเชื่อเป็นด้านหลัก”

ทีนี้ผมอยากเถียงว่าความคิดง่ายๆ ที่ว่านี้มันชวนให้ไขว้เขวอย่างลึกซึ้งในลักษณาการที่สามารถทำให้ความเข้าใจกันระหว่างศาสนาต่างๆ ทั้งยากขึ้นและง่ายเข้ากว่าที่มันเป็นจริง ผมใคร่จะโน้มน้าวชักจูงท่านทั้งหลายว่าศาสนาในเบื้องแรกนั้นหาใช่เรื่องของความเชื่อไม่

ศาสนาทุกศาสนามีสามมิติด้วยกัน ได้แก่ สิ่งที่ท่านทำซึ่งเรียกว่าวัตรปฏิบัติ (practice) แล้วก็มีบรรดาผู้ที่ท่านกระทำวัตรปฏิบัติด้วยซึ่งเรียกว่าชุมชนหรือสหธรรมิก (community or fellowship) และใช่ครับก็มีองค์ความเชื่อด้วย ความยุ่งยากอยู่ตรงเราโน้มเอียงจะเน้นรายละเอียดของความเชื่อเหนือกว่าวัตรปฏิบัติร่วมกันและชุมชนซึ่งค้ำจุนหนุนเสริมชีวิตทางศาสนา เราทุกคนรู้จักคำว่า “ลัทธิความเชื่อดั้งเดิม” (“orthodoxy”) ซึ่งมาจากคำภาษากรีกที่หมายความว่าสัมมาทิฐิ (correct belief หรือความเข้าใจถูกต้อง) ทว่า ยังมีคำที่รู้จักกันน้อยกว่าอยู่อีกคำหนึ่งได้แก่ “orthopraxy” ซึ่งมาจากคำภาษากรีกอีกคำได้แก่ (หรือ praxis) ซึ่งหมายถึงการกระทำ ดังนั้น orthopraxy จึงไม่ใช่เรื่องของสัมมาทิฐิแต่เป็นเรื่องของสัมมากัมมันตะ (การกระทำถูกต้อง)

ฉะนี้แล้วลองหวนมาพิจารณาดูชาวยิวในเมืองอเล็กซานเดรียของเราอีกครั้ง ฟิโลแห่งอเล็กซานเดรียซึ่งเป็นนักปรัชญาผู้ได้รับการนับถือยกย่องสมัยนั้นได้เคยอภิปรายเรื่องอเทวนิยม (atheism) ไว้ จริงอยู่ว่าเขาคัดค้านมัน แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเขากำลังท้าประชันกับจุดยืนที่ยั่วใจชักจูงคนร่วมชุมชนเดียวกับเขาบางคน ดังนั้น ตั้งแต่กว่าสองพันปีก่อนมันก็เป็นไปได้แล้วที่จะสังกัดชุมชนชาวยิวโดยไม่ได้เชื่อพระเจ้า

เราอาจเข้าสู่ประเด็นปัญหาเรื่องนี้จากอีกทิศทางหนึ่งได้เช่นกัน ไมโมนีเดสซึ่งเป็นปราชญ์ผู้รอบรู้พระคัมภีร์โตราห์ (Torah ชุดพระบัญญัติของศาสนายิว – ผู้แปล) ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคกลางได้กลั่นกรองรวบยอดสารัตถะของศาสนายิวออกมาเป็นหลักการสิบสามข้อด้วยกัน หลักลัทธิเหล่านี้มีอาทิ “เอกภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้า”, การดำรงอยู่ของคำพยากรณ์ และกำเนิดอันศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์โตราห์ เป็นต้น สมมุติว่าคุณนั่งอยู่ลำพังในห้องทำงานของคุณและโน้มน้าวใจตัวเองให้ยอมรับหลักการเหล่านี้ ก็ใช่ว่าด้วยวิธีการดังกล่าวคุณจะกลับกลายเป็นชาวยิวก็หามิได้

ความเชื่อนามธรรมเหล่านี้มีความหมายน้อยมากถ้าหากคุณไม่ได้สัมพันธ์โดยตรงกับประเพณีปฏิบัติ, ธรรมเนียมการตีความและชุมชนผู้ร่วมเคารพบูชาศาสนายิว

