‘ผิดฝาผิดตัว’ : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนา (1) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
US President Barack Obama presents 2011 National Arts and Humanities Medal to philosopher, cultural theorist, and novelist Kwame Anthony Appiah during a ceremony in the East Room at the White House in Washington, DC, on February 13, 2012. AFP Photo/Jewel Samad / AFP PHOTO / JEWEL SAMAD

ในบรรดารายการวิทยุบีบีซีพากย์ภาษาอังกฤษที่ผมฟังจนติดมาตั้งแต่สมัยเข้าป่าหลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เมื่อ 40 ปีก่อน มีรายการหนึ่งที่ชอบมากคือปาฐกถารีธประจำปี (The Reith Lectures)

โดยทางบีบีซีจะเชิญปัญญาชนนักคิดนักเขียนนักวิชาการผู้มีชื่อโด่งดังมากล่าวในหัวข้อที่ถนัดเชี่ยวชาญและสอดรับกับเหตุการณ์ร่วมสมัยปีละคนเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมา

ส่วนชื่อรายการปาฐกถานั้นตั้งให้เป็นเกียรติตามชื่อสกุลผู้อำนวยการทั่วไปของบีบีซีคนแรกคือ Sir (ต่อมาได้เป็น Lord) John Reith ผู้ยึดหลักการว่าการกระจายเสียงพึงเป็นบริการสาธารณะที่เพิ่มพูนความมั่งคั่งสมบูรณ์ให้แก่ชีวิตทางปัญญาและวัฒนธรรมของประเทศชาติ

คนดังในอดีตและปัจจุบันที่เคยร่วมแสดงปาฐกถารีธก็เช่น เบอร์ทรันด์ รัสเซล (นักปรัชญา, ค.ศ.1948), เอ็ดมันด์ ลีช (นักมานุษยวิทยา, ค.ศ.1967), เอ็ดเวิร์ด ซาอิด (นักวิจารณ์วรรณกรรม, ค.ศ.1993), แอนโธนี กิดเดนส์ (นักสังคมวิทยา, ค.ศ.1999), โวเล ซอยินกา (นักเขียน, ค.ศ.2004), แดเนียล บาห์เรนบอม (วาทยกรและนักดนตรีคลาสสิค, ค.ศ.2006), เจฟฟรี ซักส์ (นักเศรษฐศาสตร์, ค.ศ.2007), โจนาธาน สเปนซ์ (นักประวัติศาสตร์จีน, ค.ศ.2008), ไมเคิล แซนเดล (นักปรัชญา, ค.ศ.2009), ออง ซาน ซูจี (นักการเมือง, ค.ศ.2011), สตีเฟน ฮอว์กิง (นักฟิสิกส์, ประจำปี ค.ศ.2015 แสดงต้นปี ค.ศ.2016) เป็นต้น

สำหรับปีที่แล้ว ทางวิทยุบีบีซีได้เชิญ ควาเม แอนโธนี อัพเพียห์ (Kwame Anthony Appiah) ศาสตราจารย์ปรัชญาและกฎหมาย มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก มาเป็นองค์ปาฐกในหัวข้อ “Mistaken Identities : Creed, Country, Color, Culture” (“ผิดฝาผิดตัว : ความเชื่อ, ประเทศชาติ, สีผิว, วัฒนธรรม” http://www.bbc.co.uk/programmes/b00729d9/episodes/guide)

อัพเพียห์เป็นนักปรัชญา, นักทฤษฎีด้านวัฒนธรรม และนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวน เขาเกิดที่กรุงลอนดอน ไปเติบโตที่ประเทศกานาในแอฟริกาตะวันตก และประกอบวิชาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกา เขาเชี่ยวชาญจริยปรัชญาและปรัชญาการเมือง สนใจประเด็นเอกลักษณ์ทางการเมืองและเอกลักษณ์ส่วนบุคคล ลัทธิชาตินิยมและคตินิยมสากล

ในแง่ภูมิหลังส่วนตัว อัพเพียห์เป็นลูกผสมกานา-อังกฤษ บิดาของเขาคือ โจเซฟ เอ็มมานูเอล อัพเพียห์ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภา เอกอัครรัฐทูต และประธานสมาคมทนายความกานา

ส่วนมารดาของเขาเป็นชาวอังกฤษชื่อ เพ็กกี้ อัพเพียห์ เป็นนักเขียนนิยายและหนังสือสำหรับเด็ก รวมทั้งนักกิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรมและการกุศลในกานา

การแต่งงานของทั้งสองเมื่อ ค.ศ.1953 กลายเป็นข่าวฮือฮาในสื่อสิ่งพิมพ์นานาชาติในฐานที่เป็นการแต่งงานไฮโซข้ามเชื้อชาติรายแรกๆ ของอังกฤษ

ความที่พ่อของเขาเป็นปัญญาชนจบนอกชั้นแนวหน้าและแกนนำการเคลื่อนไหวกู้เอกราชของกานา

ขณะที่แม่ของเขาก็เป็นธิดาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐบุรุษแห่งพรรคแรงงานของอังกฤษสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เซอร์ สแตฟฟอร์ด คริพส์

