ทราย เจริญปุระ | หลักการ

สิ่งที่ให้ทำยังไงก็ไม่มีวันชิน ไม่มีวันคุ้นเคย ไม่มีวันข้ามผ่านได้ง่ายๆ สำหรับฉันก็คงมีอยู่ไม่กี่เรื่อง

อกหักนั้นหนึ่งละ เรื่องการโดนด่าก็ใช่ การร่วมเพศตามมาติดๆ

และอีกอย่างที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ก็คือการขึ้นศาล

คือมันยุ่งยากมากมายจนฉันเข้าใจเลยว่า ที่คนเรากล้าด่ากัน ขึ้นไอ้ขึ้นอีโดยไม่มีความยั้งใจก็เพราะรู้ว่ากว่าอีกฝ่ายจะเอาเรื่องได้นั้นไม่ง่ายเลย

ไอ้เรื่องโดนด่านี่ก็โดนมาเรื่อยๆ แต่ลุกขึ้นมาจัดการอย่างจริงจังเสียทีด้วยเหตุผลไม่กี่อย่าง

อย่างแรกคือเหนื่อย

ขึ้นศาลที่ว่าเหนื่อย จุกจิก วุ่นวาย ก็ยังไม่น่าเหนื่อยหน่ายรำคาญใจเท่ากับคนมาด่าพ่อด่าแม่กันเพลินปาก ด่าเสร็จก็ไปแชร์ธรรมะคำสอนคติธรรม

ด่าแล้วก็แล้วกัน ไม่ค้างไม่คาใจ

เอาละ ฉันอยากให้เขาได้คาใจกันบ้าง

อย่างที่สองคือมีเงิน

แค่นี้เลย คือมีเงิน มีเวลามาเสียกับลิเกฉากต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้น สัมผัสได้ด้วยซ้ำ ว่าตุลาการบางท่านก็มองคดีพวกนี้เป็นเศษเป็นซาก รกโรงรกศาล กะอีคนด่ากันมันจะเสียหายต่อประเทศอะไรนักหนา (นี่ไม่ได้พูดเอง ตุลาการท่านถึงกับออกปากมาในคดีหนึ่งที่ฉันส่งฟ้อง)

ต้องมานั่งตีความคำด่าทีละคำ ด่านี้มีความหมายอะไร เจ็บตรงไหน ทำให้เราเสียหายอย่างไร

ความคิดด้านมืดในหัวตอนนั่งในคอกพยานก็จะคอยกระซิบว่า ลุกขึ้นมาเลย สติแตกแล้วตะโกนด่าให้ดังก้องกังวานไปทั่วศาลดูที จะได้รู้ไปพร้อมๆ กันทั้งหมดที่นั่งๆ กันอยู่ ว่าโดนด่าแบบนี้ มันเจ็บแบบไหน

เรียกว่าเจ็บจนไม่มีกะใจจะปลุกพลังชีวิต แต่ก็นั่งอ่านหนังสือได้ตามปกติ

ก็มาเจอเข้ากับเล่มนี้

สะพรึง

“เราต้องการอะไรบางอย่างที่หนักแน่นกว่าแรงโน้มน้าวของเราเอง บางอย่างที่จะถูกต้องเสมอและเราสามารถยึดถือมันได้ บางอย่างที่จะให้ความกระจ่างแก่เราในความโกลาหล สิ่งที่จะชี้นำเราได้แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด–

– เราต้องการหลักการ -*

ดังนั้น การมาอ่านหนังสือเล่มนี้ ในช่วงเวลาเช่นนี้ จึงเกิดความรู้สึกร่วมไปด้วยไม่ยาก

ต่างกันตรงที่ ถ้าคดีของฉันเป็นคดีชั้นเลวควรปัดตกไปอยู่ตีนโรงตีนศาล

คดีนี้น่าจะเรียกได้ว่าเป็นคดีที่ทุกคนควรได้รับรู้ และตัดสินใจ

และแน่นอนว่าผลตัดสินของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปตามคุณค่าในชีวิตและเส้นจริยธรรมที่ต่างคนได้ยึดถือ

เมื่อกำลังเผชิญหน้ากับความตาย

คุณจะเลือกรักษาชีวิตหรือหลักการ?

คำถามสั้นๆ นี้คือแกนกลางของ “สะพรึง” ที่แปลมาจากบทละครเรื่อง Terror โดยแฟร์ดินันด์ ฟอน ชีรัค โดยเนื้อเรื่องจะพาเราไปหาคำตอบของคำถามข้างต้น ผ่านบทละครที่จำลองเหตุการณ์สมมุติที่มีพื้นฐานมาจากกฎหมายฉบับหนึ่งที่ประเทศเยอรมนีตราขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ได้แก่ Luftssicherheitsgesertz (LuftSiG) ที่แปลเป็นไทยคือ “รัฐบัญญัติความมั่นคงทางอากาศ”

ในรัฐบัญญัตินี้มีมาตราหนึ่งให้อำนาจกองทัพใช้อาวุธกระทำต่อเครื่องบินพาณิชย์ที่ถูกจี้และถูกใช้เป็นอาวุธ ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ (Bundesverfassungsgericht) ได้วินิจฉัยให้มาตราดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากการสละชีวิตคนบริสุทธิ์ เพื่อช่วยชีวิตคนบริสุทธิ์อีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 1 แห่งกฎหมายพื้นฐาน (Grundgesetz) ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

โดยส่วนตัวแล้ว, ฉันว่าควรใช้หนังสือเป็นหนังสือนอกเวลาในการเรียนของไทย เอามาถกเถียงกันในทุกปี เพราะผู้คนย่อมเปลี่ยนแปลง ความเห็นหนึ่งในวันหนึ่งนั้นอาจเปลี่ยนได้เมื่อเวลาพาเราผ่านไปพบเรื่องบางอย่าง เสียบางอย่าง ได้บางอย่าง คำตอบแต่ละปีนั้นอาจไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือแม้จะซ้ำ แต่เหตุผลก็จะเปลี่ยนแปลงกันไป

แต่อย่าไปคิดฝันอะไรไกลปานนั้นเลย

ในวันที่ครูยังฟึดฟัดกับการจะอดตัดผมนักเรียน

วันที่ผู้พิพากษายิงตัวตายในศาล และยังมีคนสมน้ำหน้าหรือคิดว่ารับเงินมาเพื่อสร้างสถานการณ์

และในวันที่ฉันยังต้องเปิดพจนานุกรมหาอยู่เลย ว่าเวลาโดนคนด่าว่าอีควาย อีลูกเมียน้อย อีโง่ มีความหมายว่าอย่างไร เป็นคำด่าใช่หรือไม่ แล้วเสียหายตรงไหน

เฮ้อ

“สะพรึง” (Terror) เขียนโดย Ferdinand Von Schirach แปลโดย ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก, มิถุนายน 2563 โดยสำนักพิมพ์ Illumination Editions

*ข้อความจากในหนังสือ