สิ่งที่หลงหลุดรอดจากความเข้าใจไปได้โดยง่ายก็คือว่าแม้แต่การประกาศศรัทธาศาสนาก็ยังนับเป็นการแสดงต่อหน้าธารกำนัลพอๆ กับที่มันเป็นการแถลงทีทรรศน์ ผมนึกถึงนิยายน่าอัศจรรย์ของ กอร์ วีดัล เกี่ยวกับจูเลียนผู้เลิกศรัทธาซึ่งเป็นจักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายที่ไม่นับถือคริสต์ศาสนา และตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นที่เขาเล่าเรื่องบรรดานักบวชในวิหารซึ่งพากันท่องสวดคำกลอนที่จำได้ขึ้นใจออกมาเป็นภาษาโบราณอันเป็นภาษาที่ทุกคนลืมไปตั้งนานแล้ว รวมทั้งพวกนักบวชเหล่านั้นเองด้วย

คำถามก็คือการที่เป็นแบบนั้นจะทำให้พิธีกรรมไร้ความหมายไปด้วยหรือไม่? ผมไม่คิดว่าเป็นเช่นนั้น พวกเราหลายคนย่อมเคยประสบพบเห็นอำนาจของพิธีการที่กระทำในภาษาซึ่งเราฟังไม่เข้าใจ ความขรึมขลังจริงจังของบทสวดแคดดิชของยิว (the Jewish Kaddish) ที่สวดกันในงานศพและรำลึกไว้อาลัยนั้นอาจยิ่งสูงส่งเข้มข้นขึ้นไปอีกด้วยข้อความจริงที่ว่าบทสวดนั้นเป็นภาษาอารามิก (Aramaic) ซึ่งศาสนิกที่มาโบสถ์ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ สิ่งที่พวกเราทำร่วมกันในฐานะสหธรรมิกนั้นอยู่ตรงแกนกลางของประสบการณ์ทางศาสนาทีเดียว

หากเราบิดเบือนธาตุแท้ของเอกลักษณ์ทางศาสนาโดยไปยึดมั่นถือมั่นอยู่แต่กับศรัทธาแล้ว ความหลงผิดนี้ก็จะผูกพ่วงเข้ากับความหลงผิดอีกประการหนึ่งซึ่งผมใคร่ขอเรียกว่าลัทธินิยัตินิยมโดยพระธรรมคัมภีร์ (scriptural determinism) เราได้รับคำบอกเล่าบ่อยครั้งว่าความเชื่อทางศาสนาของเรานั้นสิงสถิตอยู่ในตัวบทอันศักดิ์สิทธิ์ของเรา ในลักษณะที่ว่าการจะเป็นศรัทธาธิกะได้ก็จะต้องเชื่อสิ่งที่อยู่ในพระธรรมคัมภีร์

ราวกับว่าเราสามารถจะถ่ายเทธาตุแท้อันไม่ผันแปรของศาสนาและศาสนิกชนทั้งหลายจากพระธรรมคัมภีร์เหล่านั้นมาสู่ตัวเราประหนึ่งเทเหล้าไวน์จากเหยือกมาได้

เพื่อประเมินค่าบรรดาคำกล่าวอ้างทำนองนี้ มันช่วยได้หากเรารำลึกไว้ว่าเอาเข้าจริงพระธรรมคัมภีร์เป็นอย่างไร ผมขอลองสุ่มยกตัวอย่างข้อความย่อหน้าหนึ่งตอนต้นๆ ของพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเล่มอิสยาห์ผู้พยากรณ์มา ลองดูนะครับว่าท่านพอเข้าใจมันไหม

“โครู้จักเจ้าของของมัน และลาก็รู้จักรางหญ้าของนายมัน แต่อิสราเอลไม่รู้จัก ชนชาติของเราไม่เข้าใจ” (อิสยาห์ 1 : 3) พระธรรมคัมภีร์มากมายเขียนด้วยภาษากวีเชิงอุปมาอุปไมยหรือคลุมเครืออย่างนี้นี่แหละ หลายตอนก็ประกอบไปด้วยเรื่องเล่า บ้างก็เปิดเผยเลยว่าเป็นนิยายอย่างเช่นนิทานคติสอนใจที่เล่าโดยพระเยซู พูดสั้นๆ ก็คือพระธรรมคัมภีร์นั้นต้องนำมาตีความ