ว่ากันว่าการแต่งงานข้ามเชื้อชาติของทั้งคู่เป็นแรงบันดาลใจให้การสร้างภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง “Guess Who’s Coming to Dinner” (ค.ศ.1967) ซึ่งนำแสดงโดยพระเอกผิวดำ ซิดนีย์ ปอยเตียร์ ด้วย

หลังเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อัพเพียห์ได้ไปสอนตามมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งต่างๆ ของอเมริกาไม่ว่าเยล, คอร์แนล, ดุ๊ก, และฮาร์วาร์ด จนมาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กตั้งแต่ปี ค.ศ.2014

อัพเพียห์ใช้ชีวิตคู่ชายรักชายกับ เฮนรี ไฟน์เดอร์ ผู้อำนวยการบรรณาธิการนิตยสารนิวยอร์กเกอร์ชั้นนำของสหรัฐ หลังจากอยู่กินกันกว่า 25 ปี ทั้งคู่ได้แต่งงานกันอย่างเป็นทางการในนครนิวยอร์กหลังมลรัฐนิวยอร์กประกาศรับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี ค.ศ.2011

ด้วยภูมิหลังที่เป็นคนข้ามเชื้อชาติ ข้ามประเทศชาติ ข้ามวัฒนธรรม ข้ามเพศสภาพดังกล่าว อัพเพียห์จึงตั้งประเด็น ปาฐกถารีธประจำปี ค.ศ.2016 ของเขาไว้ที่บรรดาความเข้าใจผิดๆ ซึ่งผู้คนในสังคมมักหลงยึดติดกันแพร่หลายเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนา, ชาติ, เชื้อชาติ และวัฒนธรรม โดยเริ่มต้นที่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศาสนาเป็นเบื้องแรก ซึ่งผมขอถ่ายทอดสู่กันฟังดังนี้

(“Mistaken Identities : Creed, Country, Color, Culture; Lecture 1 : Creed”)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่บรรดาคนขับแท็กซี่ในกรุงลอนดอนซึ่งฉงนสนเท่ห์สำเนียงพูดและรูปร่างหน้าตาของผมผสมผเสกัน มักจะถามผมว่าผมเกิดที่ไหน

และผมก็ตอบพวกเขาว่า “ที่ในลอนดอนนี่แหละครับ” แต่เอาเข้าจริงนั่นไม่ใช่สิ่งที่ปกติแล้วพวกเขาอยากจะรู้ สิ่งที่พวกเขาตั้งใจจะถามผมจริง ๆ ก็คือ “แรกเริ่มเดิมที” ตระกูลของผมมาจากไหนกัน บ้างก็เดาจากรูปร่างหน้าตาของผมว่าผมมาจากเอเชียใต้ และผมแค่แกล้งทำเป็นฟังไม่เข้าใจเวลาพวกเขาพูดกับผมด้วยภาษาฮินดี! (ผู้ฟังหัวร่อครืน)

เมื่อถูกซักไซ้ต่อ ผมก็จำต้องตอบว่าผมมาจากสองตระกูลในสองสถานที่ซึ่งห่างจากกันพอควร คุณแม่ของผมเติบใหญ่ขึ้นริมเขาคอตสโวลด์ ในหมู่บ้านเล็กๆ ตรงรอยต่อระหว่างอ๊อกซ์ฟอร์ดเชอร์กับกลอสเตอร์เชอร์

เมื่อคุณแม่พบคุณพ่อผมนั้น เธอกำลังทำงานในลอนดอนที่องค์การชื่อว่าสามัคคีเชื้อชาติ (Racial Unity) ซึ่งทุ่มเทส่งเสริมความกลมกลืนทางเชื้อชาติทั่วอังกฤษและจักรวรรดิของอังกฤษเอง คุณอาจพูดก็ได้ว่าเธอเอาหลักการของตัวเองไปปฏิบัติจริงๆ เพราะคุณพ่อของผมเป็นนักศึกษากฎหมายจากอาณานิคมโกลด์ โคสต์ ของอังกฤษ (ต่อมาประกาศเอกราชเป็นประเทศกานาในแอฟริกาตะวันตก-ผู้แปล) พ่อเป็นนักกิจกรรมต่อต้านระบอบอาณานิคม เป็นประธานสหภาพนักศึกษาแอฟริกาตะวันตก และเป็นผู้แทนในอังกฤษตอนนั้นของ ดร.ควาเม เอ็นครูมาห์ ผู้จะนำประเทศกานาไปสู่เอกราชในเวลาต่อมา

ดังนั้น ตระกูลของผมอีกสายก็มาจากกานา หรือพูดให้แม่นยำยิ่งขึ้นคือจากแคว้นอาชันตี

คุณพ่อบอกสอนผมว่าสายตระกูลของท่านสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงอาโครมา-อัมพิม ขุนพล สมัยคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดซึ่งความสำเร็จทางการทหารของท่านทำให้ท่านได้ที่ดินผืนใหญ่ชายขอบราชอาณาจักรอาชันตีมาเป็นบำเหน็จรางวัล ชื่อของท่านขุนพลเป็นหนึ่งในชื่อต่างๆ ที่พ่อแม่ตั้งให้ผม และคุณพ่อก็เลี้ยงดูพวกเราเติบใหญ่มาด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับตระกูลของท่าน