เมื่อหวนคิดถึงชาวยิวในเมืองอเล็กซานเดรียของเราอีกครั้ง ลองหันไปดูเรื่องที่ดูเหมือนแจ่มแจ้งแดงแจ๋ทั้งเพกัน กล่าวคือ หลักคัชรูต (kashrut) อันเป็นประมวลกฎอาหารการกินของศาสนายิวที่ระบุชัดว่าอะไรเป็นอาหารโคเชอร์ (kosher ภาษาฮีบรูว์แปลว่าสะอาดหรือเหมาะสม – ผู้แปล) และอะไรเป็นอาหารไม่สะอาด ดูเหมือนนี่จะเป็นกรณีสุดๆ แล้วของเรื่องในทำนอง “อ่านคู่มือซี่ ไอ้หน้าโง่เอ๊ย” (ผู้ฟังหัวร่อครืน) ข้อความในย่อหน้าที่เกี่ยวข้องจากพระคัมภีร์โตราห์จะเป็นกฎเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจงหรือกระทั่งเป็นรายการอาหารที่จะแจ้งไปกว่านั้นอีกเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น ปลาที่ท่านกินจะต้องมีเกล็ด โอเค ตรวจแล้วผ่าน แต่กับปลาประเภทที่มีเกล็ดแปลกพิลึกล่ะ อย่างปลาสเตอร์เจียน เป็นต้น? เกี่ยวกับเรื่องนี้บรรดารับไบหรือครูผู้รู้ที่สอนศาสนายิวก็เห็นแตกต่างกัน พระคัมภีร์โตราห์ได้ช่วยลงรายชื่อนกเฉพาะเจาะจงที่ห้ามกินเอาไว้ ทว่า เป็นคราวเคราะห์ที่รายชื่อนกที่ให้ไว้เหล่านั้นไม่ใช่ชื่อที่ท่านจะหาพบได้ในคู่มือระบุพันธุ์นกจากสมาคมพิทักษ์นกในพระบรมราชูปถัมภ์ ชื่อนกพันธุ์หนึ่งในพระคัมภีร์โตราห์แปลความได้ว่า “อ้วก” (ผู้ฟังหัวร่อครืน) เราคิดว่านั่นคือนกกระทุงแต่ก็ไม่แน่ใจนัก ชื่อของนกอีกพันธุ์หมายความว่า “ม่วง” บางทีอาจเป็นนกฟลามิงโก? หรือบางทีอาจเป็นนกอีโก้งก็ได้ ไม่มีใครรู้แน่

แล้วยังมีข้อห้ามกินอานาคาห์ซึ่งหมายถึง ตัวร้องคราง หรือ ตัวร้องครวญ ด้วย บางคนคิดว่ามันคือตุ๊กแก คนอื่นว่าตัวเฟอเรทต่างหาก

ในแง่หนึ่งนี่คือตอนที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้วในชุดพระบัญญัติเบญจบรรณของโมเสส และกลายเป็นว่ามันคือพายุแห่งความไม่แน่ใจประเดประดังกันมาเลยทีเดียว เราอยากได้ความชัดเจนแบบที่ว่า “กินนี่สิ อย่ากินนั่น” แต่แทนที่จะได้สิ่งนั้น เราอาจกลับต้องอธิบายไขความบทกวีเชิงสัญลักษณ์กันไปเสียอีก

และบ่อยครั้งเดิมพันมันใหญ่กว่าแค่เรื่องที่ว่าปลาสเตอร์เจียนจะอยู่ในเมนูอาหารหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ นักบุญปอลใช้คำว่า (อาร์เซโนโกอิไต) สองครั้งในบัญชีรายการผู้กระทำผิด พวกนักแปลในชั้นหลังนี้โน้มเอียงที่จะถือว่าคำว่า หมายถึงพวกรักร่วมเพศ

และถ้าหากคุณเป็นอริต่อพวกรักร่วมเพศแล้ว คุณก็จะถือความข้อนี้เป็นสิ่งพิสูจน์ว่านักบุญปอลสนับสนุนทรรศนะต่อต้านรักร่วมเพศแบบสมัยใหม่ที่ว่านี้ ทว่า เอาเข้าจริงธรรมเนียมในวงวิชาการยังคิดเห็นแตกแยกกันอยู่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ชาวคริสเตียนส่วนใหญ่ไม่ล่วงรู้…

กล่าวคือเริ่มต้นจากข้อเท็จจริงว่าคำคำนี้ไม่เป็นที่รู้จักกันในภาษากรีกก่อนยุคนักบุญปอล และข้อความในย่อหน้าทั้งสองก็หาได้ถูกอ้างอิงถึงโดยบรรดาบาทหลวงของคริสต์จักรยุคต้นไม่ในวาระโอกาสอันมีอยู่น้อยครั้งที่พวกท่านอภิปรายกันเรื่องความ สัมพันธ์ทางเพศระหว่างชาย พูดอีกอย่างก็คือการประณามการรักร่วมเพศนั้นสะท้อนอำนาจของธรรมเนียมประเพณีแห่งอารมณ์ความรู้สึกประจำวัน มันมีส่วนช่วยตีความตัวบท แต่มันหาได้มีที่มาจากตัวบทแต่อย่างใดไม่

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)