ตรงประเด็นนี้มีข้อมูลสะกิดใจอันหนึ่ง คือผู้คนฝ่ายคุณแม่ผมนั้นสืบสายตระกูลกันทางบิดา ส่วนผู้คนฝ่ายคุณพ่อสืบสายตระกูลกันทางมารดา ดังนั้น ว่าไปแล้วผมจะบอกพวกคนขับแท็กซี่ที่ถามผมก็ได้เหมือนกันว่าอันที่จริงผมหาตระกูลที่ผมจะสืบสายไม่ได้เลย

แต่ก็นั่นแหละครับ แน่นอนว่าทั้งสองตระกูลต่างก็โอบกอดและรับผมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตระกูลเป็นธรรมดา

ผมเริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับตระกูลของผมก็เพราะในชุดปาฐกถาที่ผมจะทยอยกล่าวต่อไปนี้ ผมใคร่จะสำรวจค้นวิถีทางต่างๆ ซึ่งเรื่องราวทำนองนี้กำหนดว่าเราเป็นใครและเป็นอะไร สำนึกเกี่ยวกับตัวตนของคุณถูกกำหนดโดยครอบครัวของคุณ ทว่ามันก็ถูกกำหนดโดยสายสัมพันธ์เชื่อมโยงที่แผ่กระจายกว้างออกไปจากครอบครัวด้วย อย่างเช่น สัญชาติ เพศสภาพ ชนชั้น เชื้อชาติและศาสนาของคุณ

ทุกวันนี้เราพูดถึงสายสัมพันธ์เชื่อมโยงเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องของ “เอกลักษณ์” ทว่า นั่นเป็นการใช้ศัพท์คำนี้ที่ค่อนข้างไม่นานมานี้เองในทางประวัติศาสตร์ เมื่อ จอร์จ อีเลียต (George Eliot นามปากกาของนักเขียนหญิงชั้นนำของอังกฤษในรัชสมัยพระราชินีวิกตอเรีย ชื่อจริงว่า Mary Anne Evans, ค.ศ.1819-1880-ผู้แปล) เขียนไว้ในนิยายเรื่อง Middlemarch (ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ในปี ค.ศ.1871-1872-ผู้แปล) ว่าโรซามุนด์ “แทบจะสูญเสียสำนึกเกี่ยวกับเอกลักษณ์ของเธอไป” นั้น

นั่นก็เพราะสำนึกเกี่ยวกับตัวตนของเธอถูกสั่นคลอนเมื่อความจริงเผยออกมาว่าชายที่เธอคิดว่าเธอรักนั้นกลับลุ่มหลงหญิงอื่นอย่างหัวปักหัวปำ ฉะนั้น ในข้อความที่ว่านี้เอกลักษณ์เป็นเรื่องส่วนบุคคลล้วนๆ ในทางกลับกัน บรรดาเอกลักษณ์ทั้งหลายแหล่ที่เรามักคิดถึงกันทุกวันนี้นั้นเป็นสิ่งที่แบ่งปันร่วมกับคนอื่นบางทีก็นับเป็นล้านๆ หรือหลายพันล้านคน ดังนั้น เอกลักษณ์ที่ว่านี้จึงเป็นเรื่องทางสังคม

ผมจะไม่พยายามอธิบายหรอกนะครับว่าทำไมการพูดจาประสาเอกลักษณ์จึงระเบิดเถิดเทิงขึ้นในช่วงชีวิตของผม ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยว่ามันเป็นคำถามที่น่าอัศจรรย์ใจ แทนที่จะพูดเรื่องนั้น ผมกำหนดภาระหน้าที่ให้ตัวเองในปาฐกถาชุดนี้ว่าจะพยายามท้าทายข้อสมมุติฐานที่ลงร่องลงตัวแล้วของเราบางประการเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าเอกลักษณ์ดำเนินงานอย่างไร

ปาฐกถาแต่ละครั้งในจำนวนสี่ครั้งของผมจะรวมศูนย์เพ่งเป้าไปที่ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ทีละชนิด

กล่าวคือ ปาฐกถาครั้งหน้าที่เมืองกลาสโกว์ ผมจะพูดเรื่องประเทศชาติ, หลังจากนั้นที่เมืองอัคคราและนิวยอร์ก ผมจะจับเรื่องสีผิวและวัฒนธรรมตามลำดับ

แต่สำหรับวันนี้ในกรุงลอนดอนนี่ ผมใคร่จะเริ่มต้นด้วยเรื่องความเชื่อ ทั้งนี้เพราะเอกลักษณ์ทางศาสนามักจะเชื่อมโยงเราเข้ากับเรื่องเล่าเก่าแก่ที่สุดที่เรามีนั่นเอง…”

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)